December 22, 2024

ทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยปี 2566

November 07, 2022 5186

 Strategic Themes and Trends of Insurance Supervision    

สำหรับประมาณการเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของปี 2565 จากสถานการณ์ปัจจุบันประมาณการเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จากข้อมูลรายงานแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินกิจการของบริษัท (รายงาน XML จากระบบ CRR) คาดการณ์เบี้ยประกันภัยเต็มปี 2565 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 886,211 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ +0.10% ถึง +2.10% แบ่งเป็น

  • ประมาณการเบี้ยประกันชีวิต จำนวน 614,917 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ -0.82% ถึง +18% สอดคล้องกับการประมาณการของสมาคมประกันชีวิตไทย (ประมาณการไว้ +0.00% ถึง +2.50%)
  • ประมาณการเบี้ยประกันวินาศภัย จำนวน 271,293 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ +2.25% ถึง +4.25% สอดคล้องกับการประมาณการของสมาคมประกันวินาศภัยไทย (ประมาณการไว้ +3.50 ถึง +50%)

สำหรับประมาณการเบี้ยประกันภัยเต็มปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 894,600 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ -0.05% ถึง +1.95%

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงขึ้น คือ ประกันภัยรถยนต์ซึ่งยังคงครองแชมป์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ รวมทั้งมาตรการเปิดประเทศของภาครัฐที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยว ส่งผลให้ประกันภัยการเดินทางต่างประเทศจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (รถ EV) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการยานยนต์ เกิดกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยปัจจุบันมีรถ EV จดทะเบียนรวมทุกประเภท ประมาณ 20,000 คัน ซึ่งบริษัทประกันภัยจะกำหนดเบี้ยรถ EV สูงกว่ารถยนต์ทั่วไป ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงรถ EV สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พัฒนา ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย จึงได้มีการประชุมหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถ EV รวมทั้งผู้แทนจากคณะกรรมการยานยนต์และสมาคมประกันวินาศภัยไทยเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเบี้ยประกันภัย โดยที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะยังไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันภัยในช่วงนี้ แม้ว่า Loss Ratio ของรถกลุ่มนี้จะสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมากก็ตาม

สิ่งที่สำนักงาน คปภ. จะดำเนินควบคู่กันไป โดยกำหนดแผนดำเนินการในปี 2566 คือ จะมีการเก็บรวบรวมสถิติการรับประกันภัยรถ EV และศึกษารูปแบบการประกันภัยเพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV ให้มีความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ อีกทั้ง จะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้ใช้รถ EV สามารถเข้าถึงเบี้ยประกันภัยที่ถูกลงได้

จากสถานการณ์ปัจจุบัน มีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ดังนี้

  • ด้านการรับประกันภัย มีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย ได้แก่ เบี้ยประกันสุขภาพที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตื่นตัวในเรื่องการรักษาสุขภาพ , เบี้ยประกันภัยประเภทตัวเรือและขนส่งเติบโตจากการฟื้นตัวจากภาคการส่งออก, เบี้ยประกันภัยรถยนต์เติบโตจากการคาดการณ์ยอดขายปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเบี้ยประกันภัยการเดินทางต่างประเทศเติบโตจากการที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการเดินเข้าประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิตประเภทควบการลงทุนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อนจากสถานการณ์ของตลาดทุนที่ผันผวน และความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของประชาชนลดลงจากภาวะอัตราเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
  • ด้านการดำเนินงาน มีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย ได้แก่ การนำเทคโนโลยี เช่น AI และ Data analytics มาใช้ในการเสนอขายและการให้บริการส่งผลดีต่อการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ค่าสินไหมทดแทนทั้งประเภท motor และ non-motor อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น , ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นจากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น , ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจการเงินรวมถึงธุรกิจประกันภัย รวมถึงความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน
  • ด้านการลงทุน มีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย ได้แก่ บริษัทประกันชีวิตมีรายได้จากการลงทุนเพิ่มขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยบริหารภาระผูกพันของบริษัท ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อธุรกิจประกันภัย ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ตลาดทุนมีความผันผวน
  • นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิตบางแห่งลดลงจากมูลค่าตราสารหนี้ที่ลดลง

สำหรับปัญหา กรณีประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัยให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยมีการเร่งปรับปรุงกลไกในการกำกับดูแลแบบ proactive actions และบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้คำนึงถึงการป้องกันปัญหาเช่นเดียวกับกรณีประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยมีแผนดำเนินการ ดังนี้

  • ออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ในข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาประกันภัยให้ชัดเจนและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นการอุดช่องว่างและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากประกันภัยโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีบริษัทประกันภัยบางแห่งนำเงื่อนไขไปใช้หรือตีความถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ทั้งนี้ เงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเงื่อนไขที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่การนำเงื่อนไขไปใช้ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักความสุจริตประกอบด้วย อีกทั้ง ข้อความที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขก็ไม่ได้อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจแบบเหมาเข่ง โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในสาระสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้น บริษัทจึงไม่อาจใช้หรือตีความเงื่อนไขดังกล่าวในทางที่เป็นโทษแก่ผู้เอาประกันภัยได้
  • แนวทางการดำเนินการเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)

กรณี สินมั่นคงประกันภัย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัทเป็นผู้ทำแผน ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งดังกล่าว เพื่อเป็นการกำกับดูแลในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการของบริษัท ซึ่งการออกคำสั่งนายทะเบียนนี้จะช่วยให้สำนักงาน คปภ. สามารถติดตามการแก้ไขฐานะทางการเงิน การดำเนินงานของบริษัท พร้อมทั้งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้เต็มที่ โดยกำหนดให้บริษัทต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้สำนักงาน คปภ. ทราบ ทุก 7 วัน

สำหรับขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดวันประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ผู้ทำแผนต้องนำส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน (ขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน) คือ ช้าที่สุดไม่เกิน 20 พฤษภาคม 2565 จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ (ประมาณ 1 เดือนนับจากวันที่ได้รับแผน) กรอบเวลาน่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายน 2566 และจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาลงมติออกเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการ (ประมาณ 2 เดือนนับจากวันที่ได้รับแผน) กรณีที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่รับแผน ศาลจะพิจารณาเป็นการด่วนก่อนมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับกรณีที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติรับแผน ศาลพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเพื่อมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผน ซึ่งหากศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ก็จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการมีระยะเวลาตามกฎหมายไม่เกิน 5 ปี ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กำหนดในแผน หากดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ      

ในระหว่างนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการประสานงานกับกรมบังคับคดีเกี่ยวกับแนวทางการดูแลประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งการแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทคาดว่าจะมีความชัดเจนเมื่อบริษัทส่งแผนการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และในระหว่างนี้บริษัทยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลล้มละลายกลาง กรมบังคับคดี โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสำนักงาน คปภ. ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

 

Trends of Insurance Supervision in 2023

จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 สำนักงาน คปภ. จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คือ การเสริมเกราะป้องกัน หรือ Resilience ให้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 9 มาตรการหลัก ดังนี้

มาตรการที่ 1 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที มีฐานะเงินกองทุนที่เข้มแข็งเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยสำนักงาน คปภ. ได้ให้บริษัทประกันภัยจัดทำประมาณการความเพียงพอของเงินกองทุน ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพิจารณารับประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ไปจนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการและกำหนดแผนการรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (IFRS17) เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาการเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยสำหรับงวดบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยและได้สื่อสารให้บริษัทประกันภัยทราบเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดทำร่างประกาศเกี่ยวกับแบบงบการเงินเพื่อรองรับมาตรฐาน IFRS17 คณะกรรมการ คปภ. ได้เห็นชอบร่างประกาศ คปภ. ที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS17 จำนวน 6 ฉบับ แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยในปี 2566 สำนักงาน คปภ. มีแผนที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการยื่นงบการเงิน รวมทั้งรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย (รายงาน XML) รูปแบบใหม่อีกด้วย

มาตรการที่ 2  ปรับปรุงกฎกติกาหรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นให้เป็น Principle-based มากขึ้น เพิ่มเติมมาตรการและแนวทางให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว และปรับพอร์ตการรับประกันภัยให้มีความสมดุล พร้อมกับการยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยไปอีกขั้น ให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญ และสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในมิติของการกำกับดูแลเชิงมหภาค โดยเพิ่มน้ำหนักในการติดตาม ประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ด้วยการทำ Stress Test และ Scenario Analysis เพื่อให้ระบุจุดเปราะบาง ดักจับความเสี่ยง กำหนดแนวทางป้องกัน และลดผลกระทบต่าง ๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น

มาตรการที่ 3 ยกระดับกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการถอดบทเรียนจากประกันโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ โดยเพิ่มบทบาทนักคณิตศาสตร์ประกันภัย และคณะกรรมการย่อย เช่น Product Governance Committee และ Risk Management Committee

ในส่วนของทิศทางการกำกับดูแลต่อไป สำนักงาน คปภ. จะยกระดับการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและมีความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจะอัพเกรด  Insurance Regulatory Sandbox (IRS) และ โครงการ Product Innovation and Tailor-Made Sandbox (TMS) สู่ New Version คือ Smart Sandbox ซึ่งจะเป็นการศึกษาผลการดำเนินงานและผลตอบรับของโครงการ IRS และ TMS เพื่อนำมาวิเคราะห์ พัฒนา ปรับปรุง ออกแบบวิธีการประเมินและกำหนดกรอบการประเมินโครงการที่เข้าร่วมทดสอบ ที่ชัดเจน รวมถึงกฎระเบียบที่จำเป็นต้องให้หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการดึงดูดภาคธุรกิจให้สมัครเข้าร่วมการทดสอบนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการมอบรางวัล Smart Sandbox of the Year ให้กับบริษัทที่มีแนวคิดที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของประชาชน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย และการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แตกต่างจากประกันภัยรถยนต์ในปัจจุบัน โดยได้หารือรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย

มาตรการที่ 4 กระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง โดยจะดำเนินการดังนี้

  • ศึกษาการกำหนดให้บริษัทประกันภัยมีมาตรฐานกลางในการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการสำคัญ รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และทันเหตุการณ์มากขึ้น
  • พัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย ซึ่งในอนาคตจะต่อยอดสู่การจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ (National Insurance Bureau: NIB)
  • พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูล OIC Gateway ระยะที่ 2 ที่จะขยายผลจาก My Policy สู่ My Portfolio ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ประชาชน สำหรับการวางแผนการเงินและการประกันภัย พร้อมกับเชื่อมโยงบริการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น
  • พัฒนาฐานข้อมูลภายใน และนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการวิเคราะห์ และตรวจสอบบริษัทประกันภัย เพื่อยกระดับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มบทบาทของศูนย์ CIT ในการขยายเครือข่าย Insurtech ของไทยไปสู่ต่างประเทศ พร้อมกับเชื่อมโยงและดึงดูดให้ Tech firms และ Startups ต่างประเทศที่น่าสนใจ เข้ามาขยายธุรกิจและสร้างพันธมิตรกับธุรกิจไทยมากขึ้น ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งาน Thailand InsurTech Fair
  • เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่ไปกับพัฒนาเครื่องมือในการประเมินระดับความพร้อมของบริษัทประกันภัย (Cyber Resilience Assessment framework: CRAF) พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในธุรกิจ และขยายขอบเขตการวิเคราะห์และตรวจสอบบริษัทประกันภัย ให้ครอบคลุมถึงการประเมินประสิทธิภาพและความพร้อมของบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และ IT risk เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจประกันภัยจะมีความพร้อมรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ 

มาตรการที่ 5 ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยจะดำเนินการ ดังนี้

  • เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และพัฒนาสื่อความรู้ใหม่ ๆ เช่น เกมส์ออนไลน์ และบอร์ดเกมส์ ที่มีรูปแบบที่น่าสนใจและให้ประชาชนเรียนรู้โดยการทดลองด้วยตนเองและเข้าใจง่าย
  • ส่งเสริมการดำเนินโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่น ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะเชื่อมโยงกับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายบทบาทของระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้นและตรงความต้องการ
  • ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยต่อยอดระบบสารสนเทศที่ใช้ในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย มาสู่ระบบ E-Arbitration เพื่อใช้ในการบริหารจัดการคดี และสนับสนุนกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
  • ถอดบทเรียนข้อร้องเรียนที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย จนถึงการจัดการค่าสินไหมทดแทน และทบทวนการตีความข้อสัญญาต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน จะเป็นการช่วยลดข้อร้องเรียน และสร้างเสริมความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยได้อีกทางหนึ่ง
  • ต่อยอดระบบรายงานพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้เชื่อมกับฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (IBS) และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ โดยจะนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉล เพื่อให้สามารถดำเนินการกับกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที และลดโอกาสเกิดการฉ้อฉลประกันภัยในอนาคต อันจะเป็นการดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบประกันภัยให้เติบโตได้อย่างความมั่นคงและยั่งยืน
  • ผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการส่งเสริมให้มีการพัฒนา sustainable insurance products โดยจะหยิบยกหารือในเวทีการประชุม AIRM ในเดือนธันวาคมนี้ด้วย นอกจากนี้ จะมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการ ESG และการส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่คำนึงถึงธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม

มาตรการที่ 6 ขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยร่าง พ.ร.บ. กลุ่มที่ 2
ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งผ่านการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงาน คปภ. และได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 โดยมีการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 และจะมีการเสนอร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำหรับร่าง พ.ร.บ.กลุ่มที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการ และร่าง พ.ร.บ. ประกันภัยทางทะเล อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก

มาตรการที่ 7 ส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประกันภัยในยุค New Normal โดยปรับปรุงหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) และหลักสูตรการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และจะพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมให้มีความเข้มข้นขึ้น ครอบคลุมทุกองค์ความรู้ที่จำเป็น พร้อมกับการขยายพื้นที่ของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงให้สามารถรองรับการจัดอบรมและกิจกรรมการต่าง ๆ ได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น

มาตรการที่ 8  การบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านการประกันภัย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และที่สำคัญที่สุด คือ น้อง ๆ สื่อมวลชนทุกท่าน เพื่อสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร แนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงาน คปภ. ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัย เช่น กิจกรรมเพื่อสังคม CSR “ขยายการสื่อสาร ขยายกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัย”

มาตรการที่ 9  การพัฒนาสำนักงาน คปภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็น SMART OIC ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ

  • ภาคธุรกิจประกันภัย
  • บริษัทประกันภัย สามารถใช้งานระบบ Eco System ในการขอความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัย โดยขณะนี้ได้เริ่มใช้ระบบดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากระบบ SERFF ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ใช้ระบบ BIS (Business Investment System) ในการนำส่งข้อมูลเพื่อพิจารณาคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย เช่น การขอวางหรือคืนเงินสำรองประกันภัย การขออนุญาตลงทุน เป็นต้น
  • ตั้งเป้าหมายให้คนกลางประกันภัยสามารถเริ่มใช้งานระบบ
    E-Licensing ได้เต็มรูปแบบภายในกลางปี 2566
  • ภาคประชาชน
  • พัฒนา chatbot คปภ. รอบรู้ ให้สามารถให้บริการได้ครอบคลุมมากขึ้น และพัฒนารูปแบบการยืนยันตัวตน การสืบค้นข้อมูลกรมธรรม์
  • พัฒนาต่อยอดระบบ PPMS เดิม เพื่อให้บริการภาคประชาชนให้เข้าถึงระบบรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนงานระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
    (E - Arbitration) อย่างครบวงจร
  • การดำเนินงานภายในสำนักงาน คปภ.
  • นำผลการทบทวนกระบวนการที่สำนักงานได้ดำเนินการแล้ว (Business Process Improvement Roadmap) มาเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมองค์กร เพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยี (Enterprise Architecture)
  • ปรับปรุงกระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานภายในสำนักงานอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการทำงานและทบทวนบทบาทหน้าที่ภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้เร็วยิ่งขึ้น
  • พัฒนากระบวนการการบริหารความเสี่ยงในการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ในด้านอื่น ๆ เช่น กระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อให้ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อยอดระบบ fraud detection ให้สามารถตรวจจับเคสผิดปกติได้
  • จัดทำ Intelligence Dashboard โดยใช้ข้อมูลจาก IBS และระบบงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น PPMS เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น
Rate this item
(2 votes)
Last modified on Monday, 07 November 2022 10:14
X

Right Click

No right click