บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอสซีจี ร่วมจัดพิธีปิดโครงการและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน Choice is Yours 2022 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการสานต่อแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านความยั่งยืนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพเพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนโลกและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต
มร. อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ขอขอบคุณมูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอสซีจี ที่ได้ร่วมกันจัดโครงการ Choice is Yours จนในวันนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เห็นแล้วว่าทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนและพัฒนาความยั่งยืนให้กับโลก ในฐานะส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ เราพร้อมที่จะผลักดันการดำเนินงานสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยความกระตือรือร้น ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้า และการจัดทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เราเชื่อมั่นว่าการจุดประกายด้านความคิดสร้างสรรค์ผ่านโครงการ Choice is Yours ในครั้งนี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ การแข่งขันในโครงการ Choice is Yours 2022 เริ่มดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 และมีการนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้ง 4 องค์กรพาร์ทเนอร์ พร้อมด้วยสื่อมวลชนหลากหลายสาขาร่วมตัดสินและคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศ โดยนิสิตนักศึกษาจากทีมผู้ชนะทั้ง 4 ทีมจะได้รับโอกาสในการฝึกงานกับองค์กรพาร์ทเนอร์อีกด้วย
โครงการ Choice is Yours จัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรชั้นนำของไทย คือ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอสซีจี โดยมีนิสิตนักศึกษามากกว่า 112 คนจาก 20 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้ความสนใจส่งไอเดียโครงการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง 4 โครงการที่มีความโดดเด่นในแง่ของความคิดสร้างสรรค์และแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง ได้แก่
- หัวข้อ REduce โดย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย: ทีม JeJe Group จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มุ่งเน้นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด “ลดเพื่อเพิ่ม” กับโครงการ Boxchain นำเสนอนวัตกรรมกล่องพัสดุพร้อมสายคาดซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองในกล่องพัสดุ ไม่ว่าจะเป็น เทปกาว พลาสติกกันกระแทก รวมไปถึงลดการผลิตกระดาษ
- หัวข้อ REuse โดย มูลนิธิชัยพัฒนา: ทีม ReNew จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอนวัตกรรมการสกัดสีจากดอกไม้เหลือทิ้งเพื่อนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากดอกไม้เหลือทิ้งแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอในการย้อมผ้าอีกด้วย
- หัวข้อ REthink โดย ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย: ทีม Effect Hill จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดดเด่นด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส สร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศผ่านโลกเสมือน โดยมีระบบช่วยวางแผนเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ก่อนปี 2050
- หัวข้อ REcycle โดย เอสซีจี: ทีม Poly P จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอโครงการแปรรูปเส้นใยสังเคราะห์ในขยะเครื่องนอน โดยเฉพาะเส้นใยโพลีเอสเตอร์ซึ่งเป็นขยะกำพร้าและไม่มีคนต้องการ โดดเด่นด้วยศักยภาพในการต่อยอดนวัตกรรมไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายตัวของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม เช่น แผ่นพยุงตัวในน้ำ แผ่นลำเลียงขนส่งเมื่อเกิดอุทกภัย และแผ่นลอยผิวน้ำเพื่อขวางสิ่งของและขยะที่พัดพามาตามน้ำ
ปวรวรรณ ขำนอง นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากทีม Poly P กล่าวเกี่ยวกับโครงการว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ คือทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากมีความท้าทายในการพัฒนาโครงการในหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของเครื่องมือ และกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถคาดหวังถึงผลลัพธ์ว่าจะสำเร็จตรงตามสมมติฐานหรือไม่ ดังนั้นทีมจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมและร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อทดลองหาความเป็นไปได้ต่าง ๆ เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด”
จินตนาการ ศิริทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขามีเดียอาตส์ เอกกราฟิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากทีม JeJe Group กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ เช่นนี้ ขอบคุณทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาและพี่ ๆ เมนเทอร์จากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำพวกเรา สิ่งที่ได้จากโครงการ Choice is Yours เป็นอีกประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของเราให้มากขึ้น และอยากจะกระตุ้นให้เพื่อน ๆ คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจกับความยั่งยืนของโลกให้มากขึ้น เพราะไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่บางครั้งพวกเราเผลอมองข้ามไป”
นอกจากนี้ ฐานิดา ประเสริฐชัย นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากทีม Effect Hill ให้สัมภาษณ์ว่า “ปัจจุบันโลกเรากำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ ทางทีมจึงได้มีไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์มเมตา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงผลเสียของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศและชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยการได้ไปฝึกงานกับไมโครซอฟท์นับเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดทักษะด้านเทคโนโลยีของพวกเรา และหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโลกของเราให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ด้าน ณัฐชา อารัมภ์วิโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบสิ่งทอ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากทีม ReNew กล่าวว่า “ความท้าทายของการพัฒนาโครงการอยู่ที่ขั้นตอนการทดลองเนื่องจากดอกไม้ที่มีสีสันสวยงามอาจจะมีเม็ดสีไม่มากพอในการย้อมสีติดลงไปบนผ้า พวกเราลองผิดลองถูกกันอยู่หลายครั้งจนสามารถหาสูตรที่เหมาะสมในการสกัดสีออกมาและย้อมลงบนผ้าได้ หลังจากนี้พวกเราจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และพวกเราคาดหวังว่าจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการการประกวดมาช่วยต่อยอดนวัตกรรมและวัฒนธรรมให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาต่อไปในอนาคต”
ตลอดระยะเวลา 5 เดือนของโครงการ Choice is Yours นิสิตนักศึกษาผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ จากสี่องค์กรพาร์ทเนอร์ทั้งในรูปแบบเสมือนจริงและการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ในการต่อยอดแนวคิดริเริ่มด้านความยั่งยืน นอกจากนั้น นิสิตนักศึกษายังมีโอกาสไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ณ โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จังหวัดระยอง พร้อมเยี่ยมชมระบบสายพานการประกอบของบีเอ็มดับเบิลยู และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด และเรียนรู้เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของบริษัทด้านความยั่งยืนผ่านแนวทางการกำจัดขยะโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ การศึกษาดูงานดังกล่าวยังรวมไปถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านโป่งคอมเพล็กซ์ จังหวัดราชบุรี โดย เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ซึ่งน้อง ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง และระบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน ในขณะเดียวกัน ยังได้รับการฝึกอบรมแบบออนไลน์เกี่ยวกับ Power Apps โดยไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นโปรแกรมที่น้อง ๆ ผู้ร่วมแข่งขันในโครงการนี้สามารถใช้สร้างแอปพลิเคชันแบบกำหนดได้เอง พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการระหว่างแหล่งข้อมูล