January 02, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

ถาม “กันย์ พันธ์สุวรรณ” ทำไม 9 ศาสตราถึงปัง?

March 23, 2018 5243

เผยความสำเร็จ “9 ศาสตรา” ภาพยนตร์แอนิเมชันไทยของกันย์ พันธ์สุวรรณ ผู้กำกับหนุ่มวัย 28 ปี ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากคอหนังทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ได้อย่างไร ซึ่งใครจะคาดคิดว่าการกำกับภาพยนตร์ออกมาเป็นผลงานชิ้นโบแดงนี้ เป็นงานชิ้นแรกของคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านภาพยนตร์มาก่อนเลย

กันย์ เล่าให้ นิตยสาร MBA ฟังถึงประวัติส่วนตัวว่า เลือกเรียนสาขาทางด้านจิตวิทยา เพราะมีอินสไปร์และความชอบในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ กระทั่งจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกามาถึงวันนี้ได้ประมาณ 5 ปี พบว่าการที่เลือกเรียนมาทางสายนี้เป็นประโยชน์มากในการทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย

“หลังจบการศึกษาผมก็ตัดสินใจย้ายกลับมาที่เมืองไทยทันที ถึงแม้คนทั่วไปจะมองว่าการอยู่ที่อเมริกามีโอกาสมากกว่า แต่การทำงานที่ต่างประเทศไม่ใช่แค่เริ่มนับหนึ่ง เพราะต้องเริ่มจากศูนย์ ในขณะที่การกลับมาที่ไทยยังมีความช่วยเหลือ มีครอบครัวคอยสนับสนุน นั่นหมายถึงมีโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ ตามความฝันได้มากกว่า ในระยะ 6 เดือนแรกที่กลับมา ได้ผันตัวมาเป็นโปรกอล์ฟ เพื่อตอบโจทย์ตามความฝันของคุณแม่ที่อยากให้เป็นเหมือนไทเกอร์ วู้ดส์ และฝึกฝนซ้อมกอล์ฟอยู่ระยะหนึ่งจนสอบได้และได้ลองแข่งขัน จนผ่านไปประมาณ 6-7 เดือนก็รู้ว่า “มันไม่ใช่ทาง” ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีโปรเจกต์หนังเรื่อง 9 ศาสตราเข้ามาในช่วงเวลานั้น ”

จุดกำเนิด 9 ศาสตรา

กันย์เล่าว่า จุดพลิกผันที่ทำให้เข้าสู่วงการสร้างภาพยนตร์อย่างเต็มตัว คือ พี่ๆ ในบริษัทฯ ของคุณพ่อผม ถามถึงความสนใจที่จะร่วมกันทำหนัง 9 ศาสตรา จึงมาถึงทางแยกที่ต้องเลือก และกลับไปคุยกับครอบครัวว่า การเป็นโปรกอล์ฟนั้น สามารถทำได้แล้ว และจะกลับมาทำเมื่อไรก็ได้ แต่การทำหนังเป็นโอกาสเพียงแค่ครั้งเดียว จึงตัดสินใจเดินหน้า

จากการจุดประกายครั้งสำคัญของรุ่นพี่ 2 คนซึ่งมีบริษัทแอนิเมชันที่กำลังมีปัญหา และได้เข้ามาคุยขอความช่วยเหลือจากทางบริษัทฯ มีเสนอการทำซีรีย์ ในขณะที่เราอยากทำเป็นหนังแอนิเมชันของเราเองในแนวของมวยไทยเพราะในระยะนั้น (4-5 ปีก่อน) Mix Martial Art (MMA) เป็นกีฬาที่กำลังเติบโต และนักกีฬาเหล่านั้นต้องมีวิชามวยไทยทุกคน มวยไทยจึงเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักทั่วโลก ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขาย โจทย์อยู่ที่จะทำอย่างไรให้น่าสนใจ

ในช่วงแรกๆ มีการลองผิดลองถูก เพราะไม่มีความรู้ถึงความต่างของพรีโพรดักชัน โพรดักชัน และโพสโพรดักชันว่าคืออะไร ทำทุกอย่างพร้อมกันไปหมด ทำให้ไม่สามารถตีงบประมาณได้ ไม่สามารถทำสตอรีบอร์ดได้ ส่งผลให้เสียไปกว่า 20 ล้านบาท จนหาทางออกสุดท้ายได้ คือ ต้องนำทีมฮอลลีวูดสกรีนไรเตอร์เข้ามาช่วย จึงเป็นความท้าทายที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อนำทีมจากฮอลลีวูดมาก็ทำให้หนังสนุกขึ้นมาได้จริงๆ

 

 

มองตลาดแอนิเมชันแบบ 360Õ

เมื่อมีความลงตัวต่างๆ ที่ทำให้เริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้นมา โดยตั้งบริษัท EXFORMAT FILMS (เอ็กซ์ฟอร์แมท ฟิล์มส์) จากนั้นเราก็เริ่มมองเห็นโอกาสจากแอนิเมชันที่สามารถต่อยอดไปได้อีกมากมาย เพราะถ้าคอนเทนต์เกิดได้จะสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายอย่าง ทั้งของเล่น เกม ธีมพาร์ค แม้แต่เสื้อผ้า นอกจากนี้ในต่างประเทศอื่นเองก็มีซูเปอร์ฮีโร่ของเขาแล้ว ทำไมไทยจะมีไม่ได้ เราพยายามเริ่มสร้างซูเปอร์ฮีโร่ของเราเองสำหรับคนไทย “ในวันหนึ่งเด็กๆ ของเราเดินเข้าไปในทอยอาร์อัส เห็นตัวเอก อ๊อด กับ เสี่ยวหลาน ยืนอยู่ จะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เรามีคอนเทนต์ของเราเองในตลาดโลก แม้ตอนนี้เรายังไม่มี แต่นั่นคือ End Goal ของพวกเรา”

การทำตลาดแอนิเมชัน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม การขายเฉพาะในประเทศมีโอกาสรอดน้อยมาก การฉายเพียงโรงหนังในประเทศ มีโอกาสขาดทุนอย่างแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงกำไร เพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องผู้จัดจำหน่าย และอื่นๆ ที่สูงพอสมควร แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะได้ฉายทั่วโลก โอกาสที่จะคืนทุน หรือกำไรก็จะมีมากขึ้น เราจึงคิดว่าเวลาทำหนังดีๆ ขึ้นมา เราต้องขายต่างชาติด้วย ต้องไปอินเตอร์ ถ้าคิดแค่เมืองไทยอย่างเดียวนั้น ไม่รอดแน่นอน

ดังนั้นมาตรฐานจึงต้องถึง บทต้องถึง Music score ต้องถึง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นโจทย์แต่แรกว่าต้องไปโกลบอล เพื่อการไปให้รอด เป็นที่ทราบกันว่าหนังแอนิเมชันไทยแทบทั้งหมดนั้นไม่มีกำไร ที่ใกล้ที่สุดน่าจะเป็น ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องก้านกล้วย ที่ทำกำไรจากความนิยมจากกลุ่มคนดูในต่างประเทศ ของเราเองวันนี้ก็ไม่มีกำไร

ความแตกต่างของแอนิเมชันกับหนังในการประสบความสำเร็จนั้นต้องมองที่คาร์แรคเตอร์ของตลาด คนไทยชอบหนังผีกับหนังตลก และคนไทยขอบดารา การเห็นดาราไปเล่นหนังเรื่องไหนก็จะมีการติดตาม นี่อาจจะเป็นข้อจำกัดของแอนิเมชันส่วนหนึ่ง แต่ถ้าแอนิเมชันติดตลาด ก็มีโอกาสจะรุ่งได้มากเช่นกัน เพราะการดูหนังจะได้จำนวนเป็นแฟมิลี อย่างไรก็ตามโอกาสของแอนิเมชันก็ยังยากกว่า ด้วยยังไม่มีแม่เหล็กเพียงพอสำหรับตลาดไทย

จากการติดตามฟีดแบค นับแต่เริ่มฉายเมื่อเดือนมกราคม 2560 ถึงกุมภาพันธ์ 2560 กันย์กล่าวว่า จากวันแรกที่เข้าฉายจนถึงปัจจุบันประมาณเกือบ 2 เดือนที่ยังคงอยู่ในโรงอยู่ เรียกว่าฟีดแบคยังคงหนาแน่น “หนังของเรานั้นไม่ได้พีคแล้วดรอป แต่เป็นลักษณะค่อยๆ ไป” เหมือนปากต่อปากที่แนะนำกัน ซึ่งเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด และต้องขอบคุณคนที่ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นกำลังใจอย่างมากให้พวกเราสู้กันต่อ โดยจากการวัดผลพบว่ากว่า 80-90% ที่เดินออกมาจากโรงหนังบอกว่าดีและชอบ ซึ่งนั่นเป็นจุดที่เราต้องการ เพราะมีวัตถุประสงค์ให้หนังเอ็นเตอร์เทน ตอนที่หนังเริ่มฉายช่วงแรกๆ เราให้กลุ่มรีวิวหนังไปดู เราได้ 8-9 เต็ม 10 เมื่อมีฟีดแบคจากคนดูเข้ามาเสริม จึงยิ่งเป็นสิ่งพิสูจน์และกำลังใจให้คนทำหนัง การทำหนังถึง 5 ปี อายุเฉลี่ยหนังบางเรื่องอาจจะฉายได้เพียงแค่ 6 เดือน เท่านั้น จึงถือว่าเป็นความภูมิใจมากของทีมงานกว่า 200 ชีวิตที่มีการตอบรับที่ดี

Global Goal ใช้งบสูงและมืออาชีพในทุกสาขา

เป็นที่ทราบกันดีว่า 9 ศาสตราเป็นภาพยนตร์ไทย ที่ใช้งบประมาณการสร้างสูงกว่าทั่วไป ซึ่งในมุมมองของผู้กำกับกล่าวว่า ต้องมองถึงความสมเหตุสมผลของงบฯ ให้ลองคำนวณง่ายๆ ถึงคนทำงาน 200 กว่าชีวิต ที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 3 หมื่นบาทกับระยะเวลาทำงาน ก็คิดออกมาเป็นเม็ดเงินจำนวนมากแล้ว ยังมีค่าอุปกรณ์ ค่าไลฟ์ออเคสตร้า และอื่นๆ อีก

“ดังนั้นอะไรที่สมเหตุสมผล และคิดว่าทำให้เราไประดับโลกได้เราจะทำ” ตั้งแต่บทที่เราใช้คนไทยเขียนโดยทีมของเราเอง แต่เราจ้างสกรีนเพลย์ไรทเตอร์จากฮอลลีวูดมาช่วยปรับบทให้เป็นสากลขึ้น มีอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรือคิดไม่ถึง ซึ่งต้องปรับใหม่ ยังมีส่วนของสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่เราใช้พี่แคนจาก Luma Pictures ที่ทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ ให้ Underworld, Charlie’ s Angles มาช่วยดูให้

 

 

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี มาช่วยให้คำแนะนำเรื่องอาร์ต เพื่อให้สิ่งที่ออกแบบมาคงความเป็นไทย และนำมาปรับให้มีความเป็นโมเดิร์น นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของเพลงที่ได้พี่ไก่ คุณสุธี แสงเสรีชน มาเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ และได้แนะนำให้ทำไลฟ์ออเคสตร้า ซึ่งวันนี้ก็ได้เห็นถึงความเหมาะสม รวมถึงไรอัน ชอร์ มาร่วมทำดนตรีให้ บนเงินทุนทั้งหมดที่ 230 ล้านบาทไม่รวมค่ามาร์เก็ตติง (รวมมาร์เก็ตติงประมาณ 250 ล้านบาท)

โดยทั้งหมดนั้นเป็นทุนส่วนตัวจากทั้ง 10 คนในบริษัทฯ ซึ่งถ้าให้กล่าวถึงรีเทิร์นในวันนี้ แม้จะรู้ว่ายังไม่ได้กำไร แต่กันย์กล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “เป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก เราไม่พูดเรื่องเงิน แต่จะพูดถึงความภาคภูมิใจที่มีอะไรเป็นของคนไทย” ซึ่งเราเดินไปต่างประเทศได้ไม่อายใคร ผมเชื่อมั่นเพราะโพรดิวเซอร์ต่างชาติทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้ ต่างบอกว่าเป็นอะไรที่แปลก น่าสนใจมาก เป็นสไตล์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และภาพสวย ซึ่งไม่คิดว่าภาพจะออกมาดีได้ขนาดนี้ บนทุนที่ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ” เป็นความทึ่งของ Producer ต่างชาติที่ไม่คาดว่าเมืองไทยจะทำหนังแอนิเมชันระดับนี้ออกมาได้

สำหรับก้าวต่อไปไม่ว่าจะเป็นสเต็ปต่อไปของภาคนี้ หรือโปรเจกต์ของภาคสอง เราเปิดกว้างให้กับบริษัทที่ต้องการมาร่วมทุนด้วย แต่หากไม่ลงตัวก็คงจะไปในรูปแบบการลงทุนเองแบบเดิม

ร่วมคิดกลยุทธ์มาร์เก็ตติง

นอกจากสร้างหนังเรื่องหนึ่งให้เกิดขึ้นมาแล้ว การร่วมการวางกลยุทธ์การตลาดกับผู้จัดจำหน่าย ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราให้ความสำคัญด้วย ถึงแม้จะมีผู้จัดจำหน่ายเป็นเอ็มพิกเจอร์ แต่เนื่องจากเราเป็นแนวทำทุกอย่างเอง เราจึงทำมาร์เก็ตติงร่วมกับเขาด้วย เรามีคอนเนคชัน หรืออะไรที่ช่วยได้ ก็นำมาร่วมสนับสนุนกัน รวมทั้งแชร์มุมมองกัน ในสิ่งที่ต้องยอมรับว่า เกินกว่าที่คิดไว้ คือ ทีมงานของเราอาจจะมีความเชื่ออย่างมากในเรื่องของโซเชียลมีเดีย แต่วันนี้เราเข้าใจกันแล้วว่า ทำไมยังต้องมีเทรดดิชันนัลมีเดีย ทำไมยังต้องมีบิลบอร์ด ยังต้องออกสื่อทีวี เพราะเทรดดิชันนัลมีเดีย คือสื่อที่เข้าไปหาชุมชน ในขณะที่โซเชียลมีเดียคือชุมชนต้องเข้าไปหาสื่อ นี่คือความแตกต่างที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน

Next Step

“แม้เราไม่ได้เจ๊งจากโปรเจกต์แรก แต่เราก็ไม่ได้กำไร” เราอยู่ในจุดที่ขาดทุนแต่ยังสู้ต่อได้ และวันนี้เราเริ่มมีแฟนเบสของ 9 ศาสตราแล้ว ก้าวต่อไปที่อยากทำคือ อยากให้คนเห็นคอนเทนต์ของเรามากขึ้น จะมีการต่อยอดไปที่เรื่อง ของเล่น เกม เมอร์ชันไดซ์ต่างๆ เช่นเสื้อผ้า ให้เกิดความต่อเนื่อง หรืออาจจะไปถึงจุดของทีวีซีรีย์ โดยมีไทม์ไลน์ที่ค่อนข้างชัดเจนในหลายๆ ส่วนทั้งเกมและฟิกเกอร์ ที่มีร่วมกับบริษัท เอสเอ็มฯ หนึ่งในบริษัทผลิตฟิกเกอร์สำหรับนักสะสม ที่มีชื่อระดับโลก โดยทั้งหมดจะเริ่มทยอยตามกันมาประมาณกลางปีนี้

ที่ผ่านมาเราให้เวลากับการทำแอนิเมชันเรื่องนี้มาถึง 5 ปี ดังนั้นเราต้องดันออกมาให้สุดให้ได้ Vision ของพวกเราคือต้องทำให้คาร์แรคเตอร์ของเราเป็นที่รู้จัก ทุกครั้งที่คนเห็นมวยไทย จะต้องเห็นอ๊อดพระเอกของเรา หรือทุกครั้งที่คนพูดถึงไทยแลนด์ คนจะต้องคิดถึง 9 ศาสตรา”

 

มีการวางแผนตลาดส่งออก โดยเซ็นสัญญากับบริษัทที่ประเทศจีน เพื่อนำ 9 ศาสตราเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประมาณกลางปีนี้ โดยจีนจะมีโควตาให้หนังจากต่างประเทศเข้ามาเพียงปีละ 34 เรื่อง แบ่งเป็นหนังฮอลลีวูด 28 เรื่อง และอีก 6 เรื่องที่เหลือเป็นหนังอินเตอร์ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่เราได้โควตานั้นมาเพราะตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เมืองไทยมีโรงหนังอยู่ประมาณ 700 ในขณะที่จีนมีถึง 40,000 กว่าโรง และการดูภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งที่ใหม่และนิยมมากสำหรับคนจีน ธุรกิจหนังจึงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดี ส่วนตลาดเป้าหมายถัดไป คือ สหรัฐอเมริกา เพราะเราอยากส่ง 9 ศาสตราเข้าประกวดรางวัลออสก้าด้วย สำหรับกันย์ เขากล่าวว่า “อย่างน้อยเราต้องฝันให้เต็มที่”

ทั้งนี้เมื่อถามถึง Key Success ของ 9 ศาสตรา กันย์ตอบสั้นๆ ว่า ความรักกับ Passion “คือเราอยู่กันด้วยความรัก เราอาจจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็มาคุยกัน และไม่เคยลืมว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน และเรามี Passion ที่ไม่เคยท้อถอย ไม่ว่าจะโดนปฏิเสธหรือล้มเหลวกี่ครั้ง เราเป็นเพื่อนที่กลายเป็น Family กันไปแล้ว

กันย์ ทิ้งท้ายโดยฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันด้วยข้อแนะนำดีๆ ว่า ให้คิดเริ่มต้นทำตามแรงบันดาลใจและความฝันในการสร้างภาพยนตร์ วันนี้โอกาสในการเริ่มนั้นมีหลายวิธีที่จะทำได้ มาคุยกับเราก็ได้ ถ้าเราเห็นว่าโปรเจกต์น่าสนใจและโอกาสดี เราก็ทำ หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่นงาน Festival ที่สามารถไปขายคอนเทนต์ ขายหนังได้ เพราะโลกในปัจจุบันได้เปิดกว้างมาก ส่วนตัวของเขาเองก็อีเมลไปหาทุกคน ทั้งผู้จัดจำหน่าย และตัวแทนต่างๆ เริ่มไม่ต่างจากใครๆ คือการกูเกิลหา และอีเมลตรงไป ถึงแม้จะอีเมลไป 50 คนตอบมาเพียงแค่ 8 คน ถ้าเจรจาแล้วมีโอกาสก็บินไปคุยต่อ เอาหรือไม่เอาก็ตาม เราก็ถือว่าเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เพื่อหาวิธีที่จะไปต่อให้ได้

 

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Tuesday, 20 August 2019 10:58
X

Right Click

No right click