นิตยา เพชดาวัน กรรมการสมาคม SME สปป.ลาว เจ้าของ บริษัท BNN Agriculture Clean and Organic Agriculture Sole Co., LTD ประเทศสปป. ลาว นักธุรกิจซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ในแวดวงธุรกิจด้านการเกษตรนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลการเกษตร และอาหารสัตว์จากไทย ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร MBA ถึงโอกาสของนักลงทุนไทยในสปป.ลาว โดยเฉพาะในจุดที่แตกต่างระหว่างไทยกับสปป.ลาว ที่ถือเป็นความลงตัว
“จะเห็นได้ว่าสปป.ลาวยังมีทรัพยากรจำนวนมาก แต่เรายังไม่สามารถแปรรูป เรายังไม่มีไอเดียตรงนี้ แต่คนไทยทำได้หมด สิ่งไหนที่เราคิดว่าเราทิ้งแล้วที่บ้านเรา แต่ไทยนำมาประกอบเป็นสินค้าได้ และเป็นคนใฝ่รู้หาความรู้ทางวิชาการด้วย”
นี่คือความแตกต่าง ทางด้านไอเดีย ความรู้วิชาการต่างๆ ที่ไทยเก่ง อันนี้ต้องยอมรับ และอยากจะเชิญชวนนักธุรกิจไทยให้ไปลงทุนที่ สปป.ลาว ซึ่งโอกาสของสินค้าไทยในสปป.ลาว มีทั้งเรื่องธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
“คนสปป.ลาวมีความมั่นใจในสินค้าไทยมาก ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นภาพติดตาและความมั่นใจในสินค้าไทย ทั้งเสื้อผ้า ที่รู้สึกว่ามีแฟชั่นทันสมัย และอาหารที่ถูกปาก ถ้าเป็นแบรนด์ไทย มีความเชื่อว่าเป็นของดี สินค้าจากสองประเทศวางคู่กัน สินค้าแบรนด์ที่ Made in Thailand จะถูกเลือกซื้อไปก่อน เพราะมีราคาไม่สูงและเป็นสินค้ามีคุณภาพ”
ข้อมูลสำหรับนักลงทุน
สำหรับข้อมูลการลงทุนที่จะช่วยนักธุรกิจไทย ให้เห็นถึงโอกาส และแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจการค้าร่วมกันระหว่างสปป.ลาวและไทย
นิตยา บอกว่า เมื่อมองถึงเรื่องของกำลังซื้อ หลังจากที่สปป.ลาวเป็ดประเทศเปิดมา 5 ปี ทุกคนมีหนทางในการทำมาหากิน เศรษฐกิจดีขึ้น จากปี 2559 -2560 จีดีพีเติบโตจาก 13.44% เป็น 15.02% และภาพรวมคนเริ่มมีกำลังซื้อ จะเลือกซื้อสินค้าที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ขยายตัวเพิ่มและพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว เช่น กลุ่มผู้หญิง Working Women ในแวดวงธุรกิจโรงแรม อสังหาริม-ทรัพย์ กลุ่มคนทำงานในกระทรวงต่างๆ หรือในบริษัทเอกชน อายุประมาณ 30-35 ปี ซึ่งมีจำนวนมากตามธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น
จากตัวเลขประเทศที่เข้าไปลงทุนในสปป.ลาว ปี 1988 -2017 (มกราคม-สิงหาคม) ไทยเป็นประเทศอันดับที่ 2 มีการลงทุน 752 โครงการในมูลค่า 4,494 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจากจีนที่เป็นอันดับ 1 มี 837 โครงการในมูลค่า 6,659 ล้านเหรียญสหรัฐ และแนวโน้มของการลงทุนไทยในสปป.ลาว ยังมีอัตราการเติบโตขึ้นทุกปี มีการประเมินไว้อีกว่า มูลค่าการค้าในปี 2560 ที่ 6,170.52 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมีการเติบโตขึ้นเป็นมูลค่า 11,743.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 โดยในส่วนมูลค่ารวมการค้าชายแดน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ของประเทศไทยและสปป.ลาว 107,742.48 ล้านบาท มีมูลค่าการส่งออก 66,467.50 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 41,274.98 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 25,192.52 ล้านบาท และมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าปศุสัตว์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณ ผักและของปรุงแต่งจากผัก
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลเพื่อให้นักธุรกิจไทย นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนที่สปป.ลาว คือนโยบายการค้าชายแดน ของรัฐบาลสปป.ลาว ที่ยึด 4 ข้อหลัก คือ การสร้างเขื่อนไฟฟ้า พัฒนาโครงการพื้นฐาน การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และผลักดันการลงทุนทั้งด้านเกษตรแปรรูป การศึกษา และโรงพยาบาล
นิตยา มองว่าจากนโยบายหลักนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปลงทุนในด้านเกษตรแปรรูป การศึกษา และโรงพยาบาล เช่นเดียวกัน ตลาดเป้าหมายที่รัฐบาลสปป.ลาว ต้องการจะสร้างให้เกิดขึ้น ในปี 2560 มีการลงทุนใหม่ ที่น่าสนใจทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิตอะไหล่รถยนต์ ผลิตเครื่องพลาสติก การเกษตรปลูกพืชผักต่างๆ รวมถึงการแปรรูปสินค้าทางด้านเกษตร ซึ่งรัฐบาลเน้นไปที่เกษตรออร์แกนิค พืชผักปลอดสารพิษ ที่มีการจำกัดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และฮอร์โมนในการปลูก ไม่ใช้สารกำจัดแมลง และปริมาณสารตกค้างของผลผลิต ต้องไม่เกินมาตรฐาน
ที่มาของภาพลักษณ์เมืองปราบเซียน
นิตยา กล่าวถึงกรณีที่มีนักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนในสปป.ลาว และทำไมหลายคนบอกว่าลาวเป็นเมืองปราบเซียน สถานการณ์ตอนนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องความไม่เข้าใจระหว่างกัน เช่น นักลงทุนเข้าไปเพราะมีเพื่อนสนิทที่เป็นคนสปป.ลาว ใช้ความเชื่อใจแล้วไปลงทุนเลย เวลาที่ขัดแย้ง และทะเลาะกัน จะโทษกันว่าเพราะเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่ถูกต้องคือต้องไปกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
“ขอแนะนำว่าถ้าเข้าไปแบบแจ้งๆ จดทะเบียนตามระบบขั้นตอนที่ถูกต้องนั้น การันตีเลยว่าจะไม่โดนโกงอย่างแน่นอน เพราะคนที่สปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นคนจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนต่างชาติ ใน 100 คน มีคนที่ไม่ดี 5 คนเท่านั้น ถ้าคุณเข้าไปตามกฎระเบียบไม่ต้องกลัวเลย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก รัฐบาลเปิดรับนักลงทุน ความเสี่ยงนั้น ไม่มีเลยนะ”
ซึ่งก็มีตัวอย่างของลักษณะของคนไทยที่เข้ามาลงทุนธุรกิจที่สปป.ลาวอย่างจริงจัง อาจจะเข้ามาเงียบๆ และเป็นระบบอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่กิจการก้าวหน้า ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีเป็นส่วนน้อย แต่ไหนแต่ไร สปป.ลาวกับประเทศไทย เราใกล้ชิดกัน ก็ต้องรักกัน ไม่มีประเทศไหนที่จะย้ายประเทศไทยไปที่ขั้วโลกเหนือ และไม่มีประเทศไหนที่จะย้ายประเทศลาวไปอยู่ขั้วโลกใต้ เพราะฉะนั้นลาวกับไทยนั้นเราเชื่อมโยงกัน