December 26, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

ก้าวต่อไปของคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี

November 27, 2018 3711

ความรู้และศาสตร์ในด้านการศึกษา ที่ต้องปรับตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด   ผศ. ดร. นาถรพี ชัยมงคล  คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)  ได้เปิดเผยถึงภาพรวมของคณะฯ กับ “นิตยสาร MBA” ถึง แนวคิดของการสร้างหลักสูตรการเรียนและการสอน  เพื่อให้ทันกับกระแสของโลกในยุค Disruptive Technology

ห้องปฏิบัติการฝึกความพร้อมในทุกสาขาวิชา
นทุกสาขาของระดับปริญญาตรี ที่เปิดสอนถึง 11 หลักสูตร  อันได้แก่ สาขาการตลาด, การจัดการ, การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, การเงิน, การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน, บัญชี ,เศรษฐศาสตร์ รวมทั้งหลักสูตรนานาชาติ (Marketing, International Business Administration, Business English) ที่นอกจากจะมีความโดดเด่นในด้านทฤษฎีแล้ว ยังเน้นการเรียนในภาคปฏิบัติที่มีชั่วโมงปฏิบัติมากถึง 60%  ซึ่งหมายความว่านักศึกษาจะได้ฝึกหัดทดลองใช้เครื่องมือจริงจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะให้นักศึกษามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือตามสายงานและสาขาทางวิชาการ”   ผศ.ดร.นาถรพี  กล่าว

ทั้งนี้  ผศ.ดร นาถรพี ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์ (Logistics Simulation LAB) เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้เพื่อสร้างโมเดลจำลองหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยในการวิเคราะห์และวัดผลการทำงานที่เกิดขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากสุด เห็นถึงผลดี – ผลเสียเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนลงมือปฏิบัติจริง เช่น ส่วนงานคลังสินค้า สามารถสร้างโมเดลที่เกี่ยวข้องกับการขนย้าย (Material Handling) ภายในคลังสินค้า หรือในส่วนการขนส่ง สามารถสร้างโมเดล ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า และปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งเพื่อหาต้นทุนการขนส่ง”

หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนี้นักศึกษาจะมีโอกาสเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการจากการฝึกงานในภาคฤดูร้อน การฝึกสหกิจศึกษา 1 ภาคเรียน รวมไปถึงการทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาจริงจากสถานประกอบการกรณีศึกษา และมีหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้จัดทำการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์นโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่มีการฝึกปฏิบัติงานจริงมากกว่าหลักสูตรอื่นๆ

ขณะเดียวกันมีห้องปฏิบัติการทรัพยากรมนุษย์ที่มีโปรแกรม My HR รวมถึงการพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ มีการพัฒนาซอฟท์แวร์ดิสคัฟเวอรี่ต่างๆ เพิ่มขึ้นจากที่มีห้องปฏิบัติการโปรแกรม SAP (SAP Room) และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์หุ้น ในสาขาการตลาด การจัดการ การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ  โดย ผศ.ดร.นาถรพี  ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในประเด็นนี้ว่า

“ เพราะเรามีเป้าหมายว่านักศึกษาของ คณะบริหารธุรกิจ  มทร. ธัญบุรี ต้องสามารถที่จะปฏิบัติได้จริง”

สำหรับการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ตอนนี้มีการปรับทิศทางเพื่อสนับสนุนและเน้นการสร้างผู้ประกอบการ เพื่อรองรับนักศึกษาที่มุ่งการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น โดยขั้นตอนของการส่งเสริมนั้น นักศึกษาทุกชั้นปีจะได้รับการฝึกและปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยให้นักศึกษาฝึกงานสหกิจ (Internship) ในต่างประเทศ โดยการฝึกภาคปฏิบัตินี้ เพื่อให้มีความรู้และความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงมีการเพิ่มเนื้อหาวิชาทางด้านอีคอมเมิร์ซเข้าไปในทุก ๆ หลักสูตรอีกด้วย

“คณะผู้บริหารให้นโยบายถึงการปรับหลักสูตรเรื่องการเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเตรียมความพร้อมเลย เป็นหลักสูตรที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียน  จากนั้นนักศึกษาที่สนใจเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ทางคณะฯ จะมีกระบวนการสนับสนุนตามขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการต่อไป” ผศ.ดร นาถรพี กล่าว

 

 

2 กองทุนเปิดโลกทัศน์เรียนและฝึกงานในต่างประเทศ

ในภาคการปฏิบัติ  คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ยังเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปฝึกงานในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นอีกรูปแบบที่สำคัญของการเรียนการสอนของที่นี่ โดย  ผศ. ดร. นาถรพี กล่าวและให้รายละเอียดในเรื่องของทุนต่างประเทศว่า มี 2 ทุน คือ กองทุนสหกิจ (กองทุนส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพ) ที่ให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาฝึกงานในต่างประเทศคนละ 50,000 บาท โดยปีนี้ได้สนับสนุนการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในต่างประเทศในทุกภาคการศึกษา เช่น การปฏิบัติงานในโรงแรม Hotel- Restaurant Zum Reussenstein ประเทศเยอรมนี รวมทั้งการปฏิบัติงานด้าน E-Commerce และ Logistic กับบริษัทขนาดใหญ่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งนักศึกษาสามารถนำทักษะที่ได้ มาใช้ในการปฏิบัติงาน และต่อยอดเป็น Startup ของตนเองได้

นอกเหนือจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว คณะบริหารธุรกิจได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น University of Electronic Science and Technology of China เมืองเฉิงตู  Wuhan University และ Huazhong University of Science and Technology เมืองอู่ฮั่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด ระบบการขนส่งและ Logistic การทำวิจัยและแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาหลักสูตรร่วมกันในอนาคต

ผศ. ดร นาถรพี  ได้เผยถึงแนวทางที่คณะฯ มุ่งมั่นที่จะแนะนำให้นักศึกษามองเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ที่ได้จากการไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์จริงให้นักศึกษา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องสอบภาษาอังกฤษให้ผ่าน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางคณาจารย์ได้ไปเยี่ยมนักศึกษาที่ฝึกงานอยู่ในแหล่งค้าส่งประเทศจีน ที่พบว่าวันนี้มีความก้าวหน้ามาก  นักศึกษาไปฝึกงานในระยะเวลา 2 เดือน แต่มีมุมมองที่กว้างขึ้น บ้างก็วางแผนจะกลับมาทำธุรกิจ เพราะรู้และเห็นในกระบวนการจริง ตั้งแต่เริ่มฝึกการทำเว็บไซต์

นอกจากนี้ทางคณะฯยังมีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกแบบ Credit Transfer เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา  ซึ่งคนที่จะได้รับทุนต้องผ่านเกณฑ์กองทุนพัฒนานักศึกษา มีระดับคะแนนเฉลี่ยและคะแนนมาตรฐานภาษาอังกฤษ (TOEIC) ตามที่กำหนด  ซึ่งจะให้ทุน  2  หมื่นบาทต่อคน เพื่อเดินทางไปศึกษาในประเทศต่างๆ  โดยปีนี้มีไปในหลายประเทศ อาทิเช่น University of Wurzburg ประเทศเยอรมัน National Pintung University ประเทศไต้หวัน   

ทั้งนี้ ทางคณะฯ ยังขยายเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนต่างๆ ในประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น และเมื่อกลับมาจากฝึกงานแล้ว Mindset ของนักศึกษามักจะเปลี่ยนไป  ซึ่งในขณะเดียวกันยังได้รับการเสริมศักยภาพในเรื่องของภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาอย่างแน่นอนในอนาคตการทำงาน

ปริญญาโท

ผศ.ดร นาถรพี   ยังได้เผยถึงการศึกษาในระดับปริญญาโทนั้น ทางคณะได้มีการปรับปรุงเนื้อหาในแต่ละรายวิชาใหม่เพื่อให้มีความทันสมัยและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน โดยในปีที่ผ่านมา มีการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับ Disruptive Technology มีการเปิดสาขาโลจิสติกส์ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนั้นยังมีการเสริมความรู้ทางด้าน  Marketing Technology และ Digital Marketing ควบคู่ไปกับศาสตร์ทางด้านการตลาด มีเสริมความรู้ด้าน Change Management การเป็น Change Agent และนวัตกรรมทางการจัดการ และการเงิน

หลักสูตรของเราเน้นการสร้างให้นักศึกษามีความสามารถในการบริหารจัดการโดยมีความรู้ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจอย่างครบถ้วน ควบคู่ไปกับการพัฒนา Soft Skill ของนักศึกษา ซึ่งต้องมองว่าความต้องการของผู้เรียนในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต จึงต้องปรับหลักสูตรให้ผู้เรียนได้ศึกษาผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มีการเชิญวิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานชั้นนำของประเทศ  และยังมีการเสริมวิชาโครงการระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมานักศึกษาของเราได้มีโอกาสไปดูงานที่องค์กรชั้นนำระดับโลก เช่น โรงงานโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ในประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายทางด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ใน University of  Derby ที่มีชื่อเสียง ซึ่งในปีหน้าหลักสูตรของเราวางแผนที่จะนำนักศึกษาไปดูงานโลจิสติกส์ที่ประเทศเยอรมนี”

การส่งนักเรียนไปฝึกงานในต่างประเทศ นอกจากอินเตอร์โปรเจคส์แล้ว ทางคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญญบุรี ยังมีความร่วมมือกับ  Auckland University of Technology (AUT) ประเทศนิวซีแลนด์ ในการเปิดหลักสูตรการอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมตัวไปศึกษาต่อ ณ ประเทศนิวซีแลนด์  โดยเป็นการต่อยอดจากหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ได้ริเริ่มเอาไว้  ซึ่งมีโครงการที่จะขยายต่อไปในประเทศเยอรมันและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาที่สูงสุด

 

 

หลักสูตรรองรับเทคโนโลยี 5 G

เมื่อกล่าวถึงการปรับหลักสูตรเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5 G  ผศ.ดร นาถรพี  เผยถึงเรื่องนี้ว่า “ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การสอนเราจึงต้องตอบโจทย์ Lifelong Learning    ซึ่งโดยความเห็นคิดว่า ในอนาคตการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนเสมอไป  ซึ่งเรากำลังจะมีหลักสูตรออนไลน์ทั้งระดับปริญญาตรีและโท เพื่อรองรับคนที่ทำงานด้วยเครดิตแบงก์เทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการนำร่อง คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2563 มีภาคเอกชนที่ให้ความสนใจค่อนข้างมาก เพราะตอบโจทย์คนยุคใหม่เป็นอย่างดี เพื่อให้คนได้สามารถพัฒนาตนเอง บริหารเวลาได้ง่าย และสร้างความมั่นใจว่าการเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต”

การเทียบโอนประสบการณ์หรือที่เรียกว่า เครดิตแบงก์นั้น จะมีมาตรฐานในการคัดกรอง โดยนำประสบการณ์การอบรม หลักสูตรต่างๆที่ผ่านมา โดยนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อการเทียบโอน ซึ่งการเทียบโอนจะสามารถให้หน่วยกิตได้โดยไม่ต้องมีการเรียน ซึ่งการเทียบโอนประสบการณ์หรือเครดิตแบงก์ เป็นวิธีการที่ตอบโจทย์คนที่อยู่ในระบบการทำงาน ซึ่งในอดีตไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ในบางกรณีอาจจะแค่ต้องการปริญญา แต่ในบางกรณีเมื่อเทียบโอนก็มาศึกษาต่อเพิ่มเติมกับทางสถาบัน

 สำหรับระดับปริญญาตรีมีวิชาหลักการจัดการและองค์การ การบริหารทรัพยากรมนุษย์  ขณะที่ในระดับปริญญาโท เราจะมี  3 วิชาหลักๆคือ การจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้บริหาร พฤติกรรมองค์การสมัยใหม่ และการจัดการตลาดสำหรับผู้บริหาร และในส่วนของปริญญาเอกนั้น ส่วนใหญ่คนที่มาเรียนจะมีทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการ จึงเป็นการมองเรื่องของการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีใหม่ๆ รวมไปถึงเรื่องเชิงวิชาการ อย่างไรก็ตามงานวิจัยในวันนี้ก็ต้องเน้นในเรื่องของการตอบโจทย์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ผศ. ดร. นาถรพี   ได้กล่าวสรุปในท้ายที่สุดว่า ด้วยบทพิสูจน์ของจุดยืนที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถอยู่มายาวนานกว่า 42 ปี  ภายใต้แนวทางการจัดการเรียนการสอนเปิดแยกตามสาขาวิชา ทำให้นักศึกษาสามารถได้เรียนตามสาขาวิชาที่ต้องการ  โดยทางคณะฯมีคณาจารย์รองรับกับหลักสูตรนับ 100 ท่าน  ซึ่งเป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถอยู่ตลอดเวลา อย่างล่าสุด ทางคณะฯได้จัดส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานฟินแลนด์โมเดล ซึ่งเป็นโมเดลการศึกษาที่ได้รับการจัดอันดับและยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นต้น

เหล่านี้ถือเป็นจุดเด่นของเรา ที่กล่าวได้ว่า เมื่อเข้ามาแล้ว เป็นหน้าที่ของเราในการปั้นเด็กให้ประสบความสำเร็จ ออกจากรั้วการศึกษาของคณะบริหาร (มทร.) ธัญบุรี ไปสู่โลกใบกว้างสำหรับการทำงานได้อย่างมีคุณภาพ

Last modified on Thursday, 24 June 2021 09:18
X

Right Click

No right click