January 16, 2025

TBS ศูนย์กลางเรียนรู้ทักษะแห่ง MBA บ่มเพาะผู้บริหาร นักธุรกิจ มืออาชีพ

January 16, 2025 18

ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการกำหนดรอบของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะๆ อย่างน้อยทุกๆ 5 ปี แต่สำหรับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School :TBS) เชื่อว่าโลกของความรู้ ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ยิ่งเป็น MBA ยิ่งต้องพัฒนาไปให้ไว เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้เรียน สำหรับนำไปใช้ในการบริหารดำเนินธุรกิจ การทำงานในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงหลังแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรตลอดจนการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนใหม่ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ว่า TBS ยึดหลัก Customer Centric มาตลอด ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ในการกำหนดและพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันผู้ที่สนใจเข้ามาเรียน MBA จะมีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ พนักงานทั่วไปที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ โดยลักษณะของคนกลุ่มนี้คือ ทำงานอยู่ในฟังก์ชันของตัวเอง เช่น บัญชี วิศวกร เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานของตัวเองแต่ยังขาดทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นเมื่ออยากเปิดบริษัทของตัวเอง อยากทำธุรกิจ อยากทำสตาร์ตอัป ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ก็จะเลือกเข้ามาเรียนรู้ที่ MBA เพราะเป็นหลักสูตรที่จะช่วยให้เริ่มเข้าใจถึงองค์ประกอบของการทำธุรกิจ ต้องมีฟังก์ชันอะไรบ้าง โดยผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้ในทุกวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ จบไปก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้

ถัดมาใน กลุ่มที่สองคือ ผู้คนที่อยากเปลี่ยนสายงาน ยกตัวอย่างเช่น เรียนจบปริญญาตรีมาทางด้านวิศวกร แต่เมื่อทำงานไปสักระยะ เริ่มรู้สึกสนใจในงานด้านอื่น อย่าง การเงิน การตลาด ฯลฯ แต่จะเปลี่ยนงานไปเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังขาดทักษะและประสบการณ์ ดังนั้นจึงเข้ามาเรียน MBA เพื่อศึกษาว่าถ้าเปลี่ยนสายงาน หรือ ธุรกิจที่สนใจอยากทำ ควรต้องมีความรู้มีอย่างไรบ้าง และค่อยเจาะลึกเข้าไปจนเกิดความเชี่ยวชาญ เช่น อยากทำด้านการเงิน ในปีหนึ่งของหลักสูตร MBA ก็จะได้เรียนพื้นฐานทั้งเรื่องของ Finance Marketing Human resources ฯลฯ พอปีสองถ้าสนใจการเงินจริง ๆ ก็สามารถเลือกวิชาการเงินโดยเฉพาะได้ ซึ่งพอเรียนรู้ก็จะมีทั้งทักษะ และประสบการณ์ด้านการเงิน สามารถขยับขยายเปลี่ยนสายงานได้ตามที่ตั้งใจไว้

กลุ่มที่สาม คือ คนทำงานที่ไม่ได้อยากเปลี่ยนสายงาน แต่อยากเติบโตขึ้นไปอีกระดับในองค์กรที่ทำ คือในแง่ของการทำงานต้องยอมรับว่า ถ้าอยากขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นในสายงานที่ทำอยู่ เรื่องความรู้ทักษะในการบริหารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เช่น เรียนจบมาแล้วทำงานวิศวกร การจะขึ้นเป็นระดับ Manager Director จะดูเฉพาะข้อมูลของวิศวกรไม่ได้ แต่ต้องรู้จักเรื่องของบัญชี การบริหารดูแลคนในทีม ดังนั้นเพื่อเพิ่มทักษะการมาเรียนต่อปริญญาโท มาเรียน MBA ก็เป็นอีกทางที่ทำให้เติบโตขึ้นไปได้อีก

ดังนั้น ทุกครั้งที่ TBS มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาหลักสูตร จะทำโดยคำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ของผู้เรียนที่จะได้รับมาก่อนเสมอ โดยมีทั้งสัมภาษณ์ผู้เรียนว่าต้องการทักษะ หรือความรู้ด้านไหน และพูดคุยกับองค์กรบริษัทชั้นนำในไทย และต่างประเทศที่เป็นพันธมิตร ว่าต้องการคนทำงานที่มีทักษะแบบไหน และขอความคิดเห็นจากศิษย์เก่าว่าหลักสูตรที่สอนสามารถนำไปใช้งานได้จริง หรืออยากให้ปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใดบ้าง ร่วมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนการสอนกับสถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ในต่างประเทศ เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการศึกษาในไทย เรียกได้ว่าการปรับการพัฒนาหลักสูตรทำขึ้นจากสถานการณ์ของโลกการทำธุรกิจ ณ ปัจจุบันและรับเทรนด์ในอนาคตไปพร้อมกัน

 

หลักสูตรทันสมัย ถ่ายทอดจากตัวจริงในสนามธุรกิจ

โลกธุรกิจมาเร็วเปลี่ยนไว การเรียนการสอนเรื่องของบริหารธุรกิจ ให้กับผู้เรียนที่อยู่ในวัยทำงานที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว กลายเป็นความท้าทายของ TBS ที่ “ศ.ดร.นภดล” ยอมรับว่าหลักสูตรของที่นี่ต้องแน่นและทันสมัย ที่สำคัญผู้สอนในคณะของ MBA ต้องมีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าไปอีกระดับ

“อาจารย์ในภาค MBA มี 2 ภาคส่วนสำคัญ คือ อาจารย์ประจำ ซึ่งคณะอาจารย์ส่วนใหญ่ เป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจ บริษัทใหญ่ ๆ ดังนั้นจึงเข้าใจแนวทางกระบวนการทำธุรกิจในแต่ละยุคสมัยอย่างเข้มข้น ส่วนที่สองคือ กลุ่มของอาจารย์พิเศษ ซึ่งเป็นทั้ง CEO หรือ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท หรือผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ทางคณะเชิญเข้ามาร่วมบรรยายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการสอนในหลักสูตร MBA ทางอาจารย์ก็สอนสิ่งที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งทักษะ ความรู้ในการบริหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI หรือ ESG ฯลฯ คือผู้เรียนได้เห็นทั้งภาพการบริหารธุรกิจทั้งในวันนี้ และอนาคต

อย่างวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกิจ เมื่อหลักสูตร MBA สอนให้คนเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ AI จำเป็นต้องมี เพราะเป็นเครื่องมือที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเข้ามาอยู่ในธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่ TBS ทำไม่ใช่พัฒนาหลักสูตร AI ขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบัน ในหลายวิชาก็จะมีการแทรก เครื่องมือนี้เข้าไปอยู่แล้ว ทางคณาจารย์ก็จะพูดถึง AI ว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร จะแทรกเรื่อง AI เข้าไปอยู่แล้วในบริบทของวิชาตัวเองที่สอนอยู่แล้ว

หรือ การเพิ่มรายวิชาที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดอย่าง CEO Vision ก็เกิดขึ้นจากแชร์ไอเดียร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับ TBS ที่ต่างเชื่อตรงกันว่า Vision คือหนึ่งในหัวใจของการบริหารธุรกิจให้โตได้อย่างแข็งแรง ซึ่งคนที่จะมาพูดเรื่องราวนี้ได้ดีที่สุด ก็คือ CEO หรือผู้นำองค์กร อย่างเวลาที่เจอวิกฤตทำอย่างไร นำพาองค์กรไป พลิกฟื้นขึ้นมา การทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง จึงได้สร้างวิชานี้ขึ้นมา โดยเชิญ CEO จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำองค์กรเอกชน ภาครัฐ เข้ามาร่วมบรรยาย ในบางครั้งก็มีการพานักศึกษาไปดูงานถึงบริษัทเลย

แลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มทักษะการบริหารรอบด้าน

นอกเหนือจากเรื่องของหลักสูตรแล้ว จุดเด่นที่สำคัญของ MBA ของมธ. ที่ต่างไปจากที่อื่น ๆ คือ เรื่องของรูปแบบการเรียนการสอนที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางคือ กำหนดเกณฑ์ผู้เข้าเรียนต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ที่ทำเช่นนี้เพราะผู้เรียนจะได้รับทั้งความรู้จากหลักสูตร และความรู้จากการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันของผู้เรียนด้วยกันเอง

ซึ่งเรื่องนี้ “ศ.ดร. นภดล” ย้ำว่าสำคัญมาก “การก้าวไปเป็น CEO ในบริษัท ย่อมเจอคนหลากหลายไม่ได้เจอคนกลุ่มเดียว เจอนักบัญชี วิศวกร สถาปัตย์ ฯลฯ ยิ่งไปสูง ต้องยิ่งเจอคนกว้าง ซึ่ง MBA ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ อยู่กับคนที่มีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างจากคุณ มองภาพจากโจทย์ ที่ไม่เหมือนที่คุณมองในอดีต เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารสร้างธุรกิจให้เติบโตในอนาคต” พร้อมกับขยายความต่อว่า

การเรียน MBA ไม่ใช่เรียนจากตำรา แต่เรียนรู้จากการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง เจอปัญหา การแก้ปัญหา ซึ่งภายในชั้นเรียนจะประกอบไปด้วยผู้คนทั้ง 3 กลุ่ม ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งล้วนมี Background ที่ต่างกัน อยู่ในสายงานต่างกัน แต่ทั้งหมดมีความสนใจธุรกิจ สนใจการบริหารเป็นหลักเหมือนกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และการที่ทุกคนมีประสบการณ์ในการทำงานมาระดับหนึ่ง เมื่อยก Case Study หรือ มีผู้บริหาร CEO ในธุรกิจต่าง ๆ มาร่วมพูดคุย ก็จะเข้าใจการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่งการแชร์ไอเดียจะเกิดความสัมพันธ์ทั้ง CEO และในระหว่างผู้เรียนทั้งหมดด้วย

อย่าง หันซ้ายไปเจอเพื่อนที่เรียนเป็นคุณหมอก็ได้รู้ว่าการบริหาร รพ.ต้องเจออะไร หรือ หันไปด้านขวา เจอเพื่อนเรียนที่เป็นนักบัญชี ถ้าเจอปัญหาต้องทำไง หรือเพื่อนด้านหน้าทำงานด้านวิศวะจะจัดการปัญหาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ฉะนั้นยิ่งมีความหลากหลายของผู้เรียนในชั้นเรียนมากเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะในการทำงาน บริหารธุรกิจจริง ๆ ต้องเจอผู้คนที่หลากหลายทั้งอาชีพที่ต่างกัน ระดับสายงานที่ต่างกัน มีมุมมองที่แตกต่างจากเดิม ๆ การเรียน MBA ก็เหมือนทำให้ผู้เรียนค่อย ๆ ซึมซับกับความคิดเห็นที่แตกต่าง การทำธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ และสามารถนำมาปรับใช้ต่อยอดได้ในแบบของผู้เรียนเอง เพราะเมื่อทำธุรกิจ ต้องบริหารคนหลายฝ่าย เจอโจทย์มุมมองความคิดที่หลากหลาย”

นอกจากสร้างการเรียนรู้ในชั้นเรียนแล้ว ล่าสุด “ศ.ดร.นภดล” เผยว่าได้มีการจัดตั้ง สมาคมศิษย์เก่า MBA ธรรมศาสตร์ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งเชื่อมโยงระหว่างศิษย์เก่านับหมื่นคนกับศิษย์ปัจจุบัน ได้มีโอกาสสร้าง Connection ต่อกัน บนพื้นที่ ที่สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ MBA Thamamsat Talk เวทีกลางที่จัดให้มีการพูดคุย Update ความรู้ หรือ MBA Thammasat Night เพื่อให้ศิษย์เก่าทุกรุ่นได้มาร่วมทำความรู้จักกันมีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันในมิติต่าง ๆ รวมถึงสร้าง MBATU Club ต่าง ๆ ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบันจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่เพิ่มมิติหลักสูตร MBA ของ TBS ให้สามารถผลักดันสร้างคนทำงานที่เก่ง นักบริหารเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้


บทความ/รูปภาพ: กองบรรณาธิการ

Last modified on Thursday, 16 January 2025 12:55
X

Right Click

No right click