เพราะการเงินและการศึกษา เรียกว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างความสำเร็จ ความก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาทั้งบุคลากร สังคมและเศรษฐกิจของประเทศในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่บริบทต่างๆ ในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยพลังทางเทคโนโลยีและความท้าทายทางเศรษฐกิจ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ซึ่งได้รับการยอมรับกันว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในโรงเรียนสอนธุรกิจ หรือ Business School ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก โดย AACSB (Association to Advance Collegiate School of Business) มาอย่างต่อเนื่องถึง 3 วาระ ด้วยองค์ประกอบความเข้มแข็งทั้งหลักสูตร องค์ความรู้ทางวิชาการ ทรัพยากรและบุคลากร คณาจารย์มีคุณวุฒิปริญญาเอกมากที่สุดของประเทศไทย
นิตยสาร MBA ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ ศ.ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ CFA, FRM, CFP สาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ประจำหลักสูตรการเงิน การลงทุน และการบริหารความเสี่ยง คณะบริหารธุรกิจ นิด้า ที่ได้แบ่งปันวิสัยทัศน์และมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ตลอดจนการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผู้เรียนในหลักสูตรMBA ของนิด้า
เทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมการเงิน การลงทุน และแนวทางการจัดวางหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์
ศ.ดร. กำพล ได้เผยว่า “ในปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการลงทุนเองก็ไม่ต่างกัน เราได้เห็นการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซี หรือ Exchange-Traded Fund (ETF) ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทำให้นักลงทุนมีตัวเลือกและโอกาสในการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น”
ทั้งนี้อาจารย์ยังกล่าวถึงบทบาทของ AI และการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของการลงทุนว่า “AI และเทคโนโลยี Robot Trading ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนในหลายมิติ ใครที่ตามทันเทคโนโลยีก็จะได้รับโอกาส ในขณะที่บริษัทที่ปรับตัวไม่ทันจะเผชิญภัยคุกคาม”
นอกจากนี้ ศ.ดร. กำพล ยังย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีว่า “ในสายการเงิน การตามเทคโนโลยีให้ทันเป็นสิ่งสำคัญ นักศึกษาที่เรียนในสาขานี้จำเป็นต้องมีทักษะใหม่ๆ ไม่ใช่แค่ความรู้เดิมๆ อีกต่อไป ใครที่รู้จัก AI และนำมาใช้จะได้เปรียบ ส่วนใครที่ยังพึ่งพาความรู้เดิมๆ อาจกลายเป็นจุดอ่อนในโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
เทคโนโลยี AI เป็นได้ทั้งโอกาส ความท้าทาย และภัยคุกคาม
ศ.ดร. กำพล ขยายความในเรื่องนี้ว่า สำหรับนักลงทุน มีการลงทุนแบบใหม่ๆ กลยุทธ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก ตอนนี้มีการนำ AI มาใช้แพร่หลาย และมีการพูดขยายกันต่อไปว่า ต่อไป AI จะมาแทนอาชีพหลายๆ สายงาน ได้หรือไม่? ตอนนี้ หลายคนมองว่าAI สามารถมาแทนหน้าที่ผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือหน่วยงานด้านเทคนิค หากว่าคนที่ดูด้าน technical แล้วรู้จักนำ AI มาปรับประยุกต์ใช้ ก็จะเป็นโอกาส แต่ใครที่ใช้เพียงความรู้และทักษะเดิมๆ โดยละเลยการนำเทคโนฯ ใหม่ๆ ก็จะเป็นภัยคุกคาม เพราะสามารถนำ AI แทนได้มั้ย
การผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติในหลักสูตร MBA
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ในหลักสูตร MBA ศ.ดร. กำพล เล่าว่า “ที่นิด้า เราเน้นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างลงตัว หลักสูตรของเรานำเนื้อหาที่ใช้ในการสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ เช่น CFA (Chartered Financial Analyst) , FRM (Financial Risk Manager) , และ CFP (Certified Financial Planner) มาใช้ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ที่อัปเดตอยู่เสมอ”
ซึ่ง ศ.ดร. กำพล เสริมว่า “เนื้อหาการสอบ CFA ในปัจจุบันมีการเพิ่มเรื่อง Machine Learning และ Data Analytics เข้ามา แม้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเอง แต่ต้องเข้าใจเทรนด์และเครื่องมือเหล่านี้ เช่นเดียวกับการเข้าใจคริปโทเคอร์เรนซี และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม และที่สำคัญ CFA ไม่ใช่แค่การสอบ แต่คือมาตรฐานความรู้ที่อัปเดตและครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า ถ้าผู้เรียนสอบผ่านมาตรฐาน CFA ซึ่งเป็นการสอบความรู้ที่ อัปเดตตลอดเวลา นั่นหมายความว่า นักศึกษาผู้สอบผ่านก็เป็นผู้มีความรู้ที่ทันยุคสมัยและอัปเดตทเฉกเช่นเดียวกัน และที่สำคัญมาตรฐานการสอบสากลนี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่า ผู้สอบผ่านมีความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเหมือนกันทั่วโลก นี่คือสิ่งที่ MBA นิด้าเราผลักดัน สนับสนุนผู้เรียนให้ไปสอบมาตรฐานสากลเหล่านี้ โดยมี Incentive ว่า ถ้านักศึกษาสอบผ่านจะได้รับทุนสนับสนุนมอบให้ เรียกได้ว่า เป็นจุดแข็งสำคัญหนึ่งของเรา”
เทรนด์การลงทุนในไทยและโอกาสทางเศรษฐกิจ
ศ.ดร. กำพล ยังพูดถึงแนวโน้มในตลาดการเงินของประเทศไทยว่า “หุ้นไทยในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการสนับสนุนจากกองทุนวายุภักษ์ การลดดอกเบี้ย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญคือต้องมองว่าราคาหุ้นเหมาะสมกับพื้นฐานหรือไม่”
นอกจากนี้ ศ.ดร. กำพล ยังกล่าวถึงโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกว่า “ด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในเชิงยุทธศาสตร์ แนวโน้มหลายบริษัทข้ามชาติใหญ่อาจพิจารณาเลือกมาตั้ง Data Center ในไทย อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และทรัพยากรบุคคลของเราให้มีความพร้อมรับทั้งในแง่คุณภาพและความเพียงพอเพื่อรองรับการลงทุนเหล่านี้ ซึ่งการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะผมคิดว่า การลงทุนในประเทศไทยจะยั่งยืนได้ ต้องมาพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ
การศึกษากับการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ
ในประเด็นด้านการศึกษา ศ.ดร. กำพล เน้นว่า “ประเทศไทยต้องลงทุนในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพคือหัวใจสำคัญในการแข่งขันในระดับโลก”
อาจารย์ยกตัวอย่างประเทศจีนและอเมริกาว่า “ประเทศเหล่านี้มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตคนเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น จีนที่สร้างมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรืออเมริกาที่มี Silicon Valley เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล”
ซึ่งมุมมองของ ศ.ดร. กำพล มองว่าการศึกษาไม่ได้หมายถึงการเพิ่มงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาคุณภาพการสอนด้วย เช่น การดึงดูดคนที่มีความสามารถมาเป็นครู และการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนที่เท่าเทียม
“การพัฒนาประเทศต้องเริ่มจากการพัฒนาคน เพราะคนที่มีคุณภาพคือหัวใจของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน” ศ.ดร. กำพลเผย
ความเข้มแข็งและโดดเด่นของหลักสูตร การเงินและการลงทุน MBA นิด้า
ศ.ดร. กำพล เผยว่า “MBA ของนิด้าไม่ใช่แค่การเรียนรู้ แต่คือการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เรามุ่งมั่นที่จะเป็นหลักสูตรที่ทันสมัยและตอบโจทย์ทั้งนักศึกษาและอุตสาหกรรม”
อาจารย์ย้ำว่า “จุดเด่นของเราคือการผสมผสานความรู้ด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษาไม่เพียงแค่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้”
การศึกษาในหลักสูตร MBA ของนิด้า คือ “การลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อสร้างผู้นำที่พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต”
จากแนวคิดและมุมมองของ ศ.ดร. กำพล ที่ได้แบ่งปันต่อผู้อ่าน ผ่านบทความนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนิด้าในการสร้างหลักสูตร MBA ด้านการเงินและการลงทุนที่โดดเด่นและตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ศ.ดร. กำพล ปัญญาโกเมศ CFA, FRM, CFP สาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ถ่ายทอดมุมมองและความรู้ที่มีคุณค่า ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี การศึกษา และการพัฒนาเศรษฐกิจ
บทความ/รูปภาพ: กองบรรณาธิการ