November 23, 2024

สูตรผสมโลก 2 ใบ ภาควิชาการเงิน AccBA

May 31, 2019 5053

“ภาพรวมโดยกว้างของปรากฏการณ์ Disruptive Technologies ที่เรากำลังเผชิญหน้าร่วมกันในช่วงเวลานี้มีหลายมุมมอง หากมองบวกก็คือการลัดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่เคยมีมา เพื่อมุ่งเป้าเข้าสู่จุดหมายให้ได้โดยเร็ว

แต่หากมองในอีกด้านการที่เรามุ่งมั่นเพียงแต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายโดยเน้นที่ความเร็วเป็นสำคัญ ด้วยวิธีคิดข้ามขั้น อาจทำให้เกิดการละเลย ละทิ้งหรือก้าวข้ามบางสิ่งบางอย่างไป คำถามคือสิ่งใหม่ที่มา Disrupt ได้นำพาทุกผู้คนไปถึงจุดปลายได้ทั้งหมดหรือไม่? หรือได้ละทิ้งสิ่งสำคัญใดไป” คือ มุมเปิดความคิดเห็นของ รศ.ดร.รวี ลงกานี หัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อประเด็น เรื่อง Disruption

“Disruptive Technologies จุดติดความปั่นป่วนให้กับแวดวงอุตสาหกรรมหลายต่อหลายภาค รวมถึงภาคการศึกษาก็เช่นกัน เมื่อโลกหมุนไปเร็วแบบนี้ คนบางกลุ่มหรือการเรียนการสอนบางอย่างก็มีโอกาสทั้งได้ประโยชน์หรืออาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลังได้ทั้งสิ้น เหมือนเวลาเราอยู่บนรถที่แล่นเร็วๆ ถ้าเราไม่หาที่เกาะหรือระมัดระวังตั้งหลักให้ดีๆ พอรถเบรกกะทันหันก็อาจจะล้มลงได้ประเด็น Disruption ก็เช่นกัน หากถ้าเราตั้งรับไม่ดี ก็อาจถูกข้ามผ่าน หรือล้มระเนระนาดลงไปได้” คือ ความเห็นของ รศ.ดร.รวี ซึ่งได้ระบุถึง แนวคิดและทิศทางของภาควิชาสาขาการเงิน ในอนาคตว่าต้องมีการปรับตัว เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและพ้องกันไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับในภาคสถาบันการศึกษาอย่างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้มีความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติที่หลากหลาย โดยที่ผ่านมาในองค์กรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ก็ได้มีการพูดคุยและหารือเพื่อแลกเปลี่ยนและค้นหาแนวคิดกันว่าจะใช้รูปแบบไหนระหว่าง รูปแบบเดิม กับรูปแบบใหม่ๆ โดยนำ Technology มาชูโรง โดย รศ.ดร.รวี มีความคิดเห็นว่า

ถ้าเราจะไปให้ถึงเป้าหมายได้จริง ควรต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ Content และ System จึงจะครบพร้อมในการบรรลุเป้าหมาย และความสำเร็จ

ทั้งนี้ รศ.ดร.รวี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่ หรือโดยเฉพาะในกลุ่ม FinTech มักโน้มเอียงไปที่การสร้างระบบ (System) ขึ้นมาเพื่อเป้าหมายไปสู่ปลายทาง โดยไม่ได้เน้นในเรื่องสาระ (Content) ยกตัวอย่าง Digital Learning หรือ Disruptive Education ก็จะเป็นการทำให้การเรียนการสอนบางหลักสูตรเน้นที่การขายความเป็นดิจิทัล และนวัตกรรม ซึ่งเป็น Form หรือรูปแบบ แต่จริงๆ ควรจะเน้นที่แก่นสาระ (Core Content) และนำเอาระบบมาเป็นส่วนเสริมมากกว่า

“เรื่องของแก่นสาระ (Core Content)จำเป็นต้องให้ความสำคัญและต้องไม่น้อยไปกว่าเรื่องการพัฒนาในเรื่อง System หรือระบบ จริงอยู่ว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยน เมื่อคนเราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น แก่นสาระที่เป็นองค์ความรู้ (Knowledge) อย่างเดียวอาจไม่พอ ในความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรจะต้องเพิ่มในส่วนของทักษะการนำไปปฏิบัติใช้ ยกตัวอย่างถ้าเปรียบเทียบระหว่างสาขาบริหารธุรกิจหรือการเงินจะเห็นว่าแตกต่างจากบางสาขา เช่น สาขาการแพทย์ที่วิชาการมักเติบโตไปพร้อมกับวิธีการรักษาในโรงพยาบาล เพราะจำเป็นต้องมีทักษะในการรักษาผู้ป่วยและอัปเดตความรู้ใหม่ๆ เสมอ จึงมันไม่ค่อยมีส่วนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่สาขาบริหารธุรกิจยังมีช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้อยู่ บางศาสตร์ ภาคอุตสาหกรรมโตไปไกลแล้ว แต่ภาคการศึกษา (Academic) ยังไม่ไปไหนอย่างในประเทศเรายิ่งเห็นชัด Practitioner พูดถึงเรื่อง Crowdfunding, ICO หรือ STO แล้ว แต่ Academic ยังไม่มีหลักสูตรรองรับเลย นี่คือสิ่งแรกที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อให้ความรู้กับทักษะก้าวไปด้วยกัน”

ความเคลื่อนไหวในภาควิชา 

รศ.ดร.รวี กล่าวว่า ทางคณะฯ ได้เล็งเห็นและมีการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะที่จะสอดคล้องกับบริบทของสังคม ทั้งเนื้อหาหลักสูตร ตลอดจนโครงการเพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ อย่างเช่นการทำความร่วมมือกับองค์กรเอกชน ภายใต้โครงการ Executive In Residence หรือ EIR เพื่อให้คนที่เป็นผู้บริหารในภาคธุรกิจมาให้ความรู้ว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นเขาทำกันอย่างไร นำโจทย์ที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมจริงมาให้นักศึกษา Discuss เป็นอีกวิธีการหนึ่ง คือการปรับจากการเรียนการสอนที่เป็นแบบ Passive ซึ่งนักศึกษาอาจยังไม่สามารถดึงเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ได้ จึงปรับเปลี่ยนและเน้นการสอนที่เป็นแบบ Active มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจ ลงมือทำโจทย์และหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ความรู้ฝังลึกกว่าและถูกนำมาใช้ได้ดีกว่า เป็นการสอนแบบ Active Base Learning และ Project Base Learning

ในขณะเดียวทางคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยยังมีการวางแผนที่จะสร้างโปรแกรมแบบ Non-Credit และ Credit เพื่อตอบสนองกลุ่มคนในภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานและทำธุรกิจอยู่แล้ว เพื่อให้เข้ามาอัปเดตความรู้ใหม่ๆ กับทางสถาบันฯ โดยไม่ต้องชะลอหรือทิ้งช่วงการทำงานมาเรียนปริญญาโทถึง 2 ปี ซึ่งเมื่อเรียนจบความรู้เหล่านั้นอาจจะถูกปรับเปลี่ยนไป จึงต้องมี Module ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาได้เรื่อยๆ ในบริบทที่เหมาะสม เมื่อจบ Module ก็อาจจะได้รับ Certificate หรือ Degree และสามารถนำไปการันตีตัวเองได้

โดย รศ.ดร.รวี ระบุถึง "ออนไลน์คอร์ส" ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทางคณะกำลังพิจารณานำใช้ให้คนเข้าถึงความรู้ได้ตามแบบโครงสร้างผ่านระบบใหม่ๆ ที่ง่ายขึ้นกว่าการเข้ามาเรียนในห้องเรียน แต่ผู้เรียนอาจจะไม่ได้ฝึกทักษะการคิดที่เป็นระบบ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนา

อีกประการที่เรามีการปรับหลักสูตรโดยต้องการให้ผู้เรียนได้รู้รากฐานของ FinTech โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น หลักสูตรที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า ผู้เรียนจะมี ความรู้เรื่องการเงินและทักษะการเขียนโปรแกรม โดยเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมาก เด็กได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศาสตร์ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการบริหารจัดการธุรกิจ การเงิน เข้าใจและเรียนรู้ร่วมกัน เพราะในความเป็นจริงทั้งสองสายงานนี้ก็จะต้องทำงานร่วมกัน ถ้าเราเตรียมความพร้อมให้เขาตั้งแต่ตอนนี้อนาคตเขาก็จะได้เติบโตไปด้วยกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่วิชาการด้านการเงิน (Academic Finance) จะต้องเปลี่ยนหรือปรับโครงสร้าง (Reconstruct) คือ แต่ก่อนเรามองโจทย์จากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลักแล้วค่อยมองส่วนอื่น แต่ตอนนี้เราควรที่จะหันกลับมาดูเรื่องของ Social Welfare หรือความยั่งยืนของคนเป็นหลัก แล้วดูว่านักลงทุนจะอยู่ในนี้ได้อย่างไร Finance ใหม่จะต้องมองให้ครบมุม ทั้งองค์ความรู้ที่จะต้องมี Economic Rationale การตัดสินใจทางการเงิน นำทฤษฎีมาใช้ในการประเมิน อีกมิติคือ ดูว่าการตัดสินใจเหล่านี้จะส่งผลถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างไรบ้าง การใช้ทรัพยากรที่มีให้ยั่งยืนและเรื่องของคนที่เป็น Stakeholder และคนส่วนอื่นๆ ในสังคม นี่คือสิ่งที่เราต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจ เช่นที่มีการออก Social Impact Bonds เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ แต่ไม่มีใครพูดถึงที่มีของแหล่งเงิน กลุ่ม Finance ก็จะต้องเข้าไปตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ถึงที่มาที่ไปสังคมพึงน่าจะต้องหันมามองคน Marginalized People หรือคนที่โอกาสน้อยกว่าคนทั่วไป

กรณีตัวอย่าง ภาควิชาของเราเคยไปทำงานที่เกี่ยวกับคน Homeless หรือคนไร้บ้าน พบว่าการเงินที่เราสอนนั้นใช้ไม่ได้กับคนกลุ่มนี้ เพราะลักษณะ (Character) ของเขาคือ ไม่มีความหวัง ไม่ค่อยเห็นอนาคตของตัวเอง ถามว่าการเงินที่เราเรียนอยู่ทุกวันนี้ไม่เคยกล่าวถึงคนกลุ่มนี้เลยยกตัวอย่างเวลาจะวางแผนการเงินก็ต้องมีการตั้งเป้าหมายขึ้นมา พอมาใช้กับคนกลุ่มนี้เขาไม่มีความหวัง ไม่มีเป้าหมาย แล้วจะวางแผนการเงินให้เขาอย่างไร นี่คือสิ่งที่วิชาการด้านการเงิน (Academic Finance) ต้องหันกลับมามองส่วนนี้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนในวงการการเงินเติบโตมากแต่ขณะเดียวกันสังคมของเรากลับไม่ได้ถูกขับเคลื่อนและเติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง SIBs (Social Impact Bonds) ในต่างประเทศเป็นที่พูดถึงอย่างมาก การนำเอาเงินของคนที่มีมากๆ มาช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน เชื่อมคนทั้งสองกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่อาจจะนำเอา Blockchain มาช่วยในเรื่องของ Charity แลกกับ Token สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อผู้บริจาคให้เห็นถึงความโปร่งใสและชัดเจน

นักวิชาการ หรือ Policy Maker พึงควรตระหนักและควรมองหาระบบที่รองรับสิ่งเหล่านี้ ถ้าปล่อยให้คนค่อยๆ Concern ใครคิดได้แล้วอยากทำก็ค่อยเปลี่ยนจะทำให้เป็นไปได้ยาก สังเกตว่าเดี๋ยวนี้เมื่อพูดหรือเสนอเรื่องดีๆ อีกไม่นานก็จะมีอีกมุมที่เข้ามาค้านแล้วสุดท้ายก็กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในกระแสโซเชียล ทำให้คนไม่อยากจะออกมาเริ่มต้นทำเรื่องที่ดี คนที่เป็น Policy Maker จึงเป็นหัวใจหลักว่าเขามีกระบวนการคิดอย่างไร แล้วจะนำเอากลไกของรัฐมาใช้หรือช่วยเสริมตรงนี้ได้อย่างไร


เรื่อง : ณัฐพัชธ์ สุมา     

ภาพ : ชัชชา ฐิติปรีชากุล

Last modified on Wednesday, 04 December 2019 06:04
X

Right Click

No right click