คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ “SBC” สร้างนักปฏิบัติมืออาชีพ

March 05, 2020 4126

ในความเป็น “สถาบันการศึกษาในพื้นที่” อันดับต้นๆ ของคนทำงาน ที่ต้องการปรับวุฒิและยกระดับการศึกษา

นับว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญ ที่ส่งผลทำให้ “คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ” ของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก (Southeast Bangkok College : SBC ) สามารถฝ่ากระแสการแข่งขันที่ร้อนแรงในยุค Technology Disruption / Educative Disruption มาได้

ผศ.ดร.พรมิตร กุลกาลยืนยง คณบดีคณะบัญชีและวิทยาการจัดการ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก เล่าถึงความท้าทายของสถาบันการศึกษาในยุค Technology Disruption ว่า ในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นข้อดี ทั้งในเชิงการตลาด ที่ทำให้สถาบันการศึกษา มีเครื่องมือที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์สื่อสารเข้าถึงกลุ่มนักเรียนเป้าหมายได้ง่าย

หากมองในเชิงการบริหารจัดการนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเรียนการสอน เช่น นำมาช่วยสร้างสีสันในการจัดกิจกรรมในห้องเรียนให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ที่สามารถ “ลดช่องว่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา” ได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านของการนำเทคโนโลยี มาใช้ในการปรับหลักสูตรในระดับปริญญาโท ในปัจจุบันยังเป็นคอร์สออนไลน์ ที่มาเสริมเพื่อเป็นการทบทวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น แต่มีแผนจะเพิ่มการเรียนในหลักสูตรออนไลน์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อโลกในอนาคต

ส่วนในมุมมองที่ว่า “เทคโนโลยี” จะเข้ามาทดแทนทำให้นักศึกษาไม่เข้าชั้นเรียน เพราะให้ความนิยมการเรียนแบบออนไลน์มากกว่า ผศ.ดร.พรมิตร บอกว่าในมุมมองส่วนตัว เห็นว่าด้วยวัฒนธรรมการเรียนในบ้านเรานั้น ยังเคยชินกับการเรียน ที่มีอาจารย์เป็นผู้สอนชี้แนะให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวมากกว่า ที่จะไปเรียนในระบบออนไลน์

เห็นได้จากบรรยากาศของ SBC ที่ผ่านมาไม่มีนักศึกษาหายจากชั้นเรียน ตรงกันข้ามนักศึกษาให้ความสำคัญกับการเข้าเรียนในชั้นเรียนที่วิทยาลัย ตัวอย่างนักศึกษาปริญญาโท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีเวลา แต่ใน 1 วันของแต่ละอาทิตย์ ยังให้ความสำคัญกับการเข้าชั้นเรียน ทั้งนี้เพื่อมาฟังมุมมอง จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ ที่อาจารย์นำมาย่อยบรรยายในห้องเรียน แทนที่จะอ่านหนังสือเองต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เพราะบางครั้งอาจารย์บรรยาย 1 วัน เขาอาจจะต้องไปอ่านเองหลายบท

“นี่จึงเป็นจุดแข็งของเรา ที่สามารถสร้างบรรยากาศของการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษาเลือกมาเรียนที่ SBC”

บทบาทและภารกิจวันนี้ที่ SBC

ผศ.ดร.พรมิตร เล่าถึงในบทบาทคณบดี คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ ว่า ดูแลบริหารจัดการ ทั้งด้านการศึกษา การบริการสังคม และการบริหารงบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ใน 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการบัญชี, สาขาวิชาการตลาด, สาขาวิชาการจัดการ, สาขาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว และหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และในส่วนของบทบาทอีกด้าน คือ การบริหารจัดการ ทีมคณาจารย์ทุกคนในคณะให้มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษาที่จบการศึกษาได้นำความรู้ไปใช้ได้ โดยในระยะเวลา 3 ปีหลังเข้ามารับตำแหน่ง ในภารกิจหลัก คือ การประชาสัมพันธ์ให้คณะและหลักสูตรติดตลาด เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมายของนักศึกษา SBC ที่เน้นกลุ่มคนทำงาน ในพื้นที่โซนจังหวัดสมุทรปราการเป็นหลัก ข้อจำกัดในด้านการเดินทาง จึงทำให้เราโฟกัสนักศึกษาที่อยู่ในละแวกนี้

ความท้าทายของการแข่งขันธุรกิจการศึกษา

เราไม่ได้แข่งกับคู่แข่งในภาพรวม แต่แข่งกับคู่แข่งที่อยู่ในโซนนี้” แม้ว่า SBC จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องการเป็นสถาบันการศึกษาเป็นที่รู้จักในพื้นที่ก็ตาม แต่การแข่งขันก็ยังสูง เนื่องจากมีอีก 2-3 สถาบันที่โฟกัสในเขตพื้นที่เดียวกัน

SBC จึงต้องรับมือด้วยการสร้างหลักสูตรที่ดีขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาต่างๆ สามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากสถานประกอบการ

สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เผชิญกับปัญหานักศึกษาลดลง แต่ SBC ได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะเรามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยนักศึกษาจากภาคปกตินั้นมีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ที่วันธรรมดาต้องทำงาน และในวันอาทิตย์มาเรียน เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นมา ถ้าเป็นระดับปริญญาตรีเพื่อเพิ่มวุฒิ และปริญญาโทเพื่อพัฒนาตัวเองและได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น

ที่นี่จึงตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านระยะเวลาในการเดินทางที่ใกล้และสะดวก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สมุทรปราการนี้เป็นแหล่งอุตสาหกรรม มีโรงงาน มีนิคมอุตสาหกรรม

อีกทั้งจุดเด่น ในด้านความเชื่อถือ องค์ความรู้ และมีการบอกต่อไปในบริษัทเอกชน โดยเรามีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ความเชี่ยวชาญ และด้วยอาจารย์และหลักสูตรที่นำไปใช้งานได้จริง และที่สำคัญบรรยากาศการเรียน ที่เข้าถึงอาจารย์ได้ แม้ว่าเราจะเป็นสถาบันเล็กแต่เราอบอุ่น อย่างที่บอกว่าสไตล์การบริหารงานและอาจารย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย เดินเข้ามาพูดคุยปรึกษาหารือได้ โดยไม่ต้องมีการทำนัดอย่างเป็นทางการผ่านเลขาของคณะฯ

นโยบายของ SBC และการเชื่อมโยงเข้าสู่หลักสูตร

อัตลักษณ์ของเรา คือ การผลิตบัณฑิตให้เป็น “นักปฏิบัติมืออาชีพ” ด้านการจัดการและเทคโนโลยี ที่ผ่านมาทางคณะฯ มีการลงทุนในด้านห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องปฏิบัติการสาขาต่างๆ ขึ้นมา เพื่อผลิตนักศึกษาให้เป็นนักปฏิบัติมืออาชีพ รวมถึงให้นักศึกษาสามารถใช้ในการฝึกฝนในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว

ในด้านการเชื่อมโยงเข้าสู่หลักสูตรนั้น ผศ.ดร.พรมิตร บอกว่า นอกจากการเรียนภาคทฤษฎีแล้ว เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือในภาคปฏิบัติ ในแต่ละรุ่นเราจะส่งนักศึกษาไปสหกิจศึกษา ในสถานประกอบการในเวลา 4 เดือน และยังมีในส่วนการฝึกงานระหว่างภาคการศึกษาในเวลา 2 เดือนแล้วกลับมาศึกษาต่อ

ขณะเดียวกันในระดับปริญญาโท นอกจากเรียนภาคทฤษฎีแล้ว ยังให้นักศึกษาทำโครงงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงการทำงานกับองค์ความรู้เข้าด้วยกัน ซึ่งการถอดองค์ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนและประสบการณ์เข้าด้วยกันนั้น จะช่วยฝึกทำให้เขาเป็นนักปฏิบัติได้ โดยมีองค์ความรู้เป็นต้นแบบที่ต่อยอดไปได้อีกมากมาย

แนวทางการพัฒนาจุดแข็งเพื่อที่จะก้าวต่อไปในอนาคต

ในส่วนของแนวทางการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย เริ่มที่ “อาจารย์” ผู้สอน ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ และมีประสบการณ์การทำงานมานานกว่า 10 ปี ที่เรามีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสร้างความเพียบพร้อมขององค์ความรู้ที่จะเพิ่มเติมให้นักศึกษาได้ ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่นในบางวิชามีการกำหนดให้นักศึกษานำประสบการณ์การทำงานมาเขียนเป็นโครงงานต่างๆ ซึ่งเป็นการฝึกนักศึกษาให้เป็นนักปฏิบัติมืออาชีพ ที่รู้จักคีย์ซัคเซสของบริษัท และสามารถนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไขได้อย่างมีแผนและหลักการที่ชัดเจน

ความสำเร็จในด้านการปรับหลักสูตร

ในมาตรฐานการปรับหลักสูตร ของสถาบันการศึกษา คือ ในทุก 5 ปีนั้น จะมีการปรับหลักสูตร แต่ที่ SBC เรามีการปรับในทุกๆ ปี โดยอาจารย์ผู้สอนจะเป็นคนที่เสนอขึ้นมา ตามมุมมองของนักศึกษา โดยหลังจบการศึกษา จะให้นักศึกษาที่ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานสะท้อนมุมมอง ถึงหลักสูตรที่เรียนมากับการนำไปใช้ในชีวิตการทำงานว่า ควรจะเพิ่มเติมด้านใดบ้างนั้น ซึ่งวิธีการนี้ ถือเป็นความสำเร็จทำให้หลักสูตรของ SBC มีความทันสมัยทันกระแสโลกในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ผศ.ดร.พรมิตร บอกว่า สิ่งที่ชี้วัดถึงความสำเร็จนี้ เห็นได้จากบัณฑิตที่จบการศึกษานั้น ได้รับการตอบรับดี จากสถานประกอบการ โดยเฉพาะจากตัวเลขผลสำรวจของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบัญชีและวิทยาการจัดการนั้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 มีงานทำ ส่วนบัณฑิตอีกร้อยละ 10 เรียนต่อดูแลครอบครัว ที่ผ่านมาสถานประกอบการได้ส่งจดหมายมาที่ SBC เพื่อเปิดรับนักศึกษาเข้าทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าสถานประกอบการตอบรับอย่างดี

นักศึกษาของเราอยู่แถวนี้ เมื่อจบออกไปแล้วสร้างผลงาน ทางสถานประกอบการ จึงทำเรื่องให้ส่งนักศึกษาไปให้ทำงานในตำแหน่งต่างๆ นี่เป็นความสำเร็จที่รุ่นพี่ออกไปสร้างชื่อเสียงให้สถานประกอบการยอมรับ และทำให้น้องๆ ที่กำลังจบการศึกษาได้งานไม่ยาก

ปรัชญาแนวคิด และสไตล์การบริหาร

จากผลความสำเร็จของ คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ “SBC” ที่สร้างนักปฏิบัติมืออาชีพออกมารุ่นต่อรุ่นนั้น ผศ.ดร.พรมิตร เผยถึงปรัชญาแนวคิดและสไตล์การบริหาร โดยมองว่า “การศึกษา คือ การสร้างโอกาส” ทั้งเรื่องมีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น เช่น นักศึกษาของเราที่มาเรียนจบมัธยมฯ ต้องการได้วุฒิ และอีกกลุ่มคนทำงานที่จบปวส.มาเรียนต่อ เพื่อที่จะได้ความรู้นำไปประยุกต์ใช้กับงานได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเป้าหมายของคนทั้ง 2 กลุ่มเพื่อให้ได้ปริญญามา ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับปรัชญาของวิทยาลัย คือ คุณวุฒิ คุณธรรม และคุณค่า นั่นคือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษา ให้มีความรู้ได้คุณวุฒิ ตามการศึกษาอย่างน้อยที่สุด คือ ระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ตามที่เขาต้องการ ส่วนมีคุณธรรม คือ เป็นคนดี มีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพของตัวเอง ตลอดจน มีคุณค่า คือ ทำตัวเองให้มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม

ส่วนสไตล์การบริหาร คือ วางตัวให้เป็นคณบดี ที่ลูกศิษย์เข้าถึงได้ง่าย เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดกับนักศึกษานั้น ทำให้เขาเปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่องทั้งการให้ความรู้ และความเป็นเพื่อน และในด้านการทำงาน คือ ให้ความสำคัญกับการวางแผน ในรูปแบบการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้สำเร็จ

เช่นเดียวกับ เมื่อปีที่ผ่านมา เราเปิดตัววัฒนธรรมองค์กรใหม่ MUST เข้ามาขับเคลื่อน โดยในความหมายของตัว M คือ Modernization ทำให้ทั้งหลักสูตร เนื้อหาต่างๆ ที่สอนนักศึกษา มีความทันสมัย และ U คือ Unity โฟกัสที่ช่องว่างระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ไม่ให้มีความห่างกัน โดยจัดให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน นักศึกษาที่นี่จึงใกล้ชิดกับอาจารย์ คณะมีกิจกรรมสร้างความรักความกลมเกลียวให้นักศึกษาทั้ง 5 สาขา ในคณะบัญชีและวิทยาการจัดการ ทำกิจกรรมร่วมกัน

ขณะที่ S คือ Sustainability มองในเรื่องของความยั่งยืน โดยมีการชี้วัดใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยบทเรียนต่างๆ ที่สอนนักศึกษาจะมุ่งเน้นในเรื่องเหล่านี้ และ T คือ Teamwork ให้อาจารย์ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน ในฐานะสมาชิกของคณะ การจัดกิจกรรมจะขับเคลื่อนในนามของคณะ และทุกสาขาจะมาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน

ในคอนเซปต์วัฒนธรรมองค์กร MUST นั้น ผศ.ดร.พรมิตร บอกที่มาว่า มาจากทุกคนใน SBC

ผู้บริหารทุกท่านร่วมกันถอดแนวคิดกับทีมคณาจารย์ ตลอดจนพนักงานทุกส่วนนั้น มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน “SBC” ให้ก้าวสู่เป้าหมายความสำเร็จของการเป็นสถาบันการศึกษา ที่ผลิตนักศึกษาให้เป็นนักปฏิบัติมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับในสังคมและในทุกสถานประกอบการ


เรื่อง: ชนิตา งานเหมือน

ภาพ: รัตนไชย สิงห์ตระหง่าน

Last modified on Thursday, 05 March 2020 08:46
X

Right Click

No right click