November 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

ดร.สิริลักษณ์ ทองพูน คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

August 01, 2017 3598

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการทำงานขององค์กรต่างๆ ตลอดจนพฤติกรรมของคนเราให้ได้รับผลกระทบไปด้วย

จนนำไปสู่การกำหนดนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานในการพัฒนา ซึ่งภายใต้การพัฒนาดังกล่าวนี้ย่อมรวมถึงการพัฒนาคนให้พร้อมต่อการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

หลักสูตร MBA เป็นหลักสูตรหนึ่งที่ผลิตมหาบัณฑิตให้กับองค์กรธุรกิจ ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเรียนการสอนที่เน้นเฉพาะวิชาการจึงไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้การเรียนภาคปฏิบัติจากองค์กรธุรกิจช่วยตอบโจทย์การพัฒนาบัณฑิต MBA ในยุคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากการสอบถามผู้ใช้บัณฑิตและนักศึกษาปัจจุบัน พบว่า ความรู้และทักษะที่กลุ่มนี้ต้องการ ได้แก่ ทักษะการคิดการตัดสินใจ ภาษาและการสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ การเรียนรู้ การร่วมมือ และความมีคุณธรรม ดังนั้น การออกแบบหลักสูตร MBA จึงจำเป็นต้องมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในเรื่องของภาษาที่ใช้ ระยะเวลาเรียนของหลักสูตร และความเป็นเฉพาะทางของหลักสูตร

ทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตจากการผลิตบัณฑิต MBA มีความสอดคล้องกับความต้องการของทั้งผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต และทิศทางการเติบโตของประเทศ คำตอบที่ดีที่สุดจึงไม่พ้นเรื่องของการจัดความสมดุลระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจ ดังนั้น นอกจากการใช้กรณีศึกษาในชั้นเรียนแล้ว การใช้ห้องเรียนจำลองทางธุรกิจ เช่น ห้องเทรด และห้อง business simulation จะช่วยให้ผู้เรียนได้คิดและออกแบบธุรกิจภายใต้สถานการณ์จำลองต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการศึกษาดูงานในองค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาโจทย์วิจัยจากผู้ประกอบการโดยตรง จะทำให้ผู้เรียนสามารถวินิจฉัยปัญหาของผู้ประกอบการได้ โดยการสร้างสมมติฐานและนำกระบวนการวิจัยที่ได้ศึกษาในชั้นเรียนไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งความรู้ที่เกิดจากการผ่านประสบการณ์ตรงเช่นนี้จะเป็นความรู้ฝังลึกที่ติดตัวไปกับผู้เรียนในระยะยาวอีกด้วย

ท้ายที่สุด การสร้างความร่วมมือกับภาคมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ผู้เรียนมีห้องเรียนเพิ่มขึ้นและจะเปลี่ยนจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยไปเป็นห้องเรียนในองค์กรธุรกิจซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของผู้เรียนและหลักสูตรให้สูงขึ้นได้ด้วย และที่สำคัญยังจะช่วยลดช่องว่างระหว่างภาควิชาการกับภาคปฏิบัติให้น้อยลงจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้ในที่สุด ดังนั้น การบริหารหลักสูตร MBA จึงเป็นความท้าทายและเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารหลักสูตรและมหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะละเลยความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงนี้ได้

Last modified on Friday, 23 December 2022 04:52
X

Right Click

No right click