December 03, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

FAM @ KMITL กองหนุนนวัตกรรมสู่ธุรกิจ

December 15, 2017 8074

นวัตกรรมและเทคโนโลยีเมื่อนำมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการบริหารจัดการทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงบนโลกอย่างน่าตื่นเต้น

ตัวอย่างรูปแบบธุรกิจแบบ Sharing Economy ที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นช่องว่างในห่วงโซ่อุปทาน และนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือรูปแบบธุรกิจที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศของตนเอง เพราะรูปแบบธุรกิจเช่นนี้สามารถขยายกิจการออกไปได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Uber หรือ Airbnb ที่ดึงเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาด ปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ก่อตั้งและผู้ลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ แม้จะส่งผลกระทบต่อบริการเดิมๆ ที่เคยมีมา ทั่วทั้งโลกพยายามผลักดันให้ธุรกิจนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการที่มีอยู่ หรือสร้างสรรค์กิจการใหม่ๆ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศรวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ

 

สถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ เราเห็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทางด้านวิทยาศาสตร์ คิดค้นเทคโนโลยีที่กลายมาเป็นสินค้าในตลาดอยู่มากมาย สำหรับประเทศไทยสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชื่อเสียงของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) คือหนึ่งในสถาบันที่ได้รับการยอมรับระดับสูงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ นอกจากความโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันแห่งนี้ยังมีคณะวิชาที่สำคัญที่ช่วยนำเทคโนโลยีสู่การทำเป็นธุรกิจ นั่นคือ คณะการบริหารและจัดการ (FAM) ซึ่งปัจจุบัน มี รศ.ดร.อำนวย แสงโนรี คณบดี ดูแลอยู่

 

รศ.ดร.อำนวย เล่าความเป็นมาของ FAM ว่า เดิม KMITL เน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังขาดเรื่องการบริหารจัดการซึ่งเป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ทำเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ จึงเกิดเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจเกษตรขึ้นมาก่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นคณะการบริหารและจัดการในปัจจุบัน “ถ้าสังเกตให้ดีมหาวิทยาลัยที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาจะมีคณะหลักๆ ประมาณ 5 คณะ ตัวอย่างเช่น MIT (มีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การจัดการ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศาสตร์) ที่ท่านอธิการบดี (ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) จบมา ท่านเห็นว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต้องเติมด้วยการจัดการและความเป็นมนุษย์ศิลปะ สถาบันของเราตอนนี้จะมีครบทั้ง 5 เหมือน MIT ที่เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” คณบดี FAM ให้ความเห็นต่อว่า นวัตกรรม หากคิดและทำอยู่ในห้องทดลองไม่ได้นำออกมาใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยผ่านกระบวนการทำเป็นธุรกิจหรือเผยแพร่ออกไปก็จะไม่เกิดประโยชน์ในวงกว้าง คณะการบริหารและจัดการจึงเป็นส่วนเสริมสำคัญของสถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

สภาพแวดล้อมพัฒนาผู้เรียน

หลักสูตรของ FAM จะสอดคล้องกับสิ่งที่สถาบันกำลังมุ่งเน้น และเป็นสิ่งที่ประเทศกำลังให้ความสำคัญ อย่างเช่นในช่วงแรกที่เปิดเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจเกษตรเมื่อปี พ.ศ. 2526 เพราะเกษตรกรรมยังเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย ต่อมาเมื่อประเทศไทยเน้นเรื่องอุตสาหกรรมมากขึ้น FAM ก็จัดหลักสูตรบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมขึ้นมารองรับ เป็นการจัดหลักสูตรตามความถนัดของสถาบันในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.อำนวย ให้ข้อมูลว่า “เราจะผลิตนักบริหารนักจัดการออกไปโดยมีมุมมองเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นนักบริหารทั่วไปที่ทำกันอยู่ เรามุ่งเน้นมาโดยตลอด ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเป็นเรื่องนวัตกรรม เรื่องธุรกิจใหม่ๆ หลักสูตรของเราเปลี่ยนมาในรูปแบบนี้ เราจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ตามกระแสธุรกิจโลก 

 

“เราจะไม่เป็นบริหารพื้นฐาน นักศึกษาเรามีความรู้ เพียงแต่เราจะมุ่งเน้นให้เขาออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคที่เป็นสินค้าเทคโนโลยี ตลาดใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมเป็นหลัก นักศึกษาเราจะมีพื้นฐานที่ดีเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เวลาเข้าไปสู่ตลาดนี้ เขาจะทำความเข้าใจได้เร็วและง่ายกว่า มุมมองอาจจะไม่เหมือนนักศึกษาที่เรียนบริหารทั่วไป และเขาจะใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกอย่าง เราไม่ได้สอนให้เขาแค่ใช้เป็น เราให้เขาสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการจัดการงานได้ด้วย การที่เขามาอยู่ในสถาบันที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุมมองของเขาก็จะเป็นมุมมองของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากกว่า เขาจะเรียนหลักเรื่องบริหาร เศรษฐศาสตร์ เหมือนมหาวิทยาลัยอื่น เอาแค่พื้นฐานที่จำเป็นไม่เรียนมากเกิน แต่เราเสริมเขาในเรื่องที่เป็นเทคโนโลยี เช่น ไอที คอมพิวเตอร์ประยุกต์ เรื่องทางด้านอุตสาหกรรมให้เขามีมุมมอง ให้ไปเป็นลักษณะของธุรกิจ” 

 

นอกจากการไปฝึกงานกับภาคเอกชน อีกเรื่องหนึ่งที่นักศึกษาในหลักสูตรของ FAM ต้องผ่านคือ การทำโครงการพิเศษก่อนเรียนจบ ซึ่งเป็นการฝึกฝนทักษะในหลายด้าน ทั้งการค้นคว้า วิจัย การเขียนรายงาน การนำเสนองาน “ไปเข้าธุรกิจจริงๆ ไปคุยไปสัมภาษณ์ แล้วหาประเด็นที่เขายังเป็นปัญหา ดูว่าในเชิงบริหารจัดการจะแก้อะไรได้บ้าง คือเขาต้องมีการไปค้นคว้า มีการวิเคราะห์โดยหลักที่เขาเรียนมา และดูว่าเขาจะวางแนวทาง วิธีการ นโยบายที่จะช่วยอย่างไร จะทำให้นักศึกษาถูกฝึกหลายเรื่อง ในเชิงวิชาการ เขาจะเป็นนักวิจัย เขาเริ่มรู้ว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะศึกษาอย่างไร
แก้ปัญหาอย่างไร ทำให้เขารู้จักคิดสร้างสรรค์ได้ เราฝึกกันเป็นปีเลย ตั้งแต่เรื่องสัมมนา เรื่องโปรเจ็กต์ และลงไปถึงการทำโครงการพิเศษ เขาต้องฝึกทั้งการพรีเซนต์ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ รวมถึงการเขียนด้วย” 

 

คณบดี FAM สรุปแนวทางการพัฒนานักศึกษาว่า ปริญญาตรี เน้นการคิดวิเคราะห์ ฝึกงานวิจัยเบื้องต้น ในระดับปริญญาโท จะเริ่มมีความซับซ้อน ประเด็นในการวิจัยวิเคราะห์จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะที่ปริญญาเอกมุ่งเน้นสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพระดับโลก ด้วยกฎเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันที่ต้องตีพิมพ์งานในวารสารระดับโลก ทั้งหมดนี้จะพัฒนาจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของเด็กลาดกระบัง ที่ประกอบด้วย ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน 

การอยู่ในสถาบันที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้นักศึกษา FAM มีมุมมองและเข้าใจในเรื่องนี้ดี รวมถึงการได้สัมผัสกับภาคอุตสาหกรรมของจริง ซึ่งคณะมีความร่วมมืออยู่ ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดและมุมมองในแบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับผู้เรียน รศ.ดร.อำนวย ระบุว่า การเรียนรู้ในปัจจุบัน ศาสตร์เดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีพื้นความรู้ในศาสตร์อื่นด้วย ให้เป็นนักบริหารที่รู้เรื่องไอที นวัตกรรมต่างๆ ช่วยสร้างความได้เปรียบในการทำงาน จากมุมมองทั้งทางด้านบริหารจัดการและมุมมองทางด้านเทคโนโลยี สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งทางธุรกิจและวิทยาศาสตร์ อีกเรื่องหนึ่งที่ FAM กำลังสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนคือ ความเป็นนานาชาติ ซึ่งไม่เพียงแค่การใช้ภาษาอังกฤษแต่รวมไปถึงวิธีคิดอย่างสากลผ่านหลักสูตรนานาชาติ ที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรคุณภาพให้สามารถออกไปทำงานในองค์กรนานาชาติได้ และการสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติในพื้นที่ของ FAM เช่นจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารให้เป็นบริเวณนานาชาติ มีอาจารย์ต่างชาติ มีห้องเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษาภาคภาษาไทยได้สัมผัสช่วยหล่อหลอมความเป็นนานาชาติให้เกิดขึ้นในคณะมากขึ้น

 

คณาจารย์ผู้สอนเป็นอีกส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่นักศึกษาจะได้สัมผัสระหว่างที่เรียนที่ FAM เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้สอนจบระดับปริญญาเอก และมีตำแหน่งทางวิชาการกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีอาจารย์จากต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง โดยอาจารย์ใน FAM ก็สามารถทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์จากคณะอื่นๆ ในสถาบัน ทำให้มีมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแบ่งปันให้กับผู้เรียนอีกทางหนึ่ง 

 

“เรามานั่งดู ทำไมเด็กเรามองแบบนี้ คุยกันรู้เรื่องเพราะว่าเราอยู่อย่างนี้ หล่อหลอมเรา แล้วเราก็ไปหล่อหลอมเด็กในช่วง 4 ปีที่อยู่กับเรา และวิชาที่เราใส่เข้าไป เราก็พยายามไม่เหมือนคนอื่นเขา เราก็พยายามเอามุมมองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นอีกมุมมองหนึ่งใส่เข้าไป เพราะฉะนั้นเด็กของเราบางทีจบไป บางคนไปเรียนไอที แล้วไปตั้งธุรกิจไอที เพราะเขาบอกว่าบริหารเขาพอแล้ว เขาอยากได้เทคนิค เขาไปเรียนไอที ในทางกลับกัน แล้วไอทีทำไมไม่มาเรียนบริหาร มั่นใจแล้วก็ไปทำงานทำธุรกิจ” 

 

 

จับมือกันสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม

ความร่วมมือกับคณะอื่นๆ ในสถาบันเป็นสิ่งสำคัญที่ FAM ให้ความสำคัญ เพื่อจับมือกับคณะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างนวัตกรรม ในการทำการตลาด การบริหารจัดการต้นทุน การจัดตั้งธุรกิจ ด้วยความเข้าใจในมุมมองของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกด้านหนึ่งคือ การร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เพื่อดึงเอาข้อดีของการได้ปฏิบัติจริง เพิ่มมุมมองให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการฝึกงาน หรือการทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยหาข้อมูลจากของจริงที่อยู่ในตลาด เป็นการดึงมุมมองวิธีคิดทางธุรกิจให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างทันการณ์ รวมถึงเชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จในภาคเอกชนมาร่วมถ่ายทอด และทำงานร่วมกันกับคณะ

 

รศ.ดร.อำนวย มองต่อว่า การจัดทำหลักสูตรใหม่ๆ จะบูรณาการศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ร่วมกัน ด้วยการจับมือกับคณะต่างๆ ภายในสถาบัน สร้างนักศึกษาที่มีความเป็นผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นแล้วกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จัดทำหลักสูตรการจัดการกีฬาและสื่อบันเทิง ในระดับปริญญาโทขึ้นมา ในส่วนหลักสูตรใหม่ๆ คณบดีมองว่า อาจจะเป็นการผสมผสานระหว่าง 2 คณะ เช่น คณะการบริหารและจัดการและคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผสมผสานไอทีกับการบริหาร เช่น เรื่องบิ๊กดาต้า ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องที่สำคัญ อาจจะออกแบบหลักสูตรที่ผู้เรียนได้เรียนทั้งการบริหารและด้านไอทีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย เป็นการผสานมุมมองของ 2 ศาสตร์เพื่อรองรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้กับสังคมไทย รศ.ดร.อำนวย มองว่าในช่วงแรกอาจจะใช้ศูนย์วิจัยและบริการของคณะที่มีอยู่ เปิดอบรมให้กับนักศึกษาภายในสถาบัน รวมถึงการทำหลักสูตรร่วม 4+1 คือเรียนจบปริญญาตรีจากคณะอื่นแล้วมาเรียนต่อที่ FAM อีก 1 ปี เพื่อเน้นการสร้างให้เป็นผู้ประกอบการ 

 

อีกด้านหนึ่งของความร่วมมือ คือการเตรียมใช้การประกวดแผนธุรกิจซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดมา 2 ปีแล้ว โดยจะให้นักศึกษาของ FAM ไปจับมือกับคณะอื่นๆ ที่มีนวัตกรรมสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาร่วมกันเขียนเป็นแผนธุรกิจ ซึ่งหากแผนที่ทำออกมามีโอกาสความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ทาง KMITL ก็มีหน่วยงานด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพอยู่แล้วก็สามารถผลักดันเข้าสู่ระบบการสร้างผู้ประกอบการได้ทันที ด้วยชื่อเสียงของ KMITL ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อรวมกับหลักสูตรที่มีความชัดเจนของ FAM ในด้านการบริหารจัดการที่เน้นไปด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวรองรับโลกที่การเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีกำลังเป็นที่ต้องการ หากนวัตกรรมคือคำตอบของวันนี้ FAM ก็คือกองหนุนที่จะมาช่วยให้นวัตกรรมสามารถแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจได้

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Wednesday, 04 December 2019 05:54
X

Right Click

No right click