January 22, 2025

Marketing in time of COVID-19 and beyond

October 19, 2020 5399

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในปี 2020 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ทั่วโลกระลอกแล้วระลอกเล่า

ผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่อาจทนแบกรับภาระที่เกิดขึ้นได้ก็ต้องยอมปิดกิจการหรือประกาศล้มละลายลงไป ส่วนกลุ่มที่ยังสามารถกัดฟันผ่าวิกฤตครั้งนี้ได้ก็ต้องหันมาตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้ควรจะมีแผนการรับมือหรือปรับกลยุทธ์อย่างไรให้ยังประคองธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยพรรณ กลั่นกลิ่น ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด (M.B.A. Marketing) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงมุมมองความคิดเห็นต่อทิศทางและแนวโน้มในส่วนของการตลาดหลังยุค COVID-19 ไว้ว่า

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นช่วงที่คนดูแลรักษาสุขภาพความสะอาดของตัวเองมากขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก เป็นการเร่งการปรับตัวของธุรกิจเข้าสู่ระบบออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารการตลาดและทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคชาวไทย เพราะมาตรการการกักตัว อยู่ในพื้นที่จำกัด และ การ Work from home ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงจากเดิม มีการตัดสินใจซื้ออย่างมีเหตุผลมากขึ้น เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ว่าจะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เร็วหรือช้าเพียงใด ทำให้ซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นและใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ สินค้าในกลุ่มที่ยังขายได้คือกลุ่มสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระ การพัฒนาความรู้ความคิดและทักษะส่วนบุคคล เช่น การเรียนคอร์สออนไลน์เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระ การพัฒนาทักษะในการทำงานด้านต่างๆ”

ส่วนโอกาสและความท้าทายในยุค COVID-19 ต่อผู้ประกอบการสินค้าและบริการอาจจะเป็นจากการที่เคยให้บริการลูกค้าได้จำนวนมากพร้อมๆ กันก็ต้องปรับเปลี่ยนให้มีพื้นที่สำหรับลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น มีระบบขั้นตอนของการรักษาความสะอาดที่จะต้องแสดงให้ลูกค้าเห็น ส่วนมหาอำนาจทางธุรกิจ จะไปอยู่ในมือของผู้พัฒนาโปรแกรมในการทำงานออนไลน์ต่างๆ เพราะจะเป็นกลุ่มหลักที่มีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าและพฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงระบบต่างๆ ตัวกลาง Online marketplace, Affiliate Marketing, Drop Shipping, บริษัทขนส่งสินค้า และ Delivery ต่างๆ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการที่จะออกไปสัมผัสกับบุคคลอื่นๆ ถ้ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ทั้งนี้ในส่วนของสาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีนโยบายในการจัดการหลักสูตรเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยพรรณ เผยว่าทางสาขาวิชาได้ดำเนินนโยบายตามของคณะและมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอนที่จะต้องเว้นระยะห่างของผู้เรียนให้มากขึ้น มีระบบการตรวจสอบอุณหภูมิของผู้ที่จะเข้ามานั่งเรียนในห้องเรียนปกติ มีการรักษาความสะอาดของพื้นที่สาธารณะ มีการกั้นพื้นที่สำหรับนักศึกษาและจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยเฉพาะในห้องเรียน หน้าห้องเรียนทุกห้องแอลกอฮอล์สําหรับล้างมือให้บริการสำหรับทุกคนก่อนที่จะเข้าห้อง มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นออนไลน์มากขึ้น โดยนโยบายนี้ขึ้นอยู่กับการประกาศควบคุมการติดเชื้อของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข หากยังไม่มีวัคซีนก็อาจยังต้องมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีมากขึ้น ก็อาจจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นสอนออนไลน์ร่วมกับการสอนในห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนไม่เบื่อและได้พบปะกับอาจารย์ผู้สอนและวิทยากรภายนอก รวมถึงได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมรุ่น ในด้านของการบริการวิชาการต่อชุมชนก็จะยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการฟื้นฟูธุรกิจในท้องถิ่น เช่น การจัดอบรมเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ SMEs การให้คำปรึกษาด้านการตลาดแก่ธุรกิจท้องถิ่น การจัดอบรมเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์เบื้องต้น และการจัดอบรมการตลาดเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19

นอกเหนือไปจากการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์วิกฤตไวรัสระบาดครั้งนี้แล้ว โลกก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ 5G ที่กำลังเป็นที่จับตามอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยพรรณ ได้ให้ความเห็นในเรื่องเทรนการตลาดสำหรับปีที่จะเกิดขึ้นนี้ว่า

“5G เป็นตัวทำให้ตลาดของธุรกิจมีขอบเขตกว้างขึ้น ติดต่อเชื่อมโยงได้เร็วขึ้น กับคนจำนวนมากขึ้น ระบบ Internet of things อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะสามารถเชื่อมโยงกันได้โดยมีคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ระบบอินเทอร์เน็ต โดยเป็น Ecosystem ทำ Remote activitiesในการควบคุมและบังคับสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน จึงควบคุมพฤติกรรมพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้ เช่น เมื่อแบตเตอรี่รถยนต์หมด ก็จะรายงานมาในโทรศัพท์มือถือพร้อมกับการสั่งซื้อแบตเตอรี่ใหม่ให้ส่งมาจากต่างประเทศได้ทันที พร้อมกับการนัดให้นำรถยนต์เข้าไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ในศูนย์บริการ จึงต้องทำให้ธุรกิจเข้าไปอยู่ในการดำรงชีวิตของลูกค้าโดยไม่ต้องแบ่งแยกออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้น นักการตลาดจะต้องมองไปถึงเรื่องของ Ecosystem ที่ชัดเจน จะต้องมี Supply Chain และ Marketing Network ที่เชื่อใจได้และแข็งแกร่ง เป็น Super Platform คือการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจของตนเองให้ครอบคลุมความต้องการในการดำรงชีวิตของผู้บริโภค และต้องมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ก็ต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ความแตกต่างของผู้บริโภคได้ ใช้ข้อมูลของลูกค้ารายบุคคลมาวางแผนกลยุทธ์การตลาด สร้างความแตกต่างและจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การตั้งราคาเพื่อการแข่งขันจะต้องเข้มข้นขึ้น มีการเสนอราคาของสินค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้ช่องทางการตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้เป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม”

สุดท้ายแล้วภาคการศึกษาซึ่งเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงส่งต่อเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่โลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ทางสาขาวิชาเองก็ได้เน้นการปั้นบัณฑิตการตลาดที่มีจริยธรรม คำนึงถึงทั้งประโยชน์ของธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น ตัวหลักสูตรมีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับทางเลือกในการเรียนที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้เรียนแต่ละคนเพิ่มขึ้น โดยมีวิชาเลือกให้นักศึกษาเลือกเรียนได้หลากหลายมากขึ้น โดยวิชาหลักพื้นฐานที่นักศึกษาจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ ก็ยังเรียนอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามความสำเร็จของผู้เรียนนั้นไม่ได้วัดเพียงเรื่องยอดขาย ความสามารถในการทำกำไร แต่เน้นการพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจากทรัพยากรของธุรกิจที่มีอยู่ และการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากคือทายาทธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่รายหนึ่ง เมื่อรายได้จากการขายเฟอร์นิเจอร์ลดลง ไม่สามารถสนับสนุนสาขาต่างๆ ที่มีหลายสาขาได้ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าร้านให้มีความทันสมัยขึ้น ใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อสื่อสารและขายออนไลน์โดยมีการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าถึงที่บ้าน ลดพื้นที่การจัดแสดงและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ลง แล้วเปิดเป็นร้านชาบูบุฟเฟ่ต์มาตรฐาน เน้นเรื่องความสะอาด การบริการ และคุณภาพของวัตถุดิบ สูตรเฉพาะที่มีคุณภาพ เพราะพื้นที่รอบๆ สาขาที่มีการปรับเปลี่ยนมีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก แต่ไม่มีร้านชาบูมาตรฐานในบริเวณนั้น ก็เป็นธุรกิจเสริมที่สร้างรายได้เข้าสู่ธุรกิจได้ ความสำเร็จของการทำธุรกิจในยุคนี้คือความสามารถในการหารายได้และปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

----------------------------------------------------------

ติดตามคลิปวิดีโอ Marketing Trend 2020

ได้ที่นี่


ภาพและเรื่อง โดย กองบรรณาธิการ

Last modified on Tuesday, 20 October 2020 03:54
X

Right Click

No right click