November 21, 2024

หลักสูตร Ex-MBA CMU ชูการเรียนแบบ Action Learning From Theory to Practice: ปรับทฤษฎี สู่ภาคปฏิบัติ

October 16, 2020 7605

กูรูด้าน Leadership ของโลกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “What got you here, Won’ t get you there” หรือก็คือ “อะไรที่เคยทำให้คุณประสบความสำเร็จมาแล้ว อย่าคิดว่ามันจะสำเร็จตลอดไป”

คำกล่าวนี้ดูจะเป็นจริงและยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกทุกวันนี้ ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกๆ นาที ในมุมใดมุมหนึ่งของโลก อาจกำลังมีสิ่งใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ และธุรกิจใหม่ กำลังก่อตัวขึ้น ขณะที่อีกมุมของโลก อาจกำลังมีธุรกิจที่กำลังปิดตัวเนื่องจากปรับตัวไม่เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่การเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากขึ้น และคาดการณ์ได้ยากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง การเรียนรู้จึงไม่ควรมีวันสิ้นสุด แม้ว่าคุณจะเป็นระดับผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ตามที ยิ่งปัจจุบัน โลกธุรกิจมีการแข่งขันรุนแรง ระบบเศรษฐกิจไทยและโลกทวีความซับซ้อน สับสน ยังความไม่แน่นอน ผู้บริหารและนักธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เท่าทันกับเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มเติมองค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ ให้ทันยุคสมัยอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นความจำเป็น

MBA ขอพาไปรู้จักกับ “หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร” หรือ Executive MBA (Ex-MBA) ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (AccBA) ซึ่งจะน่าสนใจเพียงใดนั้น เราได้รับเกียรติจาก รศ.อรชร มณีสงฆ์ ประธานหลักสูตร Ex-MBA และหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ, ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ และ รศ.ดร.อดิศักดิ์ ธีรานุพัฒนา กรรมการบริหารหลักสูตร Ex-MBA มาร่วมพูดคุยถึงจุดเด่นและความสำเร็จที่ผ่านมาของหลักสูตรนี้

Ex-MBA กว่า 2 ทศวรรษ กับพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง

“โครงการ Executive MBA ก่อตั้งมาถึงวันนี้ เป็นรุ่น 21 โดยตลอด 20 กว่าปี เรามีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ เรามุ่งเน้นที่ความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner Centric) โดยพันธกิจของเราคือ “ติดอาวุธ” ให้ผู้เรียนมองเห็นถึงวิกฤติและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง และสามารถรับมือได้ไม่ว่าจะเป็นโอกาสหรือวิกฤติ ในการเรียนการสอน เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสภาพแวดล้อมจริง และเน้นวิธีการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนดึงศักยภาพของตัวเองมาผสานกับสิ่งที่เรียนรู้ แล้วนำไป “ประยุกต์ใช้” และ “ลงมือทำได้จริง” เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ” รศ.อรชร เล่าถึง “หัวใจสำคัญ” ของหลักสูตร

ประธานหลักสูตร Ex-MBA กล่าวถึงการปรับตัวครั้งสำคัญของโครงการฯ เพื่อให้เท่าทันโลกธุรกิจและโลกการศึกษาอยู่เสมอแม้บริบทและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป ประการแรก คือการปรับเกณฑ์การรับผู้เข้าศึกษา จากเดิมที่อาจจำกัดด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ในการบริหารกิจการ ซึ่งในช่วงหลังมีคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โครงการฯ จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ Startup ที่มีนวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ ๆ และอยากทำธุรกิจ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ในหลักสูตร ซึ่งพบว่าเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เรียน ในมิติของการแบ่งปันประสบการณ์ และการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

พอเราเปลี่ยนเกณฑ์จากที่วัดด้วยอายุและความมากประสบการณ์ มาวัดด้วยใจที่อยากทำงานด้านบริหารธุรกิจ ทำให้เรามีผู้เรียนจากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้มากประสบการณ์ อย่างผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจและหน่วยงานราชการ และเจ้าของกิจการ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งทายาทธุรกิจ เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) หรือแม้แต่คนที่ยังไม่มีบริษัท แต่มีไอเดียและความอยากทำธุรกิจ ด้วยวิธีการเรียนการสอนของเราที่เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงทำให้ความต่างของผู้เรียนที่ต่างสายกลายเป็นประโยชน์ ในแง่ของการเปิดโลกทัศน์ และการเติมเต็มแนวคิดและมุมมองที่แตกต่างให้แก่กัน

รศ.อรชร บอกเล่าถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของหลักสูตร เมื่อ 3 ปีก่อน โดยเริ่มนำเอาแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงด้วยโจทย์ที่มาจากภาคธุรกิจ ที่เรียกว่า “Action Learning” เข้ามาใช้ในหลักสูตร Ex-MBA ซึ่งเป็นวิธีการเรียนการสอนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปัจจุบันมี Business School ชั้นนำของโลกหลายแห่งที่ได้นำวิธีการเรียนการสอนลักษณะนี้ ไปบรรจุลงในหลักสูตร MBA

นอกจากนั้น ในการปรับหลักสูตรที่ผ่านมาได้มีการบรรจุเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานในการทำธุรกิจ คือ ความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งมีสาระว่าด้วยเรื่องของความโปร่งใส ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงแค่บรรจุเข้าไปในหลักสูตร แต่ยังมีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความยั่งยืนในหลายรูปแบบ แม้กระทั่งในการทำ Action Learning การวางแผนธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณาให้คะแนนในตัวรายงานผลการศึกษาในโครงการ Action Learning เป็นต้น

Action Learning: From Theory to Real Practice

“การเรียนการสอนแบบ Action Learning จะเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ ทฤษฎี และสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มา เพื่อมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขโจทย์ทางธุรกิจที่มาจากปัญหา (Pain Points) ขององค์กรธุรกิจ เช่น ปัญหายอดขายตก ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ฯลฯ ซึ่งเรามองว่าการเรียนแบบได้ลงมือปฏิบัติจริงย่อมดีกว่าการเรียนรู้แต่ภาคทฤษฎีอย่างเดียว แต่กระบวนการการเรียนการสอนแบบ Action Learning จะมีความท้าทายกว่า เพราะต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน ตั้งแต่เรื่องวิชาการ การเลือกธุรกิจที่มาเป็นกรณีศึกษา หรือ Hosts การจัดคณาจารย์ที่จะเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยง (Mentors) เพราะเราไม่ได้ปล่อยให้ผู้เรียนลงไปในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยอย่างโดดเดี่ยว ไปถึงการเตรียมการในวันนำเสนอผลการศึกษา”

ผศ.ดร.เขมกร กล่าวเพิ่มว่า แนวทางการเรียนการสอนแบบ Action Learning ถือเป็น “จุดเด่น” ที่ทำให้หลักสูตร Ex-MBA ต่างจากหลักสูตร MBA ทั่วไป โดยในปีที่ 1 ที่ผู้เรียนต้องเรียนวิชาแกน (Core Courses) ทั้งหมด 6 กระบวนวิชา เรียกว่า ครบทุกฟังก์ชั่นในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การตลาด การเงิน การบริหารการปฏิบัติการ เป็นต้น โดยแทนที่จะเรียนแบบบรรยาย (Lecture) เพียงอย่างเดียว ผู้เรียนยังจะได้ “ลงมือปฏิบัติจริง” ผ่านโจทย์ของธุรกิจที่มาเป็น Host โดยทำงานร่วมกันเป็นทีม มีระยะเวลา 5 เดือน ในการศึกษาธุรกิจ หาปัญหาและแนวทางแก้ไข และวัดผลสำเร็จของวิธีแก้ปัญหาที่กลุ่มได้ลงมือทำให้กับ Host และเมื่อถึงวันสุดท้ายของการทำ Action Learning ผู้เรียนต้องนำเสนอผลการศึกษาบนเวทีใหญ่ต่อหน้าเพื่อน ๆ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาให้ความเห็น (Commentators) และเจ้าของธุรกิจที่เป็น Hosts

วันแรกของการเริ่ม Action Learning เราเชิญผู้ประกอบการที่เป็น Host มานำเสนอโจทย์ ซึ่งบางองค์กรก็จะให้โจทย์ค่อนข้างชัดเจน แต่บางองค์กรอาจมาพร้อมกับปัญหา ซึ่งนักศึกษาก็จะต้องวินิจฉัยว่า สาเหตุของปัญหาจากอะไรและจะต้องแก้ไขอย่างไร โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตามหลักวิชาการที่ได้เรียนมา การเรียนแบบ Action Learning ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาในการศึกษาภาคทฤษฎีจากคณาจารย์ พร้อมกับประชุมกลุ่ม และเข้าพบผู้ประกอบการนอกเหนือเวลาเรียน ซึ่งจะว่ายากก็ยาก เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับผู้เรียนที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานไปด้วย แต่พอผ่านไป 5 เดือน เขาจะรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เอาความรู้ไปช่วยแก้โจทย์ให้ธุรกิจ และได้ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต่างจากที่ธุรกิจที่เขาทำอยู่

ผศ.ดร.เขมกร เล่าว่า ไม่เพียงผลตอบรับที่ดีจากผู้เรียน ผู้ประกอบการที่ร่วมเป็น Hosts ก็ให้ความชื่นชมกับความสำเร็จของหลักสูตร โดย 3 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจที่ได้รับเลือกให้เป็น Hosts ประมาณ 22 องค์กร แต่มีธุรกิจที่สนใจเป็น Host และสมัครเข้าร่วมโครงการปีละร่วมร้อยราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายศิษย์เก่า Ex-MBA และ AccBA

Action Learning: Right Strategy Win All

วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ทีมงาน MBA มีโอกาสได้เข้าไปร่วมฟังการนำเสนอผลการศึกษาภายใต้การเรียนการสอนแบบ Action Learning ของนักศึกษาหลักสูตร Ex-MBA ปีที่ 1 ซึ่งเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2563 รวม 5 เดือน

ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี Hosts ทั้งหมด 8 บริษัท จากหลายประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจส่งออกผลไม้ โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร ธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูป ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจสนามกอล์ฟ เป็นต้น ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมให้ความเห็น (Commentators) มาจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คุณชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักกิจการองค์กร BEC World, คุณวัลลภัช แก้วอำไพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คุณฐิติ บุญประกอบ ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), รศ.กิตติ สิริพัลลภ อาจารย์ประจำ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี AccBA พร้อมด้วยผู้ประกอบการที่ร่วมเป็น Hosts

ความน่าสนใจของการนำเสนอในวันนี้ มีอยู่หลายจุด เริ่มจากการเลือก “เครื่องมือทางวิชาการ” มาวิเคราะห์โจทย์และแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน เนื่องจากความที่ธุรกิจต่างกัน และปัญหา (Pain Points) รวมถึงจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน ทำให้นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ไม่เพียงหยิบยกทฤษฎีหรือโมเดลที่นำมาใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างกัน แต่เลือกโฟกัสในกระบวนวิชาที่แตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มใช้ Business Model Canvas จากวิชา Management มาวิเคราะห์ ขณะที่บางกลุ่มหยิบ Process Improvement Tools จากวิชา Operations Management มาแก้โจทย์ให้ธุรกิจ เป็นต้น

จุดที่น่าสนใจต่อมา คือ เวลาเพียง 5 เดือน นักศึกษาได้มีการสร้างและประยุกต์ใช้แนวทางการแก้ปัญหา (Solution) ที่เป็นบทสรุปรวบยอดเพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจนั้น ซึ่งหลาย Solutions ผู้ประกอบการของธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้จริง เช่น บางกลุ่มพัฒนาแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้กับธุรกิจ บางกลุ่มสร้างช่องทางสื่อสารผ่าน Social Media ให้กับธุรกิจ พร้อมด้วย Timeline ในการสื่อสารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บางกลุ่มวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับธุรกิจ หรือบางกลุ่มออกแบบหน้าร้านและการจัดวางสินค้าใหม่ ฯลฯ

หลังการนำเสนอของแต่ละทีม Commentator จะให้คำวิจารณ์อย่างจริงจังว่า สิ่งที่วิเคราะห์และดำเนินการมานั้นถูกต้องหรือพลาดที่ใด สิ่งใดที่เป็นโอกาสในการปรับปรุง จุดแข็งคืออะไร พร้อมคำแนะนำสำหรับนักศึกษาเพื่อนำกลับไปพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเอง และสำหรับผู้ประกอบการเพื่อนำไปใช้พัฒนาธุรกิจ หรือไปต่อยอดสิ่งที่นักศึกษาได้วิเคราะห์หรือสร้าง Solution ไว้ให้ เพิ่มเติมจากองค์ความรู้ที่อัปเดตและไอเดียใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการได้จากการประชุมพูดคุยกับนักศึกษา

จะเห็นว่า โครงการ Action Learning ได้สร้าง Win-Win ให้กับหลายฝ่าย ตั้งแต่ตัวนักศึกษาเองที่จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงจากโจทย์จริง ธุรกิจที่มาเป็น Host ที่จะได้ไอเดียใหม่จากนักศึกษา ได้คำแนะนำดี ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจจะได้ Solution ที่ใช้การได้จริง ขณะที่คณาจารย์เองก็ได้เปิดโลกทัศน์จากธุรกิจที่หลากหลาย ส่วนทางหลักสูตร Ex-MBA เองก็ได้บรรลุผลสำเร็จในการเรียนการสอนรูปแบบนี้ และได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตรสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง

เครือข่ายพันธมิตรร่วมสร้างการเรียนรู้และธุรกิจ

รศ.ดร.อดิศักดิ์ กล่าวเสริมถึงเครือข่ายพันธมิตรด้านการเรียนรู้ของโครงการ Ex-MBA ว่า มีอยู่หลายกลุ่ม เริ่มจากเครือข่ายพันธมิตรระดับสากลที่อยู่หลายแห่งในหลายประเทศ โดยมีทั้งพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Ludwigshafen University of Applied Sciences ประเทศเยอรมนี Vienna University ประเทศออสเตรีย และ ESSCA School of Management ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น และบริษัทชั้นนำของโลก ซึ่งยินดีเปิดบ้านให้นักศึกษา Ex-MBA ได้เข้าไปเยี่ยมชม

ปกติ เราจะพานักศึกษาไปศึกษาดูงานในต่างประเทศทุกปี มีทั้งการฟัง Lecture ในห้องเรียน ซึ่งบรรยายโดยศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงมากของมหาวิทยาลัยนั้น และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอ Mini-Research ให้กับศาสตราจารย์ในต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การเรียนของต่างสถาบัน มีโปรแกรมศึกษาดูงานในโรงงานของบริษัทชั้นนำของโลก เช่น BASF Headquarters ที่ Ludwigshafen และ โรงงาน Mercedes-Benz ที่ Stuttgart เยอรมนี หรือโรงงาน Freitag ที่ Zurich สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ เป็นต้น โดยนักศึกษาได้เข้าไปสัมผัสกับสายการผลิตจริงของโรงงานชั้นนำเหล่านี้

สำหรับเครือข่ายในประเทศ นอกจากพันธมิตรที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศที่กระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว Ex-MBA ยังมีข้อได้เปรียบอยู่ที่ความแข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตรในเขตภาคเหนือ เนื่องจากมีศิษย์เก่าทั้งของหลักสูตร Ex-MBA เอง และของคณะบริหารธุรกิจ ตลอดจน ศิษย์เก่า มช. ซึ่งหลายท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจขนาดใหญ่หรือองค์กรภาครัฐ และเป็นเจ้าของกิจการ ที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคเหนือ จึงเป็นเหตุผลให้หลายบริษัทยินดีเปิดโรงงานต้อนรับนักศึกษา Ex-MBA ให้เข้าไปศึกษาดูงาน

“เราเคยไปดูงานวิชา Operations Management ในโรงงานฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ไปดูงานศูนย์กระจายสินค้าของ CP ALL และเราวางแผนจะเข้าไปดูไลน์การผลิตที่นำระบบ AI เข้ามาใช้ในโรงงานของเครือสหพัฒนพิบูล ฯลฯ การที่เราพานักศึกษาไปศึกษาดูงานเหล่านี้ ทำให้เขามีโอกาสได้เห็นตัวอย่างการปฏิบัติการที่เป็นระดับสากล ซึ่งจะต่อยอดการเรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของเขาได้ด้วย”

ทั้งนี้ รศ.อรชร ได้เสริมในประเด็นเรื่องประสบการณ์และเรื่องพันธมิตรว่า “เพราะ “Connection” มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ และ “คอนเน็กชั่นที่ดี” ก็เป็นสิ่งที่ผู้เรียน MBA ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ต่างคาดหวังว่าจะได้ติดตัวไป นอกเหนือจากองค์ความรู้และทักษะ ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการ Ex-MBA จึงได้ส่งเสริมให้มีกลุ่มไลน์ “ศิษย์เก่า Ex-MBA” ทำให้เครือข่ายศิษย์เก่ามีความเข้มแข็ง และมีความเป็น “สถาบัน” โดยจะจัดให้มีการสังสรรค์กันเป็นระยะ นอกจากนี้ ทางโครงการฯ เองยังจัดกิจกรรมกอล์ฟสามัคคีระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน และจัดกิจกรรม CSR “หอบรักไปห่มป่า” เป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ได้พบเจอและร่วมทำความดีเพื่อสังคมร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายทางธุรกิจของ “ชมรมศิษย์เก่า Ex-MBA”

“ใน LINE Group ศิษย์เก่า Ex-MBA เขาไม่ใช่ทักทายกันเฉย ๆ แต่ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางความคิดและทางธุรกิจ อย่างมีใครในกลุ่มอยากได้ตู้คอนเทนเนอร์ เขาก็จะช่วยกันแนะนำแหล่งให้ หรือช่วง Covid-19 บางธุรกิจเปลี่ยนเป็นหอพัก เขาก็ช่วยกันแชร์ภาพไปภายนอก หรือช่วยแนะนำลูกค้ามาให้ เป็นต้น มันก็มีการต่อเนื่องของธุรกิจ”

“มหาบัณฑิตพึงประสงค์” ของหลักสูตร Ex-MBA

รศ.ดร.อดิศักดิ์ ทิ้งท้ายด้วยเป้าหมายการเรียนรู้ (Learning Goal) ของหลักสูตร Ex-MBA ซึ่งมุ่งหวังให้นักศึกษาเกิดผลสัมฤทธิ์ใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1. มีองค์ความรู้ (Knowledge) 2. มีความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจ (Business Decision Competence) 3. มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skill) 4. มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Skill) 5. มีทักษะทางด้านการนำเสนอ (Presentation Skill) และ 6. มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีจริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics & Social Responsibility)

เราพยายามที่จะบ่มเพาะและหล่อหลอมคุณสมบัติทั้ง 6 ข้อนี้ให้กับนักศึกษาของเรา ภายใต้ระบบประกันผลการเรียนรู้ (Assurance of Learning) ตามมาตรฐาน AACSB ทำให้เราต้องมีการตั้งเป้าหมายและมีตัวชี้วัดที่วัดผลได้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถดูผลการเรียนรู้ของเขาเทียบกับความคาดหวัง และเทียบกับค่าเฉลี่ยของเพื่อนร่วมชั้นได้ และตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ระบุว่า นักศึกษาควรต้อง Reskill-Upskill-Newskill ในด้านใด เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาตนเองอย่างไม่สิ้นสุด

ขณะที่ ผศ.ดร.เขมกร มองว่า คุณสมบัติที่สำคัญของผู้บริหารซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผโลกธุรกิจในปัจจุบันและในอนาคต คือสมรรถนะด้านการตัดสินใจทางธุรกิจ (Business Decision Competence) ซึ่งเธอมั่นใจว่า ด้วยการเรียนการสอนของหลักสูตร Ex-MBA นักศึกษาจะได้รับการหล่อหลอมและเติมเต็มสมรรถนะด้านนี้เข้าไปอย่างเต็มที่ เนื่องจากหนึ่งในอัตลักษณ์ (Identity) สำคัญของนักศึกษา Ex-MBA ที่คณาจารย์ต่างมุ่งหวังก็คือ การเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถในการตัดสินใจได้อย่างเท่าทันและก้าวนำการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ

ในฐานะประธานหลักสูตร รศ.อรชร กล่าวปิดท้ายว่า เนื่องจาก “การผลิตบัณฑิตผู้เปี่ยมด้วยจิตสำนึกต่อสังคม” ถือเป็นหนึ่งใน “คุณค่า (Values)” ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยึดถือและปฏิบัติสืบมาตลอด ดังนั้น นอกเหนือจากความทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้และความเป็นเลิศทางการบริหารธุรกิจให้กับนักศึกษาอย่างเต็มที่แล้ว คณาจารย์ในโครงการ Ex-MBA ทุกคน ไม่เคยลืมทำหน้าที่ถ่ายทอดทัศนคติที่ดีและชี้แนวทางอันเปี่ยมด้วยคุณธรรม เพื่อสร้างบัณฑิตที่พร้อมจะก้าวไปเป็นนักบริหารที่ทั้งเก่งและดี เป็นที่ต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งนี่ก็คือบทสรุปถึงคุณลักษณะของ “มหาบัณฑิต Ex-MBA ที่พึงประสงค์” นั่นเอง


ภาพและบทความ: กองบรรณาธิการ

Last modified on Friday, 19 February 2021 04:57
X

Right Click

No right click