×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 806

Stanford Graduate School of Business “World Class Business School” Case Study

August 11, 2017 3539

เราต้องไม่มุ่งเน้นการหารายได้จากค่าเล่าเรียน จนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตบัณฑิตในรูปแบบ จ่ายครบ จบแน่ 

หากจะกล่าวถึง Business School ชั้นนำระดับโลก Stanford Graduate School of Business (GSB) ได้รับการจัดอันดับจาก Financial Time ให้เป็นอันดับ 5 ของ Global MBA Ranking 2016 ผมจึงขอเล่ากรณีศึกษาของ World Class Business School เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับบุคลากรทางงการศึกษาที่เปิดสอนด้านบริหารธุรกิจและการจัดการ ได้เป็นแนวทางในการพัฒนา Business School ของไทย ให้เทียบเคียงกับสถาบันชั้นนำระดับโลก

จากประสบการณ์ใน Executive Education หลักสูตร Leadership and Strategies in Supply Chains ผมได้มีมุมมองเกี่ยวกับองค์ประกอบของ World Class Business School ดังนี้

World Class Faculty คณาจารย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานจากภาคธุรกิจ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าศาสตร์การจัดการเป็นศาสตร์ที่ dynamic ไม่สามารถที่จะใช้เปิดตำราสอนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการทำธุรกิจนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว อีกทั้งอาจารย์หลายท่านได้รับความไว้วางใจจากภาคอุตสาหกรรมให้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาจารย์สามารถบูรณาการปัญหาหรือความรู้ที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนา case study สำหรับสอนนักศึกษาต่อไป

World Class Teaching การวางแผนการสอนด้วยความเป็นมืออาชีพ ผสานกับการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างลงตัว ก่อนเริ่มเรียนในแต่ละวิชา เจ้าหน้าที่จะจัดส่งเอกสารประกอบการเรียน เช่น case study มาให้นักศึกษาล่วงหน้าเพื่อให้อ่าน ทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมสำหรับ discussion ในชั้นเรียน ทำให้การเรียนการสอนเป็นแบบ two-way communication และนักศึกษาได้ประโยชน์มากกว่าการนั่งฟังอาจารย์บรรยายในรูปแบบ talk show เหมือนที่นักศึกษาไทยนิยมชมชอบ สำหรับ case study ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจริงที่มีจากธุรกิจที่เป็นที่รู้จัก โดยอาจารย์ต้องการให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากทฤษฎีเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจจาก case ต่างๆ การเรียนจึงเป็นมากกว่าการท่องจำ เพราะต้องใช้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบของนักศึกษา

World Class Environment เริ่มจากสภาพแวดล้อมในระดับมหาวิทยาลัยที่มีอายุ 125 ปี แต่ความเก่าแก่ของมหา-วิทยาลัยไม่ใช่ปัญหาของการผสานเอาความทันสมัยเข้าไปเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็น Sport Center ห้องสมุด หรือมุมสงบสำหรับอ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือเตรียมตัวสอบ ในระดับคณะ เมื่อปี 2008 GSB ได้รับเงินบริจาคจำนวน 105 ล้านดอลลาร์ จาก Philip H. Knight ผู้ก่อตั้ง Nike ซึ่งเป็นศิษย์เก่า MBA ’62 เป็นเงินทุนส่วนหนึ่งของการสร้าง Knight Management Center ขนาด 340,000 ตร.ม. ที่ประกอบด้วยห้องเรียน ห้องสมุด Auditorium ขนาด 450 ที่นั่ง ห้องพักอาจารย์และเจ้าหน้าที่ career management center และห้องอาหาร ห้องเรียนแต่ละห้องเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัย มีแผงควบคุมระบบสัมผัสที่โพเดียม เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนสามารถควบคุมห้องเรียนระหว่างการสอนโดยไม่ต้องเดินไปมาเพื่อเปิด-ปิดให้เสียเวลา ไม่ว่าจะเป็น จอ projector กระดาน ม่าน แสงสว่าง เสียง ทั้งห้องติดตั้งระบบไมค์ที่ห้อยจากฝ้าเพดาน เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา

ห้องสมุดของ GSB มี 4 ชั้น มีห้องอ่านหนังสือประมาณ 20 ห้องที่ติดตั้งจอทีวี สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ มีมุมสำหรับ stock market ให้ดูข้อมูลแบบ real-time ปัจจุบันมีหนังสือไม่เยอะ เนื่องจากนักศึกษาอ่าน e-book เป็นหลัก จึงเน้นสถานที่นั่งทำงานกลุ่ม ทำการบ้าน เตรียมตัวสำหรับการเรียน เป็นหลัก

World Class Research คณาจารย์มีงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริหารธุรกิจภายใต้ภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก นับได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อโลก จนบางครั้งเป็นทฤษฎีที่รู้จักกันทั่วโลกอย่างเช่น Bullwhip Effect in Supply Chain ของ Prof.Hua Lee ศาสตราจารย์ประจำ GSB การที่คณาจารย์สามารถผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่งมาจากภารกิจของคณาจารย์มุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอน การทำวิจัย และการบริการวิชาการ โดยไม่มี admin work ต่างๆ ที่จะทำให้คณาจารย์เสียเวลาจากภารกิจหลักข้างต้น

จากกรณีศึกษานี้ Business School ในประเทศไทยน่าจะลองทบทวนบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวเองว่าจะพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพออกสู่สังคมได้อย่างไร โดยใช้แนวทางปฏิบัติของ World Class Business School นำทาง ทว่า ต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทของไทย และต้องตระหนักว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็น World Class Business School ประการหนึ่ง คือ “ทรัพยากรทางการเงิน” แต่เราต้องไม่มุ่งเน้นการหารายได้จากค่าเล่าเรียน จนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตบัณฑิตใน
รูปแบบ “จ่ายครบ จบแน่” โดยละเลยเรื่องคุณภาพบัณฑิต แหล่งที่มาของรายได้ใน World Class Business School จึงเป็นการผลิต World Class Graduate ให้เป็นนักธุรกิจมืออาชีพเพื่อไปประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้วกลับมาตอบแทนสถาบันอย่าง Philip H. Knight มากกว่า

 

 

เรื่อง : ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ
รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

Last modified on Friday, 23 December 2022 04:53
X

Right Click

No right click