January 15, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

แบบฉบับ ม.พะเยา วิทยาลัยการจัดการ ของยุค 4.0

August 23, 2017 4132

มหาวิทยาลัยพะเยา ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ใช้ชื่อจังหวัดมาตั้งเป็นชื่อของสถาบัน และแม้ว่าจังหวัดพะเยา จะให้ความรู้สึกถึงการเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่เหนือกว่าความรู้สึกคือ ข้อเท็จจริงที่ว่ามหาวิทยาลัยพะเยา หรือ ม.พะเยา มีความใหญ่ทั้งขนาดของพื้นที่และความพร้อมในทรัพยากร ทั้งอาคาร สถานที่วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อการเรียนการสอน ที่ก้าวหน้าทันสมัยไม่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำในเมืองใหญ่ๆ เลยแม้แต่น้อย และด้วยเหตุผลที่ ม.พะเยา เป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง ทำให้สาขาและหลักสูตรที่เปิดสอนสอดคล้องกับความต้องการอย่างสมยุคสมสมัย กระทั่งว่ามีการเปิดแนวรุกเข้ามาตั้งวิทยาเขตในใจกลางกรุงเทพฯ และยังมีการเรียนการสอนที่มีความ Active และ สามารถตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาในเมืองหลวงกรุงเทพฯ ได้อย่างสง่างาม

 

ม.พะเยา : วิทยาลัยการจัดการ @ กรุงเทพฯ

ภายใต้วิสัยทัศน์ของหนึ่งในนักการศึกษา “ขาเก่า” และกล่าวได้ว่าเป็น “ของจริง” อย่าง รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ที่วันนี้ รับหน้าที่รักษาการ ผู้อำนวยการและบริหารวิทยาลัยการจัดการ  แห่งนี้ในเมืองหลวงกรุงเทพฯ ด้วยประสบการณ์ของ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้เป็นทั้งนักการศึกษา และมืออาชีพ ทีรู้จักกันดีในแวดวงโฆษณาและการตลาด ในฐานะบทบาทของ “นักวางกลยุทธ์” การสร้างแคมเปญการตลาดและโฆษณาที่โด่งดังหลายต่อหลายตัว ตั้งแต่ปี 2530 และบทบาทที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ เพราะอยู่เบื้องหลังการกำหนดกลยุทธ์ Event ใหญ่ๆ ระดับ Big ที่เมื่อพูดชื่อคือ “ร้องอ๋อ” โดยโอกาสนี้ ดร.เสรี คือผู้บอกเล่ากับทีมงานนิตยสาร MBA อย่างเป็นกันเองในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2560 ถึงความเป็นมาของวิทยาลัยการจัดการ กรุงเทพฯของ ม.พะเยา พร้อมบอกกล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารจัดการภายใต้สภาวะแห่งความท้าทายและภายใต้ทิศทางของแนวคิดการศึกษา 4.0 ซึ่ง ดร.เสรี ได้เล่าให้ฟังว่า

 

“ในแรกเริ่มเดิมทีเลย มหาวิทยาลัยพะเยา หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า ม.พะเยา นั้นเกิดจากการแยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ออกมาเป็นวิทยาเขตตั้งอยู่ที่จังหวัดพะเยา ตอนนั้นเรียกกันว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา พอดำเนินการเรียนการสอนจนมีความสำเร็จ ต่อมาจึงสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา ภายใต้วิสัยทัศน์และการเปิดสอนที่คัดสรรหลักสูตรเฉพาะสาขาซึ่งเป็นความต้องการของชุมชน สังคมและประเทศชาติ ตามวาระของยุคสมัยในปัจจุบันเพื่ออนาคต ซึ่งก็มีทั้งคณะแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์, ทันตแพทย์, พลังงาน, โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ส่วนสายสังคมศาสตร์ก็มีการเปิดสอนในบางสาขา เช่นว่า คณะรัฐศาสตร์, นิเทศศาสตร์ และนิติศาสตร์ เป็นต้น ภายใต้จุดยืนของการเลือกเปิดสอนเฉพาะสาขาที่เป็นดาวรุ่ง ซึ่งอยู่ในความต้องการ จึงเป็นที่มาของความสำเร็จในฟากผู้เรียนอย่างไม่มีข้อสงสัย และจากความสำเร็จของ ม.พะเยาในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการขยายวิทยาลัยมาสู่ใจกลางเมืองหลวงคือ วิทยาลัยการจัดการ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยพะเยาในที่สุด”

 

แบบฉบับ ม.พะเยา คือ ยืนหยัดบนความต้องการ เปิดบริการเฉพาะสาขาดาวรุ่ง

ที่วิทยาลัยการจัดการฯ ม.พะเยา ที่กรุงเทพ ยังคงเน้นย้ำการเปิดสอนเฉพาะหลักสูตรที่เป็นความต้องการ ในแรกเริ่มวิทยาลัยแห่งนี้ีเปิดสอนอยู่ 3 สาขาคือ MBA บริหารการศึกษาและ การท่องเที่ยว แต่ภายหลังคงเหลือที่ 2 สาขา คือ สาขาบริหารการศึกษา และสาขาการท่องเที่ยว โดยยกเลิกหลักสูตรMBA ด้วยเหตุผลสำคัญเพราะจำนวน Supply ของหลักสูตร MBA ในกรุงเทพฯนั้นมีมาก และเมื่อพิจารณาว่า MBA ไม่น่าจะเป็นสาขาที่ Promise ได้กับ อนาคต จึงยกเลิกการเปิดสอน MBA ที่วิทยาลัยในกรุงเทพ 

 

สำหรับอีก 2 สาขาที่คงเปิดสอนคือ สาขาบริหารการศึกษา และ การท่องเที่ยว นั้น ดร.เสรี ชี้ให้เห็นว่า “เพราะเห็นว่าเป็นอนาคต เหตุผลคือเพราะเป็นสาขาที่ตลาดยังต้องการสูง เช่นสาขาบริหารการศึกษา โดยหลังจากที่มีกฎหมายที่กำหนดอย่างเข้มงวดกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนต่างๆ ว่าต้องผ่านการศึกษาและรับรองวิทยาฐานะในด้านความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความต้องการหลักสูตรนี้ขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นบรรดาลูกหลานหรือเจ้าของโรงเรียนหรือผู้ที่ประกอบกิจการด้านสถานศึกษา และแน่นอนว่าการพัฒนาและยกระดับบุคลากรในแวดวงการศึกษาคือสิ่งที่หยุดนิ่งไม่ได้ และนั่นคือความหมายของอนาคตที่บอกว่ามองเห็น”

 

 

ในส่วนของ “การท่องเที่ยว” ยิ่งชัดเจนในเทรนด์ที่จะโต เพราะท่องเที่ยวคือ จุดขายที่สำคัญของประเทศ และประการที่สำคัญคือ ม.พะเยา เรามีรากฐานของสาขานี้ที่เข้มแข็ง ทั้งด้วยความที่เราอยู่ในโลเกชั่นของการเป็นหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์แหล่งท่องเที่ยว และเรายังพร้อมด้านทรัพยากร และที่สำคัญที่สุดคือ “ครู หรืออาจารย์ ของ ม.พะเยา ในสาขานี้ เรามีผู้รู้จริงและเชี่ยวชาญในวงการทั้งการท่องเที่ยวและการโรงแรม เช่น รศ. ดร. พยอม ธรรมบุตร ซึ่งอดีตเป็นหัวหน้าโครงการวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆอย่างยาวนาน โดยท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพี่นางฯ ในรัชกาลที่ 9 ยังคงพระชนม์ชีพ ที่ได้ทรงเลือกให้ อาจารย์พยอม เป็นผู้ดูแลโครงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการการวางยุทธศาสตร์กับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่หยิบยกมาอรรถาธิบายในเรื่องความเข้มแข็งในสาขานี้ ที่มีความสำเร็จจน ม.พะเยา เรามั่นใจ และตั้งใจขยายสาขานี้มาเป็นที่กรุงเทพฯ เพื่อจะมาเปิดบริการการเรียนการสอนให้กับผู้สนใจในพื้นที่เมืองหลวงบ้าง”

 

Location = Connected strategy 

การมีวิทยาลัยการจัดการฯ ที่กรุงเทพฯ มีเหตุผลสำคัญในเรื่องการสร้างความเชื่อมโยง (Connected) ที่อยากจะมีกับเมืองหลวง เพื่อการเชื่อมโยง (Connected) ไปยังต่างประเทศ ต่อประเด็นนี้ ดร.เสรี ขยายความให้ฟังว่า “ไม่ใช่ว่าการตั้งอยู่ที่ จังหวัดพะเยาจะ connected กับต่างประเทศไม่ได้ นั่นไม่ใช่ แต่ที่ กรุงเทพฯ จะง่ายกว่า และเป็นจริง เพราะหลายปีนี้เรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่นที่ Mountbatten University ที่เรามีความร่วมมือและช่วยรองรับการเข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฟากฝั่งแปซิฟิก ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และเป็นความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และขณะนี้เรากำลังมีการเจรจาเพื่อจะขยายความร่วมมือออกไปในฝั่งยุโรปเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” 

 

 Education 4.0 = Creativity + Innovation + Technology 

ส่วนการศึกษา 4.0 ในมุมมองของ ดร.เสรี มีความคิดเห็นว่า หัวใจสำคัญของ 4.0 นั่นคือการที่เรากำลังจะก้าวไปสู่ยุค อัจฉริยะ หรือยุค Smart เช่นถ้าเป้าหมายคือการจะมี Smart Industry หรืออุตสาหกรรมอัจฉริยะ นั่นย่อมต้องมี Smart people หรือบุคลากรอัจฉริยะ และแน่นอนว่าต้องมีเรื่องการศึกษาเข้าไปหนุนนำอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วน “อัจฉริยะ” นั่นก็คือการผสมผสานของ 3 ส่วน อันได้แก่ ความสร้างสรรค์ (Creativity) เช่นการศึกษาที่สร้างสรรค์ย่อมมีที่มาจากการสร้างหลักสูตรอย่างสร้างสรรค์ ทั้งเนื้อหา จนถึงวิธีการเรียนการสอน ที่ต้องมีความสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของความใหม่ อะไรที่เป็น First kind in the market ไม่เคยมีใครทำมาก่อนสิ่งนั้นคือ นวัตกรรม (Innovation) และอีกส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้จนถึงยุคถัดไปคือการนำเทคโนโลยี (Technology) เข้ามาใช้ เข้ามาช่วยในกระบวนการจัดการด้านการศึกษา สามองค์ประกอบสำคัญนี้คือหัวใจของการไปสู่สิ่งที่เรียกว่า 4.0 โดยทั้งหมดทั้งมวลล้วนอยู่ในกรอบที่ ม.พะเยามีความเข้าใจและอยู่ในกระบวนก้าวเข้าสู่กรอบการศึกษา 4.0 อย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ 

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Wednesday, 23 August 2017 07:07
X

Right Click

No right click