January 22, 2025

พันธกิจแห่งคณะบริหารธุรกิจ UTCC คือ สร้างบัณฑิตเท่าทันพลวัตแห่งโลกธุรกิจ

January 14, 2021 5230

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เรียกว่า VUCA World คือเต็มไปด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity)

และความคลุมเครือ (Ambiguity) ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา การผลิตบัณฑิตให้จบมาเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ที่พร้อมสำหรับสังคมและตลาดงานในปัจจุบันและในอนาคต กลายเป็นความท้าทายสำคัญของมหาวิทยาลัยในยุคนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจาก “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ (Disruption)” ในวงการการศึกษาอีกหลายเรื่อง อาทิ Online Education หรือความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้เรียน ฯลฯ Education Disruption ที่กำลังคุกคามแวดวงการศึกษาไทยอย่างหนัก ทำให้ทุกแห่งต้องปรับตัว

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) ถือเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหลายเรื่องที่ UTCC ถือเป็น “ผู้นำ” ในการปรับตัวก่อนที่คลื่นดิสรัปชันจะก่อตัวอย่างชัดเจนด้วยซ้ำ MBA Online ขอพามาพูดคุยกับ ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ UTCC ถึงกระบวนการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่การเป็น “Agile School of Business” ชั้นนำของประเทศไทย และเพื่อสร้างบัณฑิตที่เท่าทันกับพลวัตแห่งโลกธุรกิจและพร้อมที่จะเป็นผู้นำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สมดั่งปณิธานที่ว่า “ทฤษฎียอด ปฏิบัติเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม นำธุรกิจ”

 

ต่อยอดความแข็งแกร่งที่เป็นเอกลักษณ์

ดร.รวิดา กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คณะบริหารธุรกิจถือเป็น “เรือธง” ของ UTCC ทั้งในมิติด้านการยอมรับของสังคม และจำนวนนักศึกษาที่มากที่สุดของมหาวิทยาลัย โดยจำนวนนักศึกษาเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1,300-1,400 คน แม้ในช่วงหลังที่สภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการเรียนต่อของนักศึกษาค่อนข้างเยอะ

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คณะบริหารฯ ยังรักษาความสำเร็จนี้ไว้ได้ มาจากการปรับตัวอย่างเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยก้าวแรกของกระบวนการปรับตัว คือการรักษาและต่อยอด “จุดแข็ง” ซึ่งถือเป็นความแข็งแกร่งที่ยากจะเลียนแบบ ได้แก่ การเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของ “หอการค้าไทย”

“หอการค้าไทยเป็นแหล่งรวมนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและนักธุรกิจหัวก้าวหน้า ความใกล้ชิดกับหอการค้าไทยจึงทำให้เราทราบถึงสาขาวิชาและคุณลักษณะของบุคลากรที่เป็นที่ต้องการในช่วงนั้นและอนาคตอันใกล้ จึงออกแบบหลักสูตรได้เท่าทันความก้าวหน้าทางอาชีพและทางธุรกิจ และเท่าทันความต้องการของตลาดงานอยู่เสมอ”

ขณะที่คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยของที่อื่นเต็มไปด้วยอาจารย์และนักวิชาการ แต่คณะกรรมการฯ ของ UTCC ล้วนเป็นนักธุรกิจและนักวิชาการทางด้านธุรกิจ ทำให้อาจารย์ที่นี่มักมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและอัปเดตข้อมูลกับนักธุรกิจแถวหน้าอยู่เสมอ ขณะที่อาจารย์หลายท่านของที่นี่ก็เป็นนักธุรกิจหรือมีภูมิหลังทางธุรกิจมาพอสมควร

เพราะโลกธุรกิจมีพลวัต (Dynamic) อยู่ตลอดเวลา หลักสูตรและเนื้อหาวิชาจึงต้องเท่าทันพลวัตเหล่านั้น ดังนั้น เราจึงมีนโยบายให้อาจารย์ออกไปช่วยงานของหอการค้าไทยและองค์กรธุรกิจอยู่เรื่อยๆ โดยถือเป็นตัวชี้วัดผลการทำงาน (KPI) ของอาจารย์ที่นี่ เพราะไม่เพียงจะได้อัปเดตข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่ยังเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กลับมาสู่การเรียนการสอนของอาจารย์และของมหาวิทยาลัย

ดร.รวิดา ยกตัวอย่างกิจกรรมจากความร่วมมือของเครือข่ายนักธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือ โครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมจากแมงกะพรุน ซึ่งนอกจากโอกาสได้เงินรางวัลจาก นักธุรกิจผู้เรียนหลักสูตร ToPCATS รุ่น 2  นักศึกษายังมีโอกาสได้ดูงานในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับไอเดียผลิตภัณฑ์ที่นักศึกษาสนใจพัฒนาเพื่อนำไปต่อยอด โดยผลงานชนะเลิศจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้แก่ ผงคอลลาเจนสารสกัดแมงกะพรุน เยลลี่แมงกะพรุน สเปรย์น้ำแร่กันแดดแมงกะพรุน และเจลลดรอยแผลเป็นจากแมงกะพรุน

มุ่งสู่การเป็น Practice University แถวหน้า

ดร.รวิดา มองว่า การปรับตัวที่สำคัญของคณะฯ คือการมุ่งสู่การเป็น Practice University เพราะบุคลากรที่ตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคนี้ ไม่เพียงจะต้องมี “ความรู้” ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังต้องมี “ทักษะ” ที่จำเป็นในการรับมือโลก VUCA และต้องมี “ทัศนคติ (Attitude)” ที่ดีต่อการทำงาน

ยุคแรก เราก็เริ่มจากการมุ่งเน้นการวิจัยและตีพิมพ์ แต่เมื่อภาคธุรกิจขยายตัวรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบุคลากรที่ “พร้อมปฏิบัติงาน” เพิ่มมากขึ้น ในฐานะมหาวิทยาลัยภายใต้หอการค้าไทยจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์สำคัญดังกล่าว เราจึงมุ่งมาเป็น Practice University ที่เน้นการเรียนด้วยการฝึกปฏิบัติจริง เพราะเราเชื่อว่าทักษะและทัศนคติที่ดีในการทำงาน เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องผ่านการลงมือทำจริง

คณบดีสาว กล่าวว่า การเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้หอการค้าไทยช่วยเติมเต็มความเป็น Practice University ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องโอกาสในการฝึกงาน การรับฟังประสบการณ์จากนักธุรกิจชั้นนำ การดูงานในองค์กรธุรกิจ และการฝึกปฏิบัติจาก “โจทย์จริง” ของภาคธุรกิจที่ถูกนำมาเป็นโจทย์ใน Workshop หรือการประกวดไอเดียธุรกิจ (Pitching) เป็นต้น

เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงปฏิบัติอย่างเข้มข้น ผู้บริหารของคณะบริหารฯ จึงมีนโยบายให้ทุกวิชาต้องมีการฝึกปฏิบัติทั้งในห้องแล็บ ในองค์กรธุรกิจ หรือเป็น Workshop และทุกวิชาต้องมีการเชิญนักธุรกิจมาแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษา รวมถึงต้องมีการดูงาน โดยมีบางรายวิชาที่เน้นฝึกงานโดยเฉพาะ (Practicum)

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ทางคณะบริหารฯ และทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นอยู่เสมอ เช่น โครงการประกวดไอเดียธุรกิจ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำวิชาความรู้ไปใช้ เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ วางแผน และร่วมกันทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานหรือนวัตกรรม ซึ่งบางผลงานถูกพัฒนาเป็นธุรกิจจริงตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มี “เครื่องมือ” ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสร้างธุรกิจสมัยใหม่อย่างธุรกิจ e-Commerce เช่น eTouch บริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการรับรองจาก Alibaba.com ภายใต้ความดูแลของ UTCC ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่เซ็นความร่วมมือ (MOU) กับ Alibaba ทำให้นักศึกษามีโอกาสนำสินค้าหรือ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์” เข้าสู่แพลตฟอร์ม Alibaba.com ทั้งยังมีห้องสตูดิโอ และห้อง Live สด ให้ใช้งานด้วย

“ด้วยรูปแบบการเรียนที่เน้นฝึกปฏิบัติและมีกิจกรรม Pitching อย่างต่อเนื่อง เรามั่นใจว่าตลอด 4 ปี นักศึกษาจะถูกบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ความสามารถในการปรับตัว ทักษะและทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกับคนอื่น ทำให้เขามี “ความพร้อม” สำหรับโลกธุรกิจ นี่จึงเป็นเหตุผลให้นักศึกษาของเราได้งานค่อนข้างเร็ว”

 

พลิกความท้าทายด้าน Online เป็นจุดแข็ง

ขณะที่หลายมหาวิทยาลัยตัดพ้อว่า Technology Disruption ในโลกการศึกษา โดยเฉพาะ Online Education ทำให้จำนวนนักศึกษาหายไป จนหลายแห่งต้องปิดบางสาขาวิชา หรือปิดคณะไปเลย

ดร.รวิดา มองว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับคณะบริหารฯ เพราะทางคณะได้ปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาพักใหญ่แล้ว ด้วยการนำ Online Platform เข้ามาใช้ ทำให้นอกจากการเรียนแบบเข้าคลาส (ออฟไลน์) คณะบริหารฯ ยังมีหลักสูตรออนไลน์ทั้ง e-Learning และ Interactive Online Learning และกำลังจะมีรูปแบบใหม่คือ Virtual Classroom เพื่อเพิ่มทางเลือกและความยืดหยุ่นในการเข้าเรียนให้กับนักศึกษา

นอกจากหลักสูตรแบบออฟไลน์ที่เรียนในเวลาทำการ เรามีหลักสูตรนอกเวลาทำการที่เรียนช่วงเย็นวันธรรมดา หรือวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีทั้งแบบ Online Learning คือเรียนที่ไหนก็ได้ในเวลาเดียวกัน และ e-Learning คือเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนที่ต้องทำงานไปด้วย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น

ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ได้นำระบบ iHybrid หรือ Hybrid Learning System มาใช้ตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผสมผสานจุดเด่นของการเรียนแบบออฟไลน์และออนไลน์ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ พร้อมกันนี้ยังได้แจก iPad ให้นักศึกษา เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง

นอกจากการนำ Online Education มาเพิ่มทางเลือกและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ดร.รวิดา เชื่อว่า วิสัยทัศน์ของอธิการบดีคนปัจจุบัน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่มุ่งทำให้ UTCC เป็น “Happy University” โดยมีพันธกิจสำคัญ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความสุขให้นักศึกษา ร่วมกับนโยบาย Practice University ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง ล้วนเป็นปัจจัยให้จำนวนนักศึกษาของคณะบริหารฯ UTCC ไม่ลดลงมาก

“ทั้งประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความสุขและการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง ล้วนเป็นสิ่งหาไม่ได้จากการเรียนผ่านระบบออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว”

พัฒนาหลักสูตรอย่างเท่าทันโลกธุรกิจ

คณะบริหารฯ มีตั้งแต่หลักสูตรปริญญาตรีถึงปริญญาเอก มีหลักสูตรระยะสั้น เช่น Digital and Transformative Leaders ฯลฯ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง เช่น TEPCoT และ ToPCATS หลักสูตรออนไลน์ และหลักสูตรบ่มเพาะ “สตาร์ทอัพ” ชื่อหลักสูตร Harbour.Space ซึ่งร่วมมือกับ Startup University ชั้นนำของโลกจากสเปน

สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี มีหลากหลายสาขาวิชาให้เลือก ได้แก่ บริหารธุรกิจทั่วไป การตลาด การเงิน การจัดการ การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การจัดการโลจิสติกส์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE) และ 2 สาขาน้องใหม่ ได้แก่ การจัดการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และสาขาธุรกิจเกมและอีสปอร์ต

“หลักสูตรอีสปอร์ต เราเปิดมาแล้วกว่า 3 ปี ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดสาขานี้และให้วุฒิการศึกษาเป็นบริหารธุรกิจบัณฑิต ส่วนค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลักสูตรทวิภาคี ที่เราร่วมมือกับ CP All ในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน 2 ปี โดย CP All ออกทุนให้เด็ก 70% และหลังเรียนจบ บัณฑิตจะได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันทีในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขา หลังจากทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี จะได้รับการโปรโมตเป็นผู้จัดการสาขา และมีโอกาสเป็นเจ้าของร้าน 7-eleven โดยได้ส่วนลด Franchise Fee กว่า 3 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นอีกโอกาสของเด็ก”

สำหรับปีการศึกษาหน้า สาขาการจัดการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ยังได้สร้างความร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกรายอื่นๆ ในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน เช่น BigC, เซ็นทรัล และฟิวเจอร์พาร์ค

ในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร เราใช้หลายกระบวนการในการตกผลึกความคิด ทั้งการศึกษาแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม การรับฟังเสียงจากนักศึกษาปัจจุบันและนักเรียนที่อาจกลายเป็นนักศึกษาในอนาคต (VoC) และการรับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก โดยกลุ่มที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “กลุ่มผู้ใช้บัณฑิต” หรือภาคธุรกิจนั่นเอง ซึ่งการที่เราเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้หอการค้าไทย จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะได้รับฟังความเห็นของคนกลุ่มนี้อยู่เสมอๆ

หลักสูตรปริญญาตรีสำหรับผู้บริหารระดับสูง (Executive) เป็นหนึ่งตัวอย่างไอเดียที่มาจากการทำงานใกล้ชิดกับหอการค้าไทย จึงได้รับรู้ความต้องการส่วนลึกของนักธุรกิจหลายคนที่ประสบความสำเร็จแต่เรียนไม่จบ โดยหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้โอนประสบการณ์ทางธุรกิจมาเป็นหน่วยกิตได้ และเงื่อนไขสำคัญของการจบการศึกษาคือ ต้องเป็นวิทยากร แชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีให้ครบจำนวนชั่วโมงตามที่หลักสูตรกำหนด และเป็นสถานที่ในการทัศนศึกษาดูงานของนักศึกษาหลักสูตรปกติ

“ความตั้งใจของหลักสูตรนี้คือ การสร้างเครือข่าย ทั้งเครือข่ายความรู้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และเครือข่ายความร่วมมือกับคณาจารย์ รวมถึงเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง”

ผลิต “คนเก่ง-ดี-พร้อมใช้” สู่ภาคธุรกิจ

ดร.รวิดา กล่าวว่า เป้าหมายของคณะบริหารฯ คือ ต้องการสร้างบัณฑิตที่เป็น “บุคลากรคุณภาพ” อันหมายถึงคนที่ทั้งเก่งทฤษฎี ปฏิบัติเยี่ยม และมีคุณธรรม เพื่อผลักดันเป้าหมายให้เป็นรูปธรรม คณะบริหารฯ พยายามปลูกฝังคุณลักษณะดังกล่าวผ่านการพัฒนารายวิชาและกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ

ยกตัวอย่าง “หมวดการศึกษาทั่วไป” ที่นอกจากวิชาพื้นฐาน เช่น ภาษา ฯลฯ นักศึกษาคณะบริหารฯ ยังจะได้เรียนวิชา Coding วิชา e-Commerce วิชา Design Thinking ฯลฯ เพื่อบ่มเพาะทักษะทางด้าน Digital Literacy และ Creativity ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกธุรกิจยุคนี้ นอกจากนี้ ยังมีวิชา Designing Your Life ซึ่งนำหลักการ Design Thinking มาออกแบบชีวิต ช่วยให้นักศึกษารู้จักตั้งเป้าหมายชีวิต และรู้จักวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

สำหรับแนวทางปลูกฝังคุณลักษณะ “เก่งปฏิบัติ” คณบดีสาว เล่าว่า นับตั้งแต่ปีแรก นักศึกษาจะได้เรียนวิชา “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม (IDE101) ” ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาไปพัฒนาโปรเจ็กต์ในการทำให้ชุมชนห้วยขวางดีขึ้น แล้วส่งผลงานดังกล่าวเข้าแข่งประกวด (Pitching) เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับการเรียนรู้ในรูปแบบการฝึกปฏิบัติ และตลอด 4 ปี นักศึกษาจะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการลักษณะนี้ในอีกหลายรายวิชา

ส่วนแนวทางบ่มเพาะ “คุณธรรม” ดร.รวิดา เล่าว่า ได้มีการเปิดสอนวิชา “สัมมาทิฏฐิเพื่อการประกอบการ” ซึ่งมีพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ เป็นวิทยากรและผู้ออกแบบเนื้อหาการสอน แต่ถึงแม้นักศึกษาจะไม่ได้ลงเรียนวิชานี้ ด้วยนโยบายที่ของคณะกำหนดให้ทุกวิชาต้องออกแบบเนื้อหาให้มีการสอดแทรกหลักจริยธรรมไว้ด้วย คณบดีสาวจึงมั่นใจว่า บัณฑิตจากคณะนี้จะเป็นบุคลากรที่ “มีคุณธรรม” ในการประกอบวิชาชีพ แน่นอน

“ด้วยความสำเร็จในการหล่อหลอมบัณฑิตให้เป็น “บุคลากรที่พร้อมใช้” ทั้งในแง่ของการเป็นคนเก่งทฤษฎี เก่งปฏิบัติ และมีคุณธรรม ทำให้บัณฑิตของเราได้งานเร็ว หลายคนถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ อย่างเด็กสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจของเราได้งานทุกคน เพราะทำ Data Analytics ได้แถมมีหัวการค้าด้วย เด็กหลายคนก็ได้งานจากการแข่ง Pitching เพราะนักธุรกิจที่เข้ามาบรรยายหรือมาให้ทุน เขาเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการทำงานของเด็กเหล่านี้”

พันธกิจสำคัญของคณบดี ดร.รวิดา

เป้าหมายของ ดร.รวิดา ในฐานะคณบดี เธอให้ความสำคัญกับการเติมเต็มศักยภาพของคณะฯ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Agile School of Business ดังนั้น หน้าที่หลักข้อแรกคือ การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน ตอบรับกับ Disruption ทั้งหลาย และตอบโจทย์ของผู้เรียน รวมถึงตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน

คณบดีสาวยกตัวอย่างหลักสูตร Harbour.Space ที่มีเป้าหมาย เพื่อเสริมศักยภาพเด็กไทยให้เป็น “สตาร์ทอัพ” ที่พร้อมเติบโตสู่ระดับประเทศและระดับโลก อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อีกตัวอย่างคือ หลักสูตรปริญญาตรีสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นักธุรกิจที่ไม่ได้เรียนหรือเรียนไม่จบปริญญาตรี ขณะที่นักศึกษาที่มีโอกาสทำธุรกิจระหว่างเรียนและมีความตั้งใจอยากเป็นผู้ประกอบการ ก็สามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาเรียนภายหลัง โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

สำหรับหน้าที่หลักข้อต่อมา ได้แก่ การส่งเสริมให้อาจารย์เพิ่มศักยภาพของตน พร้อมกับปรับเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ถ่ายทอดความรู้ (Lecturer)” เป็น “ผู้แนะแนว (Facilitator)” เพื่อให้นักศึกษาเกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการทำงาน ทักษะทางสังคม และทักษะทางอารมณ์

“การจะเป็น Facilitator ที่ดี จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางธุรกิจ และต้องเท่าทันข้อมูลข่าวสารและเทรนด์ทางธุรกิจอยู่เสมอ เราจึงส่งเสริมอาจารย์ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจมากขึ้น ทั้งไปช่วยงานหอการค้าไทย ไปฝึกงานหรือเป็นที่ปรึกษาให้ภาคธุรกิจ โดยกำหนดให้ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน อาจารย์ต้องไปฝึกงานในองค์กรธุรกิจอย่างน้อย 100 ชั่วโมง เพื่อจะได้เห็นโลกธุรกิจเยอะขึ้น”

นอกจากนี้ ทางคณะฯ มีโปรแกรม Upskill-Reskill และมีโควตาให้อาจารย์เรียนหลักสูตรระยะสั้นหรือหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงของคณะฯ ขณะที่อาจารย์ก็ยังมีหน้าที่ต้องเผยแพร่งานวิจัย ตีพิมพ์ผลงาน และเข้าอบรมสัมมนา ซึ่งการพัฒนาตนเองถือเป็นหนึ่งใน KPI ที่อาจารย์ต้องปฏิบัติ

ดร.รวิดา ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาอาจารย์ให้เท่าทันกับพลวัตของโลกธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วย VUCA ถือเป็นพันธกิจสำคัญในยุคบริหารของเธอ และเป็น “กลไก” สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้คณะบริหารฯ ก้าวไปเป็น Agile School of Business ที่พร้อมรับมือกับความท้าทายและปรับตัวได้อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Last modified on Friday, 19 February 2021 04:56
X

Right Click

No right click