บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ประกาศผลงานการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยยอดเยี่ยมของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ภายใต้โครงการ "ASW x Arch KU ดีไซน์ชีวิตที่ใช่ ใส่ใจทุกการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน" เผยทีมนิสิตที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดทั้งสองประเภท ได้แก่ การออกแบบคอนโดมิเนียมจากพื้นที่จริง ณ WisePark Minburi และรางวัลพิเศษสำหรับผลงานออกแบบเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืนภายในที่อยู่อาศัยตามคอนเซปต์ "แยก-เท-คว่ำ" ด้วยมูลค่ารางวัลรวม 60,000 บาท
โครงการ ASW x Arch KU เป็นความร่วมมือระหว่าง แอสเซทไวส์ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่มอบโอกาสการเรียนรู้จากการทำงานจริงเพื่อติดปีกศักยภาพนิสิตสถาปัตย์ให้พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดยุคใหม่ ตลอดเวลากว่า 4 เดือนของโครงการ นิสิตได้ฝึกฝนทักษะการออกแบบผ่านกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการบรรยายพิเศษ การเยี่ยมชมพื้นที่จริงที่โครงการ WisePark Minburi และการทำงานออกแบบภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จนนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานประกวดที่โดดเด่นและตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิด WISECOLOGY และ GrowGreen ของแอสเซทไวส์
นายวุฒิ วิพันธ์พงษ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลา 4 เดือนของโครงการ ASW x Arch KU ทางแอสเซทไวส์ มีความภูมิใจที่ได้ร่วมบรรยายพิเศษเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการอสังหาฯ รวมถึงพานิสิตเยี่ยมชมโครงการที่อยู่อาศัยที่ดีไซน์มาให้คนทุกเจนอย่าง ‘Atmoz Flow Minburi’ และเราปิดท้ายด้วยโจทย์ที่ท้าทายน้อง ๆ นิสิตกับพื้นที่จริงของโครงการในอนาคตให้นิสิตทีมต่าง ๆ ประกวดแบบอาคารตามแนวคิดการอยู่อาศัยที่เข้าใจทุกไลฟ์สไตล์ และการประกวดการออกแบบพื้นที่จัดการขยะในห้องพักอาศัยในแบบฉบับของแอสเซทไวส์ ภายใต้คอนเซปต์ ‘แยก-เท-คว่ำ’ เพื่อมุ่งสู่ Zero Waste to Landfill ทำให้นิสิตได้นำความรู้ไปปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน เราดีใจที่ได้เห็นผลงานสุดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ แอสเซทไวส์ ขอแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะทุกคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นิสิตก้าวสู่วงการออกแบบในอนาคตได้อย่างมั่นคง"
อาจารย์ ดร.รัฐภูมิ ปาการเสรี รองหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า "ขอขอบคุณแอสเซทไวส์ ที่ริเริ่มโครงการดี ๆ เพื่อนักออกแบบรุ่นใหม่ ถือเป็นเวทีการเรียนรู้และการประกวดที่ส่งเสริมให้นิสิตได้แสดงศักยภาพ ได้วิเคราะห์บริบทของพื้นที่จริงในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพและวางผังโครงการได้อย่างเหมาะสม รวมถึงได้ขบคิดเรื่องการเลือกใช้เทคโนโลยี ทั้งด้านการก่อสร้าง ระบบอาคาร และการเลือกใช้วัสดุบนพื้นฐานความยั่งยืนและการยกระดับคุณภาพชีวิต นับเป็นโปรเจกต์ที่ช่วยฝึกฝนทักษะด้านการออกแบบของนิสิตได้เป็นอย่างดี"
ทีม Mobiz Orbit โดย น.ส.ฉัตรลดา นากดี และ น.ส.เจนจิรา สินอภิรมย์สราญ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คว้าชัยชนะในการประกวดออกแบบอาคารที่พักอาศัย พร้อมรับรางวัล 25,000 บาท ด้วยแนวคิด "Orbit" หรือวงโคจร ผลงานโดดเด่นด้วยการออกแบบอาคารที่บิดตัวรับกับบริบทโดยรอบอย่างลงตัว ช่วยลดการโดนแสงแดดโดยตรงและทำให้ไม่มีอาคารสูงมาบดบังทัศนียภาพ พร้อมสร้างสรรค์พื้นที่ส่วนกลางให้เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน ทั้งยังผสานความรู้ด้านโครงสร้าง การใช้ Façade และระบบอาคารทันสมัย ให้สอดคล้องกับแนวคิด WISECOLOGY ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ Environment Friendly, Smart Living และ Sustainable Life โดยทีมเผยว่า "การได้ร่วมโครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ๆ ในชีวิตของพวกเรา โจทย์นี้ถือว่าท้าทาย แต่เราตั้งใจสร้างสรรค์คอนโดที่ไม่ใช่แค่อาคารสูงทั่วไป แต่เป็นงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์และมีฟังก์ชันตอบโจทย์ชีวิตที่ลงตัวของทุกคนในคอนโด ตามโจทย์ที่รับจากทางแอสเซทไวส์"
ด้านรางวัลชนะเลิศการประกวดการออกแบบการจัดการขยะในห้องพักอาศัย ได้แก่ ทีม Waste Management แยก-เท-คว่ำ โดย นายธนวิชญ์ หลงสม และ น.ส.บุญกรพินธุ์ อันตะระโลก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมรับเงินรางวัล 5,000 บาท ด้วยผลงานการออกแบบที่มุ่งลดขยะตั้งแต่ต้นน้ำ "เราได้ออกแบบ 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือพื้นที่ 'แยก' ติดผนังไว้คัดแยกหลอด ช้อนส้อมพลาสติก ไม้ และกระดาษ พร้อมกล่องแยกขยะด้านล่างที่ถอดทำความสะอาดได้ ส่วนที่สองคือพื้นที่ 'เท-คว่ำ' ที่รวบขั้นตอนให้ใช้เวลาน้อยที่สุด มีช่องแยกเทเศษอาหารและของเหลว ที่เชื่อมต่อกับระบบที่ซิงค์ล้างจาน และออกแบบให้มีระนาบเอียงที่ช่วยให้ขยะไหลลงสู่ตะแกรงตากขยะด้านล่างได้อย่างสะดวก ช่วยให้การจัดการขยะร่วมกันในคอนโดเป็นเรื่องง่ายขึ้น"
แอสเซทไวส์ พร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่วงการอสังหาได้อย่างมั่นคง ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกเจเนอเรชัน ภายใต้แนวคิด "We Build Happiness" ความสุขที่ออกแบบมาเพื่อคุณ
ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง International Conference/Workshop on Rice Climate Mitigation and Adaptation” หรือการบรรเทาและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของข้าว ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Thailand Rice Science Research Hub of Knowledge) ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยด้านข้าวจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานให้ทุน สถานทูต สถาบันการศึกษา เกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้ส่งออกข้าวไทย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนของการผลิตข้าวไทย โดยมีการบรรยายของนักวิจัยระดับโลก ที่ทำงานวิจัยด้านข้าวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมสมองแก้ปัญหาด้านข้าวในหลากหลายมุมมอง โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ลดการใช้น้ำ พร้อมเทคนิคที่สามารถทำได้ในเวลาอันใกล้และแนวทางในอนาคต โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเปิดงานกับ รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค
รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับทุนจาก วช. ประจำปีงบประมาณ 2567 เรื่อง การพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Thailand Rice Science Research Hub of Knowledge) เพื่อมุ่งเน้นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงเชื่อมโยงกลุ่มนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จากภายในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวด้วยกัน ซึ่งการจัดงานประชุม International Conference/Workshop on Rice Climate Mitigation and Adaptation ครั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ ไบโอเทค สวทช. และ วช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ร่วมจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีรวบรวมความคิดเห็นนักวิชาการ นักวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่แนวคิดและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อข้าวในมุมมองที่กว้างขึ้น
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. เป็นผู้ให้ทุนและจัดตั้ง “การพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย” ซึ่งโครงการได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ เป็นผู้นำโครงการ พร้อมด้วยมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยด้านข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาของข้าวไทย พร้อมการระดมสมองเพื่อเสนอวิธีการแก้ไขและพัฒนางานวิจัยของไทยให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวิจัย ฝ่ายการผลิต และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวครั้งนี้ ทางโครงการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศมาร่วมบรรยาย มีเนื้อหาหลักในการนำเสนอเรื่องข้าวในด้านสรีรวิทยา สิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือสภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญมากในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่ในระดับนานาชาติด้วย
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค ตระหนักถึงปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยเช่นกัน ซึ่งทางไบโอเทคได้มีการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ปัญหาโลกรวน โดยการวิจัยข้าวในไบโอเทคจะเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลจีโนมเพื่อศึกษาลักษณะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำนาข้าวลักษณะที่สำคัญต่อการทำนาข้าว ได้แก่ ความต้านทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้เนื้อหาการจัดงานจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการนำไปปรับใช้กับงานวิจัยต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายโดยนักวิจัยระดับโลก ที่ทำงานวิจัยด้านข้าวเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย หัวข้อการจัดการปากใบเพื่อเพิ่มความทนทานต่อความเครียดของข้าว (Manipulating stomata to enhance rice stress tolerance) โดย Prof. Dr. Julie Gray มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ อังกฤษ / หัวข้อการจำแนกยีนและศึกษากลไกของยีนทนเค็มในข้าว (Identification of Salt Tolerant Genes in Rice and Their Mechanisms) โดย ศ.ดร.ศุภจิตรา ชัชวาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / หัวข้อการจัดการน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวเขตอบอุ่น (Water management and greenhouse gas emissions in temperate rice paddies) โดย Prof. Dr. Kosuke Noborio มหาวิทยาลัยเมจิ ญี่ปุ่น / หัวข้อการลดก๊าซเรือนกระจกในข้าว: ชิ้นส่วนของการแก้ปัญหาแบบครบวงจร (GHG mitigation in rice: Pieces of a comprehensive solution) โดย Dr. Bjoern Ole Sander สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) / หัวข้อ เมื่อน้อยคือมาก: เส้นทางสู่ข้าวที่มีประสิทธิผลดีแม้น้ำมีจำกัด (Where Less is More: A Path Towards More Water Productive Rice) โดย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวข้อพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการทำนาหว่าน (Breeding rice varieties suitable for direct seeding) โดย Dr. Shalabh Dixit สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ตลอดจนมีการอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหาทางด้านข้าวในหลากหลายมุมมอง ได้แก่ ด้าน สรีรวิทยา (Physiology) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการปรับปรุงพันธุ์ (Breeding)
PTG - KU ร่วมลงนามความร่วมมือ พัฒนาการเรียน - การสอน - การวิจัย หวังใช้ประสบการณ์ผู้ประกอบการไทยช่วยต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ให้นิสิต
หลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจและบัญชีดั้งเดิมนั้นเปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ภายใต้สังกัดคณะสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นตัวแทนเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ