September 10, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

หลักสูตรบริหารธุรกิจ นานาชาติ ลาดกระบัง เป้าหมายของหลักสูตร คือการสร้างบัณฑิตเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าการเป็นผู้ประกอบการเองหรือการเป็นมืออาชีพในสถานประกอบการ โดยเฉพาะองค์การแบบนานาชาติ (Multinational Organization : MNC’ s) และเตรียมความพร้อมกับก้าวไปสู่นักบริหารในอนาคตที่มีความเป็น World Citizen ที่มีองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจ (Business Acumen) มีทักษะในการบริหารจัดการ (Management Concepts) ความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) การคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking Process) มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการให้สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของดิจิทัล

หลักสูตรได้จัดให้มีการเรียนการสอนสอดแทรกรายวิชาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลักสูตร และทุกวิชาจะมีการเชื่อมความสำคัญหรือความสัมพันธ์เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกธุรกิจในปัจจุบันกับ Functions และกิจกรรมทางธุรกิจ (Business Acitivities) เช่น Digital Online Marketing, Innovation Entrepreneurships, Technology Start Up, Digital Disruptiveกับ แนวความคิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอื่นๆ และตอกย้ำกับวิสัยทัศน์และพันธะกิจความเป็นผู้นำของสถาบัน ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดรวมถึงอัตลักษณ์ของสถาบันที่ว่า “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน”

แม้โลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด สิ่งสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้ต้องมี Competencies & Soft Skills ที่สำคัญในการทำงาน ได้แก่การมีภาวะผู้นำที่ดี (Leadership) ทักษะในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในทุกระดับ (Interpersonal Skills) ที่สำคัญมากที่ตอกย้ำความเป็นนานาชาติ คือการมี Global Mindset ที่เข้าใจความแตกต่างในวัฒนธรรมข้ามชาติ (Cross Cultural) เข้าใจความหลากหลายในสถานที่ทำงาน (Diversity) แบบบริบทนานาชาติ แต่ต้องไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย หรือหากเป็นนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนักศึกษาต่างชาติต้องได้รับการถ่ายทอดในกลิ่นอายความเป็นไทย เข้าใจในวัฒนธรรม ความมีเสน่ห์ของความเป็นไทย (Thai Culture & Traditional) ทางหลักสูตรจะมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความเป็นนานาชาติให้กับนักศึกษาไทย และความเป็นไทยให้กับนักศึกษาจากหลากหลายประเทศในอนาคต เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติในหลากหลายรูปแบบ การให้นักศึกษาไปมีส่วนร่วมในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ การจัดให้มีการเยี่ยมชมสถานประกอบการต่างชาติทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

แน่นอนการจะผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติดังที่กล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความตั้งใจของอาจารย์ในหลักสูตรทุกท่าน เราจึงได้ข้อสรุปต่างๆ ในระบบการเรียนการสอนต้องเชื่อมโยงอย่างชัดเจนจึงเป็นความจำเป็น เราเชื่อในหลักการของทฤษฎีระบบ (System Theory) ที่องค์ประกอบต้องเชื่อมต่อกันอย่างมีคุณภาพ ทั้ง Input, Process and Output

คุณภาพนักศึกษา

หลักสูตรตระหนักดีว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนของนักศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะองค์ประกอบนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่จะทำให้หลักสูตรมีคุณภาพและประสบผลสำเร็จหรือไม่ตั้งแต่แรก แม้ว่าเราจะเป็นหลักสูตรใหม่ แต่เราก็เข้มงวดกับระบบการคัดเลือก สรรหานักศึกษาเข้ามาในระบบ สิ่งที่เน้นเป็นอันดับแรก คือพื้นฐานและทักษะภาษาอังกฤษ เพราะคือทักษะจำเป็นของกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตร อันดับต่อมาคือบุคลิกลักษณะเหมาะสมกับหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติที่ต้องการนักศึกษาที่มุ่งมั่นในการเข้าสู่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บุคลิกที่ว่าคือการมีภาวะผู้นำ (Leadership) กล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ใช่ และถูกต้องอย่างสร้างสรรค์ (Assertiveness) ความกระตือรือร้น คล่องแคล่ว (Alert and Agility) การเปิดใจรับกับความคิดเห็นที่แตกต่าง (Open Minded) การทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่าง (Interpersonal Skills) ทักษะการสื่อสารและ ความคิดรวบยอด (Communication and Conceptual Skill)

กระบวนการและวิธีการเรียนการสอน

คณาจารย์ทุกท่านในหลักสูตร รวมทั้งคณาจารย์ที่ได้รับเชิญมาสอนต้องกำหนดวิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะครบเครื่อง เช่น ทักษะการค้นคว้าความรู้จากสื่อประเภทต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต ออนไลน์ การระดมสมองเพื่อค้นหาคำตอบกรณีศึกษาในเชิงธุรกิจ การแชร์ประสบการณ์ การเสนอแนะความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ดังนั้น กระบวนการหรือวิธีการเรียนการสอนของคณาจารย์ อาจเป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้แก่ Active Learning, Problem Base learning, Best Practices, Case Study, Phenomenon-Based Learning (PBL) วิธีการอื่นๆ ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ

คณาจารย์ อาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ

นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ อาจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทยที่จบการศึกษาในสายการศึกษาที่ตรงกับวิชาที่เรียน มีตำแหน่งทางวิชาการที่สอดคล้อง มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ทั้งหมดจบจากสถาบันในต่างประเทศ และหรือจบหลักสูตรนานาชาติในประเทศ และคณาจารย์ส่วนใหญ่ในหลักสูตรมีประสบการณ์ตรงในภาคธุรกิจ เอกชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น General Electric (GE), Ford Motor, Electronic Industry, Oil & Gas industry และส่วนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาและทำงานวิจัยร่วมกับกับบริษัท อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

กระบวนการดูแลนักศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน การสอน

อาจารย์ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรมีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูง ทุกคนมีแนวทางที่ชัดเจนที่เหมือนกันคือต้องการให้ศิษย์ได้ดี ดังนั้น คณาจารย์ในหลักสูตรนานาชาติที่นี่จึงตั้งใจมากต่อการดูแล เอาใจใส่ลูกศิษย์ของตนเองเปรียบเสมือนลูกหลานตนเองตั้งแต่การเรียนการสอน การแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง การเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เราอยากเรียกกระบวนการนี้ว่า “Student Engagement”

การเรียนรู้จากโลกธุรกิจจริง

หลักสูตรออกแบบเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ จากโลกธุรกิจจริง ได้แก่ การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ บุคคลในโลกธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จและมีชื่อเสียง เราออกแบบให้คณาจารย์เชิญผู้มีประสบการณ์ภายนอกมาแชร์ประสบการณ์ให้กันักศึกษา หรือออก Field Trips ไปดูงานในอุตสาหกรรม ตลอดรวมทั้งการฝึกงาน (Internship) โครงการสหกิจศึกษา (Co-Operative Program) หรือ การเข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันระหว่างประเทศ (Student Exchanges Programs) อื่นๆ

ดร.สรศักดิ์ ในฐานะประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจ นานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มีประสบการณ์โดยตรงจากภาคธุรกิจมากกว่า 25 ปีโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติทั้งในฐานะทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีมูลค่าขององค์การหลายหมื่นล้าน มีพนักงานในองค์การแบบหลากหลายชาติ พนักงานในองค์การมากกว่า 1,000 คน ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ค่ายอเมริกา อุตสาหกรรมรองเท้าค่ายยุโรป อุตสาหกรรมค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีและท่ออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ การเป็นผู้ประกอบการด้านที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจ (Business Consultant) และธุรกิจการสรรหาผู้บริหาร (Head Hunter and Recruitment Agency) ในทุกระดับให้กับบริษัทต่างชาติจำนวนมาก ประสบการณ์ทั้งหมดเป็นทั้งหนึ่งในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจ (Pioneer Green Field Start Up Management Team) หรือเป็นผู้ก่อตั้งหลัก (Founder) ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ และเป็นประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ ลาดกระบัง และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการต่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ ของคณะการบริหารและจัดการ จึงเข้าใจความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมว่าบัณฑิตแบบไหนที่ตอบโจทย์ธุรกิจ จึงมุ่งมั่นขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติความยั่งยืนต่อไปในอนาคต 


บทความ โดย : ดร สรศักดิ์ แตงทอง
ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

ภาพ โดย : ฐิติวุฒิ บางขาม /  MBA magazine


 สามารถรับชมคลิปวิดีโอ "Faculty of Administration and Management King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang" ได้ที่นี่

ดร.ปรเมศร์ อัศวเรืองพิภพ หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง จุดเด่นของการเรียนเศรษฐศาสตร์ที่นี่ว่า เราไม่ได้มุ่งหวังผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์เชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ให้มีศาสตร์ทางด้านธุรกิจและการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง

การพัฒนาปรับหลักสูตรให้ทันยุคสมัย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อปรับภาพของการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสาขาวิชาที่เรียนยากหรือเรียนแล้วเอาไปทำอะไร และการพัฒนาหลักสูตรก็ไม่ตีวงแคบแค่เพียงการใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปจัดการกับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เมื่อพัฒนาหลักสูตรแล้วจะอยู่เฉยหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจากเดิมรอบของการปรับหลักสูตรจะเกิดขึ้นทุก 5 ปีขึ้นไป วันนี้เพียง 2-3 ปีก็ต้องปรับหลักสูตรและเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัย และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่มีการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว

ให้สมกับชื่อภาควิชา “เศรษฐศาสตร์ประยุกต์” ที่ต้องสามารถประยุกต์ศาสตร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่มีแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมาให้เลือกใช้งานมากมาย รวมถึงการมีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่หลั่งไหลมาไม่หยุด ดังนั้นเราจะสามารถตัดสินใจเลือกหรือจัดสรรการใช้งานเทคโนโลยีหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีมากมายเหล่านั้นได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้การสร้างนักเศรษฐศาสตร์ให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ให้ได้โซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่สังคม เหล่านี้เป็นธงหลักๆ ที่ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นที่ต้องการของดีมานด์ตลาดที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ

หลักการปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับโลกในยุคนี้ ดร.ปรเมศร์ เล่าว่า ได้อาศัยมุมมองหรือความคิดเห็นจาก Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมไปถึงคณาจารย์ โดยนำความเห็นเหล่านี้มาประมวลหาทิศทางของหลักสูตร เพื่อกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังว่า บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาไป ควรจะมีศักยภาพอย่างไร ทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ บัณฑิตจะต้องมีความรู้ในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และเมื่อนำแนวทางดังกล่าวไปสำรวจตลาดพบผลการตอบรับหลักสูตรเศรษฐศาสตร์เชิงประยุกต์ดีมาก เรียกว่ามีโอกาสในตลาดแรงงานสูง สังเกตได้จากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีฝ่ายวิเคราะห์และวางแผน และส่วนที่สำคัญในฝ่ายฯ คือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาหรือเสนอแนวทางการพัฒนาให้แก่องค์กร

ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนจึงเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น โดยส่งนักศึกษาไปในโครงการสหกิจที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสนำความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์มาทดลองใช้กับภาคธุรกิจ ได้นำสิ่งที่ศึกษามาช่วยเมื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

ภาพรวมหลักสูตร

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าหลักสูตร ระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ มีแนวโน้มการตอบรับที่ดีมาก จากจำนวนนักศึกษาปีแรก 120 คน และในปี 2561 นี้การรับยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ที่ประมาณ 200 คน โดยแบ่งเป็นวิชาเอก 3 กลุ่มคือ 1.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจเกษตรและอาหาร ที่เนื้อหาหลักสูตรไม่ได้เลือกโฟกัสเกษตรขั้นปฐมภูมิเท่านั้น แต่มองเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร 2.เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ของกระแสหลักในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล และเสริมความสามารถในการประเมินและการเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจระหว่างประเทศ ตอบโจทย์การค้าเสรีที่เป็นกระแสหลักของโลกการค้าปัจจุบัน เราต้องเข้าใจเงื่อนไขทางธุรกิจในแต่ละประเทศ และแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยวิชาทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทันสมัยและอยู่ในกระแสของโลก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะพัฒนาไปสู่ระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปี 2562 มีแผนจะเปิดรับประมาณ 20 -30 คน ต่อรุ่น เป็นหลักสูตรที่เรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.การวิเคราะห์ข้อมูล เน้นพัฒนานักศึกษาที่เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ ที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาแบบจำลองสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ 2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทำการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ต่อยอดไปถึงการพัฒนาประเทศ 3.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์กับกระแสหรือทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตที่ใช้ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าและความได้เปรียบทางการแข่งขัน และ 4.ฟินเทค (Fin Tech) ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเลือกและพัฒนาการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ส่วนระดับปริญญาเอกมีแผนจะเปิดรับสมัครในปีการศึกษา 2562 หรือ 2563 ที่มีทิศทางของหลักสูตรต่อยอดจากระดับปริญญาโท ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการบริหารและจัดการในระดับมหภาค (Macro)

นอกจากนี้ทางภาควิชายังมีการพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า Sandwich Program (ที่มีการเรียนการสอนบางส่วนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ) และ Dual Degree (โปรแกรมนี้นักศึกษาจะได้ 2 ปริญญา) ที่จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปี 2563

สถานการณ์โลกกับการนำเศรษฐศาสตร์มาใช้

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นสาขาหรือวิชาชีพใดๆ ก็จะหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ในสาขาของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในปัจจุบัน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลก สอดคล้องกับตัวตนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ต่างๆ ที่นี่มีความเข้มแข็ง

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจจะศึกษาต่อในวันนี้ แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ รวมถึงหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ของ สจล. จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบันต่อไปยังอนาคต เพราะไม่ได้เน้นหนักในเชิงทฤษฎี แต่เน้นในเชิงคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์กับสถานการณ์ และการแก้ปัญหา ทั้งภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การเงิน และก็ไม่ทิ้งภาคการเกษตร

“จากการบูรณาการศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเป็นเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เราจะมุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาในระดับปริญญาตรีให้เป็นนักปฏิบัติงานที่เก่ง สถานประกอบการใช้งานได้ทันที สำหรับระดับปริญญาโท เรามุ่งที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพด้วยความมั่นใจ และในระดับปริญญาเอก เราจะสร้างผู้บริหารระดับสูง ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ในระดับชาติและสากล”   


 

บริหารธุรกิจและการจัดการ สจล. เป็นหลักสูตรที่มีอยู่เดิม และในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ผศ.ดร.วอนชนก ไชยสุนทร รองคณบดีคณะการบริหารและจัดการ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวถึง ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการว่า มีหลักสูตรครอบคลุมทุกระดับ เริ่มจากในระดับปริญญาตรี คือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ซึ่ง สจล. เปิดการเรียนการสอนมานานเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี มีการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่เป็นจุดเด่นของ สจล. ในด้านการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจที่อยู่ในสถาบันเทคโนโลยี จึงมีจุดเด่นในด้านการผนวก 2 ศาสตร์ คือ ศาสตร์การบริหารธุรกิจและศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีเข้ารวมกัน ครอบคลุมถึงการบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และแน่นอนว่าศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์ที่ไม่มีการหยุดนิ่ง การดำเนินงานของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะการบริหารและจัดการมีจุดเด่นที่แตกต่างคือมีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งกว่า จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผนวกรวมกับคุณลักษณะเด่นของบัณฑิตของสถาบัน “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” บัณฑิตของคณะ จึงมีลักษณะของการเป็นนักบริหารธุรกิจที่ไม่นั่งติดโต๊ะ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวได้หลากหลายสายงาน ทั้งในสายการเงิน หรือเทคโนโลยี รวมถึงสายงานที่ทันสมัยในปัจจุบัน เช่น Data Scientist, Digital Marketing เป็นต้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรมีส่วนสนับสนุนการประอาชีพเป็นอย่างแน่นอน จึงนับว่าเป็นจุดแข็งและความได้เปรียบของหลักสูตร เพราะมีโอกาสเติบโตชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางตลาดแรงงานวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ทั้งสาขาการบริหารเทคโนโลยี และสาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม อีกด้วย

ส่วนระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตมหาบัณฑิตมาอย่างยาวนานกว่า 20 รุ่น แต่จุดสำคัญของปีการศึกษา 2561 นี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นหลักสูตร MBA ฉบับปรับปรุงใหม่แกะกล่อง โดยการปรับปรุงครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนก้าวทันกระแส Industrial 4.0 โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทของคณะการบริหารและจัดการ สจล. ถึงแม้จะเป็นเสมือนสาขาบริหารธุรกิจทั่วไป แต่มีรายวิชาให้ผู้เรียนได้เลือกอย่างหลากหลายตามความสนใจ อาทิ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การจัดการธุรกิจบริการและเทคนิคการบริการลูกค้า การจัดการทางการเงินขั้นสูง การจัดการผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ทุนมนุษย์ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมถึงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันคณะการบริหารและจัดการยังมีหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อและบันเทิง อีกด้วย

ผศ.ดร.วอนชนก เล่าถึงจุดเด่นของหลักสูตร MBA ว่า มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงด้านการบริหารเทคโนโลยีและการบริหารอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน รวมถึงการเปิดกว้างให้แก่ผู้เรียนที่จบมาจากทุกสาขา และไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่จบในสาขาบริหารธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากหลักสูตรมีรายวิชาปรับพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเป็นมหาบัณฑิต MBA ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดกว้างในลักษณะนี้จะสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนบริหารธุรกิจ ไปต่อยอดจากความรู้เดิมที่แต่ละคนมี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสายการแพทย์การพยาบาล เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นหลักสูตร MBA ของลาดกระบัง ยังเป็นหลักสูตรที่รองรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทางกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก บางนา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เนื่องจากนักศึกษาสามารถเดินทางมาเรียนที่ สจล.ได้อย่างสะดวกสบาย

“นักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาอย่างน้อย 1-2 ปี และทำงานเป็นผู้บริหารระดับต้นถึงระดับกลาง เป็นบุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้และประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสายงานไปสู่งานด้านการบริหารองค์กร ดังนั้นความแข็งแกร่งทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือและความมีชื่อเสียงของสถาบัน ผนวกกับความสะดวกในการเดินทางมาเรียน จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้นักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้เรียนมีจบมาจากสาขาวิชาที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการมุมมองอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมีคณาจารย์จำนวนมากที่สามารถให้การดูแลและเอาใส่ใจ เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกไปมีคุณภาพที่ดีที่สุด”

ในส่วนของการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ของภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อให้การดูแลการจัดการเรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ในปัจจุบันจึงชะลอการรับนักศึกษาใหม่ แต่ ผศ.ดร.วอนชนก บอกว่าในภาคเรียนต่อไป จะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่อย่างแน่นอน เนื่องจากในปี 2562 จะถือว่าเป็นปีแห่งความพร้อมของคณะ ที่มีแผนจะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกด้าน ไม่ว่าเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออก ธุรกิจระหว่างประเทศ ท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจหรือเป็นบุคคลที่ตำแหน่งทางการบริหารระดับสูง ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในแต่ละสายงาน เมื่อเข้ามาศึกษาต่อ จึงเป็นเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผนวกเข้ากับการค้นคว้า วิจัย วิเคราะห์ข้อมูลตามความสนใจ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

พิจารณาได้จากผลงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ในวงการอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ แฟชั่น เนื่องจากการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณลักษณะเป็นนักวิจัย ที่พร้อมแก่การวิเคราะห์ เจาะลึกถึงข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค ผ่านการใช้สถิติและโปรแกรมการวิเคราะห์ขั้นสูง ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยในศาสตร์ด้านการบริหาร ผลลัพธ์ที่ได้ แม้จะไม่เป็นนวัตกรรมหรือชิ้นงาน แต่จะได้เป็นโมเดลหรือแผนงานทางธุรกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

“การเรียนการสอนของคณะ มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัย เพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาติ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาและใช้พลังของทั้งนักศึกษาและอาจารย์เป็นอย่างมาก ทำให้การเรียนปริญญาเอกของที่นี่ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีเพื่อจบการศึกษา แต่มั่นใจได้ว่าเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพอย่างแน่นอน”

จากที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของหลักสูตรของคณะการบริหารและจัดการ ที่มีตั้งแต่หลักสูตรระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างเดียวกัน อีกทั้งคณาจารย์ในสังกัดของคณะเกือบทั้งหมดสามารถดูแลนักศึกษาได้ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมีคุณสมบัติครบตามมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา รวมถึงยังมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถในฐานะ Trainer จากภาคธุรกิจระดับโลก เช่น Alibaba ผนวกกับจุดเด่นของคณะบริหารและจัดการ คือความแตกต่างและโดดเด่นทางด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าบัณฑิตของคณะจะอยู่ในกระแสของโลกได้อย่างมีศักยภาพ 


 

X

Right Click

No right click