December 23, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ตอบโจทย์ดีมานด์ตลาด

August 13, 2018 8583

ดร.ปรเมศร์ อัศวเรืองพิภพ หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง จุดเด่นของการเรียนเศรษฐศาสตร์ที่นี่ว่า เราไม่ได้มุ่งหวังผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์เชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ให้มีศาสตร์ทางด้านธุรกิจและการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง

การพัฒนาปรับหลักสูตรให้ทันยุคสมัย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อปรับภาพของการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสาขาวิชาที่เรียนยากหรือเรียนแล้วเอาไปทำอะไร และการพัฒนาหลักสูตรก็ไม่ตีวงแคบแค่เพียงการใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปจัดการกับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เมื่อพัฒนาหลักสูตรแล้วจะอยู่เฉยหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจากเดิมรอบของการปรับหลักสูตรจะเกิดขึ้นทุก 5 ปีขึ้นไป วันนี้เพียง 2-3 ปีก็ต้องปรับหลักสูตรและเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัย และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่มีการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว

ให้สมกับชื่อภาควิชา “เศรษฐศาสตร์ประยุกต์” ที่ต้องสามารถประยุกต์ศาสตร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่มีแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมาให้เลือกใช้งานมากมาย รวมถึงการมีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่หลั่งไหลมาไม่หยุด ดังนั้นเราจะสามารถตัดสินใจเลือกหรือจัดสรรการใช้งานเทคโนโลยีหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีมากมายเหล่านั้นได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้การสร้างนักเศรษฐศาสตร์ให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ให้ได้โซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่สังคม เหล่านี้เป็นธงหลักๆ ที่ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นที่ต้องการของดีมานด์ตลาดที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ

หลักการปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับโลกในยุคนี้ ดร.ปรเมศร์ เล่าว่า ได้อาศัยมุมมองหรือความคิดเห็นจาก Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมไปถึงคณาจารย์ โดยนำความเห็นเหล่านี้มาประมวลหาทิศทางของหลักสูตร เพื่อกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังว่า บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาไป ควรจะมีศักยภาพอย่างไร ทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ บัณฑิตจะต้องมีความรู้ในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และเมื่อนำแนวทางดังกล่าวไปสำรวจตลาดพบผลการตอบรับหลักสูตรเศรษฐศาสตร์เชิงประยุกต์ดีมาก เรียกว่ามีโอกาสในตลาดแรงงานสูง สังเกตได้จากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีฝ่ายวิเคราะห์และวางแผน และส่วนที่สำคัญในฝ่ายฯ คือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาหรือเสนอแนวทางการพัฒนาให้แก่องค์กร

ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนจึงเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น โดยส่งนักศึกษาไปในโครงการสหกิจที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสนำความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์มาทดลองใช้กับภาคธุรกิจ ได้นำสิ่งที่ศึกษามาช่วยเมื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

ภาพรวมหลักสูตร

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าหลักสูตร ระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ มีแนวโน้มการตอบรับที่ดีมาก จากจำนวนนักศึกษาปีแรก 120 คน และในปี 2561 นี้การรับยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ที่ประมาณ 200 คน โดยแบ่งเป็นวิชาเอก 3 กลุ่มคือ 1.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจเกษตรและอาหาร ที่เนื้อหาหลักสูตรไม่ได้เลือกโฟกัสเกษตรขั้นปฐมภูมิเท่านั้น แต่มองเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร 2.เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ของกระแสหลักในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล และเสริมความสามารถในการประเมินและการเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจระหว่างประเทศ ตอบโจทย์การค้าเสรีที่เป็นกระแสหลักของโลกการค้าปัจจุบัน เราต้องเข้าใจเงื่อนไขทางธุรกิจในแต่ละประเทศ และแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยวิชาทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทันสมัยและอยู่ในกระแสของโลก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะพัฒนาไปสู่ระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปี 2562 มีแผนจะเปิดรับประมาณ 20 -30 คน ต่อรุ่น เป็นหลักสูตรที่เรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.การวิเคราะห์ข้อมูล เน้นพัฒนานักศึกษาที่เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ ที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาแบบจำลองสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ 2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทำการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ต่อยอดไปถึงการพัฒนาประเทศ 3.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์กับกระแสหรือทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตที่ใช้ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าและความได้เปรียบทางการแข่งขัน และ 4.ฟินเทค (Fin Tech) ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเลือกและพัฒนาการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ส่วนระดับปริญญาเอกมีแผนจะเปิดรับสมัครในปีการศึกษา 2562 หรือ 2563 ที่มีทิศทางของหลักสูตรต่อยอดจากระดับปริญญาโท ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการบริหารและจัดการในระดับมหภาค (Macro)

นอกจากนี้ทางภาควิชายังมีการพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า Sandwich Program (ที่มีการเรียนการสอนบางส่วนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ) และ Dual Degree (โปรแกรมนี้นักศึกษาจะได้ 2 ปริญญา) ที่จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปี 2563

สถานการณ์โลกกับการนำเศรษฐศาสตร์มาใช้

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นสาขาหรือวิชาชีพใดๆ ก็จะหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ในสาขาของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในปัจจุบัน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลก สอดคล้องกับตัวตนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ต่างๆ ที่นี่มีความเข้มแข็ง

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจจะศึกษาต่อในวันนี้ แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ รวมถึงหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ของ สจล. จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบันต่อไปยังอนาคต เพราะไม่ได้เน้นหนักในเชิงทฤษฎี แต่เน้นในเชิงคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์กับสถานการณ์ และการแก้ปัญหา ทั้งภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การเงิน และก็ไม่ทิ้งภาคการเกษตร

“จากการบูรณาการศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเป็นเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เราจะมุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาในระดับปริญญาตรีให้เป็นนักปฏิบัติงานที่เก่ง สถานประกอบการใช้งานได้ทันที สำหรับระดับปริญญาโท เรามุ่งที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพด้วยความมั่นใจ และในระดับปริญญาเอก เราจะสร้างผู้บริหารระดับสูง ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ในระดับชาติและสากล”   


 

Last modified on Monday, 13 August 2018 07:59
X

Right Click

No right click