ดร.สมศักดิ์ รุ่งเรือง นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัย  เซาธ์อีสท์บางกอก ประกาศเดินหน้าสร้างมืออาชีพรุ่นใหม่ ที่พร้อมตอบโจทย์ ตลาดงานสากล ของศตวรรษที่ 21 เตรียมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศและภูมิภาคในอนาคต หลังจากพิธีฉลองการเปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการที่จัดขึ้นอย่างน่าประทับใจวันนี้ (30 มีนาคม 2566) ณ หอประชุม SBU Hall ถนนสรรพาวุธ บางนา ทั้งนี้ โดยมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกได้เปิดบริการทางการศึกษา วิชาการและงานวิจัย ในระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ผลิตมืออาชีพป้อนตลาดแรงงานมาเป็นเวลาถึง 23 ปี

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก หรือ Southeast Bangkok University (SBU) ย้ำว่า SBU ในวันนี้คือ ความสำเร็จของการต่อยอดการให้บริการทางการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของสถาบันที่มุ่งมั่นในการสร้างคนไทยและทรัพยากรบุคคลในภูมิภาคให้เป็นเปี่ยมศักยภาพและสมรรถนะระดับสากล เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสำหรับการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และสังคม โดย SBU มุ่งมั่นที่จะรั้งบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการที่เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษามาตรฐานสากลในระดับภูมิภาค 

ในโอกาสนี้ นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ ตัวแทน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ให้เกียรติเดินทาง  มา เป็นประธานในพิธีและมอบหนังสือคำสั่งกระทรวงฯ พร้อมแสดงความชื่นชมและยินดีในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ ที่บริหารจัดการเป็นไปตาม พันธกิจอย่างครบถ้วน ผลิตบัณฑิตออกไปรับ ใช้สังคม และประเทศชาติอย่างมีคุณค่า และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยภายในงาน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก  รองกรรมการบริหารบริษัทอรรถวิทย์รุ่งเรือง จำกัด ดร.ณัฐรัตน์ ประโยชน์อุดมกิจ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย นายชนะ รุ่งแสง รวมทั้งคณะกรรมการสภาฯ อาทิ รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม รศ.วิรัช สงวนวงศ์วาน รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ และนายธวัชชัย ไทยเขียว

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติ จาก เลขาธิการรัฐจากราชอาณาจักรกัมพูชา H.E.Neak Sambo รองผู้ว่าราชการจังหวัดตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายสุพจน์ ภูติเกียรติกำจร  เหล่าคนดังในแวดวงเศรษฐกิจของประเทศที่เคยได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก อาทิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี ดาวฉาย และผูัอำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข  ตลอดจนผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เช่น  ดร.มัทนา สานติวัตร จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเครือข่ายจากอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมแสดงความยินดี

มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ตั้งอยู่ในพื้นที่บางนาซึ่งในอดีตเคยเป็นนาข้าว และที่ตั้งบางพลีตั้งอยู่ด้าน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร โดยถือกำเนิดบนพื้นฐานมั่นคง ซึ่งวางไว้ ในรูปแบบ ของโรงเรียนเอกชนสายสามัญ  ที่เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมและมัธยมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จากความตั้งใจอันแน่วแน่ของสองผู้ก่อตั้ง นายเพิ่ม-นางละออง รุ่งเรือง ผู้มุ่งมั่นให้การศึกษา  อบรม บ่มเพาะ และปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรมในเยาวชน อันเป็นปณิธานที่สืบทอดโดยทายาทรุ่นต่อมาและได้พัฒนาต่อเนื่อง มีการเปิดสถาบันการศึกษาด้านวิชาชีพ ระดับ ปวช. ระดับ ปวส. เปิดหลักสูตรภาษา อังกฤษ และวิทยาลัยเทคโนโลยีอรรถวิทย์พณิชยการ จนกระทั่งต่อยอดสู่การเปิดวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกเมื่อปี พศ.2542 เปิดทำการสอนใน 4 คณะในตอนแรก และในภายหลังเพิ่มเป็น 5 คณะ ได้แก่ คณะโลจิสติกส์และเทคโนโลยีการบิน  คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ โดยในปัจจุบัน  เปิดบริการด้านการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยทุกหลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.southeast.ac.th และ Facebook : SBU Southeast Bangkok

มหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอกมุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการในเทคโนโลยีใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษเพื่อให้บัณฑิตมีความรู้แตกฉาน จบการศึกษาไปด้วยศักยภาพ ที่เพียงพอ ในการประกอบอาชีพ มีสมรรถนะสากล (Globalization) มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ คิดในเชิงวิพากย์และคิดได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถบริหาร จัดการ และพึ่งตนเองได้ ในขณะที่รักษาไว้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ อันจะส่งประโยชน์โดยรวมต่อสังคมและประเทศ

ที่นี่สิ่งที่เราสอนไม่เพียงแต่ความเป็นเลิศทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิดแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ทาง SBC ต้องการเน้นเป็นพิเศษคือทักษะการใช้ชีวิต (Life Skills)

เปิดใจ ดร.ปฏิมา รุ่งเรือง กับบทบาท ผู้อำนวยการ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก (Southeast Bangkok College : SBC) ในภารกิจสานต่อผลความสำเร็จในการผลิตนักศึกษา รุ่น 19 ก้าวเข้าสู่รุ่นที่ 20

ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดการศึกษาที่รุนแรง ด้วยดีมานด์ของผู้เรียนที่มีจำนวนลดลง แต่ตัวเลือกนั้นมีเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายนั้น ดร.ปฏิมา บอกกับ “นิตยสาร MBA” ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจว่า ในปีนี้เราจะมุ่งเน้นการปรับโปรแกรมการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์กลุ่ม นักบริหารรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจ ทายาทธุรกิจ ผู้จัดการองค์กร หัวหน้างาน หรือนักศึกษาที่เพิ่งจบปริญญาตรี และกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะต่อปริญญาโท รวมถึง นักศึกษาที่มาจากหลากหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ บัญชี การจัดการ ฯลฯ ที่อยากจะมาต่อยอด และต้องการเห็นภาพรวมของธุรกิจที่ชัดเจน หลักสูตรนี้จะช่วยให้มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ลดความผิดพลาดที่ไม่จำเป็น เพื่อก้าวเข้าสู่การทำงานที่ดีในอนาคต โดยแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร ชูจุดเด่นความเป็น Small but Smart ซึ่งมีข้อดีคือเราเข้าถึงนักศึกษาได้ทุกมิติ มากกว่าในสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง ทั้งความเป็นกันเอง การเข้าถึง การอยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัว เราจึงสามารถทำให้เขาสบายใจได้

ก่อนอื่นต้องบอกว่าคนที่เรียนปริญญาโท มีความกังวลใน 3 เรื่องหลักๆ คือ Budget เรื่องการเรียนที่ยาก และเวลาที่มีไม่มากพอ เพราะฉะนั้น 3 เรื่องนี้ ที่นี่สามารถตอบโจทย์ได้ เรื่องค่าเทอมของเราก็อยู่ในระดับที่เข้าถึงได้ และให้ความสำคัญของการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเรียน และเราให้ความเป็นกันเอง

ส่วนแนวทางการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร จะมีการปรับให้มีความทันสมัยก้าวทันเทรนด์ทั้งในปีนี้และในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเป็นการมองทั้งระยะสั้น และระยะยาว อันที่จริงเทรนด์เปลี่ยนแปลงไปทุกปี แต่ในยุคดิจิทัลนี้ ทั้งนักศึกษาและสถาบันก็ต้องเร็วและก้าวไปได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น MBA ยุคนี้จะเป็นยุคที่จับต้องได้แบบ real time นักศึกษาเองก็ต้องพร้อมพัฒนาและปรับปรุงได้พร้อมกัน

Distinctive Feature

หลักสูตรที่ปรับจะมีวิชาใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานกับวิวัฒนาการในช่วงนี้ ซึ่งจะเรียนเป็น Blog Course เร็วขึ้น เรียน Course Work ที่น่าจะจบใน 1 ปีครึ่ง และสามารถทำวิจัยและจบได้ตามระยะเวลาหลักสูตรคือ 2 ปี ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์ทุกคนว่าเรียนแล้วนำไปใช้งานได้จริงเน้นทักษะการเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เสริมสร้างและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคิดวิเคราะห์ Critical Thinking การตัดสินใจ การวางแผนอย่างเป็นระบบ กำหนดกลยุทธ์ ทั้งในระดับองค์กร ระดับหน่วยธุรกิจ และการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะต่างๆ ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ การเจรจาต่อรอง หรืการติดต่อสื่อสาร เปิดโอกาสให้กับตนเองและโลกที่กว้างขึ้น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ก้าวสู่ผู้บริหารระดับกลาง และ Tomorrow CEO ในอนาคต

ส่วนในระยะยาวเรามองว่า เราจะดึงแนวร่วมทางธุรกิจ เช่น ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ให้เป็นการทำ Course Work ที่ร่วมกับภาคธุรกิจโดยตรง ให้นักศึกษาเข้าไปสัมผัสธุรกิจ และเห็นมิติในการทำงาน มองเห็น Best Practice ของบริษัทต่างๆ ว่าเป็นแบบไหน ให้เข้าถึงได้ และอาจมีการทำความร่วมมือ ให้นักศึกษาเข้าไปสัมผัส และทำวิจัยในบริษัทนั้นๆ เพื่อให้มองเห็นภาพจริงการเปิดหน้าต่าง Opportunity ให้ตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจ เน้นการนำปัญหา โจทย์ ที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ องค์กรขนาดใหญ่ กลาง เล็ก นำมาให้ฝึกแก้ปัญหา ด้านการจัดการองค์กร การผลิต หรือ ทรัพยากรบุคคล มี Guess Speaker ระดับสูงขององค์กรชั้นนำมาให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีการสัมมนา และการให้ความรู้ความเข้าใจในแบบสัมผัสได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กับนักศึกษา เพื่อเพิ่มมุมมองทางธุรกิจ

ศิษย์เก่าของเราหลายๆ รุ่น ก็เป็นเจ้าของบริษัทเอง เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ถึงจุดที่คนเหล่านั้นจะสามารถ Give and Share Experiences ให้รุ่นน้องได้ เราก็รู้สึกดีใจที่นักธุรกิจที่เราปั้นขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จ และอยาก Sharing ให้น้องๆ รุ่นปัจจุบันได้เข้าใจถึงการทำธุรกิจ ข้อดี ข้อเสีย และรู้ว่าการพัฒนาในโลกแห่งอนาคตนั้น ต้องระวังอย่างไร มีวิธีอะไร แนวทางทั้งการจัดการ งานบริหาร งานบุคคล หรือแม้แต่ในสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งนักธุรกิจที่จบจากที่นี่ ล้วนให้ความร่วมมือเต็มที่ เรามีลูกศิษย์ที่จบทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาล หรือแม้แต่โรงงานจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้จะเป็นกำลังของสถาบันอย่างมาก รวมทั้งคนเหล่านั้นให้ความเข้าใจกับน้องๆ อย่างดี เพื่อสร้าง Inspiration ของตัวเอง มีรุ่นพี่เป็น Idol และอยากประสบความสำเร็จเหมือนกัน

หลักสูตรใหม่ของคณะในปีนี้

จริงๆ แล้วในยุคนี้ MBA หลายๆ แห่ง จะมีหลักสูตรของเขาเอง ซึ่ง SBC ก็มองภาพรวมว่า เราเป็นนักปฏิบัติมืออาชีพ เราจึงอยากสร้างมุมตรงนี้เพื่อเป็น MBA สำหรับคนรุ่นใหม่ สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวตนจริงๆ ในโลกยุคนี้ เพราะฉะนั้น ในมุมที่ว่าการเรียนเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่เรื่องคอนเน็คชั่น และการถึงพร้อมกับข้อมูลก็มีความสำคัญ วิธีการสอนของที่นี่ จึงสอนให้นักศึกษารู้จักทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

นโยบายของการเรียนการสอนของ MBA ที่นี่ เราไม่ได้ผลักให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างหนัก แต่เราผลักให้แชร์ริ่งประสบการณ์ เน้นสอนให้เขาเข้าใจและรู้วิธีการ คือ การที่เราจะมองคนสักคนให้เป็นนักธุรกิจก็เรื่องยากแล้ว แต่ที่นี่มองไกลกว่านั้น คือ อาจารย์อยากจะมองให้เขาเป็น Tomorrow CEO จริงๆ คือ ต้องมองในทุกมิติ ทุกมุม เข้าใจในธุรกิจของเขา และห่วงใยในทรัพยากรบุคคลของเขาด้วย ไม่ว่าการผลิต การทำงาน ถ้า 1 คนจากสถาบันเรา และสามารถที่จะถ่ายทอดหรือส่งไม้ต่อได้ เขาเป็นนักธุรกิจที่ชัดเจนและรู้ว่าตัวเองขาดทักษะตรงไหนมาเรียนตรงนี้ เขาจะได้ทุกๆ อย่าง เพราะเราให้ภาพรวม คือ ‘ไม่ได้สอนเพื่อจบแต่สอนให้เพื่อนำไปใช้จริงกับชีวิตการทำงานจริงๆ

นอกจากนี้เรายังมีแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ MBA ของ SBC กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ที่ต้องการศึกษาต่อเพื่อปรับวุฒิหรือยกระดับการศึกษา แต่เขาไม่มีเวลามาลงเรียน เราพยายามตอบสนองเขา ด้วยวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบที่เรากำลังจะจัดขึ้นเพื่อจับมือกันในอนาคต โดย MOU หลักสูตร MBA Specialty หรือ MBA เฉพาะทางของบริษัทหรือองค์กรนั้น เช่น หากบริษัทอยากได้ MBA ที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรของคุณ เพื่อรองรับกับบริษัทของตัวเอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ดูจุดที่จะเพิ่มทักษะให้กับบริษัทนี้ เช่น บริษัทนั้นทำโรงงาน ที่เกี่ยวกับการผลิต ทำกลยุทธ์วางแผนการตลาด เราจะช่วยให้เขาได้การเรียนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อในของเขา ที่ไม่ต้องมาเรียนอะไรที่กว้างไป ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยตลาดว่า หลายๆ แห่ง มีบุคลากรพร้อมพอหรือไม่ที่จะจัด ให้เป็น MBA 1 ยูนิตของบริษัทนั้น เราก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล

สถาบันการศึกษาหลักจะไม่เป็นที่ต้องการของยุคนี้จริงหรือ

สำหรับกระแสที่ว่า การศึกษาระดับปริญญาจะลดบทบาทและความสำคัญ และส่งผลให้เด็กรุ่นต่อไป ไม่สนใจจะเข้ามาศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาหลัก ในมุมมองความคิดเห็นของ ดร.ปฏิมา เห็นว่า การเรียนต่อปริญญาตรีของเด็กยุคนี้ บางส่วนไม่ได้เรียนต่อทันที แต่ขอเวลาทำงานตามหาความฝัน ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง นี่คือเด็กยุคนี้ พอถึงจุดที่เขาบอกว่าเขาพร้อมแล้ว อยากเรียน นั่นคือเราได้เพชรเม็ดหนึ่งมาเลย คือไม่ผลักไม่ยื้อให้คุณคิด พอคิดได้แล้วว่าอยากเรียน จะเรียนได้ดีมาก

“รวมถึงความคิดในการตัดสินใจเรียนปริญญาโท ที่ส่วนใหญ่อยากทำงานก่อน มีหลากหลายครอบครัวที่ผลักให้ลูกเรียนโท พอผลักแล้วก็ยังรู้สึกว่าเขายังหาตัวตนไม่เจอ ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ จะมีคำถามว่าใช่หรือที่ต้องเรียน MBA หรือปริญญาโทด้านอื่นๆ คือความคิดแบบนี้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจไม่เข้าใจ พอต่อยอด ส่งให้ลูกอยากเรียนตอนที่ยังมีไฟ อยากส่งให้จบเร็วๆ แต่พอสุดท้ายเด็กยุคนี้คือยุคของการค้นหาตัวตน ตามหาความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้เขาเข้าใจว่า ทุกอย่างสามารถหาข้อมูลได้ทั่วทุกมิติ Search Google ก็สามารถรู้ได้ทุกอย่าง อยากเรียนที่ไหน อยาก DIY อะไร สามารถจัดสรรกับชีวิตตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่มีคือสังคม”

เพราะฉะนั้นเด็กปริญญาตรีที่นี่อาจารย์จะไม่ผลักเลย จะเข้าไปทำความเข้าใจเขาเท่านั้น และสิ่งที่ตัดสินใจต้องตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าต่อให้ดียังไงถ้ามันยังไม่ใช่ เขาก็ไม่เอา ยุคนี้เป็นแบบนี้ สำหรับปริญญาโทที่เรียนทางอินเทอร์เน็ตก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือได้เรียนอย่างใจเขา แต่ข้อเสียก็คือความสำเร็จ เราไม่รู้ว่าจุดวัดสัมฤทธิผลอยู่ตรงไหน เพราะการเรียนทางอินเทอร์เน็ตก็จะวัดความรู้ความเข้าใจแบบหนึ่ง การเรียนแบบการพบปะกันให้ห้อง มีสังคม มี Sharing ก็จะอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะให้ความเข้าใจเขาว่า เรียนแบบนี้ดีอย่างไร ให้ตัดสินใจเอง เมื่อตัดสินใจได้จะมีความมั่นใจมากกว่าเดิม

สำหรับนักศึกษาในรุ่นที่ 20 นี้ เราได้เด็กแนะนำนักศึกษาที่จบใหม่ และมีความมั่นใจว่า อยากจะเรียนต่อเอง บางคนไม่มี Guideline คือจบมาอยากทำงาน อยากบินสู่โลกกว้างแล้ว แต่พอเราถามว่าบินที่ไหน บินเพื่ออะไร และบินในสิ่งที่ตัวเองใช่หรือเปล่า พอพบถามคำถามตรงนี้ จะถูกถามกลับมาว่า “ถ้าหนูจะบินตรงนี้ หนูต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง อาจารย์ช่วยหนูได้มั้ย” ถ้าตรงนั้นเราคลิกเท่ากัน เราตอบได้ว่าคุณพร้อมแล้วคุณน่าจะเรียน ซึ่งก็มีบางคนที่จบโทมาแล้วยังไม่รู้เลยว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีจำนวนไม่ใช่น้อยๆ เลย

เราแก้ปัญหาของการศึกษาไม่ได้ตรงนี้ เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่มัธยม ซึ่งอาจารย์ได้มีโอกาสอยู่กับเด็กมาแทบจะทุกช่วงอายุ ยกตัวอย่างอย่างเด็กที่อยู่ ม.4 ต้องถามว่าใช่หรือเปล่าแผนการเรียนที่เขาเลือกเรียน บางทีติดเพื่อน พอตามเพื่อนไปมากๆ จะกลายเป็นไม่ใช่ตัวตนของเรา ด้วยความที่อาจารย์เป็นนักจิตวิทยาด้วย จึงจะถามเด็กตรงๆ ว่าจริงๆ เป้าหมายในชีวิตหนูคืออะไร เช่น เด็กๆ บอกหนูอยากสร้างบ้าน แล้วทำไมหนูมาเลือกเรียนวิศวะ เด็กบอกหนูเข้าใจว่าเรียนวิศวะโยธาสร้างบ้านได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เด็กจะอยากตามเพื่อนและเชื่อว่าเพื่อนทำได้ ตัวเองต้องทำได้ แต่สุดท้ายเรียนมาตั้งนานกลายเป็นไม่ได้ทำอย่างที่อยากเป็น จึงต้องกลับมาใช้ความเข้าใจให้มากๆ

เหตุผลและเป้าหมายในการก้าวเข้ามาทำงานด้านการศึกษาและเยาวชน

ดร.ปฏิมา เล่าว่า ด้วยในครอบครัวของตัวเอง ทำงานด้านการศึกษามาตลอดชีวิตนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เข้ามาทำงานตรงนี้ แม้ว่าไม่ได้เรียนทางด้านการศึกษามาก่อน แต่เรียนทางด้านสถาปัตย์ และเคยทำงานเป็นสถาปนิกที่สหรัฐอเมริกาอยู่ถึง 13 ปี ไม่ได้คิดจะกลับมาเลย แต่เนื่องจากที่ครอบครัวคุณแม่ทำธุรกิจด้านการศึกษา โรงเรียนอรรถวิทย์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอรรถวิทย์พานิชยการ และ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

“จากเหตุผลตรงนี้ ทำให้เราก็เริ่มรู้สึกว่า Family Business สำคัญและคุณแม่ คุณน้าและครอบครัวให้โอกาสกลับมาช่วยกัน จากจุดนั้นก็ผันตัวเองเปลี่ยน Profession จากทางด้าน Architect มาเป็นทางด้านการศึกษา จิตวิทยาเด็กเล็ก จิตวิทยาวัยรุ่น และต่อยอดทางด้านบริหารการศึกษา แล้วจึงมาเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ เราจึงดูแลทางด้านการศึกษาเด็ก และการจัดการทางด้านบริหาร Business”

การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เท่าที่สัมผัสมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ซึ่งต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าไปสอนหนังสือตั้งแต่ระดับอนุบาล จึงทำให้เข้าใจรากฐาน มาตรการการศึกษาของประเทศไทยเป็นแบบไหน ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต จนถึงเด็กอาชีวะ เรียกว่ามีมาทุกมุม และยังมีโอกาสไปสร้างโรงเรียนอาชีวะเองด้วย ซึ่งก่อนที่จะมาดูแลด้านปริญญาโทก็ดูแลด้านอาชีวะมา 10 กว่าปี

“ประสบการณ์ทำให้เราเข้าใจเด็กวัยรุ่นตอนโต ก่อนการตัดสินใจเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เข้าใจเส้นทางของนักเรียน ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับนักการศึกษาคนหนึ่ง ที่จะเข้าใจความละเอียดอ่อนของคุณพ่อคุณแม่ ที่พยายามจะส่งเสริมให้ลูกสำเร็จในทุกก้าวของชีวิต ซึ่งยากมาก”

การที่เราจะเข้าใจว่าเรียนปริญญาตรีแล้วได้อะไร เรียนแล้วทำอะไร การทำเพื่อพ่อเพื่อแม่ แต่ถ้าได้ผ่านความเข้าใจของอาจารย์ ก็จะอธิบายเด็กทุกคนให้เข้าใจว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเรามี Pro & Con ทุกเรื่อง ตั้งเป้าปักหลักแล้วสำเร็จ คนรอบข้างเราที่เขาอยู่ข้างหลังก็จะสบายใจไปด้วย บางครั้งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทย

“จากที่อาจารย์อยู่กับเด็กต่างชาติมา ที่ต่างประเทศส่วนใหญ่เมื่อจบม.6 แล้ว พ่อแม่จะไม่จ่ายเงินให้ลูกนะ เรียนปริญญาตรีคุณต้องทำงานหาเงินเรียนเอง ซึ่งต่างกับวัฒนธรรมสังคมไทยของเรา ที่เรียนสูงแค่ไหนพ่อแม่ก็พยายามหาเงินจ่ายให้ ความชัดเจนหรือความใส่ใจกับเงินที่เขาหามาได้เองจึงต่างกัน จะเห็นว่าเด็กเมืองนอกจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กไทย เด็กไทยอย่างไรก็จะรู้สึกว่าอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่ เรียนทุกอย่างที่สำเร็จเรายังมีแม่พ่อประคอง อยู่เป็นกำลังใจ”

ดังนั้น ในทุกครั้งถ้าสอน จะเปรียบเทียบให้เด็กเห็นว่าจริงๆ แล้วในมุมหนึ่งของโลกในวัยที่เท่าๆ กันกับคุณ จะมีนักศึกษาที่หาเงินเรียนเอง เขาตั้งใจสร้างตัวของเขาเองซึ่งมันต่างกัน มีจุดศูนย์กลางต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้นหนูอย่าเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางเราต้องมองด้วยว่าโลกตอนนี้มันเปลี่ยนไป แล้วเราจะสู้เขาได้มั้ย ถ้าตอนนี้เรายังไม่ก้าว เขาก้าวไป 10 ก้าวแล้วจะสู้เขาได้มั้ย อันนี้เป็นมุมมองว่าเยาวชนของไทยยังรู้สึกว่า ทุกอย่างที่ได้มา ยังไม่เหมือนกับการพยายามได้มาด้วยตัวของเขาเอง คนอื่นหยิบยื่นให้จะยังไม่เห็นความสำคัญ ถ้าเรียนโทแล้วเป็นเงินของตัวเองเด็กจะมาเรียนเช้าและจะมาทุกๆ วัน เห็นได้ถึงความแตกต่างเลย

ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่อาชีวะ ความต่างระหว่างภาคปกติกับภาคพิเศษ จะมาตั้งแต่ตีห้า เรียนวันอาทิตย์วันเดียวโดยเขาต้องเจียดเวลาที่จะได้โอทีในโรงงานเพื่อมานั่งเรียน เด็กจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างว่าอาจารย์สอนอะไร ตั้งแต่เช้าถึงสี่โมงเย็น เรียกว่าความตั้งใจเกินร้อย กับเด็กภาคปกติที่ต้องให้มาเรียนให้ทัน ต้องเพิ่มความมีวินัย ซึ่งคนละมุมกันเลย เมื่อเห็นภาพนั้นเราจะเห็นภาพต่อเลยว่า เด็กคนไหนที่เรียนต่อแล้วจะไปได้ดี เลยต้องฝากไว้กับการศึกษาไทยว่าเมื่อถึงจุดที่เด็กต้องการสร้างความเป็นตัวตนของเขา เขาจะตั้งใจ

ความสำเร็จ หรือความภูมิใจในการทำงานด้านการศึกษาที่ผ่านมาด้านการศึกษา

ในด้านผลงานความสำเร็จ ก่อนหน้าจะมาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร MBA ของ SBC นั้น ดร.ปฏิมา มีบทบาทในงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม ด้านการศึกษาและงานบริการวิชาการตลอดมา โดยตั้งแต่ปี 2548 ได้รับให้เป็น” ครูดีเด่น” จากหน่วยงานที่มอบให้ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต อาชีวะ รวมถึงตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน ได้รับความภูมิใจสูงสุด คือ เป็นผู้ประนีประนอม งานไกล่เกลี่ย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และเป็นแคนดิเดตของผู้พิพากษาสมทบในปีนี้

“ด้วยความที่เราทำงานกับเยาวชนมาพอสมควร งานสอนก็ทางหนึ่ง แต่ภาระหน้าที่ทางสังคม เป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษสอนหลายมหาวิทยาลัย และอีกหนึ่งบทบาทนึงที่ให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ คือเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยอาจารย์เชื่อว่าเขาแค่เดินทางผิด เขาแค่ได้รับโอกาสที่ไม่เหมือนเรา จังหวะชีวิตเขาอาจจะไม่ใช่ จังหวะชีวิตที่ถูกต้องทุกครั้ง ดังนั้นถนนเส้นนี้ที่ SCB ตั้งอยู่นี้ จะมีทั้งบ้านเมตตา มุทิตา อุเบกขา บ้านปราณี บ้านกรุณา เมื่อว่างอาจารย์จะเข้าไปคุยทางด้านจิตวิทยา ให้ความรู้กับเขา เป็น งาน CSR และ นี่เป็นภารกิจหลักของ SBC เลยที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยดูแลคนใน พื้นที่และสถานพินิจฯ เช่นกัน

อาจารย์เชื่อว่าเด็กเหล่านี้ หากได้รับการอบรมฟื้นฟูและแก้ไข เขาจะเปลี่ยนตัวเองได้ เพียงแต่สอนให้เด็กรู้จักอภัย ยอมรับ อยากให้ยุคของยุคนี้ เป็นยุคที่ให้โอกาสคนจริงๆ เพราะเรากลับไปแก้ไขในสิ่งที่เขาเคยทำไม่ได้ ดร.ปฏิมา ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ในเมืองไทย ที่ยังไม่มีการเปิดใจ ยอมรับจริงๆ ว่าคนที่เขาถูกให้โอกาสนั้น เราให้โอกาสเขาจริงหรือไม่ แต่เมื่อเปิดโอกาสแล้ว เวลารู้ว่าเคยผิดพลาดก็ผลักเขาออกไป เราต้องมาช่วยกันเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ใหม่เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขามีที่ยืน เพื่อสร้างสังคมแห่งความแบ่งปันอย่างยั่งยืน”


เรื่อง: ชนิตา งามเหมือน

ภาพ: รัตนไชย สิงห์ตระหง่าน

ในความเป็น “สถาบันการศึกษาในพื้นที่” อันดับต้นๆ ของคนทำงาน ที่ต้องการปรับวุฒิและยกระดับการศึกษา

Page 2 of 2
X

Right Click

No right click