วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มุ่งผลิตนักศึกษาตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลัก พร้อมนำเสนอตัวอย่างนักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศ พร้อมทุนการศึกษา ซึ่ง นายกัมปนาท ถ่ายสูงเนิน หัวหน้าวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ตามนโยบายของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีการจัดการเรียนการสอนระดับเทียบเท่าคณะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศูนย์กลางนครราชสีมา มีความโดดเด่นในการจัดการศึกษาซึ่งมุ่งเน้นด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตามปณิธานที่ตั้งไว้คือ สร้างคนสู่งาน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพจึงเป็นวิทยาลัยที่ผลิตนักปฏิบัติด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนตอบสนองประชาคมอาเซียน
ปัจจุบันวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 กลุ่มวิชา ดังนี้ กลุ่มวิชาพาณิชยกรรม ประกอบไปด้วย 5 โปรแกรมวิชา คือ การบัญชี การเงิน การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการจัดการธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มวิชาช่างอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย 10 โปรแกรมวิชา ได้แก่ ช่างโยธา ช่างกลโรงงาน ช่างผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ ช่างอิเลคทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างจักรกลหนัก ช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง ช่างโลหะ และช่างไฟฟ้าซ่อมบำรุงระบบราง เราต้องการสร้างนักศึกษาที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบันไปถึงอนาคตจะมีจำนวนเครื่องบินเพื่อการเดินทาง การท่องเที่ยวต่างๆ และการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น และมีความต้องการการบำรุงและการซ่อมแซมมากขึ้นไปด้วย เรามีสนามบินนครราชสีมาที่จะเป็นสถานที่รองรับการฝึกฝีมือและการทำงานด้านอุตสาหกรรมการบินได้ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เพราะประเทศไทยต้องการความยั่งยืนด้านชีวภาพ และการกำหนดมาตรฐานด้านชีวภาพกับการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก ทำให้เรามามุ่งเน้นเรื่องของไบโอพลาสติกที่ใช้ในการทำหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายและการส่งออกที่กำลังเป็นที่จับตาของนักลงทุนทุกชาติ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงมากในการดำรงชีพ โดยเฉพาะ ระบบอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นอุตสาหกรรมด้านการรักษาพยาบาล ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพตระหนักในเรื่องการลงทุนด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล
วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพมุ่งเน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติให้เกิดความเชี่ยวชาญ จึงได้เชิญภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการวิทยาลัยนวัตกรรมร่วมด้วย โดยจะมี 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ มทร.อีสาน สมาคมคุณวุฒิวิชาชีพ และสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนในการดำเนินงานของวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพตามกรอบสภา มทร.อีสาน ในอนาคตเราจะเดินต่อในเรื่องการนำนวัตกรรมด้านไมสเตอร์ (Thai-Meister) ของประเทศเยอรมันเพื่อสร้างช่างเฉพาะทางอย่างจริงจัง นวัตกรรม B-Tech และ CDIO เข้ามาจัดการเรียนการสอน เพื่อให้วิทยาลัยนวัตกรรมฯ เป็นต้นแบบที่สามารถใช้กับสถานศึกษาอาชีวะได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
ในปี 2563 วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ กำหนดให้มีหลักสูตรช่างเทคนิคระบบรางและช่างซ่อมบำรุงไฟฟ้าระบบราง เพื่อผลิตนักศึกษาให้ตอบโจทย์ เรื่องอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประเทศไทย เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่าง กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา รวมถึงอุตสาหกรรมรถรางเบาในกรุงเทพมหานคร เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีม่วง สีแดง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างๆ จากประเทศญี่ปุ่น และแถบยุโรป ติดต่อเข้ามาแจ้งความประสงค์ในการรับนักศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพในการฝึกงานด้านการค้าปลีก สิ่งเหล่านี้จะเป็นการต่อยอดที่นักศึกษาสามารถสร้างมูลค่าและค่าแรงให้ตนเองได้
ในปี 2564 เราจะทำหลักสูตรรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือ EV Car ที่จะตอบโจทย์ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตและหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ ได้ร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ EASA ในการส่งบุคลากรไปดูงานที่บริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน รวมถึงการลงนามความร่วมมือกับสนามบินนครราชสีมา เพื่อใช้สนามบินในการฝึกงาน และอบรมการทำงาน รวมทั้ง บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซนเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบินที่จังหวัดนครราชสีมา เราพยายามเติมเต็ม ต่อยอด เพื่อวิทยาลัยนวัตกรรมเราจะได้มีเอกลักษณ์อย่างจริงจังเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตข้างหน้า
อย่างไรก็ตามวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพพยายามสร้างมาตรฐานไมสเตอร์ (Thai-Meister) ของประเทศเยอรมันให้เกิดขึ้นในทุกมิติ รวมถึงการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ตอบโจทย์และรองรับการเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศหรือต่อยอด 10 อุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยกระบวนการหนึ่งคือการส่งนักศึกษาไปแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั้งระดับภาค และระดับประเทศ ตามศาสตร์และเชี่ยวชาญที่เรียนมา ผลคือ นักศึกษาของเราได้รับรางวัลต่างๆ มากมายและล่าสุดคือการไปคว้ารางวัลจากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค จัดโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติครับ
อาจารย์ภากร นาคศรี ผู้ควบคุมทีมและอาจารย์ประจำสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ กล่าวว่า ทราบข่าวจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 5 นครราชสีมา ว่ามีการการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 28 ระดับภาค วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพมีนักศึกษาสายช่างบริหารธุรกิจ ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงแนะนำให้นักศึกษาสายช่างและสายบริหารเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้มีเวทีในการแข่งขันและได้ฝึกประสบการณ์ในเวทีระดับประเทศ ซึ่งนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ สามารถทำผลงานได้ดี คือ ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง อันดับ 1 กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต สาขาอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรางวัลเหรียญทองแดง ด้านเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) และ รางวัลเหรียญทองแดง กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร ด้านเว็บดีไซน์ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ดีมากครับ
นายรุ่งเลิศ แซ่แต้ หรือ ต่าย นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 โปรแกรมวิชาอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว จึงตั้งใจที่จะเข้ามาศึกษาต่อในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ เพราะที่นี่มีนโยบายในการสร้างผู้เรียนให้มีความชำนาญในการออกแบบวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมบำรุงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรมใช้ควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้มข้น เมื่อได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนแล้ว จึงได้รับความรู้ เกิดความมั่นใจและสนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 28 ระดับภาค ด้วยผลงานการเขียนโปรแกรมด้วยโปรแกรมอาดุยโน่ (Arduino)ใช้บอร์ด STM 3.2 ในการควบคุมหลอดไฟ LED และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ รวมถึงการประกอบวงจรให้สมบูรณ์แบบที่สุด ก่อนที่จะไปแข่งขัน ผมพยายามฝึกฝนฝีมือตนเองอย่างหนัก และใช้ความรู้ที่ได้จากวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มาสร้างชิ้นงานในครั้งนี้จนประสบความสำเร็จและมีจุดบกพร่องน้อยที่สุด กอปรกับทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดีซึ่ง เมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค ก็รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก สุดท้ายขอขอบคุณสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ ขอบคุณสาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผมได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับภาค สำหรับการแข่งขันระดับชาตินั้น ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นเคยครับ