เพื่อไปสู่เป้าหมายการสร้างศักยภาพความแข็งแกร่งด้านวิชาการ รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยเครือข่ายอาจารย์และนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย มีการแลกเปลี่ยนทางด้านศาสตร์วิชาการ และองค์ความรู้ร่วมกัน
ผศ.ดร. กฤช จรินโท ศูนย์บริการวิชาการ FAM-KMITL หรือ SMART Knowledge Management Center (Smart KM Center) คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นประธานจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICBIM และ NCBIM ครั้งที่ 2 กล่าวถึงธีมของงานประชุมวิชาการในปีนี้ ว่า ด้วยเรื่องของดิสรัปทีฟ การที่ดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้บิสเนสโมเดลทั้งหลาย ต่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม ทั้งในส่วนของบางธุรกิจที่ล้มหายตายจากไป และในทางกลับกันก็มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น
สำหรับเนื้อหาและไฮไลต์ในงาน มุ่งเน้นไปที่ดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจากผู้บรรยายคนสำคัญ (Keynote Speaker) 2 ท่าน คือ กูรูด้านการตลาดดิจิทัล จากอาลีบาบา มาให้มุมมองและความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการขายออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับในยุคปัจจุบัน ซึ่งรับรู้กันว่าร้านค้าต่างๆ ที่เป็นออฟไลน์กำลังจะหายไป และระบบการขายออนไลน์จะเข้ามาแทนที่ ซึ่งแนวทางการตลาดนี้เอง ที่ทำให้อาลีบาบาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ดังนั้นธุรกิจก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น มีผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแจ้งเกิดเป็นจำนวนมาก อาทิ Kerry, SCG และยังมีอีกหลายแบรนด์ที่จะตามมา เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ ให้ดำเนินธุรกิจออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น
Keynote Speaker อีกท่าน คือ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้มุมมองและความรู้ด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ เช่น การสร้างสนามบินอู่ตะเภา เฟส 2 และ 3 รวมถึงโมเดลการพัฒนาประเทศ ที่เป็นความหวังจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในภาคตะวันออก ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นเวทีความรู้ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาจาก 10มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติมาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมสมอง เพิ่มพูนความรู้ซึ่งกันและกัน
มิติของงานวิจัยและงานวิชาการ
ในด้านทิศทางของงานวิจัย การนำเสนองานวิชาการของสัมมนาปีนี้ มีการนำเสนอบทความทางวิชาการและงานวิจัยทั้งภาษาไทยและอังกฤษ กว่า 60 เรื่อง โดยแบ่งเป็นห้องภาษาอังกฤษ 1 ห้อง และภาษาไทย 4 ห้อง ซึ่งมีหลากหลายมหาวิทยาลัยทั้งชาวไทย และต่างชาติ เข้าร่วมนำเสนองานวิชาการ
ความคาดหวังในผลลัพธ์ที่จะได้นั้น คาดว่านักศึกษาที่มีโอกาส นำเสนอบทความทางวิชาการในวันนี้ จะได้รับการปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ตามศาสตร์ของเรื่องที่สนใจ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในครั้งต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่าย ที่ทำให้นักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยได้ทำความรู้จักกัน
ภารกิจนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มให้กับนักศึกษา เพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมาย (Mission) ของงานประชุมวิชาการในปีนี้ นั่นก็คือการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน เช่น การเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่มีสาขาและศาสตร์ที่สจล. ขาดแคลน มาสอนที่สถาบัน เช่นเดียวกันอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะเชิญอาจารย์จากสจล.ไปสอน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เรียกได้ว่า “ยิ่งแลกเปลี่ยนมาก ยิ่งได้มาก”
ส่วนเป้าหมายในปีหน้า ผศ.ดร. กฤช กล่าวว่า จะมีการแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงความเชี่ยวชาญของ สจล. ในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นนักศึกษาจากทั้ง 10 มหาวิทยาลัย ท่านใด ที่มีความประสงค์จะทำงานวิจัย หรืองานวิชาการในด้านนี้ ทางสถาบันยินดีไปเป็นที่ปรึกษาร่วม เพื่อการเป็นเครือข่ายที่แลกเปลี่ยน และแบ่งปันกันได้ ถือว่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงกับนักศึกษา หรือแม้แต่นักศึกษาที่ต้องการทำงานวิจัย หรืองานวิชาการในด้านอื่น ที่ทางสถาบันไม่เชี่ยวชาญ เช่น การค้าปลีก ทางเราก็เชิญอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา เป็นต้น
เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัย มีจุดอ่อนจุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน หากมีการสร้างเครือข่าย เพื่อจะให้จุดอ่อนนั้นลดลง และเติมเต็มกันได้ จะถือเป็นเรื่องที่ดี และเกิดประโยชน์สูงสุด สจล. พร้อมสนับสนุนให้เทคโนโลยีที่เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์ได้
เป็นที่ทราบกันว่านักวิทยาศาสตร์ จะคิดแบบนักวิทยาศาสตร์จริงๆ คิดสร้างสรรค์ แต่ยังขาดในเรื่องของธุรกิจ การหาผู้ซื้อ หรือการหาตลาด จึงต้องมีที่ปรึกษาซึ่งก็คืออาจารย์ที่มีความรู้ทาง MBA ของเราเพื่อจะเติมเต็มในส่วนนั้น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ