January 22, 2025

QS เผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา MIT และ Harvard ครองอันดับหนึ่งร่วม

March 04, 2021 2022

QS Quacquarelli Symonds สถาบันคลังสมองชั้นนำในแวดวงอุดมศึกษาระดับโลก

ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกตามสาขาวิชา หรือ QS World University Rankings by Subject ครั้งที่ 11 ในวันนี้ โดยเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบศักยภาพของหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย 13,883 หลักสูตร จากมหาวิทยาลัย 1,440 แห่ง ใน 85 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ครอบคลุม 51 สาขาวิชาด้วยกัน การจัดอันดับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS ซึ่งได้รับการอ้างอิงกว่า 147 ล้านครั้งในปี 2563 และถูกสื่อและสถาบันต่าง ๆ นำไปรายงานถึง 98,000 ครั้ง

ผลการค้นพบสำคัญระดับโลก

  • Harvard University และ Massachusetts Institute of Technology เป็นสถาบันที่ทำผลงานได้ดีที่สุด โดยครองอันดับหนึ่งใน 12 สาขาวิชาด้วยกัน
  • ภาคอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรยังคงมีความยืดหยุ่น โดยทำอันดับหนึ่งได้ใน 13 สาขาวิชา จากทั้งหมด 51 สาขาวิชา โดยใน 13 สาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยอังกฤษคว้าอันดับหนึ่งไปครองนั้น เป็นของ University of Oxford ถึง 5 สาขาวิชา
  • สถาบันอุดมศึกษาของจีนยังคงทำผลงานดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีภาควิชาที่ติด 50 อันดับแรกมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
  • University of Toronto ของแคนาดา มีภาควิชาที่ติด 50 อันดับแรกมากที่สุด โดยติดอันดับไป 46 ภาควิชา ซึ่งมากที่สุดในโลก
  • ETH Zurich ของสวิตเซอร์แลนด์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของทวีปยุโรป โดยครองอันดับหนึ่งในสาขาธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์พื้นพิภพและทะเล และเมื่อประเมินจากภาควิชาที่ติด 10 อันดับแรกแล้ว สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบอุดมศึกษาดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลก
  • ออสเตรเลียมีจำนวนหลักสูตรที่ติด 10 อันดับแรกน้อยที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีภาควิชาที่ติด 10 อันดับแรกรวมกัน 13 หลักสูตร น้อยกว่าปี 2563 (17 หลักสูตร) และปี 2562 (18 หลักสูตร) นอกจากนี้ หลักสูตรของ Australian National University มีอันดับลดลงกว่าสองในสามเมื่อเทียบเป็นรายปี
  • ส่วนมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ยังคงมีศักยภาพแข็งแกร่ง โดยมี 2 แห่งที่ครองอันดับหนึ่ง ได้แก่ Nanyang Technological University ในสาขาวัสดุศาสตร์ และ National University of Singapore ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย ในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม
  • ในทางกลับกัน สถาบันอุดมศึกษาของญี่ปุ่นมีอันดับลดลง หลังนักศึกษาวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาเอกไม่ได้รับทุนสนับสนุนมากเท่าที่ควรเป็นเวลาหลายทศวรรษ
  • หลักสูตรของสถาบันระดับ Institutes of Eminence ของอินเดียทำผลงานได้ค่อนข้างลำบาก โดยสถาบัน Institutes of Eminence ของอินเดียที่ติด 100 อันดับแรกนั้นไม่ได้มีอันดับดีขึ้น
  • สถาบันอุดมศึกษาของรัสเซียยังคงแข็งแกร่งขึ้นทุกปี โดยมีภาควิชาที่ติด 20 อันดับแรกมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
  • Universidade de São Paulo (USP) ยังคงรั้งอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในลาตินอเมริกาจากการจัดอันดับครั้งนี้ โดยทำผลงานได้น่าประทับใจในภาควิชาทันตกรรม วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมเหมืองแร่
  • University of Cape Town ยังคงเป็นสถาบันที่มีผลงานดีที่สุดในแอฟริกา โดยมีหลักสูตรที่ติด 200 อันดับแรก 24 หลักสูตรด้วยกัน

แจ็ค มอแรน โฆษกของ QS กล่าวว่า "การสำรวจแนวโน้มผลงานในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยเกือบ 14,000 หลักสูตรนั้น ทำให้เราพอจะมองเห็นลักษณะที่เหมือนกันของประเทศที่มีผลงานดีขึ้นและประเทศที่ไม่ค่อยมีผลงาน โดยมีปัจจัยที่เด่นออกมา 3 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือทัศนคติระดับสากล ทั้งในแง่ของคณะอาจารย์และความสัมพันธ์ด้านการวิจัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างแข็งแกร่งกับผลงานที่ดีขึ้น ส่วนอย่างที่สองนั้น มหาวิทยาลัยที่อันดับดีขึ้นล้วนได้รับเงินลงทุนเจาะจงจากรัฐบาลมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน รัสเซีย และสิงคโปร์ และอย่างที่สาม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับอุตสาหกรรมก็สะท้อนให้เห็นในรูปแบบของการจ้างงาน การวัจัย และนวัตกรรมที่ดีขึ้น"

Last modified on Saturday, 13 March 2021 08:11
X

Right Click

No right click