January 22, 2025

“House System” ในแบบโรงเรียนอังกฤษที่สร้างเสริมวุฒิภาวะและทักษะทางสังคมให้เด็กทุกวัยเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

August 02, 2021 2263

House System  หรือระบบบ้าน ที่เป็นมรดกตกทอดจากประเทศอังกฤษที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนประจำ (Boarding School) ส่งต่อมาถึงโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งในไทย รวมไปถึงโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ (Wellington College International School Bangkok)  ที่มี   “Mr. Christopher Nicholls” หรือ “ครูใหญ่คริส” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ครูใหญ่คริส กล่าวว่า “House System คือ ระบบที่เกิดจากโรงเรียนกินนอนในอังกฤษ  มีรูปแบบคือในบ้านแต่ละหลังจะมีเด็กนักเรียนในทุกชั้นเรียนได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้าน มีทั้งพี่ ทั้งน้อง ทั้งเพื่อน กินข้าว แลกเปลี่ยนพูดคุย ดูแลกัน ได้ฝึกการทำงานกันเป็นทีมผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแข่งกีฬา แข่งดนตรี วิชาการ ฯลฯ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “Big Family” เป็นครอบครัวใหญ่ที่คอยสนับสนุน ส่งเสริมเด็กเด็ก ทั้งในด้านการเรียน  การใช้ชีวิต การเข้าสังคมและการพัฒนาด้านอารมณ์ เป็นที่ที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยกัน อย่างที่เวลลิงตันจะแบ่งออกเป็น 4 บ้าน ได้แก่ เบนสัน (Benson), สแตนลีย์ (Stanley), เวลล์สลีย์ (Wellesley) และ แอปส์ลีย์ (Apsley)

House System  ของเวลลิงตันคอลเลจจะมีหลักการและธรรมเนียมปฏิบัติ คือ ครอบครัวเดียวกันจะอยู่บ้านเดียวกัน      เช่น ถ้าลูกอยู่บ้าน Stanley พ่อแม่ก็จะอยู่บ้านเดียวกันคือ Stanley โดยแต่ละบ้านก็จะมีบุคลิกที่แตกต่างกันไปตาม ครูประจำบ้าน (House Teacher/ House Parent) ผู้ซึ่งคอยดูแลเด็กๆ เสมือนเป็น Head Master สาขาย่อย  คอยทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานทุกฝ่าย มีทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถรับฟังและเข้าใจว่าผู้ปกครองต้องการอะไร  และแต่ละบ้านล้วนมีจุดแข็ง มีความเก่งในแบบฉบับของตัวเอง เช่น ในปีนี้บ้านนี้อาจเก่งด้านกีฬา ส่วนอีกบ้านอาจเก่งด้านวิชาการ หรือสลับเวียนกัน   ไปในแต่ละปี    

 

วัฒนธรรม House System คือ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างไร้ขอบเขต เด็กโตได้เรียนรู้จากเด็กเล็กว่า เขาต้องเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รับผิดชอบขึ้น ส่วนเด็กเล็กเองก็ได้ยึดเด็กโตเป็นไอดอลให้ตัวเองได้พัฒนาต่อ ซึ่งมุมนี้ครูใหญ่คริสมองว่าการให้เด็กนักเรียนมาอยู่ด้วยกันคือแนวทางที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการและพัฒนาพฤติกรรมของตัวเอง โดยเริ่มจากการเติบโตจากภายใน เปิดใจ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกตัวเองให้เป็น แล้วค่อยแสดงออกมาอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กเข้าใจตัวเองเป็น เขาก็จะเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น การรังแกกันในสังคมโรงเรียนก็จะหมดไป

“พ่อแม่เด็กๆ มักจะตื่นเต้น มีความสุข และเต็มไปด้วยเอเนอจี้เสมอเวลามาร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับ House System ของโรงเรียน อย่างช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 เราจะเห็นภาพที่พวกเขาแต่งตัวมาร่วมงานกันแบบจัดเต็ม พูดคุย หยอกล้อกันไปมา เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นดีจริงๆ และสิ่งนี้ก็ส่งผลต่อตัวเด็กนักเรียนเองด้วย เพราะทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และได้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกับผู้ปกครองด้วย

ระบบ House System   คือมิตรภาพที่ไร้พรมแดน  เด็กทุกรุ่นมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันในบ้าน ผ่านการเข้าสังคม แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดต่างๆ นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยจุดประสงค์หลักของ House System ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน แต่เป็นการสร้างเสริมด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การพัฒนาตนเอง และการให้การดูแลเด็กแต่ละคนอย่างใกล้ชิด" ครูใหญ่คริส กล่าว 

 

Last modified on Monday, 02 August 2021 02:54
X

Right Click

No right click