การอบรมภายใต้หัวข้อ ฝ่าวิกฤตโควิด–19 พิชิตหนี้ มีเนื้อหาครอบคลุม การจัดระบบการเงิน การบริหารจัดการบัญชีรายรับ/รายจ่าย วิธีการคิดดอกเบี้ย และเทคนิคการออมเงิน โดยมีนางสาวโสรญา ลือยาม ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท สตรองไลน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นวิทยากร
นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทยและผู้แทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า “มูลนิธิซิตี้ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) สนับสนุนโครงการ “Skilling up Youth for Community Development Program” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่มูลนิธิซิตี้ทำในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทักษะเยาวชนคนหนุ่มสาวยุคใหม่ในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ สู่การพัฒนาชุมชน โดยร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 15 แห่ง พัฒนาศักยภาพนักเรียนนักศึกษาแกนนำระดับอาชีวศึกษาจำนวน 150 คน และสมาชิกในชุมชนอีก 15 แห่ง จำนวน 3,000 คน โดยมุ่งเป้าพัฒนาทักษะทางอาชีพ ทักษะการเงิน และการพัฒนาธุรกิจของชุมชนให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยมีกรอบการดำเนินงานไปจนถึงเดือนธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้มีความมุ่งมั่นพัฒนานักเรียนนักศึกษาอาชีวะ เพราะเราเชื่อว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนคุณภาพที่สำคัญที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคง รวมไปถึงการช่วยเหลือชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
อาจารย์กฤษณ์ คำศิริ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีวานิชบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีวานิชบริหารธุรกิจขอขอบคุณมูลนิธิซิตี้ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เราจะมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนานักเรียน นักศึกษาอาชีวะ รวมทั้งสนับสนุนพัฒนากิจกรรมชุมชนหลังวัดพิกุลเงินและชุมชนรอบวิทยาลัยของเรา เพื่อให้ชุมชนได้พัฒนาและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งจะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ไปถ่ายทอดให้ประชาชนในชุมชนเกี่ยวกับการจัดระบบการเงิน การจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และเทคนิคการออมเงินเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ช่วยลดหนี้สิน และส่งเสริมและสร้างวินัยในการออมเงินให้ประชาชนในชุมชนต่อไป”
นางสาวธิดารัตน์ พันธุมาศ และนางสาววรัชยา วงศ์สงวน นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) สาขาบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีวานิชบริหารธุรกิจ กล่าวว่า “พวกเราขอขอบคุณมูลนิธิซิตี้และมูลนิธิ EDF ที่จัดอบรมให้ความรู้ด้านการเงินที่เป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ แม้ว่าเราจะยังอยู่ในวัยเรียนและส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง หรืออาจมีรายได้บ้างจากการทำงานพิเศษรับจ้างในช่วงปิดเทอม หรือช่วงวันหยุด แต่เราก็สามารถจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละวันหรือในแต่ละเดือนได้ โดยรายได้ที่เราได้รับจากผู้ปกครองก็สามารถจัดสรรใช้จ่ายได้ และที่สำคัญเราควรมีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินอย่างน้อย 1-3 เดือน นอกจากนั้นเราควรแยกค่าใช้ต่าง ๆ ให้ชัดเจน แบ่งค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมทั้งอาจจะนำเทคโนโลยีแอปพลิเคชันการเงินเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้านการเงินของเราซึ่งก็จะช่วยได้มากเลยค่ะ”
นางสาววัณนิสา หมั่นกลาง นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) สาขาบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีวานิชบริหารธุรกิจ กล่าวเสริมว่า “การอบรมด้านการเงินมีประโยชน์มากค่ะ โดยเฉพาะเทคนิคการออม เป็นการช่วยสร้างวินัยให้ตัวเองให้เรารู้จักการเก็บเงินและจัดสรรเงินเป็นส่วน ๆ ก่อนนำออกไปใช้ โดยเราควรจะเก็บออมเงินไว้อย่างน้อย 10% ของเงินเดือนหรือรายได้ที่เราได้รับ หลังจากนั้นค่อยเอาไปหักกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ในแต่ละเดือน ซึ่งการออมเงินก็อาจจะเลือกออมธนบัตรใบละ 50 บาท หรือการออมเงินโดยการเปิดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารที่ไม่สามารถถอนก่อนกำหนดได้ ซึ่งก็จะช่วยให้เรามีวินัยการบริหารการเงินได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้หนูและเพื่อน ๆ จะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปถ่ายทอดให้เพื่อน ๆ ในวิทยาลัย รวมทั้งชุมชนต่อไปเพื่อให้พวกเราทุกคนมีการบริหารจัดการด้านการเงินที่ดีขึ้นค่ะ”