บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดตัวพื้นที่ต้นแบบระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย โชว์นวัตกรรมด้านการศึกษาชั้นนำ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ในระหว่างงาน 'Huawei Connect 2022' ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ
โครงการความร่วมมือดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านการศึกษา และ "มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม" ของมศว ตลอดจนเพื่อสร้างเกณฑ์มาตรฐานด้านการทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศและภูมิภาค
พื้นที่ต้นแบบด้านการศึกษาที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นนี้ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดแสดงประสบการณ์ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการพลิกโฉมระบบการศึกษาด้วยโซลูชัน Campus Network อัจฉริยะของหัวเว่ย ที่จัดหาเทคโนโลยี Wi-Fi 6 กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วทั้งวิทยาเขต การเข้าถึงเครือข่ายแบบไร้สาย "ทุกที่ ทุกเวลา” พร้อมด้วยดาต้าเซ็นเตอร์ สตอเรจ และระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน
โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ติดตั้งทรัพยากรคุณภาพสูงเพื่อรองรับการทำงานที่มั่นคงของพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล
พื้นที่สาธิตแห่งนี้ประกอบไปด้วยห้องประชุม ดาต้าเซ็นเตอร์ ศูนย์ O&M และห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) และพัฒนาขึ้นเพื่อเชิญชวนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ สถาบันอุดมศึกษา ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ การสาธิตการให้บริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมธุรกิจ ณ พื้นที่ต้นแบบนี้
ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการใช้แอปพลิเคชันด้านการศึกษาในศูนย์การเรียนทั้งสองแห่ง ซึ่งได้แก่ ประสานมิตรและองครักษ์ ทั้งนี้ โซลูชัน Huawei Cloud Campus Network และ iMaster NCE Campus ที่ติดตั้งแล้วเสร็จและทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ได้ช่วยให้นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย สามารถใช้ Wi-Fi ได้ทุกที่ทุกเวลาภายในวิทยาเขตทั้งสองแห่ง รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุด อาทิเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (VR), อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบิ๊กดาต้า
นายวินเซนต์ หลิว ประธาน ฝ่ายการตลาดเน็ตเวิร์คเอ็นเตอร์ไพรส์และจัดจำหน่ายโซลูชันระดับโลก ของหัวเว่ย กล่าวว่า “โซลูชัน Intelligent Multi-Service Network สำหรับการศึกษาขั้นสูงของหัวเว่ย เป็นโซลูชันที่เหมาะกับการสร้างเน็ตเวิร์คด้านการศึกษาและการวิจัยสำหรับอนาคตของมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒเป็นอย่างยิ่ง เน็ตเวิร์ครุ่นใหม่นี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการเครือข่ายที่ซับซ้อนของมศว ได้เป็นอย่างดี สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย สามารถผนวกรวมเครือข่ายแบบมัลติเน็ตเวิร์คเข้าด้วยกัน และมีความเร็วสูงในการเชื่อมโยงกันระหว่างเครือข่าย ทำให้มศว ได้ประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการแชร์ข้อมูล ระบบบริการเสมือน และการควบคุมการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถจัดหาบริการข้อมูลคุณภาพสูงให้แก่คณาจารย์และนิสิตได้เป็นอย่างดี”
นายเนีย เวยหยาง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ กลุ่มลูกค้าภาครัฐและสาธารณูปโภค หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของมศว ในการธำรงไว้ซึ่งการเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค” พร้อมเสริมว่า “ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เราได้สร้างพื้นที่สาธิตอันล้ำสมัยที่มุ่งสนับสนุนด้านการศึกษา ที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายในระยะยาว”
รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย สันติวัฒนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “คณะผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับพื้นที่สาธิตระดับโลกของหัวเว่ย ณ วิทยาเขตประสานมิตร” พร้อมเสริมว่า “เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อก้าวสู่ 'มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม' ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ของเรา การทำงานร่วมกับหัวเว่ยนั้นช่วยให้นิสิตและคณาจารย์ของเราสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ และได้รับประโยชน์จากวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่สำหรับประสบการณ์การศึกษาที่ล้ำสมัย ผมขอขอบคุณหัวเว่ย ประเทศไทย สำหรับโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้นในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมและผู้นำในด้านการศึกษาต่อไป”
หัวเว่ย ตั้งเป้าที่จะช่วยเร่งกระบวนการก้าวสู่ดิจิทัลของภาคการศึกษาให้รวดเร็วขึ้น โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาผ่านแนวทางและทรัพยากรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการผนวกรวมการเรียนการสอนกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างล้ำลึก ทั้งนี้ การยกระดับอุตสาหกรรมการศึกษาสู่ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรเปี่ยมความสามารถเพื่อระบบนิเวศดิจิทัลที่ก้าวหน้าทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค
การประกาศเปิดตัวพื้นที่ต้นแบบระดับโลกด้านการศึกษานี้เกิดขึ้นในระหว่างงาน Huawei Connect 2022 งานใหญ่ประจำปีของเหล่าผู้นำด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 – 21 กันยายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม “Unleash Digital” โดยงานปีนี้ มีวิทยากร และเหล่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอซีทีกว่า 8,000 คน มาร่วมประชุม เพื่อศึกษาหาวิธีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคลาวด์, AI และ 5G ไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เต็มศักยภาพ