หากมี "แก้วสามประการ" ที่จะเนรมิตให้สถาบันการศึกษาใดประสบความสำเร็จในระยะยาว อยู่ยั้งยืนยง แล้วละก็ "ครูบาอาจารย์" ย่อมเปรียบได้กับแก้วประการแรก เคียงคู่มากับ "นักเรียน" และ "ศิษย์เก่า" นิด้าก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่มีชื่อเสียงมาได้ยืนยาวทุกวันนี้ "ครูบาอาจารย์" ย่อมมีส่วนสำคัญมาก

ตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คณะบริหารธุรกิจของนิด้า หรือ NIDA Business School ได้ผลิตคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านบริหารธุรกิจชั้นสูงจำนวนมากให้กับสังคมเศรษฐกิจไทย

อาจารย์ของ NBS แต่ละรุ่น ได้แยกย้ายกันไปทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยอย่างหลากหลาย คือถ้าไม่ไปร่วม "สร้างคน" ในสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั่วประเทศ ก็เข้าร่วมวางรากฐานให้กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือไม่ก็รัฐวิสาหกิจสำคัญในฐานะผู้บริหาร กระทั่งกระโจนเข้าสู่วงการเมือง รับตำแหน่งบริหารประเทศ ก็มีไม่น้อย

นับแต่ยุคแรก หลังพุทธกาลไม่นานนัก NBS ยังเป็นโรงเรียนบริหารธุรกิจเดียวในประเทศที่เปิดสอน MBA จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ NBS จะเป็นศูนย์รวมของบุคลากรชั้นกะทิทางด้านบริหารธุรกิจด้วย แม้ระยะแรกสุด NBS ต้องพึ่งพิงคณาจารย์ฝรั่งจากมหาวิทยาลัย Indiana, Michigan State, Wisconsin, Illionios และต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็สามารถสร้างคณะอาจารย์ฝ่ายไทยของตนเองขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานนัก

1-G

คณาจารย์ไทยรุ่นใหม่กลุ่มแรกที่ถูกส่งไปฟูมฟักและ "บ่ม" ที่อเมริกา ล้วนได้ผ่านการเคี่ยวกรัมอย่างหนักหน่วงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในขณะนั้น และจบกลับมาด้วยดีกรีปริญญาเอก แต่ละคนล้วนยังหนุ่มแน่นและไฟแรง ไม่ว่าจะเป็น แสง สงวนเรือง, วีรวัฒน์ กาญจนดุล, มารวย ผดุงสิทธิ์, ศุภชัย จริตสุวรรณางกูร, นิตย์ สัมมาพันธุ์ แล้วก็ไล่ๆ กันมาด้วย บุรินทร์ กันตะบุตร, วุฒิชัย จำนงค์, ประวิตร นิลสุวรรณากุล, อัศวิน จินตกานนท์, ทนง ลำใย (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น พิทยะ), วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ (เปลี่ยนเป็น อาภารักษ์) ,นิกร วัฒนพนม, ธำรงค์ ช่อไม้ทอง เป็นต้น ในเวลาสิบกว่าปีแรก NBS สามารถสร้างคณะอาจารย์ได้กว่า 20 คน

นั่นทำให้ NBS กลายเป็นศูนย์รวมของดอกเตอร์และมหาบัณฑิตทางด้านบริหารธุรกิจที่จบจากต่างประเทศ มากเป็นอันดับหนึ่งของไทยไปโดยปริยาย

สมัยนั้น เป็นยุคเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศแนวใหม่ เป็นยุคของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก และเป็นยุคที่ "ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม" จึงเป็นยุคที่ Demand ต่อบุคลากรหรือ Technocrat ที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากต่างประเทศมีสูงมากในทุกๆ ด้าน

กลุ่มคณาจารย์ที่ NBS ยุคนั้น นับเป็นกลุ่มดอกเตอร์ทางด้านบริหารธุรกิจรุ่นแรกๆ ของประเทศด้วย เพราะก่อนหน้านั้น นอกจาก อำนวย วีรวรรณ ที่จบทางด้านบริหารธุรกิจในประดับปริญญาเอกเป็นคนแรกของไทยแล้ว ที่เหลือก็ล้วนเป็นดุษฎีบัณฑิตทางด้านการบัญชี ไม่ว่าจะเป็น พนัส สิมะเสถียร สุธี สิงห์เสน่ห์ และ พยอม สิงห์เสน่ห์ ดังนั้น ดอกเตอร์ยุคแรกที่ NBS จึงมีโอกาสได้แสดงบทบาทในฐานะผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการสอน การวิจัย การอบรม สัมมนา การเป็นที่ปรึกษา และเข้าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเอกชนและรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

เมื่อธุรกิจไทยเริ่ม Take Off หลังจากใช้แผนพัฒนามาระดับหนึ่ง ก็ย่อมต้องการบุคลากร โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการ ที่จะเข้าไปวางระบบบริหารโดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ และร่วมจัดการกับองค์กรที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น และเมื่อประกอบกับโครงสร้างระบบราชการที่ให้ผลตอบแทนน้อยและขึงตึงไม่ยืดหยุ่น ก็ทำให้อาจารย์กลุ่มแรกเหล่านั้นถูกดึงตัว ถือเป็นยุค "สมองไหล" ครั้งแรกของ NBS

เริ่มด้วย วีรวัฒน์ กาญจนดุล อดีตคณบดีที่ออกมาร่วมก่อตั้งฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจให้กับธนาคารทหารไทย และต่อมาก็เข้าร่วมกับกลุ่มซีพีบุกเบิกการค้าระหว่างประเทศ จนเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงสุด ดูแลทางด้านบัญชีการเงินของซีพีทั่วโลก

วีรวัฒน์ มาจากครอบครัวข้าราชการ พ่อของเขาเป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และลุงของเขาคนหนึ่งก็เป็นถึงปลัดกระทรวงเศรษฐการ เขาจึงเป็นคนสุภาพและถ่อมตน ประนีประนอม มีลักษณะแบบผู้ดีเก่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เห็นการก่อตั้งนิด้ามาแต่ต้น ตั้งแต่ยังเป็นอาจารย์เด็กอยู่ที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่จดรายงานการประชุมให้กับคณะกรรมการก่อตั้งนิด้าที่มีกรมหมึ่นนราทิปประพันธ์พงศ์เป็นประธาน และเจ้าคุณอรรถการุนยุวิผล เป็นคนร่างกฎหมาย

วีรวัฒน์เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกที่จะต้องกลับมาเป็นอาจารย์ เขาจบ MBA จากมหาวิทยาลัยฮาวายและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิลลินอย และเชี่ยวชาญเรื่องการวางระบบบริหารสมัยใหม่ คุณสมบัติทั้งมวลนั้น ทำให้เขาสามารถผลักดันระบบบริหารสมัยใหม่ให้ประยุกต์ใช้ได้สำเร็จในกิจการครอบครัวคนจีนอย่างซีพี โดยราบรื่น

จากนั้นไม่นาน มารวย ผดุงสิทธิ์ ก็โดดออกตามมา โดยได้เข้าเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มล็อกเล่ย์ อุตสาหกรรมพรมไทย และกลุ่มกรรณสูต มารวยมาจากครอบครัวข้าราชการจากอุตรดิฐ จบบัญชีธรรมศาสตร์และ MBA จากซีราคิวส์ กลับมารับราชการที่กรมบัญชีกลาง แล้วค่อยรับทุนไปเรียนปริญญาเอกจากวิสคอนซิล (แมดิสัน) เชี่ยวชาญด้านการเงินและบัญชีบริหาร ตลอดจนการวางแผนควบคุมภายใน (มารวยได้บุกเบิกวิชา Profit Planning and Control ที่ NBS มาก่อน) เขาได้ช่วยจัดระบบให้กับกิจการเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้ระบบที่เขาได้วางไว้ให้

ต่อมาเขาย้ายมาบริหารเอราวัณทรัสต์ กิจการเงินทุนหลักทรัพย์ในโครงการ "4 เมษา" ตามคำชวนของเริงชัย มะระกานนท์ ที่นั่น มารวยได้ริเริ่มออกตราสาร Floting Rate Note เพื่อระดมเงินฝากซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

จากนั้นไม่นานนัก ดุษฎี สวัสดิชูโต ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้น ได้ชวนให้เขามาเป็นผู้จักการตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน สิริลักษณ์ รัตนากร ที่ลาออกกลางคันในขณะนั้น มารวยบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าสู่ยุครุ่งเรือง และผ่านวิกฤตการณ์หลายครั้งหลายครา จนกลายเป็นตำนานหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์การเงินไทย เขาสร้างผลงานจำนวนมาก รวมทั้งการก่อตั้งสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เขาได้ดึงเอา บุรินทร์ กันตะบุตร อดีตอาจารย์ของ NBS มานั่งบริหาร มารวยเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังช่วงสั้นๆ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสหวิริยา

ส่วน บุรินทร์ กันตะบุตร เป็นมหาบัณฑิต MBA จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เช่นเดียวกับพ่อของเขา บัณฑิต กันตะบุตร อดีตเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นคนไทยคนแรกที่จบ MBA จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และเป็นคนไทยคนที่สองที่จบ MBA หลังจากไกรสีห์ นิมมานเหมินท์ พ่อของธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่จบมาจากฮาร์วาด บุรินทร์ลาออกจาก NBS ในยุค "สมองไหล" ช่วงแรก เช่นเดียวกัน บุรินทร์มีความสนิทสนมกับ Merton Miller นักการเงินชื่อดังที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเคยเชิญ Miller มาบรรยายในเมืองไทย

แสง สงวนเรือง ก็เป็นอีกคนที่ลาออกจากนิด้าหลังจากขึ้นเป็นรองอธิการบดีได้ระยะหนึ่ง ในบรรดาคณาจารย์ของ NBS ยุคแรก แสงนับว่ามี Public Mind มากที่สุดและเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดในยุคนั้น แสงเป็นคนบางนกแขวก เข้าเรียนรัฐศาสตร์จุฬาฯ และได้ทุนไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ Claremont Men's College แล้วก็ต่อปริญญาโทที่ William College กลับมาทำงานที่สภาพัฒน์ฯ แล้วก็ย้ายมานิด้า และรับทุนไปเรียนที่อินเดียนา (บลูมิงตัน) จนจบปริญญาเอก

แสง รับงานวิจัยจากรัฐบาลจำนวนมาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มี TDRI แสงจึงมีผลงานวิจัยทิ้งไว้ไม่น้อย ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แสงได้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยกับ บุญสนอง บุณโยธยาน แสงเป็นคนเสนอให้ตั้งชื่อหอประชุม จิระ บุญมาก ตามชื่อศิษย์คนหนึ่งที่ถูกยิงเสียชีวิตบนถนนราชดำเนินระหว่างเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม พ.ศ. 2514

หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แสง กับ ทินพันธุ์ นาคะตะ ก็เริ่มมีวิวาทะทางวิชาการกับกลุ่มทหารยังเตริก์ ที่นำโดย พ.ท. มนูญกฤต รูปขจร และ พ.ท. จำลอง ศรีเมือง (ยศขณะนั้น) และแสงก็เป็นที่ปรึกษาของ พลเอกสัณห์ จิตรปฎิมา รองผู้บัญชาการทหารบกซึ่งก็เคยเป็นนักศึกษานิด้ามาก่อน ทำให้แสงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร "เมษาฮาวาย" ในปี พ.ศ. 2524 ในฐานะที่ปรึกษาใหญ่ทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงระหว่างที่คณะปฏิวัติยึดกรุงเทพฯ ได้แบบเบ็ดเสร็จและได้เรียกให้เจ้าของและผู้บริหารระดับสูงสุดของธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารเข้าฟังนโยบายใหม่ที่กองบัญชาการฯ สวนรื่นฤดี คนที่นั่นหัวโต๊ะในวันนั้นก็คือแสง แต่ต่อมาเมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว จากนั้นไม่นาน แสงก็ลาออกจากนิด้า

หลังจากนิด้า เขาเริ่มงานภาคธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้วก็ให้คำปรึกษากับกลุ่มธุรกิจของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ไปด้วย และหลังจากที่ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ลาออกจากนิด้าไปร่วมรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาล จิรายุก็ได้ดึงแสงไปเป็นผู้จัดการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย และต่อมาก็เข้าร่วมบริหารมหาวิทยาลัยเกริก ปัจจุบันแสงเกษียณแล้ว แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดีและเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ (DBA) ของมหาวิทยาลัยรังสิต

การออกของแสง เป็นการปิดฉากยุคสมองไหลของกลุ่มคณาจารย์ที่เป็นนักเรียนทุนในยุคก่อตั้ง แต่ก็ใช่ว่ากระแสสมองไหลจะหยุดลง วีรวัฒน์ กาญจนดุล เล่าให้ฟังว่า "ผมทำมา 7 ปี เราก็มีกันสัก 20 คน มี Ph.D. สักสิบกว่าคน และ MBA จำนวนหนึ่ง เป็นพวกที่กลับมาพักเพื่อจะกลับไปเรียนต่อ แต่พอเกิดปัญหาก็ทะยอยลาออกกันหมด จากยี่สิบกว่าคนเหลือสี่ห้าคน เขาต้องใช้เวลาอีกสิบกว่าปีในการสร้างขึ้นมาใหม่" นักเรียนทุนรุ่นสองที่ "ไหล" ออกจาก NBS ก็รวมถึง อัศวิน วีรศักดิ์ และทนง

อัศวินเป็นลูกของ อนันต์ จินตกานนท์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ พี่สาวคนหนึ่งของเขาแต่งงานกับ สุจินต์ หวั่งหลี เจ้าของธนาคารหวั่งหลีที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครธน อัศวินจบจากมหาวิทยาลัย Western Australia และ MBA กับ Ph.D. จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา หลังจากนิด้า อัศวินเข้าเป็นรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็โยกไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการธนาคารนครธน (ปัจจุบันกลายเป็น CIMB) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมทำงานภาคประชาสังคมกับกลุ่ม NGO มาแล้วกว่า 10 ปี โดยปัจจุบันเป็นกรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย ส่วนวีรศักดิ์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เขาจบปริญญาเอกจากวิสคอนซิล และกลับมาเป็นอาจารย์วิชาการเงิน หลังจากนิด้า วีรศักดิ์ก็เคยรับตำแหน่งรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็โยกไปธนาคารทหารไทย จนขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส

ส่วนทนง เป็นลูกแม่ค้าจากสุพรรณบุรี เขาจบอัสสัมชัญศรีราชารุ่นเดียวกับ สนธิ ลิ้มทองกุล แล้วก็ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโยโกฮามา ตอนแรกเขาจะสมัครเข้าเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ แต่ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ต้องการให้กลับเมืองไทยก่อนค่อยหาทุนไปเรียนต่อปริญาโทและเอกทีหลัง ทว่าเขาต้องการเรียนต่อในทันที ก็เลยสมัครเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ต่อที่มหาวิทยาลัย Northwestern แล้วก็รับทุนนิด้า ทำให้เขาต้องย้ายคณะมาเรียนบริหารธุรกิจในระดับปริญญาเอกที่ Kellogg (สมัยโน้นยังใช้ชื่อว่า Graduate School of Management, Northwestern University)

ทนงเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและสร้างโมเดลการตัดสินใจ เขาดำรงตำแหน่งคณะบดีของ NBS อยู่ระยะหนึ่ง ช่วงนั้นที่ NBS มีอาจารย์ที่จบปริญญาเอกมาจาก Kellogg 3 คน คือทนง อรุณรักษ์ และวุฒิชัย และช่วงนั้นเองที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เข้ามาเป็นนักศึกษาที่ NBS และต่อมาสมคิดก็ได้ทุนไปเรียนที่ Kellogg และได้ชักชวน อุตตม สาวนายน และ สุวินัย ต่อสิริสุข นักศึกษาไทยที่ Kellogg (สุวินัยเรียนวิศวกรรมที่ Northwestern แต่เรียน MBA ที่อินเดียน่า) มาร่วมเป็นอาจารย์ที่นิด้าด้วย นับว่า NBS ยุคนั้นได้กลายเป็นแหล่งรวมศิษย์เก่า Kellogg แหล่งใหญ่ พอๆ กับที่ธนาคารกสิกรไทย (สมัยนั้น "ศศินทร์" ยังไม่เกิด)

หลังจากนิด้า ทนงเข้าร่วมงานด้านวางแผนกลยุทธ์กับกลุ่มน้ำตาลมิตรผล แล้วก็โยกมาธนาคารทหารไทย จนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ และก็ร่วมกับกลุ่ม SHIN ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูแลด้านการเงิน แล้วก็เข้าสู่วงการเมือง ทนงเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการกิติมศักดิ์ บลจ.ทหารไทย และรับตำแหน่งศาสตราพภิชาญของ NBS คู่กับ วีรวัฒน์ มารวย และสมคิด

2-G

เมื่อนักเรียนทุนรุ่นแรกและรุ่นสองทยอย "ไหล" ออกจาก NBS ก็ย่อมต้องตกเป็นภาระของนักเรียนทุนรุ่นต่อมาที่จะต้องกลับมาสานต่องานวิชาการและงานพัฒนาต่อยอด NBS

กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่าคนรุ่นแรกจะลาออกกันหมด หลายคนในรุ่นนั้นยังอยู่เป็นเสาหลักและเชื่อมต่อให้กับนักเรียนทุนรุ่นต่อมา เช่น วุฒิชัย จำนงค์ นิกร วัฒนพนม นิตย์ สัมมาพันธ์ และธำรงค์ ช่อไม้ทอง

วุฒิชัย (เสียชีวิตแล้ว) เป็นอาจารย์เก่าแก่ของ NBS ที่มีผลงานทางวิชาการจำนวนมากจนได้เป็นศาสตราจารย์ วุฒิชัยเชี่ยวชาญด้านการจัดการและทรัพยากรมนุษย์ เขาสอนหนังสือเก่งและทุ่มเทให้กับการสอน เขารับบรรยายทั่วประเทศ จนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก

ส่วนนิกร เป็นอาจารย์คณะสถิติประยุกต์มาก่อน นิกรจบปริญญาเอกทางด้าน Operation Research จาก NYU และกลับมาสอนทางด้าน Quantitative Analysis นิกรเป็นผู้บุกเบิกโครงการพัฒนาผู้บริหารทั่วประเทศอันโด่งดัง (NIDA-IMET) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดตื่นตัวต่อความคิดใหม่ๆ ทางด้านบริหารธุรกิจ เพราะสมัยนั้นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดยังไม่เปิดสอน MBA ปัจจุบันนิกรเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองและเป็นประธาน "มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน"

ส่วนนิตย์นั้น เรียนจบทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์และเคยเป็นหัวหน้ากองกำจัดกากกัมมันตภาพรังสี แต่สมัยโน้นยังไม่มีกากรังสี ให้กำจัด นิตย์เลยหันมาเอาดีทางด้านการจัดการ นิตย์เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกที่ถูกส่งไปมิชิแกนสเตท นิตย์กลับมาสอนทางด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ และสนใจพุทธศาสนา นิตย์เคยเขียนหนังสือ "การบริหารเชิงพุทธ" ซึ่งถือเป็นนักวิชาการยุคแรกๆ ที่นำเอาศาสตร์ทางด้านการจัดการมาจับพุทธธรรม ส่วนธำรงค์นั้นสอนทางด้านการตลาด และเป็นผู้ร่างหลักสูตรปริญญาเอกให้กับโครงการ JDBA

แม้ว่า NBS จะประสบปัญหาสมองไหลจนฮวบลงพักหนึ่ง แต่ไม่นานนัก นักเรียนทุนรุ่นต่อมาก็เริ่มจบกลับเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น สุนันทา เสียงไทย, ปราณี จิตกรณ์กิจศิลป์, วัฒนา ณ ระนอง, นราทิพย์ ทับเที่ยง, เดชา แก้วชาญศิลป์, สิงหา เจียมสิริ, ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา, ปรีชา จรุงกิจอนันต์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สันติสุข สงวนเรือง, พงษ์ศักดิ์ ทรงชัยกุล, สุวินัย ต่อสิริสุข, จีระเดช อู่สวัสดิ์, อุตตม สาวนายน, ถกล นันธิราภากร, อังครัตน์ เพียบจริยวัฒน์, โอรส ลีลากุลธนิต, วรพล โสคติยานุรักษ์ ฯลฯ

ดอกเตอร์เหล่านี้ ถือเป็นคณาจารย์รุ่นกลางหรือ 2nd Generation ของ NBS ที่ได้สร้างคุณูปการไม่น้อยให้กับแวดวงวิชาการและธุรกิจเศรษฐกิจของไทย อย่างสุนันทา เสียงไทย ก็ได้รับการนับถือมากในแวดวงวิชาการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ วัฒนา ณ ระนอง ก็เป็นผู้บรรยายทางด้านการตลาดและโฆษณามายาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกการจัดงาน TACT Award มาตั้งแต่ยุคแรก นราทิพย์ ทัพเที่ยง ก็มีชื่อเสียงทางด้านบัญชี สามารถบรรยายเรื่องยากๆ ทางบัญชีให้เป็นง่ายได้ สิงหา ก็เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารการผลิต เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับระบบบริหารงานผลิตของญี่ปุ่น เช่น JIT และ Kanban เป็นคนแรกของไทย ปัจจุบันเขาเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของ AIT ปรีชาเป็นนักบริหารการศึกษาที่คนยอมรับ เขาเคยขึ้นเป็นอธิการบดีของนิด้าระยะหนึ่ง ไพบูลย์ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้น เขาเป็นที่ปรึกษาบริษัทหลักทรัพย์จำนวนมาก และเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ทางด้านหุ้นที่มีแฟนมากที่สุดในเมืองไทย จีระเดชก็เป็นนักบริหารการศึกษาทางด้าน Business Education ที่เชี่ยวชาญและมีเครือข่ายกว้างขวางมาก สมัยที่เขาเป็นคณะบดีของ NBS เขาได้เดิมทางไปดูงาน Business Schools สำคัญๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเขาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้สร้างสรรค์งานสำคัญให้กับที่นั่นมากมาย เมื่อหมดรุ่นของ สังเวียน อินทรวิชัย และ เติมศักดิ์ กฤษณามาระ แล้ว ก็จะไม่มีใครเชี่ยวชาญงานบริหารการศึกษาทางด้าน Business Education เกินไปกว่าจีระเดช

ในบรรดาคณาจารย์รุ่นกลาง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเหมือนจะโดดเด่นกว่าเพื่อน สมคิดเป็นศิษย์เก่า NBS ที่กลับมาเป็นอาจารย์หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว สมัยที่สมคิดกลับมาจาก Kellogg ใหม่ๆ เขาได้นำเอาความคิดของ Michael Porter มาเผยแพร่ด้วย ขณะนั้นยังเป็นความคิดเชิงกลยุทธ์ธุรกิจที่ใหม่มาก เขาเป็นผู้บรรยายที่เก่งและข้อมูลแน่นและสามารถประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของธุรกิจไทย จึงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ขณะที่อยู่ NBS สมคิดเข้าไปเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของกลุ่มธุรกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งกลุ่มสหพัฒน์ฯ กลุ่มผู้จัดการ กลุ่มนครหลวงไทย กลุ่มน้ำมันพืชไทย และกลุ่มชินวัตร สมคิดลาออกจาก NBS เพื่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเป็นมันสมองคนสำคัญที่ผลักดันให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และตัวสมคิดเองก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสมคิดได้ดึงเอาอุตตมจาก NBS ไปนั่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ด้วย ปัจจุบันสมคิดหันหลังให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว โดยเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสยามรัฐ ของชัชวาลย์ คงอุดม สมคิดเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะมีอนาคตไกล

3-G

แม้ปัจจุบัน การแข่งขันทางด้าน MBA จะสูงมาก NBS ที่เคยเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ จะลดบทบาทในเชิงนี้ลง ทว่า NBS ก็ได้พัฒนาคณาจารย์รุ่นใหม่เพื่อมาแทนรุ่นเก่าที่เริ่มทยอยเกษียณอายุ ในรอบสิบกว่าปีมานี้ กลุ่มคณาจารย์รุ่นใหม่ที่ถือเป็น 3rd Generation ก็ทยอยกันกลับเข้ามาร่วมสร้าง NBS

อาจารย์อย่าง ประสิทธิ์ กาญจนศักดิ์ชัย และ สมจินต์ ศรไพศาล (ลาออกแล้วทั้งคู่) ก็เคยเป็นศิษย์เก่า NBS มาก่อน และแม้คู่หูนักบริหารอย่าง ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ (อดีตคณบดีที่ปัจจุบันขึ้นเป็นรองอธิการบดี) จะไม่เคยเป็นศิษย์เก่า แต่ ประดิษฐ์ วิธิศุภกร และ เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคนปัจจุบัน ก็เป็นศิษย์เก่า NBS และเรียนอยู่ในสมัยที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพิ่งกลับจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์

ดังนั้น จึงกล่าวได้เต็มปากว่า NBS กำลังถูกขับเคลื่อนโดย "คนรุ่นที่สาม" หรือ "3-G" ซึ่งจะต้องนำนาวานี้ไปสู่ "ความเป็นเลิศทางวิชาการ" และ "Uniqueness" ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและยิ่งยวด ในยุค Hypercompetition ที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบด้านในขณะนี้


เรื่อง : กองบรรณาธิการ

08 เมษายน พ.ศ. 2553

ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า บนโลกใบนี้ที่ถูก Disrupt ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต้องมีการปรับตัวอย่างไร

“หน้าที่สถาบันการศึกษาคือ ให้ความรู้กับเพื่อให้คนมีความพร้อมออกไปใช้ชีวิตไปทำงานในโลกภายนอกได้ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปถ้าสถาบันการศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร วิธีการสอนเราจะไม่สามารถผลิตคนออกไปทำงานได้ในอนาคต

 “ถามว่าวอลมาร์ตรู้หรือไม่ว่าจะมีการขายของออนไลน์ ถ้าเทียบกับอเมซอนทำไมอเมซอนประสบความสำเร็จ เป็นเพราะวอลมาร์ต มีเงินน้อยกว่า ไม่เก่งกว่าหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ วอลมาร์ต เก่ง รวยมีทุกอย่างที่เหนือกว่าอเมซอน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมวอลมาร์ตไม่สามารถทำออนไลน์ประสบความสำเร็จเท่ากับอเมซอน คำตอบที่น่าสนใจคือแผนธุรกิจ (Business Model) เนื่องจากกำไรของวอลมาร์ตมาจากการขายออฟไลน์”

 

“อเมซอนไม่มีสาขา ไม่ยึดติดกับสาขา นี่คือ Business Model ที่ให้ประสบการณ์ผู้บริโภคดีกว่า ลองนึกภาพอเมซอนไม่มีสาขาแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ได้ แสดงว่า ผมต้องแน่ใจว่าเวลาสั่งอะไรจากออนไลน์ สินค้าที่ไปส่งต้องได้ในสิ่งที่เขาคาดหวัง แต่ถ้าเป็นวอลมาร์ตไม่ได้ก็เอาไปเปลี่ยนที่สาขาก็ได้ คำถามคือแล้วผมจะสั่งออนไลน์ไปทำไม ก็เดินไปซื้อที่สาขาก็ได้ นั่นคือวอลมาร์ตยังมีความสุขกับการมีสาขา

อเมซอนที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาใช้ Central Warehouse สต็อกทุกอย่างรวมตรงกลาง แต่วอลมาร์ตกำลังจะบอกว่าออนไลน์ของเราจะต้องใช้ประโยชน์จากออฟไลน์คือให้ไปเอาสต็อกที่สาขา นึกภาพลูกค้าสั่งสัก 10 รายการ แล้วเวลาส่งของต้องไปเอาสต็อกจากสาขา ปรากฏว่าสาขาที่ 1 มีแค่ 8 รายการ ที่เหลือต้องไปเอาที่สาขาอื่น ต้นทุนก็มหาศาลแล้ว เผลอๆ ส่งได้ 9 ชิ้น แล้วอีกชิ้นหนึ่งละ ให้รอไปก่อนหรือไม่อยากรอเอาใบที่พรินต์จากออนไลน์ไปรับของที่สาขา ถ้าต้องไปสาขาผมก็ไปสาขาซื้อครั้งเดียวก็จบหรือไม่

Business Model แบบนี้ ลูกค้าไม่เคยประทับใจทำให้วอลมาร์ตไม่ประสบความสำเร็จ สองต้นทุนคุณมีสองด้าน สาขาก็มี ออนไลน์ก็มี จึงเป็นที่มาว่าองค์กรที่มี Business Model ที่เป็นออฟไลน์แล้วประสบความสำเร็จ

ซึ่งตอนหลังวอลมาร์ตเริ่มเข้าใจและปรับตัว แต่ใช้เวลาเกือบ 8-9 ปี อเมซอนก็ปรับตัวมีสาขา เพราะวอล-มาร์ทสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีในออนไลน์”

 

ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA BUSINESS SCHOOL) ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาของคณะ ในยุคปัจจุบันโดยจะเลือกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation สอดแทรกให้กับนักศึกษาในวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้สามารถรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมถึงกลไกวิธีการทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังปรับเปลี่ยน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรูปแบบการทำงานของคนในแทบทุกอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาในฐานะแหล่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากกระแสดิจิทัลในแวดวงการศึกษามากนัก เห็นได้จากรูปแบบการเรียนการสอนที่ยังเน้นการใช้ห้องเรียน ตำราวิธีการสอนยังคงไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาเท่าใดนัก แต่จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่สามารถค้นหาองค์ความรู้ที่สนใจจากสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง แรงกระเพื่อมนี้อาจส่งผลต่อผู้เรียนในยุคต่อไป 

ปรับบทบาทสถานศึกษา

หากมองจากบทบาทของสถาบันการศึกษา 3 ประการที่สำคัญ ประกอบด้วย Creation of Knowledge การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัย Disseminate of Knowledge คือการเผยแพร่ความรู้ และ Authority Granted Degree เป็นผู้มีอำนาจในการให้ปริญญา

ผศ.ดร.วิพุธ มองผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา และการเตรียมพร้อมรับมือโดยแบ่งไปตามแต่ละบทบาทว่า

“เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยน เรื่องการเรียนรู้ของคนก็เปลี่ยน จากเดิม หนึ่งมาในห้องเรียน สองซื้อหนังสืออ่าน ปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบเช่นเดียวกับการเสพสื่อ เราก็จะเห็นคนเปลี่ยนพฤติกรรมไป เราก็เห็นว่าเทรนด์เหล่านี้เป็นเทรนด์ที่สำคัญ อะไรที่จะเป็นสิ่งสำคัญในเทรนด์ที่กำลังจะเปลี่ยน หากดูจากบทบาททั้งสามของเรา บทบาท Disseminate of Knowledge เราจะเห็นว่าแหล่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน มีแหล่งเรียนรู้ได้หลากหลายอย่าง เช่น ผ่านระบบ MOOC Massive Online Learning, You Tube แม้แต่ฟรีแวร์ต่างๆ ที่เป็นระบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า LMS Learning Management System 

แสดงว่าในเชิงของการเผยแพร่ความรู้เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เนื่องจากการเรียนรู้ของคนเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอน การเผยแพร่ความรู้ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ที่มาเรียนหนังสือ ดังนั้น ต่อไปนี้การเรียนรู้จะเป็นรูปแบบที่มหาวิทยาลัยควรต้องเปลี่ยนคือเป็น Interactive Learning เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งโดยขอบเขตในอดีตจะอยู่ในห้องเรียน ปัจจุบันคือ สามารถเรียนรู้ได้ Anywhere Any Platform Anytime 

ทางคณะบริหารธุรกิจก็ต้องเริ่มสอนทางออนไลน์ บางคนอาจจะมองออนไลน์เป็นการเรียนการสอนทางไกล แต่ไม่ใช่ การเรียนรู้ออนไลน์จะมาช่วยให้ Interactive Learning ดียิ่งขึ้น เขาสามารถถามคำถามอาจารย์ เดิมกว่าจะถามคำถามอาจารย์ได้ต้องถามในห้องเรียน ปัจจุบันนึกขึ้นมาได้ก็ยกมือถือมากด หน้าที่อาจารย์ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น คือต้องตอบสนองต่อคำถามเหล่านั้น และถ้ามีคำถามมาคล้ายๆ กันจากนักศึกษาหลายคน อาจารย์อาจจะหาทางตอบคำถามนั้นในเชิง Mass ได้เช่นอาจจะอัดคลิป พวกนี้เป็นระบบที่รองรับการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะการเรียนรู้จะไม่ใช่เวลาเจาะจงแล้ว ขึ้นกับว่าช่วงนั้นเขาว่าง เขาอยากเรียนรู้ ก็จะกลายเป็นมีเวลาในการเรียนต่างกัน ภายใต้ Platform เดียวกัน สมัยก่อนต้องมา 18.00-21.00 เท่านั้น ปัจจุบันเราอาจจะไม่ว่าง 6 โมงเย็น เราว่างเที่ยงคืนเราก็สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ คือดูคลิปอาจารย์ สงสัยก็อาจจะไปดูเว็บบอร์ด ทิ้งคำถาม ดูว่ามีเพื่อนตอบไหม ซึ่งอาจจะมีเพื่อนช่วยตอบตอนนั้นก็ได้ อาจจะมีเพื่อนบางคนเรียนมาแล้วตอน 6 โมงเย็น

Creation of Knowledge เราก็มองถึง R to R คือ Routine to Research หรือ Project to Research หมายถึงว่างานที่อาจารย์ทั้งหลายได้ไปให้คำปรึกษาน่าจะสามารถนำมาเขียนเป็น Action Research ได้ คือสามารถนำมาสรุปผลเพื่อทำให้การเอาผลจากที่เราไปศึกษาเชิงลึกมาใช้พัฒนาหรือใช้ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับองค์กร เช่น เราไปช่วยองค์กรหนึ่งในการปรับปรุงเรื่องอัตราการลาออก เราได้ข้อสรุปจากการเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้โมเดลมา เราก็สามารถนำโมเดลนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา หรือเผยแพร่ให้องค์กรอื่นสามารถนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ได้ ซึ่งนักวิจัยเป็นคีย์สำคัญในการเชื่อมเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าเราไปดู Best Practice ถ้าไม่มีนักวิจัยจะเห็นแค่ผล แต่ไม่เห็นวิธีการ ในเชิงลึกๆ ซึ่งนักวิจัยเขาสามารถสรุปข้อดี สรุปผล และเชื่อมโยงระหว่างผลกับวิธีการให้เห็นความสัมพันธ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นี่คือบทบาทที่ต้องเปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัย 

เราสังเกตดู เรื่อง Disruptive ไม่ได้เปลี่ยน What แต่เปลี่ยน How เช่น เราพูดถึง Uber คำถามคือ Uber เปลี่ยน What หรือ How คำตอบคือเปลี่ยน How วิธีการเรียกแท็กซี่ อย่างไรสุดท้ายเรายังต้องเอาตัวเราไปขึ้นแท็กซี่และรถต้องพาเราไปอยู่ดี การเรียนการสอน การเผยแพร่ความรู้ก็ยังคงต้องมี แต่ว่าเปลี่ยนวิธีการในการสอนให้เป็น Interactive Learning  เรื่อง Authority Granted Degree สถาบันการศึกษาจะหมดความหมายหมดความสำคัญทันที ถ้าต่อไปนี้องค์กรเน้น Competency (สมรรถนะ ความสามารถ) ไม่เน้นใบดีกรี หมายถึงองค์กรอาจจะมีวิธีการคัดเลือกคนที่มี Competency เหมาะกับเขา เช่น Google ในสหรัฐอเมริกา เขาก็เริ่มจะไม่สนใจดีกรี ใน 3 บทบาท Disrupt ที่เรากลัวที่สุดคือ ตัวอุตสาหกรรม รับคนในรูปแบบของ Competency และพัฒนาคนเอง 

ผมว่าเรื่องนี้ยากที่สุด เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเองต้องเริ่มมองถึงตัวหลักสูตรให้ตรงกับอุตสาหกรรมมากขึ้น สมัยก่อน ตรงบ้างไม่ตรงบ้างเขาก็ยังยอมถูๆ ไถๆ กันไป อุตสาหกรรมชอบมาบ่น สอนอะไรมา สมัยก่อนยังมีช่องว่าง มหา-วิทยาลัยไม่ต้องปรับตัวมาก อุตสาหกรรมก็ยังยอมรับ แต่ปัจจุบันถ้าเรายังไม่ปรับตัว ไม่ฟังเสียงอุตสาหกรรมอยากสอนอะไรก็ไม่รู้ ผมการันตีว่าตายแน่”

 

ภารกิจต้องเปลี่ยน

เพื่อรองรับกับการปรับบทบาทของสถาบันการศึกษา ภารกิจอาจารย์นิด้าจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วยสูตร 1/3+1/3+1/3 คือ การออกไปให้คำปรึกษา สอน และเขียนงานวิจัย อย่างละ 1 ใน 3 เพื่อตอบโจทย์การหาองค์ความรู้ใหม่ที่ตรงกับความความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องที่ ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความสำคัญ เขาเล่าแนวคิดที่มีว่า หากการเรียนออนไลน์แล้วยังต้องให้ผู้เรียนมาที่สถาบันการศึกษาอีกก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ของคณะบริหารธุรกิจ ที่เตรียมไว้ต่อไปจะต้องเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ หากเลือกทำแบบครึ่งหนึ่งออนไลน์ ครึ่งหนึ่งออฟไลน์ ก็จะไม่สามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน

“เราจะแยกอาจารย์เป็น 2 กลุ่ม คุณสอนออนไลน์คุณจะไม่มีสิทธิเจอนักศึกษา ไม่ต้องเข้ามา ดังนั้นตอนนำไปปฏิบัติ (Implement) แยก แต่ตอนใช้งานจริง ผมอาจจะให้นักศึกษาเลือกได้ ครึ่งหนึ่งเรียนออนไลน์ อีกครึ่งขอมาเจอหน้า อาจารย์เพื่อนๆ ตอนนั้นทำได้ แต่ตอน Implement แยกกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันสำเร็จ คุณจะทำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ประสบการณ์ที่ดีกับเด็กที่ไม่เจอหน้า ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น”  ผศ.ดร.วิพุธกล่าวและอธิบายต่อว่า

แม้รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป แต่ภาระหน้าที่ทั้งของผู้เรียนและผู้สอนยังคงมีมากเช่นเดิม โดยเฉพาะในฝั่งอาจารย์ ที่ต้องปรับให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น เนื้อหาที่ใช้สอนจะต้องสั้นกระชับ มีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอ ลำดับขั้นเนื้อหาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจารย์ที่เข้าร่วมการสอนออนไลน์จะต้องคอยปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนจนกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นลงตัวซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ของคณาจารย์ไปพร้อมกัน
 

ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความเห็นว่า การเริ่มต้นก่อนเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ที่เริ่มก่อนมีโอกาสทดลองทำในสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า ในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเองอย่างรวดเร็วย่อมดีกว่าไปเปลี่ยนตอนที่อุตสาหกรรมปรับไปหมดแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ทันกาล เพราะมีตัวอย่างให้ผู้บริโภคเห็นสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ในส่วนของเนื้อหาวิชาการยังคงเป็นวิชาทางด้านบริหารธุรกิจที่เป็นแกน แต่จะสอดแทรกแนวคิดเรื่อง Digital Transformation ไปตามรายวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษากล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะการทดลองในห้องเรียนมีข้อดีคือ ยังไม่มีต้นทุน ทำให้นักศึกษาสามารถหลุดจากกรอบสิ่งแวดล้อมเดิมๆ สามารถนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ โดยอาจารย์แต่ละวิชาจะให้ผู้เรียนคิดภายใต้นิเวศใหม่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบนิเวศใหม่บนโลกใบนี้ที่ดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รูปแบบหรือ How ที่เปลี่ยนไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเลือกใช้ความรู้ความชำนาญที่มี ผสมผสานกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อนำ What หรือสิ่งที่องค์กรนำเสนอไปสู่ผู้บริโภค ตราบที่องค์กรธุรกิจยังต้องมีการบริหารการจัดการ เนื้อหาวิชาจากโรงเรียนธุรกิจ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีที่สุด

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 
ภาพ : วันเฉลิม สุทธิรักษ์

 

การศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจหรือ MBA จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนในยุค 4.0

Page 2 of 2
X

Right Click

No right click