จริงๆ ต้นทางต้องดูที่สถาบันการศึกษาก่อนด้วยซ้ำ สมมุติเราเตรียมคนปริญญาตรี เรียน 4 ปี ถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่ปรับหลักสูตร พูดถึง 4 ปีข้างหน้าของอะไรก็ตามที่ใช้วันนี้อาจจะล้าหลังไปแล้ว” รศ.ดร. ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมบุคลากรสำหรับโลกอนาคต
ต้องร่วมกันสร้างคนรุ่นใหม่
ภาพของโลกอนาคตที่กำลังรอเราอยู่ส่งผลต่อการผลิตคนสู่ระบบอย่างไร รศ.ดร.ประดิษฐ์ มองว่า สถาบันการศึกษาต้องอ่านอนาคตให้ออก เพราะต้องผลิตคนป้อนเข้าสู่ธุรกิจ หากสถาบันการศึกษาไม่สามารถพยากรณ์ความต้องการใน 4-5 ปีข้างหน้าได้ ก็อาจจะหลงทาง การผลิตบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ตรงตามความต้องการ
“สถาบันการศึกษาจะต้องมาโฟกัสตัวเองใหม่ ตัวหลักสูตร เนื้อหา เครื่องมือที่ใช้ในหลักสูตรเหล่านี้ เป็นโจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษา อาจารย์ต้องทำงานหนักขึ้น จะทำหน้าที่สอนหนังสือโดยความรู้เก่ามาสอนไม่ได้แล้ว อาจารย์จะต้องใฝ่หาความรู้ในโลกที่เปลี่ยนไป รวมทั้งนักศึกษาที่จะมาแบบหัวว่างๆ นั่งเรียนแล้วแต่ว่าอาจารย์จะจับอะไรใส่เข้าไปในหัว หมดชั่วโมงนักศึกษาก็มีเท่าที่อาจารย์ใส่เข้าไป แต่ในอนาคตไม่ได้แล้ว นักศึกษาจะต้องเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือมารับจากสถาบันการศึกษา
“ครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกเพื่อให้ลูกก้าวไปสู่โลกอนาคต ให้ลูกรู้จักการพึ่งพาตนเอง ขวนขวายหาสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง เมื่อเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะมีผลต่อการเรียน จบไปแล้วเขาก็ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตการทำงานของเขา มีความสามารถในการเรียนรู้ ต่อสู้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อย่างนั้นก็จะตามหลังคนอื่นตลอดเวลา”
รศ.ดร.ประดิษฐ์ ขยายความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาว่า องค์ความรู้พื้นฐานหรือทฤษฎีต่างๆ ที่เรียนรู้กันอยู่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่สิ่งที่ต้องเสริมเข้าไปคือเรื่องราวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น “เช่นอาจารย์สอนการตลาด สอนเรื่องโปรโมชัน การขาย การขายคือทำอย่างไรเราจึงจะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ ทำอย่างไรลูกค้าจะจ่ายเงิน แต่วิธีการนี่เรื่องใหม่หมดเลย คุณอาจไม่ต้องมีหน้าร้านเหมือนเมื่อก่อนถึงจะขายของได้ คุณต้องดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้ ทำอย่างไรให้คนเห็นสินค้าของคุณได้ง่ายและเร็วที่สุด การส่งของ โลจิสติกส์ คุณอาจจะไม่ต้องสนใจเลยว่าโรงงานอยู่ที่ไหน แต่คุณต้องเชื่อมโยงโรงงานกับผู้บริโภคให้ได้ คุณจะทำอย่างไร”
ผู้สอนจึงต้องตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาวิชาที่สอน เพื่อสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษาให้พร้อมใช้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นตามมา การเรียนการสอนจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สื่อสารกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศหรือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่อยู่ตามองค์กรต่างๆ
ด้านการเรียนการสอน รศ.ดร.ประดิษฐ์ใช้คำว่า ‘การเรียนเสมือนจริง’ เพราะองค์กรต้องการจ้างคนที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกหรือภายในเดือนแรกที่เข้าไปทำงาน ดังนั้นการเรียนการสอนจะต้องเรียนเสมือนจริง เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เครื่องมือที่ทันสมัย หรืออีกลักษณะหนึ่งที่สามารถทำได้คือ ระบบ Dual System เรียนพร้อมกับการทำงาน ซึ่งประเทศที่โดดเด่นด้านนี้คือเยอรมนี และญี่ปุ่น ที่เน้นให้ผู้เรียนศึกษาจากธุรกิจจริงๆ สามารถทำงานได้ทันที
จากมุมมองของอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ ทำให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาบุคลากรของประเทศให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคตที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ด้วยคนในสังคมที่มีทั้งทักษะและความรู้
3 ทักษะสำหรับผู้จะประสบความสำเร็จ
รศ.ดร.ประดิษฐ์ มองว่า ทักษะที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วประกอบด้วย 3 ทักษะ
หนึ่ง ทักษะด้านไอที “คนจะจบปริญญาตรีสาขาใดก็ตาม ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศคือ ความรู้ที่สำคัญที่ไม่ต้องเข้าไปเรียนแต่ทุกคนต้องมี วันนี้จบมาต้องใช้เป็น อนาคตคนไทยจะต้องใช้ไอทีได้อย่างทั่วถึง ไม่อย่างนั้นเราพัฒนาตามประเทศอื่นได้ลำบาก”
สอง ทักษะภาษา “เพราะทุกวันนี้โลกแคบมาก ต่างชาติก็มีอิทธิพลต่อเราเยอะในแง่การทำการค้าการทำธุรกิจต่างๆ ถ้าคนไทยรู้ภาษาต่างชาติน้อยลงก็เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า ภาษาหลักของโลกต้องยอมรับคือ ภาษาอังกฤษ แต่อีกภาษาหนึ่งที่คนไทยวันนี้ต้องรู้คือ ภาษาจีน ถ้าต่อนี้ไป เด็กไทยสามารถสื่อสารนอกเหนือจากภาษาไทยได้อีก 2 ภาษา คือ อังกฤษ และจีน ความได้เปรียบในการแข่งขันในการทำงานก็จะดีขึ้น”
สาม ทักษะในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้น ในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้ได้คำตอบที่เป็นรูปธรรม “สิ่งเหล่านี้จำเป็นโดยเฉพาะคนที่จะเป็นผู้นำในอนาคต ถ้าคุณไม่มีทักษะไม่มีเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจะประสบความสำเร็จได้ยาก ในอดีต อาจจะพลาด 2 ครั้งประสบความสำเร็จครั้งหนึ่งยังโอเค แต่ในอนาคตคุณประสบความสำเร็จ 3 ครั้ง คุณพลาดครั้งเดียว ชีวิตคุณดับ พูดง่ายๆ พลาดครั้งหนึ่งก็หนักหนาสาหัสสำหรับชีวิตแล้ว ดังนั้นทักษะการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”
เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ