September 19, 2024

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วนด้านอากาศยาน และอวกาศ เพื่อเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ โดยการเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกอนาคต

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และยังเป็น S-Curve ใหม่ ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งเศรษฐกิจอวกาศยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีอวกาศ จึงช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก และก้าวนำประเทศคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศอย่างยั่งยืนในอนาคต

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า หนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือการมุ่งเน้นด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจกระแสหลักของประเทศ โดย อว. ตั้งเป้าขยายผลการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม การสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน Startup SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่ภารกิจด้านกิจการอวกาศของไทย โดยได้มอบหมายให้ GISTDA เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเพื่อขยายระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนจะมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global Value Chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ผ่านลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตโดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและอวกาศ สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ GISTDA จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน GISTDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น GISTDA จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป ดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) หนุน บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จัดงาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo 2024 หวังสร้างสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกธุรกิจทั้งด้านการผลิตและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมช่วยต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 12,000 คน เกิดการจับคู่ทางธุรกิจกว่า 570 คู่ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ให้เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกธุรกิจทั้งด้านการผลิตและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านการผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หรือ "DIPROM CONNECTION" ร่วมผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาเติมเต็มในทุกด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการผลิต ด้านการบริหารจัดการ ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาเสริมศักยภาพ รวมถึงการบุกเบิกตลาดในน่านน้ำใหม่ ๆ ซึ่งการจัดงาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo 2024 มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมที่ครบวงจรที่สุดสำหรับธุรกิจ OEM และ e-Commerce ในประเทศไทย โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จะเป็นส่วนสำคัญในการติดอาวุธด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ และยังเป็นทางลัดเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ได้สร้างธุรกิจของตัวเองได้เร็วยิ่งขึ้น ผ่านการจ้างธุรกิจที่รับการผลิตแบบ OEM ให้ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการหน้าใหม่กับธุรกิจ OEM ยังเป็นการแชร์การเพิ่มผลผลิต (Productivity) ทำให้ช่วยลดต้นทุนจากการรวมความต้องการ (Demand) ที่ผลิตสินค้าจำนวนมาก และโรงงานก็สามารถเพิ่มประสิทธิผลจากการใช้สายการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง ที่สำคัญยังเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมทั้งการจัดร่วมกับงาน eBiz Expo ยังเป็นการสนับสนุนช่องทางตลาดออนไลน์ให้กับธุรกิจรายย่อย จึงทำให้การจัดงานในครั้งนี้มีความครบสมบูรณ์ และยังเป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพสำรอง หรือรายได้เสริมให้กับประชาชน

นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ให้การสนับสนุนการจัดงาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo มาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ได้นำผู้ประกอบการในกลุ่มรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. มาร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 19 ราย ซึ่งครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเสริม,  อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องหนัง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และแพ็คเกจจิ้ง, อุตสาหกรรมโรงงานที่ผลิตแบรนด์, อุตสาหกรรมสินค้าสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการสินค้าจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง และเพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพสูงจากผู้รับจ้างผลิตชั้นนำของประเทศไทย

“อุตสาหกรรม OEM เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปัจจุบัน ส.อ.ท. มีสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตที่มีศักยภาพสูง และได้มาตรฐานกว่า 16,000 ราย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศพร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้สามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น”

โดยในงาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo 2024 ในครั้งนี้ผู้ที่เขาร่วมงานจะได้พบปะผู้ประกอบการ OEM ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และร่วมฟังสัมมนาจากกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพิ่มโอกาสในการมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมต่อยอดและขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

ด้าน นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การจัดงาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo 2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ซึ่งภายในงานจะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ OEM Manufacturer Expo และ e-BIZ Expo สำหรับงาน OEM Manufacturer Expo จะเน้นการแสดงสินค้าจากผู้ผลิตในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลความงาม อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ สินค้าออร์แกนิค สินค้าอุปโภคบริโภค แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ บรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด รวมไปถึง อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงและอาหารแห่งโลกอนาคตที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน

โดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ พร้อมที่จะช่วยผู้ประกอบการหน้าใหม่ในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการ จึงทำให้ไม่ต้องกังวลในเรื่องการผลิตที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และเทคนิคในการผลิตมากมายทำให้เริ่มต้นทำธุรกิจได้ง่าย โดยผู้ประกอบการหน้าใหม่เพียงแต่มุ่งไปที่การสร้างแบรนด์ การวางแผนการตลาด การบริหารจัดการ และการจัดส่งสินค้า

ในส่วนของ e-BIZ Expo จะเน้นการจัดแสดงเทคโนโลยีบริการดิจิทัลและโซลูชั่นทางธุรกิจ เช่น การตลาดดิจิทัล โซลูชั่นทางธุรกิจ (SAP, ERP, MRP) FinTech โลจิสติกส์และการจัดการ ระบบความปลอดภัยการชำระเงินออนไลน์ คลาวด์ AI IoT และ 5G ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประสบการณ์และโอกาสในการพบปะกับผู้ให้บริการที่สามารถสนับสนุนการเติบโตในยุคดิจิทัล     

                         

นอกจากนี้ งาน OEM Manufacturer & e-BIZ Expo 2024 ยังเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็นในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งการเรียนรู้เทรนด์ใหม่ ๆ การพบปะกับผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรทางธุรกิจ และการได้รับคำแนะนำในการปรับตัวพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังมีการจัดการเสวนาเกี่ยวกับวิธีการขยายธุรกิจ การหาตลาดใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถพบปะกับนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถนำไปสู่การร่วมทุนและการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้ในงานครั้งนี้เหมาะสมกับผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ หรือผู้ที่กำลังมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 12,000 คน เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ 570 คู่ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 500 ล้านบาท

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และพนักงานในสถานประกอบการพร้อมสมาชิกในครอบครัวของพนักงานทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา “ให้ตับ ได้พักบ้าง” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้วกว่า 7,300 คน

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา “ให้ตับ ได้พักบ้าง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 17 ตุลาคม 2567 รวมระยะเวลา 3 เดือน โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) รวมถึงผู้บริหารและพนักงานในสถานประกอบการพร้อมสมาชิกในครอบครัวของพนักงานทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้มีการจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 16,187 คน พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์เป็นเงินสูงถึง 31.79 ล้านบาท สำหรับการจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ให้ตับได้พักบ้าง ในปี 2567 นี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและชนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace: SHAP) ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปัจจุบันมีผู้สนใจลงนามเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวแล้วกว่า 7,300 คน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับสื่อให้ความรู้ การกล่าวปฏิญาณตนคนบวชใจ “งดเหล้าเข้าพรรษา” และคำแนะนำในการทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ลดหวานมัน เค็ม พร้อมลุ้นรับของรางวัล เช่น เสื้อ กระติกน้ำ กระปุกออมสิน สมุดโน้ต พวงกุญแจ และกระเป๋าผ้า เป็นต้น”

สถานประกอบการหรือวิสาหกิจที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ นายวินัยศักดิ์ เหมืองทอง ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กร แห่งความสุข (โครงการSHAP) โทร. 081 697 4699

สานแนวคิด “คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม” มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรม ดันเศรษฐกิจโตกว่า 2 หมื่นล้าน

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลัง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้วยการติดปีกเกษตรกรด้วยเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูป เพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้โดยเน้น โกโก้ ไผ่ สมุนไพร ชีวมวล ในระยะแรก และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ท้องถิ่นเติบโต มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน หวังยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศได้มากกว่า 8 พันล้านบาท

นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ และทำให้สินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญของไทย ที่เป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ เนื่องจากขายผลผลิตในรูปแบบของสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายขับเคลื่อนมาตรการ กลไก และการปฏิบัติให้มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน จึงพร้อมผลักดันและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐ เพื่อยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมการให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสูงสุด เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมนำนโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ในกลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE the Area) มาประยุกต์ใช้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน และพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การติดปีกเกษตรกรด้วยเกษตรอุตสาหกรรม กับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เข้ารับบริการจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เพื่อยกระดับกลุ่มเกษตรกรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่สามารถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นโดยเน้น โกโก้ ไผ่ สมุนไพร ชีวมวล ในระยะแรก และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต ด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมให้กับเครือข่ายเกษตรกร และผู้แปรรูปสินค้าจากภาคการเกษตร พร้อมการเพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ และยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน เพื่อเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งการให้ความรู้ในด้านการจัดทำคาร์บอนเครดิต เพื่อขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร หวังยกระดับรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรทั่วประเทศได้มากกว่า 8 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ดีพร้อมยังเข้าไปร่วมบริหารจัดการกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในด้านการแปรรูปสินค้า ตั้งแต่การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต การควบคุมคุณภาพ การตรวจวัดมาตรฐาน ไปจนถึงการจัดหาตลาดทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ผ่านเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้เกษตรอุตสาหกรรมของชุมชน ผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการ สร้างระบบนิเวศด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การนำผู้ประกอบการกลุ่มโก้โก้เข้าร่วมงาน Craft Cocoa Village กับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่รวบรวมผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้จากทั่วประเทศ, Processor ตลอดจนผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้ทุกรูปแบบ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน 2567 ณ เซ็นทรัล พระราม 9 และในระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567 - 6 มกราคม 2568 ณ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์

 นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า แผนการยกระดับชุมชนเกษตรกรไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับ ดีพร้อม ในครั้งนี้ จะช่วยชุมชนเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้แผนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะเข้าไปสนับสนุนในด้านการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตรงกับความต้องการของคนพื้นที่ สอดคล้องกับศักยภาพและจุดเด่นของท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เพื่อรวบรวมผลผลิตมาแปรรูป และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง นายนัยฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Page 2 of 5
X

Right Click

No right click