“ผมไม่ใช่คนเก่งเลยครับ แต่เป็นคนพยายาม” ปิง-วรพจน์ กิ่งแก้วก้านทอง พี่ใหญ่ที่สุดในแก๊ง MBA กลุ่มนี้ ให้คำจำกัดความตัวเองเอาไว้แบบนั้น และผลจากความพยายามเป็นปีที่ 3 ในครั้งนี้เอง ที่ส่งให้เขาได้โอกาสสานฝันในสถาบัน “Yale SOM (Yale School of Management)” อย่างใจต้องการ
หนุ่มวัย 28 บัณฑิตจากรั้วแม่โดม BBA International Program สาขา Marketing นายนี้ เลือกรับทุนจากธนาคารกสิกรไทยไปเต็มจำนวน เพราะต้องการกลับมาเป็นฟันเฟืองที่จะหมุนให้กลไก “ธุรกิจ” กับวงล้อของ “สังคม” หมุนไปได้พร้อมๆ กันอย่างสมบูรณ์
Q: ทำไมต้องเป็นที่ Yale หลักสูตรของเขาน่าสนใจตรงไหน
A: ผมว่าเขาคล้ายๆ กับธรรมศาสตร์อยู่เหมือนกันครับ ตรงที่มี Mission ว่าอยากจะสร้างผู้นำที่เก่งทั้งใน “โลกธุรกิจ” และช่วยเหลือในเรื่อง “สังคม” ด้วย เพราะที่ธรรมศาสตร์ก็สอนให้รักประชาชน ส่วนโครงการของ Yale จะสอดแทรกเรื่อง Social Impact และ Sustainability อยู่ตลอด ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้ดี เพราะผมอยากออกไปสร้าง Impact บางอย่างให้กับสังคม
Q: นี่คือแนวทางที่เขียนลงไปใน Essay เลยใช่ไหม
A: ด้วยครับ เพราะ Essay ของที่นี่ เขาให้พูดถึง Commitment ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตตั้งแต่เคยทำมา ผมก็เล่ามาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลยว่ามันเกิดจากที่เคยไปที่อินเดียมา แล้วไปเห็นคนจน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตที่อยู่ต่ำกว่า Poverty Line มันลำบากแค่ไหน ก็เลยเป็น Commitment ที่ผมบอกตัวเองตั้งแต่ตอน 11 ขวบเลยว่า วันหนึ่งผมจะต้องช่วยเหลือพวกเขาให้ได้
Q: ภาพที่ไปเห็นเป็นแบบไหน ถึงได้รู้สึกกระทบใจจนกลายเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมา
A: ตอนนั้นผมไปเข้าค่ายช่วงหน้าหนาวที่เมืองลัคเนา ในค่ายเราก็อยู่กันอย่างสบาย มีฮีตเตอร์ให้นอนในโรงเรียน แต่พอตัดภาพไปหลังโรงเรียน มันคือภาพครอบครัวยากจนเยอะแยะเลยที่อยู่ในสลัม เขาต้องมานั่งผิงไฟกันอยู่ที่เดียว ทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมชีวิตเรามันต่างกันได้ขนาดนี้ และเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้างไหม หลังจากนั้น ผมก็พยายามเดินมาทางนี้ตลอด มีไปค่ายอาสาสอนชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องการเงินด้วย พอจบมาก็เป็น “นักวิจัยผู้บริโภค” (บริษัท Vitamins Consultant & Research) มีโครงการหนึ่งที่ผมเสนอให้สร้างที่อยู่ให้คนยากจน ซึ่งโพรเจกต์ก็ Successful จนเขาเอาไปพัฒนาต่อ ทำให้คนที่มีรายได้ต่ำได้มีที่อยู่ที่ดีขึ้น
Q: แล้วคิดว่าความรู้ที่ได้ จะเอามาช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมได้บ้าง
A: ตอนทำโพรเจกต์ต่างประเทศทำให้เห็นเลยว่าชาวบ้านเขามีความรู้ด้านการเงินต่ำมาก ใช้กู้หนี้นอกระบบกันเสียเยอะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เลย ผมมองไว้ว่าอยากจะกลับมาช่วยเรื่องการขยายตลาด AEC การได้ลงพื้นที่เจอชาวบ้านนอกจากจะได้ช่วยให้ธุรกิจไทยได้ไปโตในต่างประเทศแล้ว ยังได้ช่วยให้ชุมชนเขามีความรู้ทางการเงินมากขึ้นด้วยครับ
Q: แสดงว่าการเติบโตทาง “ธุรกิจ” ของเรา จำเป็นต้องมีคำว่า “สังคม” อยู่ด้วยเสมอ
A: (พยักหน้ารับ) ถ้าปล่อยให้ธุรกิจมันโตไปด้วยตัวของมันเอง มันจะไม่โอเคกับสังคมอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายมันคือการทำยังไงก็ได้ให้ได้เม็ดเงินเยอะๆ แต่ถ้าคนที่อยู่ในธุรกิจมีความตระหนักเรื่องสังคม อยากให้สังคมโตไปด้วยกัน มันก็จะมองเห็นสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว ไม่โฟกัสอยู่ที่ผลประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว