นายยรรยง มุนีมงคลทร (ขวา) ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด มอบมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ระบบแท็งค์ EcoTank L6190 จำนวน 5 เครื่อง ให้แก่มูลนิธิกระจกเงา โดยนายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อใช้ในภารกิจการติดตามคนหายและโครงการด้านสังคมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ประกอบด้วยโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการโรงพยาบาลมีสุข โครงการอ่านสร้างชาติ และโครงการศูนย์รับบริจาค ณ มูลนิธิกระจกเงา เมื่อเร็วๆ นี้
แสนสิริ จับมือพลัส พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดตัว “Smart Command Centre” ศูนย์ควบคุมสังเกตการณ์จากส่วนกลางเต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ณ อาคารสิริภิญโญ ภายใต้การลงทุนรวมกว่า 20 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ส่วนกลาง (Security Monitoring) และระบบวิศวกรรมอาคารส่วนกลาง (IoT Facility Management) ของโครงการที่พักอาศัย มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง พร้อมผู้เชี่ยวชาญคอยเฝ้าระวัง สั่งการ และประสานงานตลอด 24 ชั่วโมงเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการบริการ ทั้งด้านการดูแลความปลอดภัย และระบบภายในอาคารให้ทุกระบบทำงานรวดเร็ว แม่นยำ จัดการปัญหาได้ตรงจุด พร้อมเสริมขีดความสามารถในการบริหารโครงการแบบป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Preventive Maintenance) นำร่อง 4 โครงการส่งท้ายปี 61 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกบ้านแสนสิริ เผยแผนเตรียมเชื่อมต่อ Smart Command Centre เข้ากับ 11 โครงการแนวราบและกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม ภายใต้การบริหารโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ที่จะแล้วเสร็จใหม่ ในปี 2562
ดร. ทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเข้าใจลึกซึ้งถึงความต้องการของลูกค้าและไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาการบริการในโครงการที่อยู่อาศัย ล่าสุดจึงประกาศความพร้อมในการเดินหน้าต่อเนื่องในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาพัฒนายกระดับการบริการหลังการขายให้แก่ลูกบ้าน เพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบ ภายใต้แนวคิดที่เป็นหัวใจหลักของแสนสิริและตอบโจทย์เทรนด์การใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล มีบทบาท สำคัญในชีวิตประจำวัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทประสบความสำเร็จในกระแสตอบรับการเปิดตัว Sansiri Security System หรือระบบรักษาความปลอดภัยภายในโครงการ (พื้นที่ส่วนกลาง) ที่แข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยผสานกับการทำงานของทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมจากครูฝึกมากด้วยประสบการณ์ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับการอยู่อาศัยของลูกบ้านในด้านความปลอดภัยอย่างรอบด้าน รวมถึงการเป็นผู้นำในการพัฒนา สมาร์ท คอนโด โดยการเดินหน้าใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในทุกโครงการคอนโดมิเนียมที่จะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562เป็นต้นไป
“ในวันนี้ แสนสิริได้ต่อยอดการให้บริการด้านการอยู่อาศัยให้ล้ำหน้าไปอีกขั้นด้วยการร่วมมือกับพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จัดตั้ง “Smart Command Centre” ศูนย์ควบคุมสังเกตุการณ์จากส่วนกลาง เต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจในการให้บริการที่ดีที่สุดให้กับลูกบ้านแสนสิริในโครงการที่บริหารจัดการโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ทั้งด้านบริหารจัดการความปลอดภัย (Security Monitoring) ที่เพิ่มความอุ่นใจแก่ผู้อยู่อาศัยเป็น 2 เท่า และด้านการบริหารจัดการระบบวิศวกรรมอาคาร (IoT Facility Management) ด้วยเทคโนโลยี IoT อันล้ำสมัยที่สามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการ Facility และลดค่าใช้จ่ายส่วนกลางของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.ทวิชา กล่าว
สำหรับศูนย์ควบคุมสังเกตุการณ์จากส่วนกลางเต็มรูปแบบแห่งแรกของวงการอสังหาฯไทย (Smart Command Centre) ตั้งอยู่ที่อาคารสิริภิญโญ ได้รับการพัฒนาและวางระบบจากผู้นำในธุรกิจและเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยมาตรฐานสากลที่มีประสบการณ์มากว่า 40 ปี ได้แก่ บริษัท กัทส์ อินเวสติเกชั่น จำกัด ร่วมพัฒนาและวางระบบในการปฏิบัติการทั้งหมด โดย Smart Command Centre มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการ เฝ้าระวัง สังเกตุการณ์เหตุผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงแจ้งเตือนเมื่ออุปกรณ์ใกล้ถึงเวลาบำรุงรักษาแบบเรียลไทม์ พร้อมสั่งการเพื่อดำเนินการตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ จากศูนย์ควบคุมฯ ได้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยประสานงาน กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ โรงพยาบาล หรือช่างผู้เชี่ยวชาญได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต่อเหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยภายในศูนย์ควบคุมฯ จะมีเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ 2 ทีมประจำ 24 ชั่วโมง ตลอดทั้ง 7 วัน ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์คมชัดระดับ HD จำนวน 12 จอที่จะรับสัญญาณตรงมาจากโครงการแบบเรียลไทม์
นายชาญ ศิริรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับแสนสิริในการจัดตั้ง Smart Command Centre จะช่วยสร้างความอุ่นใจและสบายใจให้กับลูกบ้านแสนสิริในโครงการที่พลัส พร็อพเพอร์ตี้บริหารจัดการ ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง (Preventive Monitoring) และการดูแลรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการที่อยู่อาศัยให้โดดเด่นด้านมูลค่าเหนือคู่แข่งในทำเลเดียวกัน จากระดับความปลอดภัยในการอยู่อาศัยและความสามารถในการดูแลรักษาโครงการให้มีประสิทธิภาพสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเช่าและการซื้อขายเปลี่ยนมือ รวมถึงช่วยบริหารค่าส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
“ในปลายปี 2561 นี้ Smart Command Centre จะเริ่มเชื่อมต่อข้อมูลจาก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการคอนโดมิเนียม เดอะ เทอร์ทีไนน์ สุขุมวิท 39, โครงการ เดอะ ไลน์ อโศก-รัชดา, โครงการ เดอะ ไลน์ ราชเทวี และโครงการบ้านเดี่ยวคณาสิริ พระราม 2 – วงแหวน นอกจากนี้ในปี 2562 เรามีแผนที่จะเชื่อมต่อ Smart Command Centre เข้ากับโครงการแนวราบ 11 โครงการ และโครงการแนวสูงที่จะแล้วเสร็จทั้งหมด
ในอนาคต แสนสิริ และพลัสฯ ยังมีแผนการต่อยอดขอบข่ายการทำงานของ Smart Command Centre ทั้งในด้านของการบริหารความปลอดภัย ที่จะเพิ่มการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบ Visitor Management System ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลของผู้มาติดต่อทั้งหมด และระบบ Face Recognition ที่สามารถจัดเก็บภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ และข้อมูลของผู้รับเหมา และในส่วนของ IoT Facility Management จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Smart Grid) และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เพิ่มเติม
“นอกเหนือจากความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และการดูแลระบบวิศวกรรมอาคารส่วนกลาง แสนสิริและพลัสฯ ยังมีแผนขยายขีดความสามารถของ Smart Command Centre ไปยังการใช้งานระบบ Touch Points & Intelligent ซึ่งเป็นเครื่องมือในการรับฟังและตอบรับ ความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศผ่านทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียและ คอลล์เซ็นเตอร์ รวมถึง Sansiri Infrastructure ที่จะสร้างความมั่นใจในความพร้อมเรื่อง CRM, Salesforce, Data Warehouse ต่าง ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดูแลลูกบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้ คือบริการจากแสนสิริและพลัสฯ ที่พัฒนาด้วยความใส่ใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการและสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบให้แก่ลูกบ้านแสนสิริครอบคลุมไปถึงในปี 2562” ดร. ทวิชากล่าว
“CMKL Tech Summit 2018” สัมมนาใหญ่ด้าน AI ครั้งแรกของประเทศไทย จัดโดย “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” อัดแน่นด้วยหัวข้อบรรยายจากภาคเอกชนและภาคการศึกษาระดับโลก เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนและองค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เปิดตัวงานสัมมนาใหญ่ “CMKL Tech Summit 2018” ณ C asean auditorium อาคารไซเบอร์เวิลด์ มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 300 คน โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) กล่าวในพิธีเปิดงานว่า “เศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคตจะต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เกี่ยวกับเรื่อง Digital Transformation คาดการณ์ไว้ว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ จะช่วยปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั่วโลกได้มากถึง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,280 ล้านล้านบาทในช่วง 10 ปี ดังนั้น ทุกคน ทุกองค์กร ไม่ว่าจะองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ต่างจะต้องเผชิญกับความท้าทายในยุค Digital Transformation”
วัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน คือ ต้องการยกระดับขีดความสามารถของบุคคลและองค์กร ขจัดปมปัญหา (Pain Point) ต่างๆ ในยุค Digital Transformation โดยการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ ผ่านจุดแข็งของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านเทคโนโลยี ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ปัจจุบัน เปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ด้านเทคโนโลยี AI, Blockchain, Data Analytics และ Cyber Security มีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญและพัฒนาซอฟต์แวร์ AI และเครือข่ายองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง เพื่อเป้าหมายในการสร้างคอมมูนิตี้และเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วม (Co-R&D) กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในด้าน AI จึงมีวิสัยทัศน์ที่เห็นถึงการใช้นวัตกรรมด้าน AI ขับเคลื่อนภาคธุรกิจในเซ็กเตอร์ต่างๆ และจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อทั้งช่วยสร้างความตระหนักและมอบองค์ความรู้แก่ทุกองค์กร
ภายในงานมีการบรรยายหัวข้อด้าน AI ที่น่าสนใจมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงเมืองสู่ดิจิทัลด้วย AI การใช้ AI รองรับการก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ การใช้ AI มาช่วยให้เกิดการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในภาคธุรกิจ AI สำหรับสมาร์ต ฟาร์มมิ่ง ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทั้งภาคเอกชนชั้นนำของไทยในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังให้ความสนใจกับการปรับตัวในยุค Digital Transformation อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) รวมถึงภาคการศึกษาระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ด้าน ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) กล่าวว่า “วันนี้ AI ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลในบางกลุ่มธุรกิจแล้ว เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มโทรคมนาคม แต่พลังของ AI ยังสามารถขยายไปประยุกต์ใช้ได้กับเกือบทุกประเภทธุรกิจ เพราะAI สามารถช่วยเรียนรู้และช่วยทำเรื่องยากๆ บางเรื่องได้ในเวลาอันรวดเร็ว ลดต้นทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายบางส่วนลงได้ ความรู้เกี่ยวกับ AI จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับขับเคลื่อนโลกในอนาคต”
ดังนั้น องค์กรทุกระดับจะต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ปัญหาโครงสร้างองค์กร รวมถึงการขาดองค์ความรู้และกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเบันไดขั้นสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งภาคประชาชนและองค์กรได้ติดอาวุธพร้อมรับมือทุกความท้าทาย มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาพัฒนาสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน
ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธและหลีกพ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่รวดเร็วได้ เนื่องจากประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะทุกประเทศทั่วโลกได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และการค้าระหว่างประเทศได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวินาที แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังประสบกับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 5G ได้เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จในยุค 4G มาแล้ว
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความเข้าใจผิดในสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือ การประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาสูงมากจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะสามารถนำเงินเข้ากระทรวงการคลังและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้นั้น กำลังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะหากราคาการประมูลสูงมากผิดปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่แพงที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของโลก จึงจะเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโทรคมนาคมสูงมากจนไม่สามารถที่จะ มีผู้ประกอบการรายใดสามารถเข้ามาประมูลได้ในอนาคตต่อไป
การแก้ไขกฎหมายและกฎการประมูลคลื่นความถี่ 5G กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือมูลค่าคลื่นความถี่สูงเกินไป อีกทั้งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความล่าช้าในการขยายโครงข่าย 5G อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จนเป็นสาเหตุให้ขีดความสามารถของประเทศก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ
ผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศได้หันมาสนใจประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยมีแนวคิดที่จะใช้หลักการในการบริหารคลื่นความถี่ด้วยการใช้เทคนิคใหม่เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่มีราคาที่สูงมาก ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุค 5G อีกต่อไป เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้กับระบบ 5G นั้นมีความต้องการอย่างต่ำถึง 100 เมกะเฮิรตซ์ต่อหนึ่งโอเปอเรเตอร์ ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบเดิมที่เคยใช้มาเป็นเวลานาน นับ 10 ปี ก็อาจจะทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงเกินไปจนไม่สามารถที่จะทำให้เกิดระบบ 5G ได้เลย ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศได้ตระหนักแล้วว่า อุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถขยายโครงข่าย 5G ได้นั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้อีกต่อไป
ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G แล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวนและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ
บรรยากาศเช้าวันเวิร์คช้อป The Ozonor Hackathon จัดขึ้นที่ NAP LAB จุฬาลงกรณ์ ซอย 6 หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจภายใต้โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานอย่างธนาคารโลกเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและซุ้มเสียงของผู้เข้าร่วมงานรุ่นใหม่ ที่ต่างก็พกเอาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใส่กระเป๋ามาจากบ้าน พร้อมสำหรับการระดมความคิดนำเสนอให้ได้ผลิตผลตลอดสองวันหนึ่งคืนเพื่อจะเอาไปต่อยอดพัฒนานโยบายในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ดร. วิรัช วิฑูรย์เธียร ผู้แทนธนาคารโลก หนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้อธิบายถึงจุดยืนและบทบาทของธนาคารโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยไว้ว่า “เราถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการผลิตออกสู่ตลาด โดยคำนึงถึงและให้ความสำคัญในการกระจายความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน ใครที่สนใจมีสิทธิเข้าร่วมทุกคนหากผ่านเงื่อนไขต่างๆ เพราะฉะนั้น ทีมของเราจึงมีทั้งนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักสิ่งแวดล้อมและวิศวกรร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งคนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างในจุดนี้ และสำหรับองค์กรเอกชนที่ต้องการเพิ่มปริมาณหรือพัฒนาธุรกิจที่สามารถทำการค้าได้แล้วในระดับหนึ่ง ทางธนาคารโลกก็มีหน่วยงานที่เรียกว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งจะมีบทบาทเข้าไปร่วมลงทุนในภาคเอกชนได้โดยตรง”
อดีตที่ผ่านมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ทำให้เรามีนโยบายในการลดละ เลิก การใช้สารทำความเย็นกลุ่ม CFCs (Chlorofluorocarbon) ในการผลิตตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และกระป๋องสเปรย์ และพยายามผลักดันทุกภาคส่วนให้หันไปใช้สารอื่นทดแทน นั่นก็คือ HFC (Hydro chlorofluorocarbon) ซึ่งไม่ค่อยมีอันตราย ไม่ติดไฟ เมื่อผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยนไปหมด ตลาดก็ไม่มีตัวเลือกมาก เหตุการณ์นี้คือการเปลี่ยนแปลงตลาดในฝ่ายผู้ผลิต จึงจะเห็นว่าในอดีตเราใช้กลยุทธ์นี้ในการเข้าถึงผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตลาดได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราก็พบว่า HFC เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนค่อนข้างสูง ก็เริ่มมีการคิดค้นสารตัวต่อไปคือ HC (hydrocarbon) ที่จะเข้ามาทดแทน แต่ติดปัญหาตรงที่มีคุณสมบัติค่อนข้างอันตรายคือติดไฟได้หรือมีความเป็นพิษสูง อาจมีอัตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องคอยดูแลและระมัดระวัง ต้องรู้จักการบำรุงรักษาเพื่อให้ประสิทธิภาพของการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้คงที่ ยกตัวอย่าง สมัยนี้ที่เรามักได้ยินว่าเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่พอซื้อมาเรากลับไม่ค่อยได้ดูแลรักษาเท่าไหร่ จนกระทั่งเครื่องปรับอากาศเสียเราก็จะเรียกช่างมาซ่อม ซึ่งถ้าลองไปเปิดดูจะพบว่ามีฝุ่นเกาะจำนวนมากทำให้การถ่ายเทความร้อนไม่ดี แทนที่จะประหยัดพลังงานกลับทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น ถ้ามีการส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีที่จะช่วยในการประหยัดพลังงาน ก็มีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทางธนาคารโลกจึงหันมาส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยและการประหยัดพลังงานโดยการสร้างการตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด
เป้าหมายและความคาดหวังต่อ โครงการ “เรื่องโอโซน เรื่องของเรา”
สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือหนึ่งที่ทางธนาคารโลกดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ในเรื่องของโอโซนนี้ ทางธนาคารโลกได้มีการทำงานร่วมกันกับทางรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในช่วงแรกเรื่องของโอโซนอาจเป็นเรื่องที่เรายังไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิต ทางภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้อง แต่ช่วงที่ผ่านมาเรื่องโอโซนได้ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนและมีเรื่องความปลอดภัยต่างๆ จากสารทดแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาคประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าน่าจะขยายงานและประยุกต์กิจกรรมต่างๆ ให้เข้ากับภาคประชาชนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ อยากให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันชั้นบรรยากาศว่าคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร นอกเหนือไปกว่านี้ยังคาดหวังถึงความคิดเห็น ข้อมูลต่างๆ และความคิดใหม่ๆ ของผู้ที่มาเข้าร่วม ในแง่ของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีบริบทการใช้ชีวิตต่างจากอดีตว่า ควรใช้สื่อประเภทไหนที่จะสามารถเข้าถึงและดึงดูดความสนใจของประชาชนได้มากกว่า เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาทำแผนในการลด หรือ เลิก ใช้สารที่กำลังถูกควบคุมในอนาคตเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต
ทิศทางและแนวโน้มต่อมุมมองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งในเรื่องดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องโอโซนด้วย
ดร.วิรัช เปิดเผยเรื่องนี้กับทาง MBA ว่า “เรื่องของการรณรงค์เพื่อเป้าหมายในการลดภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมและการกระทำของเราก็ส่งผลต่อคนอื่นๆ จึงอาจเกิดปัญหาการว่าใครควรเริ่มก่อน แม้แต่เรื่องของการป้องกันชั้นบรรยากาศหรือโอโซนที่เริ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก็ไม่มีใครคิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่การที่ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะเราสามารถทำปัญหานี้ให้กลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนสามารถแก้ไขได้ อย่างเรื่องน้ำยาที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศก็มีการหาทางปิดโรงงานที่ผลิตสารเหล่านี้ แล้วเอาสารทดแทนตัวอื่นไปให้ผู้ใช้หรือโรงงานที่นำสารนี้ไปใช้ต่อ ปัญหาเลยถูกแก้ไขได้ง่าย เราสามารถใส่ทรัพยากรต่างๆ ลงไปทดแทนเพื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ในแง่ของสภาพภูมิอากาศมีปัจจัยมากมาย เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เราทุกฝ่ายต้องมีการจับมือร่วมกัน สิ่งไหนที่ทำได้เร็วทำได้ก่อนก็ต้องเริ่มทันที อย่างเรื่องสาร HFCs ที่ประเทศไทยนำเข้ามา หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ภายในปี พ.ศ.2565 หรือ พ.ศ.2566 อาจจะมีปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ถ้าเราสามารถลดการนำเข้าลงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการรั่วไหลน้อยลง เราก็สามารถลดปริมาณสารไปได้มากกว่า 30 ล้านตัน ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจากปี 2563 ถึง 2566 เราจะลดอัตราการปล่อยก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศ 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 110 – 130 ล้านตัน ถ้าประชาชนเราสามารถบำรุงรักษาใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพและเกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด แค่เรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศถ้านับจากการใช้ทั่วประเทศเราอาจลดการนำเข้าสารนี้ไปได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ก็คือเป้าหมายที่จะไปจัดการในส่วนของการลดอัตราการปลดปล่อยสารเหล่านี้ออกสู่บรรยากาศ เพราะฉะนั้นเรื่องไหนที่เราทำได้ก่อนเราก็ทำเลย เรื่องไหนที่ยังทำไม่ได้เราก็พยายามพัฒนาต่อ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ภายในปี พ.ศ.2573 อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสแน่นอน”
สำหรับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์) ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ก็ต้องมีการเข้าไปสำรวจและพูดคุยกันจากหลายๆ ฝ่าย ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะกระบวนการผลิตนั้นใช้คาร์บอนไดร์ออกไซด์ในอัตราที่สูง ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยน และอีกด้านก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบขนส่ง อย่างอาหารทะเล บ้านเราถือเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจับได้มากขึ้นแต่เป็นการเพิ่มอัตราการส่งอาหารหรือทรัพยากรเหล่านี้ไปให้ถึงมือผู้บริโภคให้มากขึ้น จากเดิมเราจับมาได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ไปถึงผู้บริโภคเพียง 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ก็อาจช่วยลดอัตราการจับสัตว์น้ำให้น้อยลงได้ ธนาคารโลกเองมีบทบาทในการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบทำความเย็นทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี โดยมีการกำหนดกลยุทธ์และแผนการในการขนส่งที่มีการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและประหยัดพลังงาน อาจไม่ต้องเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็ได้ แต่ต้องมีการมองอย่างเป็นระบบ วิธีการนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง เพราะเราไม่ต้องจ่ายให้กับส่วนต่างของมูลค่าสินค้าที่สูญเสียไประหว่างทาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูงที่สุด
และสำหรับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางธนาคารโลกก็มีกระบวนการทำงานที่ต่างจากอดีต คือการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย (Strategic Country Diagnostic : SCD) แล้วจึงมากำหนดว่าอะไรที่ควรให้ความสำคัญก่อน โดยทางรัฐบาลจะมีการกำหนดขึ้นมาว่าต้องการให้ทางธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง มีการสร้างขอบเขตความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทยขึ้นมาภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี อย่างเร็วๆ นี้ก็จะเป็นประเด็นการลดขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีนและไทย ต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้
การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมสามารถทำควบคู่การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ในเรื่องการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับความพยายามป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ท่าน ดร.วิรัช ได้อธิบายแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังว่า “ในอดีตเราอาจมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอาจไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีใดมาช่วยรักษาสมดุลเพื่อจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อย่างในตอนนี้ที่เราเปลี่ยนการใช้น้ำยาในเครื่องปรับอากาศจาก CFCs มาเป็น HFC ที่แยกออกมาอีกหลายประเภททั้ง R22 และ R410A ซึ่งก็ยังมีผลที่ทำให้โลกร้อนขึ้นได้ประมาณ 1,810 – 2,090 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมจึงหันมาเลือกใช้สารที่มีประสิทธิภาพกลางๆ คือ HFC R32 มีค่าที่ทำให้โลกร้อนเพียง 675 เท่าของคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ไซต์ แม้จะยังเป็นค่าที่สูงแต่ก็มีการออกแบบให้มีการรั่วไหลของสารในปริมาณที่น้อยที่สุดด้วยการลงทุนทำระบบข้อต่อต่างๆ ให้ดีขึ้น ผลปรากฏว่าระบบนี้กลับมีปริมาณการรั่วน้อยและเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถผลิตเครื่องปรับอากาศให้มีขนาดเล็กลงได้ด้วย เพราะการทำความเย็นที่ดีกว่า ขนาดของเครื่องปรับอากาศจึงสามารถลดลงส่งผลต่อการลดต้นทุนในการผลิตและท้ายที่สุดทำให้เกิดขยะน้อยลง ฉะนั้น การปฏิบัติตามแนวทางนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีที่เรามีค่อนข้างพร้อมอยู่ที่ว่าเราจะหยิบเอามาใช้ให้ได้ประโยชน์ต่อหลายๆ ฝ่าย”
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เดินไปถึงขั้นที่เราสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด นอกจากนี้เทคโนโลยีที่จะถูกนำมาใช้นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศไทยมีช่างที่มีคุณภาพและประชาชนรู้ว่าการซ่อมบำรุงที่ถูกต้องคืออะไร เราสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ เราก็สามารถเดินไปหน้าต่อไปในแนวทางนั้นได้ ปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของช่างซ่อมบำรุงให้มากขึ้น ดึงเอาส่วนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการดูแลรักษาของใช้ เมื่อเราพร้อมและมีความรู้ความเข้าใจในการรับมือเป็นอย่างดีเมื่อไหร่ เราจึงสามารถเดินหน้าใช้สารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ (แต่อาจมีอันตรายมากกว่าด้วย) เราไม่ควรให้ความสมบูรณ์กลายมาเป็นสิ่งที่ทำลายเราในภายหลังจะดีกว่า กรณีที่การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาคือ การทำความร่วมมือระหว่างทางธนาคารโลกกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเจรจาขอนำเทคโนโลยี R32ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นเจ้าเดียวที่ถือครองสิทธิบัตรอยู่เข้ามาให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย โดยสุดท้ายแล้วเราก็สามารถผลิต จัดจำหน่ายได้โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตร และถือเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ให้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันได้ในวงกว้าง ทั้งนี้ เพราะเราสามารถสร้างเงื่อนไขที่ทั้งประเทศไทยและเจ้าของสิทธิบัตรสามารถมีประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีภาคการผลิตในอนาคต ธนาคารโลกเองก็กำลังร่วมมือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการทำ Business Matching โดยส่งเสริมให้บริษัทที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์แต่ยังไม่สามารถเปิดตลาดและบริษัทที่มีความต้องการเทคโนโลยีตัวนี้มาทำการค้าร่วมกันทั้งในตลาดประเทศไทยเอง รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์เพื่อขยายตลาด เมื่อผู้ผลิตหันมาสั่งซื้อสินค้าที่เดียวกัน ปริมาณการซื้อขายก็มากขึ้น ราคาก็จะลดลง คนที่ให้เทคโนโลยีก็สามารถทำยอดขายได้เพิ่ม เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม
ดร.วิรัช แสดงความเห็นทิ้งท้ายต่อปัญหาที่เป็นกังวลมากที่สุดในระดับสากลตอนนี้คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการประชุมและทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส คือ จะพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หากเราไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งหมดทำให้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้อีก เราในส่วนของประชาชนผู้มีส่วนร่วมควรตระหนักและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเรื่องความอยู่รอดและปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเรามุทะลุตั้งหน้าตั้งตากอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเพียงอย่างเดียว สักวันหนึ่งการกระทำเหล่านี้อาจย้อนกลับมาเป็นปัญหาลูกโซ่ทำร้ายลูกหลานของเราในอนาคตได้
เรื่อง : ณัฐพัชฐ์ สุมา
ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้เริ่มต้นทดสอบการให้บริการรถไฟใต้ดิน โดยผู้โดยสารจะต้องเดินไปที่ชานชาลาและใช้ใบหน้าหรือเสียงเพื่อที่จะทำการจ่ายค่าบริการ เมื่อระบบพิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วจึงทำการตัดเงินจากบัญชี Alipay โดยบริษัท Alibaba นั่นหมายความว่าถ้าหากระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จและถูกใช้อย่างแพร่หลายเป็นการทั่วไป ผู้คนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงินสด พกกระเป๋าสตางค์หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือเพื่อการจ่ายเงินในระบบขนส่งของจีนอีกต่อไป
บริษัท Alibaba Group Holding Ltd. ได้ลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI รวมทั้งการออกแบบไมโครชิพ AI ด้วยเงินลงทุนถึง 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะทำให้ประเทศจีนกลายเป็นประเทศชั้นนำในการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ด้าน AI และการคำนวณชั้นสูงอีกก้าวหนึ่ง
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท Microsoft และ Google ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาไมโครชิพเพื่อบริหารจัดการระบบเซิร์ฟเวอร์และคลาวด์ (cloud) ซึ่งมีขีดความสามารถทางด้าน AI เป็นหลัก
ในขณะนี้มีสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศจีนกำลังจะกระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพื่อออกแบบและผลิตไมโครชิพ AI ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจสอบเสียงของมนุษย์เพื่อบ่งบอกตัวบุคคล (voice recognition) และเพื่อตรวจจับและระบุวัตถุว่าวัตถุนั้นคืออะไร (object detection) ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่เคยประกาศที่จะให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนาไมโครชิพในลักษณะนี้มาก่อน
"Made in China 2025" ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศจีนบนเป้าหมายเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศจีนให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศเยอรมัน โดยถือว่าเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้มีการใช้คำว่า “อุตสาหกรรม 4.0” ในปี 2011 เป็นครั้งแรกของโลก และหลังจากนั้นหลายประเทศก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดดังกล่าว ซึ่งแก่นแท้ของแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ก็คือการผลิตที่มีความชาญฉลาดโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์ที่เรียกว่า “Internet of Things” หรือ IoT ทำการเชื่อมโยงระบบการทำงานขององค์กรจนไปถึงระบบการผลิตในโรงงาน ตั้งแต่การผลิตขนาดเล็กจนไปถึงการผลิตระดับกลางและใหญ่ จนนำไปสู่การผลิตแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์นั่นเอง
การจะเป็นผู้นำด้านการผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลกนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพัฒนาและวิจัยทางด้าน AI ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไมโครชิพ AI ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้ประเทศจีน ได้มีความชัดเจนว่า AI เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปต่างหวาดระแวงที่ประเทศจีนจะครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคมและสามารถที่จะควบคุมอุตสาหกรรมกรรมใหม่ของโลกจนประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 นั่นเอง
สงครามกีดกันทางการค้า (trade war) เริ่มปรากฏชัด โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันประเทศจีนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เช่น เทคโนโลยีไมโครชิพ AI ซึ่งประเทศจีนมีนโยบายให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านไมโครชิพ AI มากกว่าปกติตั้งแต่ปี 2017 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศจีนได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้าน AI อันดับหนึ่งของโลกภายในปี 2030 โดยบริษัท Huawei พยายามทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพ AI เพื่อเอาชนะบริษัท Intel และ Qualcomm เพื่อเป็นอันดับหนึ่งของโลกให้ได้
เทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้ผลิตไมโครชิพกำลังจะกลายเป็นตัวชี้ชะตาศูนย์อำนาจของโลก โดยในขณะนี้ประเทศจีนจะต้องนำเข้าไมโครชิพด้วยการจ่ายเงินออกนอกประเทศถึงสามเท่าของเงินที่ใช้ในการลงทุนผลิตไมโครชิพเองในประเทศ ทั้งนี้เพราะประเทศจีนยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตไมโครชิพใช้เองภายในประเทศ โดยจากผลการวิจัยของบริษัทวิจัย Gavekal Dragonomics พบว่าเงินที่ประเทศจีนต้องจ่ายไปเพื่อซื้อไมโครชิพนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2017 ถึง 2020 และจากการกีดกันทางการค้าจากประเทศตะวันตกและประเทศสหรัฐอเมริกา จึงยิ่งจะทำให้ประเทศจีนไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการพัฒนาไมโครชิพให้เป็นเทคโนโลยีของตัวเองได้เลย
ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจในทศวรรษต่อจากนี้ไป คือประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิพ AI เท่านั้น
Reference
บทความโดย | พันเอก ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ
ขอเชิญผู้สนใจศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหาร / จัดการ เข้าร่วมงาน Open House ในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง Meeting Room 3 - 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเรียนบริหารเฉพาะทางด้วยหลักสูตรคุณภาพสู่การเป็นมืออาชีพอย่างละเอียด จาก คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://goo.gl/KMd4kw (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-470-9795, 02-470-9781, 084-676-5885
ขอเชิญผู้สนใจศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหาร / จัดการ เข้าร่วมงาน Open House ในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง Meeting Room 3 - 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับฟังข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเรียนบริหารเฉพาะทางด้วยหลักสูตรคุณภาพสู่การเป็นมืออาชีพอย่างละเอียด จาก คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://goo.gl/KMd4kw (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-470-9795, 02-470-9781, 084-676-5885
หลายปีมานี้ ผมเชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Disrupt” กันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเคสของธุรกิจใหญ่น้อยทั่วโลกที่ถูกเจ้าคำว่า “Disrupt” นี่เล่นงานจนแทบจะล้มหายตายจาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เจ้า “Disrupt” นี่เองก็ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบและโมเดลในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์แหวกแนวขึ้นจนธุรกิจมีมูลค่าได้มหาศาล โดยสาเหตุของการตายจากหรือเติบโตเหล่านี้สามารถได้ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนส่งกระทบกับธุรกิจในรูปของโอกาสและภัยคุกคามแล้วแต่ว่าตัวธุรกิจนั้นปรับตัวเองได้ดีแค่ไหน
เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้งานตลอดเวลาเหมือนอากาศที่หายใจ มีซีพียูคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หน่วยเก็บข้อมูลก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนพลังทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมของพวกเราทุกวัน และเชื่อว่าปีสองปีมานี้เราคงได้ยินชื่อเทคโนโลยีนึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง นั่นก็คือ Blockchain
กำเนิดและจุดเด่นของ Blockchain
Blockchain นั้นเป็นแนวคิดใหม่ในการเก็บข้อมูล มันเกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวปฏิรูปที่ประสงค์จะสร้างระบบทางการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ตัวกลาง หรือธนาคารใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอิสรภาพในการโอนย้าย “เงิน” ของพวกเขาโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หรือตกอยู่ภายใต้ระเบียบข้อจำกัดใดๆ และนั่นทำให้ต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ที่ข้อมูลไม่ได้รวมกันอยู่ในศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงจากไหนก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ แนวคิดการบันทึกข้อมูลแบบใหม่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Blockchain และเนื่องจากแนวคิด Blockchain นี้สามารถขจัดปัญหาของการเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิมที่รู้จักกันได้หลายเรื่อง จึงทำให้มันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจ และเชื่อกันว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิด Disruption กับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางในเรื่องต่างๆ เช่น ธนาคาร ทะเบียนประวัติ กรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน เป็นต้น โดยคุณสมบัติเด่นๆ ของ Blockchain ก็คือ
เทคนิคของ Blockchain
Distributed Database
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดหลักของ Blockchain คือการไม่มีศูนย์กลางข้อมูล แต่ให้ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับทุกคนและทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยใช้หลักฐานข้อมูลแบบกระจาย จะเห็นว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบนี้ จะลดปัญหาการที่ระบบทั้งหมดจะต้องไปพึ่งพิงฐานข้อมูลเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณไปที่สถานีรถไฟฟ้าเกิดเหตุระบบสื่อสารขัดข้อง ทำให้เครื่องอ่านบัตรไม่สามารถตรวจสอบวงเงินในบัตรของคุณจากฐานข้อมูลกลางได้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่สามารถใช้บัตรได้ ยังไม่นับว่าถ้ามี hacker ไหนเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลซึ่งมีอยู่ที่เดียว และลบข้อมูลยอดเงินของทุกคนออกเพียงเท่านี้ก็จบแล้ว แม้จะมีทางแก้ไขด้วยการสำรองข้อมูล แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะดึงข้อมูลสำรองออกมาใช้ได้ แต่อย่างไรก็ดีมันมีคำถามว่า ในสภาพที่มีฐานข้อมูลในระบบจำนวนมาก หากข้อมูลแต่ละคนเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา จะมีใครฟันธงได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร คำตอบของเรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก นั่นก็คือประชามติ
Consensus
ธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันในเครือข่าย Blockchain ก่อนเสมอ และมีโอกาสที่ข้อมูลในเครื่องเราหรือบางเครื่องในเครือข่ายจะไม่ตรงกัน ซึ่งในกรณีนั้น เครือข่าย Blockchain จะถือว่าค่าที่ถูกต้องคือค่าที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องส่วนใหญ่ของเครือข่าย และเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลในเครื่องที่ต่างออกไปเหล่านั้น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ blockchain แต่ละระบบว่าจะทำอย่างไรกับพวกชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ บางระบบก็เลือกที่จะตัดเครื่องเหล่านั้นออกไปเลย แต่บางระบบก็ออกแบบให้พวกที่ข้อมูลไม่เหมือนจะต้องทำการ Sync ฐานข้อมูลใหม่ ให้ตรงกับคนอื่น การเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลของเครื่องบางเครื่องที่ต่างออกไป ทำให้ Blockchain มีคุณสมบัติด้านความเชื่อถือได้ของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ชำรุดหรือถูกแก้ไขโดยมิชอบ จะเกิดขึ้นได้แค่กับบางเครื่อง ซึ่งจะไม่เป็นที่ยอมรับในเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับเครื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แบบนี้มันไม่ทำให้ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดเหรอ คำตอบเรื่องนี้อยู่ในชื่อของมันเอง “Block” & “Chain”
Block and Chain
ชื่อของ Blockchain นั้นมีที่มาจากสองคำ คือคำว่า Block และ Chain เพราะการบันทึกข้อมูลของ Blockchain จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงใน “Block” เป็นอันๆ คล้ายๆ กับที่เรามีสมุดบัญชีเป็นเล่มๆ และที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูลจะไม่ใช้วิธีการเขียนทับเช่น เดิม A= 5 แก้เป็น A= 17 แต่เป็นการจดต่อไปเรื่อยๆ (Append Only) เหมือนเราเขียนธุรกรรมในสมุดบัญชีเลย (จากกรณีเก่า ก็จะเป็น A = 5, แล้วก็ A + 12) จนกระทั่งเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น Block เต็ม หรือครบกำหนดเวลา เราก็จะเลิกบันทึกข้อมูลใน Block นี้และไปขึ้น Block ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างออกไปคือ ตอนปิด Block เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า hash ซึ่งอธิบายสั้นๆ คือการนำข้อมูลทั้งหมดใน Blockไปเข้ากระบวนการทางคณิตศาสตร์อันนึง ผลลัพธ์ของมันจะเป็นชุดอักขระชุดหนึ่งที่ยากยิ่งจะจดทำ เช่น 00000000000008a3a41b85b8b29ad444def299fee21793cd8b9e567eab02cd81 และด้วยเหตุที่อักขระชุดนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดใน block ดังนั้นถ้าหากข้อมูลใน block นี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่เพียงน้อยนิด แล้วเอามาทำ hash ใหม่ hash อันที่สองจะไม่เหมือน hash อันแรก ดังนั้นการตรวจสอบ Block จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลทั้งหมดของ block แต่เพียงแค่เอาค่า hash มาเทียบกันก็รู้แล้วว่าเนื้อใน block ตรงกันหรือไม่ นี่คือคำว่า Block ทีนี้ แล้วอะไรคือ Chain
เมื่อปิด Block และได้ค่า hash ก็จะเริ่มมีการบันทึกรายการต่างๆ เข้าสู่ block ถัดไปโดยจะได้มีการนำค่า hash ของ Block ก่อนหน้ามาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลใน Block ปัจจุบันนี้ด้วย ดังนั้นหากเราปิด Block นี้และได้ค่า hash ล่าสุดออกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ฝังค่า Block ที่แล้วไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะถ้าเปลี่ยน เราจะรู้ทันทีเนื่องจากมันไม่ตรงกับ hash ใน block นี้ เจ้าตัว hash ที่ฝังต่อๆ กันไปตาม block ต่างๆ ที่จะต้องตรงกันเป็นคู่ๆ เสมือนเป็นโซ่ที่ล่าม block เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน และจากแนวคิดที่ทุกบิทของข้อมูลมีผลต่อค่า hash + เรื่องที่ว่าค่า hash ส่งผลต่อค่า hash กันไปเป็นทอดๆ + ฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจะถูกตัดทิ้ง ทำให้ Blockchain กลายเป็นวิธีการบันทึกข้อมูล ที่เมื่อบันทึกลงไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก เชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และสามารถใช้งานข้อมูลได้ตลอดเวลา
Blockchain กับธุรกิจ
ในแง่ประโยชน์
หากธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวพันกับคนทั้งในและนอกองค์กร ซึ่งปกติทั้งสองฝ่ายต้องมีคนคอยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในกระบวนการเช็คกันไปกันมา การใช้ Blockchain จะสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และปลอดภัยต่อการถูกแก้ไขหรือแอบนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งเครือข่ายจะมีเสถียรภาพสูง ขัดข้องได้ยาก นอกเหนือจากนี้การใช้ Blockchain ยังเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแง่ของผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ภาคส่วนต่างๆ มาสร้างมูลค่าร่วมกันได้ อาทิ Platform ในการสร้างสินค้า Digital เช่น เพลง การ์ตูน หรือนิยาย แล้วบันทึกลงไปใน Blockchain ทำให้มันกลายเป็น Digital Asset ที่สามารถซื้อขาย หรือเช่าใช้ สิทธิ์ในตัว Asset นี้
ในแง่ภัยคุกคาม
หากธุรกิจของคุณเป็นตัวกลาง อาทิ ธนาคาร ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อมาขายไป เว็บขาย contents อย่าง iTune ฯลฯ Blockchain จะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของคุณเต็มๆ เพราะตัวมันเองเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดตัวกลาง และมุ่งให้แต่ละภาคส่วนเชื่อมโยงกันเองโดยตรง ตัวอย่างเช่น เราคงรู้จักบริการแบบ Netflix ซึ่งซื้อ contents จากผู้ผลิตมาจำนวนนึง แล้วให้ผู้บริโภครับชมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ด้วย Blockchain ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ลงโฆษณา และผู้ชม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน Blockchain จะช่วยให้เจ้าของ contents มั่นใจได้ว่าจำวนการรับชมที่เกิดขึ้นตรงต่อความเป็นจริง ผู้ลงโฆษณามั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนปรากฏขึ้นตามเงื่อนไข ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ผู้รับชมก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ
ในตอนท้ายนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่า Blockchain นั้นคืออะไร และทำไมมันถึงถูกกล่าวขวัญถึงในช่วงนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องลองคิดดูว่าเราจะใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร หรือจะ Transform ธุรกิจของเราอย่างไร จากเทคโนโลยีนี้
บทความ โดย : คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd.
สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain Application, The new Management Instrument and Transformation
โดย คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd. จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่
มธบ.จัด Workshop การถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ (Visual Thinking) ครั้งแรกในไทยและอาเซียน ของการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิตัล โดยวิทยากรเจ้าของหนังสือ Visual Thinking ที่ขายดีไปทั่วโลกและได้รับการแปลถึง 11 ภาษา ชี้การสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ ได้เห็นความสำคัญของการสื่อสารในรูปแบบ “Visual Thinking” และเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลขององค์กรทั้งการสื่อสารภายใน และภายนอกองค์กร จึงได้จัดเวิร์คชอป ในหัวข้อ “Visual Thinking: Empowering Your Vision through Visual Thinking” โดยเชิญ Willemien Brand ที่เป็นทั้งผู้เขียนหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลกชื่อ Visual Thinking ซึ่งถูกนำไปแปลถึง 11 ภาษา และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ มาเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ของการถ่ายทอดการสร้างทักษะการสื่อสารด้วยภาษาภาพที่เป็นหนึ่งใน Future Skill ที่สำคัญมาก โดยจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2562 เวลา 8.30-17.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การสื่อสารเชิงธุรกิจเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทั้งด้านภาษาหรือวัฒนธรรม หากองค์กรมีทีมงานที่มีทักษะในการสื่อสารเชิงธุรกิจที่สามารถอธิบายเรื่องราวหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยผ่านกระบวนการการสื่อสารรูปแบบที่ใช้ทักษะใหม่ ด้วยการจัดระเบียบความคิดและอธิบายผ่านรูปภาพ (Visual Thinking) เพื่อให้ผู้ได้รับสารนั้นมองเห็นภาพอย่างชัดเจนและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในตัวบุคลากรขององค์กรที่จะเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ และยังทำให้เกิดการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายและได้ใจความสำคัญให้กับลูกค้าขององค์กร นอกจากนี้การสื่อสารในระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรก็เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัลอีกด้วย
ดร.พัทธนันท์ กล่าวด้วยว่า “Visual Thinking” ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การเล่าเรื่องราวคุณค่าที่องค์กรจะนำเสนอให้แก่ลูกค้าเป้าหมายเท่านั้น แต่การสื่อสารในองค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การสื่อสารแนวคิดยุทธวิธีการทำธุรกิจ กลยุทธ์ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราว การอธิบาย ผ่านตัวหนังสือนั้นไม่อาจทำให้คนเห็นภาพได้ แต่การอธิบายด้วยภาพนั้นสามารถอธิบายได้มากกว่าล้านคำพูด ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ถ้าองค์กรของเราสามารถทำได้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแนวทางในการสร้างคุณค่าสู่ลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่สนใจสามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 065-594-9955 Facebook : @DPUPraxis Line@ : https://line.me/R/ti/p/@dpupraxis E-mail :This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.