โดยคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์ โดยคาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-emptive Right) ไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO ทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโล
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “เอสซีจี มีกลยุทธ์มุ่งส่งเสริมการดำเนินงานของทุกธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า และเติบโตอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ด้วยการเร่งทรานส์ฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการใหม่ของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ดังเช่น SCGP ที่ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับแผนงานการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต และรักษาความเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบัน SCGP เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขาย 124,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะมีการทำ IPO ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งยกระดับเป็น Green Construction และเป็นผู้นำนวัตกรรมโซลูชัน สินค้า บริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพสูง โดยในปี 2564 มีรายได้จากการขาย คิดเป็นร้อยละ 45 และมีกำไร คิดเป็นร้อยละ 61 ของเอสซีจี โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมตั้งแต่ปิโตรเคมีขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย โดยที่ผ่านมาธุรกิจได้ขยายการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศไทยแล้ว เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ลงทุนพัฒนาโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ทางตอนใต้ห่างจากนครโฮจิมินห์เพียง 100 กิโลเมตร ซึ่งมีความคืบหน้าตามแผน โดยปัจจุบัน โครงการ LSP ก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 91 และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในประมาณครึ่งแรกของปี 2566 รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาการขยายโครงการ LSP2 เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขยายโรงงานอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการสินค้าปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูงอีกด้วย (Foreign Direct Investment - FDI)
ขณะเดียวกันเอสซีจี เคมิคอลส์ ยังเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 30 ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรรายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีประชากรมากถึง 270 ล้านคน และเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 3 ประเทศดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมกว่า 2 ใน 3 ของ GDP และประชากรในภูมิภาคอาเซียน สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีและพร้อมที่จะเติบโตในอนาคต
ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และให้เอสซีจี เคมิคอลส์ สามารถระดมทุนเพื่อมาใช้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง รองรับโอกาสในอนาคต ทั้งการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมถึงสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม(High Value Added Products and Services – HVA) รองรับเมกะเทรนด์ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์ โดยคาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre-emptive Right) ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด โดยที่ภายหลังการทำ IPO เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้มีอำนาจควบคุม เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นของเอสซีจี ได้รับประโยชน์จากผลการดำเนินงานของเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ การทำ IPO จะต้องยื่นร่างแบบคำขออนุญาต และได้รับอนุมัติคำขอจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ก่อนการดำเนินการ” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ ประจำปี 2564 เอสซีจี เคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 จากปีก่อน สาเหตุจากราคาขายและปริมาณขายสินค้าที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยมีกำไรสำหรับปี 28,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากปีก่อน
สำหรับสินทรัพย์รวมของเอสซีจี เคมิคอลส์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่า 377,174 ล้านบาท โดยร้อยละ 52 เป็นสินทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน