December 22, 2024

บำรุงราษฎร์ ยกระดับสถาบันโรคหัวใจ ให้การรักษาโรคหัวใจครอบคลุมทุกมิติในระดับเวิลด์คลาส

March 09, 2023 566

เนื่องด้วยประชากรโลกมีแนวโน้มของอายุขัยเพิ่มขึ้น ความต้องการการดูแลเรื่องหัวใจและหลอดเลือดอย่างครอบคลุมทุกมิติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเพิ่มขึ้นด้วย

เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ประชากรโลกกว่า 18 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเกิดโรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังมีความซับซ้อนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น”

“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับการบริการและการป้องกันโรคหัวใจ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ และการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดระยะเริ่มต้น จากความดันโลหิตสูงและระดับคอเลสเตอรอลอีกด้วย เพื่อรับมือกับจำนวนเคสโรคหัวใจและอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องที่เพิ่มสูงขึ้น” เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ กล่าวเสริม

เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ อธิบายว่า “สถาบันโรคหัวใจเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของบำรุงราษฎร์ แพทย์ชำนาญการของเราสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่งของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ก่อตั้งขึ้นจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของทีมผู้บริหารและศ. นพ. กุลวี เนตรมณี แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ตามที่ ศ. นพ. กุลวี กล่าวว่า “สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ มุ่งหวังที่จะให้การรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างครอบคลุม”

“สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ มุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัยและให้การรักษาที่ครอบคลุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงการคัดกรองและการส่งเสริมสุขภาวะของหัวใจ นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังมีแผนก Cardiac Care Unit (CCU) ที่ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤต และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับมามีชีวิตปกติได้อย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด” ศ. นพ. กุลวี อธิบาย

ในฐานะศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ของสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เราได้ยกระดับความรู้ด้านการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก เพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพสูงสุด ศ. นพ. กุลวี ย้ำว่า “บำรุงราษฎร์มีความพร้อมทุกประการในการบริบาลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ทีมผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคการรักษา งานวิจัยช่วยให้ทีมแพทย์ได้เรียนรู้ พัฒนา และค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ดีขึ้น เราไม่เคยหยุดพัฒนาและมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จให้มากขึ้น”

จากความสำเร็จของบำรุงราษฎร์ ทีมผู้บริหารและ ศ. นพ. กุลวี เห็นตรงกันว่า งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้สถาบันหัวใจบำรุงราษฎร์ พัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง ศ. นพ. กุลวี เสริมว่า “บำรุงราษฎร์ลงทุนกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างมหาศาล โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง ก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทน เมื่อเรามีทีมแพทย์ชำนาญการที่พร้อมให้การรักษา สถาบันหัวใจบำรุงราษฎร์ จึงถือเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหัวใจระดับโลกอย่างแท้จริง ตัวอย่างงานวิจัยที่ผ่านมา ได้แก่ โรคใหลตาย ทีมแพทย์ใช้เวลากว่า 30 ปีในการติดตามการรักษาโรคใหลตายด้วยการจี้พังผืดบริเวณพื้นผิวของหัวใจห้องขวาล่าง นอกจากนี้ เรายังทำวิจัยเรื่องประโยชน์และข้อจำกัดในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้หัวใจผ่านสายสวนในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอีกด้วย”

ศ. นพ. กุลวี เนตรมณี เป็นแพทย์ด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจที่มีประสบการณ์การทำวิจัยและการรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ศ. นพ. กุลวี นับเป็นหนึ่งในแพทย์คนแรกของโลกที่ค้นพบสาเหตุของโรคใหลตาย หรือการตายระหว่างนอนหลับอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ยังมีศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ (หรือ Arrhythmia Center) ที่นับว่าเป็นศูนย์ให้การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากทีมแพทย์ที่ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะและได้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้หัวใจผ่านสายสวนในเคสที่ซับซ้อนหลายเคส

นอกจากนี้ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ยังเป็นศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยระดับตติยภูมิในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขยายขอบเขตการรับรักษาไปยังทุกแห่งของโลก โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะของบำรุงราษฎร์ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในการจี้หัวใจผ่านสายสวนในผู้ป่วยที่มีอาการ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว เนื่องจากเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ศึกษาการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (CFAE ablation) ร่วมกับเทคโนโลยี CardioInsight ตรวจจับหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยไม่ต้องมีการผ่าตัดหรือสอดเครื่องมือใด ๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ศ. นพ. กุลวี เนตรมณี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “เราตีพิมพ์บทความวิจัยประมาณ 10 บทความต่อปีในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก เราภาคภูมิใจกับความสำเร็จนี้ เรายังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการรักษาผู้ป่วย และร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่สำคัญคือ เราเป็นที่ปรึกษาด้านงานวิจัยระดับโลก ที่ได้รับความเชื่อถือจากสถาบันโรคหัวใจนานาชาติจากสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ให้รีวิวงานวิจัยและให้ความคิดเห็น โดยที่ผ่านมาหลายสถาบัน ต่างก็ให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน และสร้างความร่วมมือต่อไปในอนาคต”

นพ. อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ย้ำว่า “ศาสตร์โรคหัวใจเป็นสาขาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับอีกหลายสาขา สาขาย่อยต่าง ๆ ของศาสตร์นี้มุ่งเน้นการรักษาเฉพาะส่วนของหัวใจ ดังนั้น ความเข้าใจในส่วนประกอบต่าง ๆ ของหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีผลการรักษาผู้ป่วยที่ยอดเยี่ยมเป็นที่น่าพอใจ”

นพ. อชิรวินทร์ เปิดเผยว่า ผลลัพธ์การรักษาแสดงให้เห็นว่าสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพระดับเวิลด์คลาส

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ มุ่งเน้นการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ที่อาจนำมาสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต ในปี 2565 เราได้รักษาโดยการสวนเส้นเลือดหัวใจและการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด รวมทั้งสิ้น 812 ราย โดยประสบความสำเร็จ 99.2% ในขณะที่สถิติความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 95% การเกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ 0.39% ในขณะที่สถิติการเกิดภาวะแทรกซ้อนของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2.65%. โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการเพียง 1 วันหลังการรักษา
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและสรีรวิทยาไฟฟ้า มุ่งเน้นที่การวินิจฉัยและการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ รวมถึงภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอื่น ๆ ในปีที่ผ่านมา เรารักษาด้วยสรีรวิทยาไฟฟ้า ทั้งหมด 183 ราย อัตราความสำเร็จอยู่ที่ 100% เราได้จี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง เพื่อรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยมีอัตราภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ 35% ในขณะที่สถิติการเกิดภาวะแทรกซ้อนของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 6.5%การรักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมีอัตราความสำเร็จที่ 100% โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน
  • TAVR/TAVI หรือ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยการใช้สายสวนแบบไม่ต้องผ่าตัด มุ่งเน้นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกในผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจตีบตัน ลิ้นหัวใจแคบลงและขัดขวางการไหลเวียนของเลือด สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ได้รักษาการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยการใช้สายสวนแบบไม่ต้องผ่าตัดไปทั้งสิ้น 26 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนเคสที่มากที่สุดในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย อัตราความสำเร็จอยู่ที่ 100% โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงและการปลูกถ่ายหัวใจ มุ่งเน้นการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษจากทีมสหสาขาวิชาชีพหรือจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจได้ และได้รับการรับรองจาก Joint Commission International อัตราการรอดชีวิตหลังจากปลูกถ่ายหัวใจใน 1 ปีอยู่ที่ 100% โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ คือการผ่าตัดเผื่อเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจที่ตีบตันหรือแคบลง เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น ในปีที่ผ่านมา เราได้ผ่าตัดหัวใจไป 430 ราย ในจำนวนนี้มี 71 รายที่เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลเป็น 0% ในขณะที่สถิติการเสียชีวิตของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1% ไม่มีรายงานของภาวะสมองขาดเลือดหลังการผ่าตัดในขณะที่สถิติของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3%
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ มุ่งเน้นที่การออกแบบดูแลการออกกำลังกายและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคหัวใจและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจของเราช่วยให้ 100% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 7 วัน (สถิติเฉลี่ยอยู่ที่ 90%) และ 97% ของผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ภายใน 4 วัน (สถิติเฉลี่ยอยู่ที่ 90%)
  • โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มุ่งเน้นการศึกษาพันธุกรรมที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ และโรคไขมันในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ ในปัจจุบัน ความรู้เรื่องพันธุกรรมพัฒนาไปมากจนสามารถระบุยีนที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้ การตรวจรหัสพันธุกรรมช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจแต่ยังไม่แสดงอาการได้ นอกจากนี้ การตรวจรหัสพันธุกรรมยังช่วยในการวางแผนการมีบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ในปีที่ผ่านมา เราได้มีการตรวจรหัสพันธุกรรมไปทั้งสิ้น 360 ราย

จากสถิติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เป็นสถาบันโรคหัวใจชั้นนำที่สามารถรักษาโรคหัวใจได้อย่างครบทุกมิติ มีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับความพึงพอใจสูงสุด

Related items

X

Right Click

No right click