สะท้อนความสำเร็จโดยรวมจากทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ด้วยการกวาดยอดขายเติบโตทะลุ 10% เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์อุตสาหกรรม โฮมโปรเจคเตอร์ และเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัล พร้อมเดินหน้า เติมความสดใหม่ให้กับธุรกิจผ่านกลยุทธ์ “NEW 5” และเน้นสร้างคุณค่าที่แตกต่างผ่านกลยุทธ์ Sustainability Marketing เพื่อธุรกิจ B2B ยุคใหม่
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ มีการรับรู้รายได้รวมจากการขายผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มในปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่บริษัทฯ สามารถทำได้ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานราชการได้มีการลงทุนกับอุปกรณ์ไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถาบันการศึกษาจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ และการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้มีการจัดกิจกรรมการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับการกลับมาให้บริการอีกครั้งของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศได้เป็นปกติ รวมไปถึงภาคการผลิตของไทยก็ยังใช้ระบบซัพพลายเชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็เริ่มคลี่คลาย ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ตลาดไอทีในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น”
สำหรับธุรกิจของเอปสันประเทศไทยในปีที่ผ่านมา กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงที่สุดถึง 170% ซึ่งเอปสันได้มีการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อแนะนำสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความมั่นใจของผู้บริโภคในแบรนด์เอปสันที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด ถัดมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมโปรเจคเตอร์ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 64% โดยเป็นผลมาจากจำนวนลูกค้าติดตั้งโฮมเธียเตอร์ระดับไฮเอนด์ภายในบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสความสนใจชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดูภาพยนตร์แบบส่วนตัวภาย ในบ้านมากขึ้น และอันดับที่ 3 ได้แก่กลุ่มเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัลที่เติบโต 52% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยรวม
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีการเติบโตได้ดี ได้แก่กลุ่มผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 43% กลุ่มเครื่องพิมพ์มินิแล็บที่เติบโต 29% ขณะที่เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขนาดใหญ่ที่ทางเอปสันได้นำเข้าไปทำตลาดแข่งขันกับกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสารก็มีการเติบโตที่ดี โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 23% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดจากเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงานที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์อยู่เดิม
ด้านเป้าหมายและกลยุทธ์ธุรกิจของปี 2566 นายยรรยงได้กล่าวว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดไอทีต้องเผชิญกับบรรยากาศที่อึมครึม เริ่มตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 มาจนถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เอปสันได้ดำเนินกลยุทธ์ในหลายมิติจนสามารถก้าวข้ามความท้าทายมาได้ ในปี 2566 นี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตให้ได้มากกว่า 10% เป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยได้วางกลยุทธ์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในช่วง Post COVID19 เช่นนี้ ที่จะเน้นสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้กับธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่ ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘New 5’ ซึ่งประกอบด้วย New S-curve, New Target, New Business Model, New Service และ New Experience โดยยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) เป็นสารสำคัญที่จะถ่ายทอดผ่านกลยุทธ์ทุกทาง”
New S-curve มีเทคโนโลยี Heat-Free เป็นแกนหลัก ที่จะสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคตให้กับเอปสัน ร่วมด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อสร้างความความยั่งยืนให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาธุรกิจและการลงทุนสู่ความยั่งยืนของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น โดยที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่เอปสันประกาศยุติการจำหน่ายเครื่องพิมพ์เลเซอร์ พร้อมเปิดตัวเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นอิงเจ็ทในกลุ่ม WorkForce Enterprise รุ่น AM-Series ที่ใช้หัวพิมพ์ PrecisionCore Heat-Free Technology ที่กินไฟน้อย และถูกออกแบบให้มีชิ้นส่วนประกอบที่ต้องดูแลรักษาน้อย ทำให้บำรุงรักษาง่าย เพื่อมาแข่งขันในตลาดเดียวกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร นอกจากนี้ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เลเซอร์โปรเจคเตอร์ ที่มีแหล่งกำเนิดแสงแบบเลเซอร์ ให้ความสว่างที่สูงกว่าแต่กินไฟน้อยกว่าเทคโนโลยีแบบหลอดภาพกำลังสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาด
New Target เอปสันจะใช้ความได้เปรียบในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนรุ่นที่หลากหลายที่สุดในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทความเร็วสูงที่เอปสันได้เข้าไปทำตลาดในกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร ได้เปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่อย่าง WorkForce Enterprise AM-Series เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่จะมาช่วยเติมเต็มไลน์สินค้าและสร้างโอกาสในการเพิ่มการขาย ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี สอดคล้องกับข้อมูลตลาดจาก IDC ที่เปิดเผยว่าประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีสินค้าในกลุ่มเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ทำให้สามารถครอบคลุมความต้องการใช้งานได้หลากหลาย สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่
New Business Model เอปสัน ได้เริ่มทำธุรกิจเชิงการบริการ อย่างเช่นการนำเสนอรูปแบบบริการการพิมพ์แบบจ่ายรายเดือนอย่าง EasyCare ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะบริษัทฯ จะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น ทั้งยังมีบริการ On-site service ส่งช่างซ่อมไปถึงออฟฟิศ และในครึ่งปีหลังของปี 2566 ยังมีแผนที่จะเปิดการให้บริการการพิมพ์ภายใต้คอนเซ็ป Epson iPrint AnyWhere เพื่อสนับสนุนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ที่มีรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Hybrid มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการในการพิมพ์งานเอกสารตามสถานที่ต่างๆ โดยบริการนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้และองค์กรในการพิมพ์เอกสารได้จากหลายสถานที่ ผ่านเครื่องพิพม์เอปสันในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่าย
New Experience เอปสัน ประเทศไทย ได้มีการลงทุนในการสร้างโซลูชั่นเซ็นเตอร์แห่งใหม่ ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3 ของปี 2566 นี้ โดยจะรวบรวมผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาจัดแสดง พร้อมกับทำการสาธิตและจัดอบรมให้กับตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าที่สนใจ ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานเครื่องจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าองค์กร นอกจากนี้ โซลูชั่นเซ็นเตอร์แห่งใหม่นี้ยังถูกออกแบบด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นแบบแผนหรือต้นแบบให้องค์กรธุรกิจทั่วไปในการนำไปปรับใช้ในธุรกิจของตน
New Service ในด้านการบริการ เอปสันได้ทำการเสริมศักยภาพการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย โดยก่อนการขาย เอปสันได้เพิ่มทีมงาน Pre-sales เพื่อให้สนับสนุนการทำโซลูชั่นต่างๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนข้อมูลผ่านทาง digital platform ต่างๆ และที่สำคัญในปีใหม่นี้ เอปสันมีแผนขยายเครือข่ายการให้บริการหลังการขายของสินค้ากลุ่ม B2B จาก 122 แห่ง เป็น 130 แห่ง เพื่อตอบสนองการขยายตัวของสินค้าเอปสัน กลุ่ม B2B ที่ออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น รองรับการขยายตัวของตลาด และลดระยะเวลาในการส่งเครื่องซ่อม
นายยรรยง กล่าวเสริมว่า “กลยุทธ์ที่กล่าวมานั้นแสดงถึงความมุ่งมั่นและความต่อเนื่องของเอปสัน ประเทศไทยในการทำตลาดเชิงรุกและมีพลวัต มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ด้วยโซลูชั่นด้านผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อนำเสนอ “คุณค่าที่แตกต่าง” (Value) ที่ผสมผสานแนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำพาธุรกิจของผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์เอปสันเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้ากลุ่ม B2B ต้องการมากที่สุดจากการลงทุนเพื่อยกระดับธุรกิจให้พร้อมที่จะแข่งขันในตลาดที่เข้าสู่ยุค Digitalization อย่างเต็มตัว และสามารถเกิด Disruption ได้ทุกเวลา”
สำหรับปี 2566 นี้ เช่นเดียวกับเอปสันในทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เอปสัน ประเทศไทยจะยกระดับความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะผลักดันประเด็นดังกล่าวเข้าไปสู่กลไกทางธุรกิจและกิจกรรมทางการตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการขานรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น หรือที่เรียกว่า ‘Environmental Vision 2050’ รวมถึงการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าร่วมกับ WWF ซึ่งลงนามสัญญาในฐานะ International Partnerships กับทางสำนักงานใหญ่เป็นระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ หลังจากที่ก่อนหน้า ได้ร่วมมือกันทำงานบนโปรเจ็คท์อนุรักษ์ปะการังมาแล้วทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 2022
นายยรรยง กล่าวว่า “เอปสันให้ความสำคัญกับคุณค่าความยั่งยืน โดยบริษัทฯ เป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่โรงงานผลิตภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ และได้เดินหน้าเปลี่ยนในทุกโรงงานทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเปลี่ยนได้ทั้งหมดภายในปี 2566 นี้ ซึ่งได้ประมาณการว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ต่อปีได้ถึงราว 350,000 ตัน ปัจจุบัน โรงงานผลิตที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็ได้เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“ทุกวันนี้ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ผสานเข้ากับการทำธุรกิจของบริษัทมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังมีกระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบการตลอดซัพพลายเชนให้ความ สำคัญกับในเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ความยั่งยืนจึงเป็นตั้งแต่ไอเดียของกิจกรรมซีเอสอาร์ ไปจนถึงกลยุทธ์ในการทำตลาด และโดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ ความยั่งยืนกลายเป็นพันธกิจสำคัญที่กำหนดเป้าหมายและรูปแบบการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ที่ความยั่งยืนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอองค์กรไปแล้ว” นายยรรยง กล่าว