ถอดบทเรียนกลยุทธ์สร้างคุณค่าให้พนักงาน ป้องกันภาวะ Burnout ในแบบฉบับของ ‘ลิกซิล ประเทศไทย’

November 16, 2021 3955

American Standard, GROHE, INAX เเละ TOSTEM เหล่านี้คือชื่อแบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อที่อยู่อาศัยและสุขภัณฑ์ ที่เราชาวไทยและคนทั่วโลกต่างไว้วางใจในคุณภาพ

โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผลิตภายใต้มาตรฐานของบริษัท ‘LIXIL’ ลิกซิล บริษัทชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งมั่นในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจรสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เต็มเปี่ยมด้วย การผสานเทคโนโลยีเเละนวัตกรรม มาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานได้พบเจอ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านให้กับทุกคน ซึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรตามพันธกิจที่กล่าวมานี้จำเป็นต้องอาศัยพนักงานราว 55,000 คน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก

“พนักงานเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด สวัสดิภาพและความปลอดภัยของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับองค์กร” นี่จึงไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู ทว่า เป็นปรัชญาที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ ‘LIXIL’ หรือ ลิกซิลทั่วโลก กับการให้ความสำคัญกับพนักงานของลิกซิลทุกคน ให้สามารถทำงานและดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีรอบด้าน

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายสำหรับทุกประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทุกองค์กรทั่วโลกจึงต้องยกระดับนโยบายการดูแลพนักงาน เพื่อปกป้องให้ทุกคนปลอดภัยจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างคุณค่า ป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ ภาวะ Burnout ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่พนักงานบางส่วนต้อง Work from home (WFH) ด้วย

ในสถานการณ์เช่นนี้ ลิกซิล ประเทศไทย ตระหนักและห่วงใยพนักงาน ทั้งในส่วนของพนักงานที่ทำงานในสายการผลิต ฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย ไปจนถึงฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ จึงได้ตัดสินใจประกาศใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์ในการสื่อสารกับพนักงานเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาในช่วงวิกฤตนี้อย่างดีที่สุด

 

และเพื่อเรียนรู้ถึงโมเดลต้นแบบการดูแลพนักงานให้มีความสุขและรู้สึกมีคุณค่าตลอดการทำงานในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ผ่านพ้นไปของ ลิกซิล ประเทศไทย ซึ่งสามารถป้องกัน ภาวะ Burnout ที่อาจเกิดขึ้นกับคนทำงานทุกคนอย่างได้ผล วันนี้เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับ พรกนก เล็กยิ้ม ลีดเดอร์ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ลิกซิล ประเทศไทย ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงกลยุทธ์หลากหลายด้านที่ ลิกซิล ได้ฉวยเอาช่วงวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการลงมือทำ เพื่อพิสูจน์ถึงแนวคิดที่เชื่อมั่นว่า “พนักงานคือสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าที่สุดขององค์กร”

แนวคิดและที่มาของกลยุทธ์การปกป้องและสร้างคุณค่าให้พนักงาน พร้อมฝ่าวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

ในฐานะลีดเดอร์ของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ “ลิกซิล ประเทศไทย” คุณพรกนก ได้เล่าถึงที่มาของแนวคิดการดูแลพนักงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทั้งการใช้ชีวิต และรูปแบบการทำงานต้องปรับเปลี่ยนไปว่า

“ที่ ลิกซิล พนักงาน คือหัวใจของการดำเนินธุรกิจ องค์กรต้องพึ่งพาพวกเขาเพื่อการเติบโตและความสำเร็จ พวกเขาจึงเป็นส่วนสำคัญขององค์กร ดังนั้น ที่ผ่านมาเราจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการทำงานอย่างมีความสุข รู้สึกมีคุณค่าตลอดเวลาที่ทำงานที่ลิกซิล”

“จนกระทั่ง ในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ เรายิ่งตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ซึ่งเราถือว่านี่คือความรับผิดชอบของ ลิกซิล ขณะเดียวกัน เราต้องส่งผ่านความตระหนักในเรื่องนี้เข้าไปในการใช้ชีวิตในช่วงนี้ของพนักงานเราด้วย”

“ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ลิกซิลได้วางแนวคิดการรับมือกับสถานการณ์นี้ก่อน เพราะเราจะเห็นได้ในหลาย ๆ องค์กร เมื่อเกิดวิกฤตโควิดขึ้นก็จะมีการเลิกจ้าง ลดจำนวนพนักงาน ขณะที่ ตัวองค์กรเองก็ลดขนาดลง หรือ Downsizing องค์กร ไปจนถึงปิดกิจการ”

“แต่ที่ลิกซิลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้น ธุรกิจของเรายังคงดำเนินไปตามปกติ สายการผลิตยังคงดำเนินไปตามปกติ จึงไม่มีการเลิกจ้างหรือลดเงินเดือนพนักงานแต่อย่างใด”

ต่อมา คุณพรกนก ได้สื่อสารต่อถึงกลยุทธ์การดูแลพนักงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึง Well-being ของพนักงานลิกซิล โดยมี 3 แนวทางเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรของเราใช้สื่อสารกับพนักงานเพื่อสร้างความปลอดภัยและขวัญกำลังใจให้พวกเขาในช่วงวิกฤตนี้

เปิด 3 กลยุทธ์ของลิกซิล สร้าง Well-being ป้องกันภาวะ Burnout ระหว่างการทำงานอย่างได้ผล

มาถึง 3 กลยุทธ์ สร้าง Well-being ให้กับพนักงานช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่ง คุณพรกนก ได้แชร์ให้ฟังว่าเป็นผลจากการวางแผนมาอย่างดี ด้วยการผสานแนวคิดการดูแลพนักงานอย่างจริงใจที่เป็นปรัชญาของ ลิกซิล ทั่วโลก เข้ากับมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันโรคระบาด และการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการทำงานของพนักงาน ทั้งในกลุ่มที่ต้อง Work from home และกลุ่มที่ยังต้องเข้ามาทำงานที่บริษัทฯ

หนึ่ง : Stay Connected เป้าหมาย คือการปกป้องให้พนักงานทุกคนปลอดภัย

 

 

Employee Safety First หรือ แนวคิดการสร้างความปลอดภัยให้พนักงานทุกคน คือ แนวคิดตั้งต้นของกลยุทธ์ข้อนี้ โดยในช่วงเริ่มต้นของสถานการณ์แพร่ระบาด เราต้องทำให้พนักงานมีภูมิคุ้มกันในสถานการณ์นี้ก่อน ดังนั้น อันดับแรกที่เราทำ โดยไม่รอทางภาครัฐบาลจัดสรรให้ คือ การจัดหา จัดซื้อ วัคซีนเพื่อมาฉีดให้พนักงานของเรา ทั้งพนักงานที่ทำงานในส่วนของออฟฟิศและโรงงานทั้ง 2 แห่ง ที่รังสิตและจังหวัดระยอง โดยในครั้งนี้ ผู้บริหารของ ลิกซิล ประเทศไทย ได้ฉีดวัคซีนก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงานทุกคน จนถึงตอนนี้ พนักงานของลิกซิลประมาณ 1,200 คน ก็ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100% แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น เราได้ดูแลไปถึงครอบครัวของพนักงานทุกคน ให้ได้ฉีดวัคซีนด้วย เพราะเราเชื่อว่า ถ้าสมาชิกครอบครัวทุกคนปลอดภัย พนักงานเราก็ปลอดภัย เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในที่สุด โดยในกรณีนี้ทางบริษัทฯ จะจัดหาให้ และค่าฉีดวัคซีนก็จะหักจากเงินเดือนของพนักงาน

นอกจากนี้ที่โรงงานรังสิตและระยองเรายังจัดให้มีบริการตรวจหาเชื้อแบบ swab test สำหรับพนักงานที่เข้ามาปฏิบัติงานซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อกำหนดทั้งหมดของภาครัฐ อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทั้งในส่วนสำนักงานและโรงงานด้วยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้พนักงานนั่งรับประทานอาหารโดยเว้นระยะห่างให้เหมาะสม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงานรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย ขณะเดียวกัน มาตรการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อนี้ยังทำกับสินค้าที่จะส่งถึงมือลูกค้า เพื่อให้แน่ใจด้วยว่าผลิตภัณฑ์ของเราปลอดภัยจากเชื้อโรค

ทั้งนี้ บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) ยังมีนโยบายพิเศษในการช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการจัดตั้งศูนย์สุขภาพที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Health Line เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่รวดเร็วด้วย

สอง : Show care and drive growth ดูแลใจ พร้อม Upskill ทักษะใหม่รับการทำงานในแบบ New Normal

เป็นที่ยอมรับกันว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ เพื่อดูแลและป้องกันพนักงานจากภาวะหมดไฟในการทำงาน ทีมงานได้จัดทำโครงการ EAP ซึ่งพนักงานสามารถพูดคุยกับนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ได้โดยตรงเพื่อรับคำปรึกษาที่จำเป็น

ขณะที่ ในช่วงที่วิกฤตโควิดยังไม่คลี่คลาย เรามีพนักงานไม่น้อยที่ยังคงต้องทำงานทุกวัน เพื่อผลิตและส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า ทางบริษัทฯ ก็ตระหนักถึงความตั้งใจและเสียสละของพนักงานกลุ่มนี้ เราจึงจัด Boxset อาหารเมนูพิเศษ เช่น อาหารทะเล ส่งไปที่บ้านของพนักงานเหล่านี้ เพื่อแสดงความขอบคุณที่ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเทในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคครั้งนี้

และอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ ที่ทางบริษัทฯ ตั้งใจลงทุน โดยใช้ช่วงเวลาของวิกฤตนี้เองในการพัฒนาศักยภาพและทักษะของพนักงานลิกซิล ผ่านโครงการ #MyCareerJourney นอกจากนี้พนักงานยังสามารถเข้าร่วมโปรแกรมอบรมออนไลน์ผ่าน LinkedIn ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในโปรแกรมนี้จะมีหลักสูตรออนไลน์หรือโมดูลให้เลือกเรียนมากมายกว่า 200 โมดูล

โดยที่ผ่านมาพนักงานก็ไปเลือกเรียนทักษะข้ามสายงาน ซึ่งเป็นการสร้างเสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงานยุค Post-covid เช่น ทักษะการตลาด โลจิสติกส์ การขนส่ง การบริหารจัดการงานบุคคล เป็นต้น

มาถึงอีกหนึ่งตัวอย่างของกิจกรรมที่สื่อถึงความใส่ใจดูแลสุขภาวะของพนักงาน คือ การกำหนดให้ทุกวันศุกร์เป็น Free ZOOM Friday ซึ่งกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความใส่ใจของผู้บริหารที่เป็นห่วงว่าพนักงานที่ต้องทำงานและประชุมผ่านโปรแกรม ZOOM ในทุกวันทำงาน จะทำให้พนักงานรู้สึกเครียด เพราะมีงานวิจัยในระดับโลกออกมายืนยันแล้วว่าการใช้ ZOOM หรือโปรแกรมวิดีโอคอลทุกวันเป็นเวลานานติดต่อกันอาจทำให้เกิด "ภาวะความเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอล" ได้

ดังนั้น จึงมีการกำหนดให้ทุกวันศุกร์เป็นวันที่ไม่มีการทำงานผ่าน ZOOM เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้พักสมอง พักสายตา และใช้เวลาไปกับงานด้านการติดต่อผ่านโทรศัพท์ งานเอกสาร หรือเช็กอีเมลต่าง ๆ แทน

สาม : Communicate Proactively การทำงานแบบไร้รอยต่อ ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้พนักงาน

ตอนนี้พูดได้เลยว่า ทาง ลิกซิล ประเทศไทย มีความพร้อมอย่างมากที่จะ Work from home แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะทางฝ่ายไอทีได้เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานจากที่บ้าน โดยทางบริษัทฯ ได้จัดเตรียมโน้ตบุ๊ค และการเชื่อมต่อเครือข่าย Wifi ผ่าน Pocket Wifi เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานในทุกที่ นอกจากนั้น พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานได้ผ่านระบบคลาวด์

นอกจากนั้น ในการทำงานที่ผ่านมา ทาง ลิกซิล ได้เตรียมแพลตฟอร์ม Workplace ภายในของบริษัทฯ ไว้ เพื่อให้พนักงานสามารถล็อคอินเข้าไปใช้พูดคุย อัปเดต ข่าวสารต่าง ๆ ขององค์กรได้ตลอดช่วงที่พนักงานบางส่วนจำเป็นต้องทำงานที่บ้าน ทำให้พนักงานไม่ขาดการติดต่อ สื่อสาร กับทางองค์กร

ส่วนในการทำงานของ HR เราใช้ระบบ Recruitment บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้ง Virtual Job Fair และ มีการนัดสัมภาษณ์ผ่านโปรแกรม ZOOM นอกจากนั้น พนักงานที่เจ็บป่วย แล้วจำเป็นต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็สามารถสแกน QR Code เพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ขณะที่ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของเรา ก็สามารถใช้ QR Code เพื่อ Track ติดตามข้อมูล ได้เช่นกัน

แชร์ผลลัพธ์ชี้ถึงความสำเร็จของ กลยุทธ์ดูแลพนักงานในสถานการณ์โควิด ในแบบฉบับ ลิกซิล ประเทศไทย

เมื่อได้ทราบถึง 3 กลยุทธ์ ที่ ลิกซิล ประเทศไทย ใช้ดูแลพนักงานในสถานการณ์โควิดแล้ว ทำให้เราอยากทราบต่อถึงผลลัพธ์ของการดำเนินกลยุทธ์นี้ โดย คุณพรกนก เล่าว่า

“จากการทำ Survey ของทางบริษัท ที่เรียกว่า LIXIL Voice เราพบว่า เสียงสะท้อนของพนักงานส่วนใหญ่มีความรู้สึกตรงกันว่าทางบริษัทฯ ให้การดูแลพนักงานได้ค่อนข้างดี ซึ่งทำให้พวกเขาพึงพอใจในแง่ของการดูแลช่วยเหลือในช่วงของสถานการณ์     โควิด และที่สำคัญทุกคนยังรู้สึกได้ว่าตนเองยังมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรือ Job secure ตลอดช่วงวิกฤตนี้”

“อย่างไรก็ดี มองว่าวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นให้บทเรียนกับพวกเราเยอะมาก ที่เห็นได้ชัดคือ บทเรียนในการปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง ชีวิตต่อจากนี้ไปเป็น New life ตามวิถีปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำให้ทุกคนต้องมีสติ ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลง และยังเป็นโอกาสให้คนทำงานทุกคนได้ Upskill ทักษะและ mindset ต่าง ๆ ของตนเอง”

“ดังนั้น ทุกโปรแกรม ทุกกิจกรรมที่เราจัดขึ้นมา เราวางแผนจัดขึ้นโดยคำนึงถึงหลักการว่ากิจกรรมนั้นสามารถตอบโจทย์พนักงาน โดยเฉพาะในด้านการของการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพิ่มพูนทักษะจำเป็นในการทำงานได้จริง ซึ่งจากการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ค้นหาความชอบของตัวเองผ่านการเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์ม LinkedIn ก็เป็นอานิสงส์ทำให้พนักงานหลายคนได้ค้นพบศักยภาพของตนเองที่ซ่อนอยู่ด้วย”

“ที่สุดแล้ว ในมุมของผู้รับผิดชอบดูแลงานด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร มองว่า การที่ ลิกซิล ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานผ่าน LIXIL Voice เป็นอีกหนึ่ง Key success สำคัญที่ทำให้ พนักงานของเราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข มีคุณค่า และมี Well-being ที่ดีตลอดการทำงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้”

“เพราะเมื่อพนักงานได้สะท้อนความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มนี้ ทางบริษัทฯ ก็จะนำมาพูดคุย ระดมสมองกันในกลุ่มของ Function leader หรือผู้บริหารกลยุทธ์ของเรา เพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น โดยเรามีการจัดตั้ง Covid committee เพื่อที่จะช่วยกันคิดกิจกรรม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานช่วงนี้ กลไกนี้เองที่ทำให้เราสามารถบริหารจัดการและดูแลพนักงานได้อย่างดีและน่าพึงพอใจเช่นนี้”


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

Last modified on Tuesday, 16 November 2021 03:03
X

Right Click

No right click