December 22, 2024

เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา

January 25, 2019 2639

บนเวทีเสวนาในหัวข้อ “เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา” ซึ่งจัดขึ้นในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล มีการพูดคุยถึงประเด็นหลักในเรื่องการขับเคลื่อนประเทศไทยบนเส้นทางใหม่ด้วยยุทธศาสตร์ที่ 5

ภายใต้เป้าหมายหลักอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจจากหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการปลุกปั้นยุทธศาสตร์ที่ 5 ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศของเราให้ เติบโต สมดุล ยั่งยืน เป็นมิตรต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 : เติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เริ่มต้นด้วยภาพรวมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เห็นภาพและเข้าใจหลักการของยุทธศาสตร์ที่ 5 โดย ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ว่าด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้อธิบายในส่วนนี้ไว้ว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมมีการทำ MOU เพื่อจะทำงานร่วมกันโดยมุ่งเป้าการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยยึดเอายุทธศาสตร์ชาติเป็นแกนหลักโดยมีการขอความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม จนเป็นที่มาของ Factory 4.0 ซึ่งโครงการมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายอันประกอบไปด้วยเรื่องต่างๆ ได้แก่

  1. โรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการกระบวนการผลิต
  2. ชุมชนและ SMEs ที่ดูแลสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และการลงทุนต่างๆ
  3. ควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบที่ส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อมเท่ากับศูนย์ หรือ น้อยที่สุด
  4. ทรัพยากรบุคคล ให้ภาคการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหรือจัดทำ Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์แล้วนำมาพัฒนาประเทศต่อไป

บนเวทีเสวนาได้หยิบประเด็นที่ประเทศไทยซึ่งกำลังพัฒนาไปข้างหน้าโดยมีบริบทแวดล้อมที่แตกต่างไปจากอดีต ซึ่งแบ่งได้เป็นสองมิติใหญ่ๆ คือ

เรื่องเทคโนโลยีซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับ Climate Change ที่อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นอีก ดังนั้น เราจึงจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์มาเป็นตัวชี้เป้าว่าประเทศเราในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นมีเป้าหมายอย่างไรในภาพกว้าง ระหว่างนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการได้ เพื่อให้การพัฒนาสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องในโลกที่มีความ uncertainty อย่างมาก”

อุตสาหกรรม แล การสร้างความเติบโต

ทั้งนี้ บนเวทีเสวนามีการกล่าวถึง ประเด็นเรื่องการเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้ อภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ระบุถึงแนวนโยบายที่จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศไทยควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้กล่าวบนเวทีว่า “หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาจากประเทศยากจนขึ้นมาได้ แต่ช่วงระยะเวลา 50 ปีให้หลังมานี้ จะเห็นว่าเราติดอยู่ที่เดิม เนื่องจากเราพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในอนาคต เข็มทิศและแนวทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม เราได้กำหนด motto หรือคติพจน์ว่า เติบโต สมดุล ยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ที่ 5 ที่จะถูกนำมาใช้ในการผลักดันให้ประเทศมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2580 โดยให้ความสำคัญกับ 6 ประเด็นหลัก บนหลักการ 3 สร้าง : 2 พัฒนา : 1 ยก

3 สร้าง : สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว สร้างความเติบโตในภาคทะเล และสร้างความเติบโตที่เป็นมิตรกับภูมิอากาศ

2 พัฒนา : พัฒนาพื้นที่การเกษตร อุตสาหกรรมและชุมชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาแหล่งทรัพยากรและพลังงาน และ

1 ยก : ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย

ทั้งนี้กลยุทธ์สูตร 3:2:1 เหล่านี้จะตั้งอยู่บนเป้าหมายอยู่ 4 ข้อ คือ 1.การอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง 2.ฟื้นฟูผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นในอดีต 3.บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และ 4.สรรหาเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนา

ในประเทศอื่นมีการวางยุทธศาสตร์ชาติมานานมากแล้ว อย่างในญี่ปุ่นอาจจะมียุทธศาสตร์ระยะยาวถึง 50 ปี เขาจึงสามารถพัฒนาประเทศขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่มีแหล่งทรัพยากรไม่มากและภูมิประเทศเป็นเกาะ ประเทศไทยจะถอยหลังไปแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราต้องก้าวไปข้างหน้า ในส่วนของผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมเองเราก็ต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำเอาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้โดยตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปให้ได้ อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างและผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาประเทศในอนาคตได้ อภิจิน โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : บนมิติความยั่งยืน

ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านบนเวทีเสวนา ดร.อัษฎาพร ไกรพานนท์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมบอกเล่าและแบ่งปันแง่มุมของเรื่องสิ่งแวดล้อมบนมิติของความยั่งยืน ว่า “กิจการใดๆ ก็แล้วแต่ไม่ว่าเราจะทำอะไรล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในสถานการณ์การพัฒนาประเทศไทยเราจากอดีตที่เราเริ่มต้นจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้เกิดผลกระทบแรกต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงพื้นที่ โดยมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ต่อมาก็พัฒนาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มีกิจการหลายๆ ประเทศย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีการจำกัดเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ในบางพื้นที่ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าในระยะแรกๆ เราเน้นไปที่เรื่องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากนัก ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาหลายอย่าง ทั้งมลพิษปริมาณมากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ และอีกหลายระลอกของผลกระทบต่อมา เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีความเติบโต ก็ทำให้การเติบโตทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โตตามไปด้วย มีความแออัดจากการอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคล้ายกับการทำการเกษตร นั่นคือสูญเสียพื้นที่บางส่วนไปเพื่อใช้ในการพัฒนา รวมถึงส่งผลในเรื่องมลพิษขยะและน้ำเสีย ดังนั้น สามส่วนนี้ต่างก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดแต่แตกต่างกันในเรื่องสัดส่วนและลักษณะของการพัฒนดำเนินงาน”

ดร.อัษฏาพร ยังได้เปิดเผยถึงแนวทางนโยบายเรื่องนี้ว่า “ จริงๆ เรามีนโยบายในการดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ซึ่งสืบเนื่องมาจากกระแสโลกในการประชุม Earth Summit 1992 (Rio) ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของผลกระทบจากการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งมาดูแลในภาพรวม ต่อมาในปี พ.ศ.2545 ก็มีการตั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาโดยมีนโยบายในการดูแลเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมาโดยตลอด

ในเรื่องกฎหมาย ดร.อัษฎาพร ได้กล่าวถึงการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเพิ่มเติมไปจากเดิมในประเด็นของผู้ประกอบการว่า จากนี้ไปหากกิจการหรือกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ถ้าดำเนินการสร้างไปก่อนโดยไม่ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กฎหมายจะบังคับปรับถึงวันละ 100,000 บาท

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ในมาตรา 7 ที่กำลังจะมีการแก้ไขโดยอนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าต่างๆ ในขอบเขต 58 ชนิด จะสามารถตัดขายหรือใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินได้ นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โดยการมองภาพรวมทั้งพื้นที่เพิ่มเข้ามาด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องนวัตกรรม ซึ่ง ดร.อัษฎาพร ได้แสดงความคิดต่อวงเสวนาว่า “ถ้าเราสามารถสร้างนวัตกรรมได้เองที่สามารถนำมาใช้พัฒนา Circular Economy และ Bio Economy ก็จะทำให้เราสามารถยืนหยัดได้ด้วยขาของเราเองอย่างยั่งยืนได้”

พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม : สามประสานภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ลดาวัลย์ คำภา อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 เปิดประเด็นบนเวทีอภิปรายว่า

การที่เราจะบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้นั้น ไม่ใช่แค่อาศัยการทำงานจากภาครัฐแต่เพียงเท่านั้น ต้องมีการร่วมมือกันทั้งภาคเอกชนและประชาชนด้วย กล่าวง่ายๆ คือ การดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคน

นอกเหนือไปจากการบรรยายให้รายละเอียดของแผนและนโยบายต่างๆ ของงานยุทธศาสตร์ชาติซึ่งถือเป็นแผนหลักของประเทศอันดับหนึ่ง โดยมีแผนสองคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงแผนปฏิรูป แผนแม่บทและแผนเรื่องความมั่นคง ส่วนแผนสามคือแผนของหน่วยกระทรวงต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกันทั้งหมด หากหน่วยงานไหนดำเนินการไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอาจมีบทลงโทษและถูกฟ้องร้องได้ ภายใต้แผนทั้งหมดยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเพื่อนำมาปรับ เพราะต้องมีความร่วมมือระหว่างประชาชนและภาคเอกชนด้วยถึงจะทำให้ทำงานสำเร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

ลดาวัลย์ คำภา ได้กล่าวถึงเป้าหมายของความสำเร็จของยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดไว้ 4 ประเด็นสำคัญด้วยกัน คือ

1.สาระในยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์จริงๆ

2.กลไกปฏิบัติ ในเบื้องต้นจะเริ่มจากภาครัฐ แล้วค่อยขยายไปภาคประชาชน

3.กฎหมาย ต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัย

4.เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยให้ทุกคนตระหนักและการยอมรับเป้าหมายร่วมกัน

ภายใต้การทำยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 ด้าน แบ่งเป็นแผนแม่บททั้งหมด 23 แผน โดยครอบคลุมเรื่องการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การพัฒนาเมือง ระบบขนส่ง ค่านิยมวัฒนธรรม การสร้างความสุขและการบริหารจัดการ ซึ่งแผนที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติโดยตรงคือแผนแม่บทที่ 18 และ 19 ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก “ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศของเรามีแนวโน้มเข้าสู่ Aging Society อย่างรวดเร็วกว่าในประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 5 เช่นกัน นั่นคือ การปรับกระบวนทัศน์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ในอดีตถ้าเราขับรถไปต่างจังหวัดอาจจะเห็นคนทิ้งขยะตามข้างถนนค่อนข้างเยอะ บางทีไปสร้างความเดือดร้อนให้รถคันอื่นบนท้องถนน ดังนั้น การปรับทัศนคติต่อเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีจิตสำนึกร่วมกัน เราต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย” คือคำกล่าวของ ลดาวัลย์ คำภา บนเวทีเสวนา เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา อีกหนึ่งเวทีที่เริ่มขับเคลื่อนการก้าวไปข้างหน้าบนแนวทางของยุทธศาสตร์ด้านที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ


เรื่อง บรรณาธิการ

ภาพ ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

X

Right Click

No right click