January 21, 2025

สมดุลความก้าวหน้า ‘อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม’

January 25, 2019 1999

ยิ่งประเทศมุ่งผลักดันการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มีความเติบโตบนพื้นฐานการเล็งผลด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมายการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้คนในประเทศให้อยู่ดีและมีสุขสภาวะแห่งความสุข แต่ยิ่งการผลิตยิ่งขยาย ตัวเลขรายได้ประชากรเพิ่ม ผลสืบเนื่องต่อมาอาจไม่ได้ให้คำตอบของเป้าหมายในปลายทางในด้านของการพัฒนาอย่างเป็นเอกฉันท์ 

เพราะตัวเลขที่ขยายตัวของภาคการผลิตยังนำมาซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นด้วย พลังงานก็ใช้มากขึ้น และที่สำคัญผลกระทบต่อมาไม่ว่าจะเป็นของเหลือ (waste) ขยะอุตสาหกรรม เคมีหรือสารพิษตกค้างในดิน น้ำ อากาศและสภาพแวดล้อม ได้กลายเป็นปัญหาสืบเนื่องต่อมาอย่างยาวนาน และได้บั่นทอนเป้าหมายโดยแท้จริงของคำว่าการพัฒนาเพื่อคุณภาพของสังคมและชีวิตที่ดี

ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ชี้แจงถึงนโยบายต่อการจัดการกับปัญหานี้ว่า “เราเน้นให้เกิดความสมดุล หมายความว่าอุตสาหกรรมโตได้ เศรษฐกิจโตได้แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นในยุทธศาสตร์ชาติได้ระบุชัดเจนว่า เราให้ความสำคัญกับระบบนิเวศโดยพยายามสนับสนุนให้กระทรวงอุตสาหกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การดูแลระบบน้ำเสีย ขยะจากกระบวนการผลิต รวมทั้งเรื่องสารระเหยต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล มิฉะนั้นแล้ว จะต้องมีกฎหมายเข้าไปควบคุมดูแล มีการกำหนดบทลงโทษ หากฝ่าฝืน มีคนเข้าไปตรวจ กรมโรงงานจะมีบทบาทตรงนี้มาก เพราะจะต้องเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งที่มีเครื่องบำบัดน้ำเสียแต่ไม่เปิดใช้ เพราะไม่อยากแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทางโรงงานจึงแอบปล่อยน้ำเสียตอนกลางคืนลงตามคลองสาธารณะ เป็นสาเหตุของน้ำเสียรอบๆ โรงงาน ดังนั้น กรมโรงงานก็ต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบติดตาม นโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าจะต้องรักษาสมดุล คุณสามารถทำการผลิตได้แต่คุณต้องดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย

รองเลขาธิการฯ ยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มีความต้องการลดต้นทุนบนการคิดคำนึงเรื่องกำไรเป็นหลัก และละเลยเรื่องการบำบัดของเสียต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้น เป็นมุมมองที่ไม่ถูกต้องเพราะแทนที่จะหันไปพัฒนาเรื่องการผลิต เพราะในความเป็นจริงต้นทุนที่ลดลงไปนั้นเทียบไม่ได้เลยกับผลกระทบทางมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อม ปัจจุบันการเข้าตรวจสอบในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมสามารถทำได้ง่ายกว่า ส่วนพื้นที่อื่นๆ อาจยังไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึงเนื่องจากมีการกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ชุมชน ริมฝั่งทะเลและบริเวณอื่นๆ ทำให้ยากต่อการจะเข้าไปตรวจสอบได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย มีการบังคับใช้ และให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมมากขึ้น เช่น ถ้าหากทำผิดอีกและถูกจับได้ ต้องโดนลงโทษโดยมีค่าปรับหนักกว่าต้นทุนที่ได้มา เพราะหากโทษปรับไม่มากผู้ประกอบการก็มีโอกาสที่จะทำผิดต่อ อย่างไรก็ดี จุดอ่อนในเรื่องนี้คือ การแก้กฎหมายต้องใช้เวลาเพราะบ้านเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับป่าและสิ่งแวดล้อม ทำให้กลายเป็นช่องว่างปล่อยให้ผู้ประกอบการที่ละเลย ยังละเลยเพราะค่าปรับในปัจจุบันน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนในการขจัดของเสียและรักษาสภาพแวดล้อม

ลดาวัลย์ คำภา กล่าวเสริมถึงภาคส่วนที่มีความสำคัญไม่น้อยไปว่ากลุ่มผู้ประกอบการว่า “ภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องเน้นการสร้างจิตสำนึก ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกับชีวิตเรายังไงโดยจะมีการเพิ่มเข้าไปในระบบการศึกษาเพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญ อันนี้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เน้นทั้งทางกาย ใจและสติปัญญา ความรับผิดชอบ โดย เรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ตอนนี้เริ่มมีการปรับบ้างแล้วโดยบางโรงเรียนจะสอนเป็นวิชาพิเศษ โจทย์ข้อนี้เป็นของกระทรวงศึกษาฯ ด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะปลูกจิตสำนึกของเด็กให้ได้ เนื่องจากคนสูงอายุนั้นเปลี่ยนยาก อย่างในประเทศญี่ปุ่นเขาสอนเด็กให้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เด็กก็ไปสอนพ่อแม่แยกขยะ พ่อแม่ก็อยากจะเอาใจลูกเลยทำตาม เป็นวิธีการที่ได้ผลอย่างดีทีเดียว”


เรื่อง     บรรณาธิการ

ภาพ     ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

X

Right Click

No right click