December 22, 2024

เปิดวงเสวนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ ด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบ

June 11, 2019 2801

จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ตลอดจนกระทบถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวจึงถูกยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอนาคต

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับคณะปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และอาศรมความคิดด้านระบบโลกศาสตร์และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิตยสภา จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งระบบ” ณ ห้องประชุมศรีสุริยวงศ์บอลรูม ชั้น 11 โรงแรมตวันนา สุรวงศ์ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานเสวนาในครั้งนี้

Temperature Inversion ปรากฏการณ์ฝาชีอากาศผกผัน

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า มลพิษทางอากาศที่ล้วนมีสาเหตุหลักจากมนุษย์เป็นผู้สร้าง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต หากไม่ดำเนินมาตรการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองก็จะเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ เมื่ออากาศเปลี่ยนผันเข้ามาก็กลายเป็นฝาชีครอบเอาไว้ ทำให้ฝุ่นละอองจะไม่สามารถกระจายไปไหนได้ จนท้ายที่สุดฝุ่นละออง PM 2.5 ก็มีการสะสมในปริมาณมาก และส่งผลกระทบต่อประชาชน ถึงขั้นก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพได้

ความมุ่งหวังต่ออายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี...ที่ดียิ่งขึ้น

บนเวทีเสวนา นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับความมุ่งหวังในอีก 20 ข้างหน้า กับการได้เห็นคนไทยมีช่วงอายุของการมีสุขภาพดีที่ยืนยาวขึ้น มีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่ต่ำกว่า 75 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เพราะปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาสุขภาพตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 50 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมลพิษอากาศที่กระตุ้นให้เกิดโรคภัยได้ง่ายขึ้น โดยมลพิษทางอากาศนั้นจัดเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคไม่ติดต่อรองจากการสูบบุหรี่ ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งปอด ซึ่งมีประชากรปีละกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากมลพิษทางอากาศ

บนเวทีเสวนา นายแพทย์พันศักดิ์ ได้เผยถึงการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า “จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เรามีการประเมินสถานการณ์ในทุกๆ วัน ผ่านการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองจากกรมควบคุมมลพิษ และนำข้อมูลเหล่านั้นแปลงเป็นสาระสำคัญสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป ขณะเดียวกันเรามีการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าง หอบหืด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งจัดทําแนวทางการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) และยังดำเนินการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน ให้ข้อมูลความรู้กับทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนการใช้ พ.ร.บ.สธ. 2535”

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้ายถึงภาพรวมที่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง นั่นคือการบริหารจัดการ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการวิจัยของประเทศไทยเองที่จับต้องได้ สามารถเชื่อมโยงให้เห็นได้ชัดเจนว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยจริงๆ ไม่ใช้เพียงค่าประมาณการ หรืองานวิจัยอ้างอิงจากต่างประเทศ ที่อาจจะไม่ใช่บริบทของคนไทย

สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับ...ทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม

ด้านผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่มีสภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว ได้ส่งผลต่อการสะสมของฝุ่นในบรรยากาศอีกทั้งจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอันเกิดจากแหล่งกำเนิดต่างๆ อาทิ การคมนาคมและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยมีสาระสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดที่จะใช้หลักการจัดการเชิงรุก เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ด้วยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรฯ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ เพื่อนํามาใช้เป็นแนวทางในการป้องกันความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมคํานึงถึงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่

มาตรการที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยกําหนดเป็นแนวทางการดําเนินงานในระยะเร่งด่วน รวมถึงแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพื้นที่เสี่ยง โดยอาศัยกลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มาตรการที่ 2 : การป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายออกกฎระเบียบ หรือแนวทางข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง มาตรการที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ผ่านการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต

เมื่ออุตสาหกรรมเติบโต ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นางสาวพะเยาว์ คำมุข ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม บอกเล่าถึงความคาดหวังในอีก 20 ปีข้างหน้าที่อยากเห็นการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Green Industry ที่สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานการกำกับดูแลให้โรงงานระบายอากาศตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งในกลุ่มโรงงานทั่วไป กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง พร้อมตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ รวมถึงการสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ (S-Curve) ในการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ไบโอดีเซล เร่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ภายในประเทศ พร้อมพัฒนามาตรฐานการควบคุมปริมาณสารมลพิษอเสียของเครื่องยนต์จาก EURO 4 เป็น EURO 5 และยังมีการร่วมมือกับ METI ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและผลกระทบของ PM 2.5 ในภาคอุตสาหกรรมไทย

มากกว่านั้น ภาคอุตสาหกรรมยังร่วมกับ ปตท. และ กทม. สร้างและติดตั้งเครื่องต้นแบบ “ระบบขจัดมลพิษแบบเคลื่อนที่” ในพื้นที่สาธารณะ 11 เครื่อง ควบคู่กับการขอความร่วมมือรณรงค์ประชาสัมพันธ์และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดให้ “ชาวไร่อ้อยไม่เผาอ้อย” และขอความร่วมมือจากสมาชิด ส.อ.ท. ดำเนินมาตรการการหยุดหรือลดกำลังการผลิตในบางช่วงเวลา การบำรุงรักษาเครื่องจักร และ Big Cleaning โรงงาน ร่วมด้วย

งบประมาณที่เสียไป… ต้องได้กลับมาอย่างคุ้มค่า

จากการกำหนดนโยบายต่างๆ หรือแม้แต่มาตรการจัดการที่แต่ละหน่วยงานได้จัดทำออกมานั้น ล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่ประเด็นคือ เราจะใช้งบประมาณเหล่านั้นอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด? ดังนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จึงทำการตีมูลค่าจากมลพิษที่เกิดขึ้นว่าก่อให้เกิดต้นทุนกับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้มาตรการที่ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยใช้วิธีทางเศรษฐมิติประมาณค่าความเต็มใจที่จะจ่ายต่อครัวเรือนสำหรับความเสียหายขั้นต่ำ อิงจาก PM 10 จำนวน 1 ไมโครกรัม/ลบ.ม. = 6,380 บาท/ปี และจากยอดจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพจาก 2.89 ล้านครัวเรือน ดังนั้น สำหรับกรุงเทพฯ ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ของ PM10 ที่เกินระดับปลอดภัย จึงสร้างความเสียหายมูลค่า 18,420 ล้านบาท/ปี ซึ่งในปี 2560 กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ย PM10 = 44.21 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม./ปี ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศจึงตีเป็นมูลค่าได้สูง 446,023 ล้านบาท/ปี

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอมาตรการจัดการผ่านการออกกฎหมายโดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่อาศัยกลไกในการควบคุมพฤติกรรม หรือการสร้างแรงจงูใจ ไม่เน้นการบังคับอย่างเดียว โดยให้มีการจัดทำมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของมลพิษ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ ลดมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรและป่าไม้ ลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ลดมลพิษที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ

“มาตรการที่เสนอข้างต้นจะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อ เรามีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการริเริ่มนำกฎหมายอากาศสะอาดมาบังคับใช้ (Clean Air Act) พร้อมจัดตั้งหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) และสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิชกล่าวทิ้งท้าย

X

Right Click

No right click