January 22, 2025

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP...สัญญาณเตือนสู่การปรับตัวที่ไม่อาจมองข้าม

October 30, 2019 2938

สหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 573 รายการ หรือราวร้อยละ 40 ของจำนวนสินค้าทั้งหมดของไทย

ที่ใช้สิทธิ์ GSP ในปี 2561 โดยให้มีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า การตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ โดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากในปี 2561 ไทยใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ เพียง 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกสำคัญของแต่ละหมวดหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ อย่าง HDD ซึ่งเป็นสินค้าหลักในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สับปะรดกระป๋องในหมวดผัก-ผลไม้กระป๋อง และยางล้อในหมวดผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ในรอบนี้เพราะทั้งหมดเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิ์ GSP ตั้งแต่แรก หรือถูกตัดสิทธิ์ GSP ไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ 40 อันดับแรกตามพิกัดสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (สัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2561) จะพบว่ามีสินค้าเพียง 5 รายการที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ในรอบนี้

แต่มีข้อสังเกตว่า การตัดสิทธิ์ GSP ในรอบนี้ จะกระทบกับผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันตามสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และส่วนต่างระหว่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP ดังนี้

  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง (สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 20-30 ของมูลค่าส่งออก) และมีส่วนต่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP สูง (ร้อยละ 5 ขึ้นไป) อาทิ ปูแปรรูป (HS 1605104) ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย การที่ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0 เป็นร้อยละ 5 ทำให้ไทยแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสินค้านี้ในลำดับต้นๆ และยังคงได้รับสิทธิ์ GSP ดอกไม้ประดิษฐ์อื่นๆ (HS 67029065) พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 9 เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17 เช่นเดียวกับ Epoxy Resin ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.1 ผลไม้ ลูกนัต หรือส่วนอื่นๆ ของพืช ปรุงแต่ง เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 และอ่างล้างชาม อ่างล้างหน้า และเครื่องสุขภัณฑ์ที่ทำจากเซรามิก เสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.8
  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าที่แม้จะมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง แต่มีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึงร้อยละ 5) อาทิ ผลไม้อื่นๆ กระป๋อง เช่น มะม่วงกระป๋อง (HS 20089940001) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 ของไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ5 แต่อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี เป็นเสียภาษีกิโลกรัมละ 1.5 เซ็นต์ และสินค้าที่มีสัดส่วนการพึ่งพาสหรัฐฯ ปานกลาง (เนื่องจากมีการกระจายการส่งออกไปตลาดอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ) และมีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึงร้อยละ 5) อาทิ รถจักรยานยนต์ ขนาดมากกว่า 800 cc. ที่แม้จะพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ อยู่ร้อยละ 23 แต่ก็มีกระจายส่วนแบ่งตลาดไปสหราชอาณาจักรร้อยละ 37 และจีนร้อยละ 16 และแว่นตา ที่ไม่ใช่แว่นกันแดด ที่มีตลาดหลัก คือ สหราชอาณาจักรสัดส่วนร้อยละ 34 ออสเตรเลียร้อยละ 22.6 และสหรัฐฯ ร้อยละ 18.5
  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ คือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ น้อยมาก หรือแทบไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ เลย อาทิ เนื้อปลาโซล (Sole Fish) รถเข็นที่ใช้ในโรงงาน (HS 87168050) ผลไม้ตระกูลเบอร์รี (HS 081120) และเสื้อกระโปรงชุดสำหรับสตรีและเด็กหญิงที่ทำจากไหม (HS 62044910)

สินค้าที่ถูกตัด GSP เรียงตามมูลค่าการใช้สิทธิ์ GSP ไปสหรัฐฯ สูงสุด 10 อันดับแรก* ในปี 2561

จะเห็นได้ว่ากฎกติกาและบริบทของตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เงินบาทแข็งค่า การแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบด้านราคาของประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน  รวมถึงทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงจาก Globalization มาสู่ Protectionism ซึ่งสะท้อนได้จากการที่หลายประเทศนำมาตรการต่างๆ ทางการค้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การใช้มาตรการ AD และ Safeguard รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


บทวิจัยธุรกิจ : ฝ่ายวิจัยธุรกิจ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

X

Right Click

No right click