January 22, 2025

ttb analytics คาดการณ์นับถอยหลังปลดล็อก 120 วัน หลังโควิดฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 2 ทรุดหนัก

June 22, 2021 1795

โควิดรอบ 3 ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสสองปี 2564 ทรุดตัว

การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคโควิด-19 รอบสาม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ทรุดลงอีกครั้ง สะท้อนจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแทบทุกด้านของเดือนเมษายนอยู่ในทิศทางขาลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย ทั้งสินค้าคงทน สินค้าไม่คงทน และการบริการ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น การปิดกิจการบางประเภท อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงมาก แม้ในไตรมาสนี้จะมีเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจจากมาตรการของภาครัฐวงเงินถึง 1.5 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ยังมีสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนที่สะดุดลงสอดคล้องกับข้อมูล Google Mobility ด้านกิจกรรมค้าปลีกและกิจกรรมด้านภาคบริการ (กิจกรรมสวนสาธารณะและขนส่งสาธารณะ) ที่ปรับลงต่ำสุดในกลางเดือนพฤษภาคม 2564 โดยปรับลดมากกว่าช่วงการระบาดในรอบสอง

ชี้ 3 ปัจจัยหลักหนุนการบริโภคฟื้นตัวครึ่งปีหลัง : ความคืบหน้าฉีดวัคซีน มาตรการเยียวยา และไทม์ไลน์การปลดล็อกประเทศ 

ในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดภาครัฐตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งครอบคลุมประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มจำนวน 50 ล้านคนภายในต้นเดือนตุลาคม พร้อมกับตั้งเป้าเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายใน 120 วัน (ตุลาคม) คู่ขนานไปกับมีมาตรการเยียวยาต่อเนื่องซึ่งมีผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมปี 2564 นี้ โดยมีการขยายโครงการเดิม อาทิ คนละครึ่งเฟส 3  การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ  โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และโครงการใหม่ยิ่งใช้ยิ่งได้ ในรูปแบบ e-voucher cash back  รวมเป็นวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท  ซึ่งเมื่อรวมกับครึ่งปีแรก มาตรการเยียวยาในปี 2564 จะมีวงเงินอยู่ที่  4.8 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP) ซึ่งสูงกว่ามาตรการเยียวยาโควิดในรอบแรกที่มีวงเงิน 3.75 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เม็ดเงินจากมาตรการเยียวยาจะกระจายไปสู่การบริโภคภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายการซื้อสินค้าไม่คงทนและภาคบริการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชน ประกอบด้วยการใช้จ่ายในหมวด 1) สินค้าคงทน (สัดส่วน 10%) เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ 2) สินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทน (สัดส่วน 50%) ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และ 3) ภาคบริการ (สัดส่วน 40%) ได้แก่ การท่องเที่ยวและโรงแรม การบริการขนส่ง สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายของแต่ละหมวดในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่ามาตรการเยียวยาวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะช่วยหนุนการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายในภาคบริการ มีแนวโน้มเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับควบคุมได้มากขึ้น และการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับที่ประชาชนมีความมั่นใจสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ภาครัฐสามารถทยอยปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ จนนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามามากขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2564 นี้ โดย ttb analytics คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2564 อยู่ที่ 4 แสนคน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวภายในประเทศจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ทัวร์เที่ยวไทย ทำให้ไทยเที่ยวไทยยังคงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวไทยได้

สำหรับหมวดการใช้จ่ายสินค้าคงทน มีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์รถยนต์จะคาดว่าเริ่มทยอยกลับมาสู่ระดับเดียวกับไตรมาส 4 ปี 2563  ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับดีขึ้นและหนุนด้วยรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี และแนวโน้มภาคการส่งออกที่มีทิศทางดีขึ้น  นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบสาม อาทิ การพักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย  ยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ เป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงการบริโภคให้ฟื้นตัวได้

จากปัจจัยข้างต้นทั้งความคืบหน้าการฉีดวัคซีน มาตรการเยียวยา และไทม์ไลน์การปลดล็อกของประเทศภายในไตรมาส 4 ปี 2564 นี้  หนุนให้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 จากเดิมที่คาดการณ์ร้อยละ 1.6  ในช่วงเริ่มต้นการระบาดรอบสาม (ต้นเดือนเมษายน 2564) และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2565

Related items

X

Right Click

No right click