January 03, 2025

EXIM BANK เปิดตัวนวัตกรรมดัชนี “EXIM Index” พร้อมประกาศตรึงดอกเบี้ย และ “EXIM Export Ready Credit” ดอกเบี้ย 4.5% ต่อปีใน 6 เดือนแรก

July 24, 2022 1048

ดันส่งออกครึ่งหลังปี 65 โชว์ฟอร์มปิดเป้าสินเชื่อปี 65 ภายใน 7 เดือนแรก

EXIM BANK เปิดตัว “EXIM Index” ดัชนีประเมินทิศทางการส่งออกของไทยรายไตรมาส ชี้โอกาสและแนวทางปิดความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 5.75% ต่อปี เปิดตัว “EXIM Export Ready Credit” วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% ต่อปีใน 6 เดือนแรก ผ่อนชำระคืนภายใน 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เสริมสภาพคล่องของกิจการส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง ภายหลัง EXIM BANK โชว์ท็อปฟอร์มอีกครั้ง! ปิดเป้าสินเชื่อปี 2565 จำนวน 156,500 ล้านบาทภายใน 7 เดือนแรก อนุมัติสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนการกันสำรองเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.55% รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2565 NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 2.91% สัดส่วนการกันสำรองต่อ NPLs สูงถึง 274.67%

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 การส่งออกยังไปต่อได้ แต่อาจชะลอความเร็วลง จากที่ขยายตัว 12.9% ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565 อย่างไรก็ตาม ส่งออกทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 6-7%

ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สินค้าแพง ต้นทุนธุรกิจและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ในการช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกไทยรู้เท่าทันสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า EXIM BANK จึงริเริ่มจัดทำ “EXIM Index” นวัตกรรมด้านงานวิจัยธุรกิจที่แสดงผลเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะส่งออกล่วงหน้า โดยใช้ข้อมูล 25 ตัวชี้วัดใน 5 มิติ ประกอบด้วยอุปสงค์ (Demand) ทิศทางเศรษฐกิจในตลาดหลักและตลาดใหม่ การส่งออกของประเทศคู่ค้า อุปทาน (Supply) ดัชนีแรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานโลก การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ราคา (Prices) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ราคาอาหารและสินค้าเกษตรโลก บรรยากาศตลาด (Sentiment) ดัชนีตลาดหุ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศคู่ค้า และธุรกรรมของ EXIM BANK ผลลัพธ์เป็น “ดัชนีชี้นำการส่งออกของไทย” ซึ่ง ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 100.63 ลดลงจาก 100.90 ในไตรมาสแรกปี 2565 สะท้อนว่าในระยะข้างหน้า การส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัว เป็นผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลง อาทิ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ผู้บริโภคและนักลงทุนมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินเฟ้อ ปัญหา Global Supply Chain ยังมีอยู่ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ส่งออก และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มชะลอลง แม้จะยังขยายตัวได้ 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวใน 2 มิติ ประการแรก ปรับตัวสู้ต้นทุนแพง ยกระดับสินค้าและกระบวนการผลิต เพื่อเข้าสู่ตลาดที่แข่งขันด้วยสินค้าที่มีนวัตกรรม ตอบโจทย์เทรนด์โลกและผู้บริโภคยุคใหม่ ได้แก่ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และดูแลสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH) รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการตลาดด้วยการโชว์เอกลักษณ์ของสินค้า ขายแบบซอฟต์พาวเวอร์ สร้างและสื่อสารแบรนด์อย่างน่าสนใจ ประการที่สอง บริหารความเสี่ยง กระจายตลาดหรือบุกตลาดใหม่ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรกว่า 2,300 ล้านคน มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ส่งออกไทย รวมทั้งเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์มากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่า E-Commerce โลกจะเติบโตต่อเนื่องจาก 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ก้าวกระโดดจาก 3.4 และ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ และปิดความเสี่ยงรอบด้านให้มากที่สุด

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK พร้อมช่วยผู้ประกอบการไทยสู้ต้นทุนแพงและบริหารความเสี่ยง ด้วย “Hybrid Model : ฟื้นส่งออกสู้ต้นทุน รุกลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่” ดังนี้

  • นโยบายตรึงดอกเบี้ย Prime Rate 5.75% ต่อปี เพื่อแบ่งเบาภาระด้านต้นทุนของผู้ประกอบการไทย

  • บริการใหม่ “EXIM Export Ready Credit” วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% ต่อปีใน 6 เดือนแรก ผ่อนชำระคืนภายใน 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs นำไปใช้เสริมสภาพคล่องของกิจการส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง
  • เงินทุน เพื่อสนับสนุนการกระจายตลาด การยกระดับสินค้าตอบโจทย์เทรนด์โลก GDH การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมใหม่ที่เสริมสร้าง R&D ให้กับสินค้าไทย เช่น อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) และ S-Curve โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดตลอดทั้ง Supply Chain การส่งออกของไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก
  • เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อาทิ บริการประกันการส่งออก คุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ บริการประกันความเสี่ยงการลงทุน และบริการสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า
  • EXIM Thailand Pavilion ช่องทางค้าขายออนไลน์บน E-Commerce ชั้นนำของโลก 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์เปราะบางในปี 2565 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้ เริ่มต้นและขยายธุรกิจส่งออกและลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น โดยบรรลุเป้าหมายสินเชื่อคงค้างปี 2565 จำนวน 156,500 ล้านบาทภายใน 7 เดือนแรก ผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2565 มีสินเชื่ออนุมัติใหม่ 34,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.52% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นวงเงินของลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 8,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 5,476 ราย เพิ่มขึ้นถึง 22.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs 83.84% สะท้อนความสำเร็จในการสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตตลอดทั้ง Value Chain 

จากยอดสินเชื่อคงค้าง 153,508 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy 43,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ได้สานพลังกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรอย่างกว้างขวาง โดยมีสำนักงานผู้แทนครบทั้ง 4 แห่งในประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ภายหลังเปิดสำนักงานผู้แทนในเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 66,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,711 ล้านบาท หรือ 7.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยสยายปีกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) อย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกปี 2565 มีสินเชื่อคงค้าง CLMV และ New Frontiers จำนวน 54,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,732 ล้านบาทหรือ 21.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นสินเชื่อคงค้างในเวียดนาม 14,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

EXIM BANK ได้สร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 100,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร คำปรึกษาแนะนำ และอบรมสัมมนา เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 EXIM BANK ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการแล้วกว่า 17,200 ราย วงเงินรวมประมาณ 85,600 ล้านบาท 

ผลการดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ EXIM BANK มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 มีอัตราส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพียง 2.91% อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาสถานะทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่ง EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,281 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPLs (Coverage Ratio) 274.67% สูงสุดในระบบ ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ปี 2565 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรอง 1,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.55% และกำไรสุทธิเท่ากับ 604 ล้านบาท 

“EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีภารกิจขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มีความสามารถในการบริหารและรับความเสี่ยงได้มากกว่า จึงขอแบ่งเบาภาระของลูกค้าและผู้ประกอบการไทย โดยตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี ประกอบกับการออกโปรโมชันพิเศษ สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า Prime Rate เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้อยู่รอดและขยายธุรกิจได้ในตลาดการค้าโลก นั่นคือบทพิสูจน์ของการดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่มากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) พัฒนานวัตกรรมด้านการให้บริการทั้งการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่อช่วยให้คนไทยมีความกล้าและความพร้อมที่จะบุกตลาดโลกอย่างรู้เท่าทันโอกาสและความเสี่ยง โดยมี EXIM BANK ขับเคลื่อนการเดินทางข้ามพรมแดนของทุนไทยและการเติบโตอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนในโลกยุค Next Normal” ดร.รักษ์ กล่าว                                                                      

X

Right Click

No right click