January 10, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

Bottom up Policy หัวใจของธุรกิจอยู่ที่ “คน”

July 26, 2017 4073

มีคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนมักได้ตอบอยู่เรื่อยๆ คือ เคล็ดลับความสำเร็จของบริษัทญี่ปุ่นคืออะไร กับคำถามสั้นๆ เช่นนี้ ถ้าจะตอบให้ผู้ถามสิ้นสงสัยนั้นอาจต้องใช้เวลายาวนาน จึงขอเลือกหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่เป็นจุดแข็งของการบริหารธุรกิจในแบบญี่ปุ่นแท้ๆ คือ การใช้ Bottom up Policy หรือการบริหารจากระดับล่างสู่บน มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรคุณภาพก่อนนั่นเอง

สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น พนักงานทุกคนได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม และยังดำเนินนโยบายใช้ความเข้มแข็งของชุมชนผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

โดยหนึ่งในบริษัทที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำนโยบาย Bottom up Policy ไปใช้อย่างได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ คือ บริษัท โตโยต้า เริ่มตั้งแต่การกำหนดปณิธานชัดเจนเพื่อนำทางการดำเนินธุรกิจว่า “การผลิตสินค้าคือการสร้างคน” หมายความว่า ก่อนวางแผนธุรกิจ ก่อนวางระบบการผลิตสินค้า ต้องสร้างคนและให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนก่อน เมื่อเขามีพื้นฐานการทำงานที่เข้มแข็งแล้วจึงปล่อยให้คนเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดทักษะด้านต่างๆ ด้วยตนเองต่อไป ซึ่งสิ่งที่บริษัทจะได้ตอบแทนจากนโยบายนี้ คือ ทรัพยากรคนที่มีคุณภาพเหล่านี้ก็จะไปเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง

นอกจากนั้น เพราะความเชื่อมั่นในสติปัญญา ศักยภาพ ตลอดจนความสามารถของบุคลากรชาวโตโยต้าทุกคนนี่เองที่สานต่อให้เกิดบรรทัดฐานของคนทำงานที่เรียกว่า “Toyota Way” โดยผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับการชี้แนะพนักงานและโฟกัสไปที่ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานจริงของพนักงาน จากนั้นจึงอบรม ให้ข้อคิดแก่พนักงานตามปรัชญาธุรกิจที่บริษัทตั้งไว้ อาทิ

“...การปรับปรุงที่มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากความต้องการเป็นพื้นฐาน แม้จะเป็นแค่ความคิดเห็นเล็กๆ หรือข้อทักท้วงแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องให้ความสำคัญ”

“...เมื่อเจอปัญหาในการทำงาน ในเรื่องที่ไม่รู้คำตอบ ถามปัญหานั้นซ้ำกับตัวเองสัก 5 รอบ เพื่อให้ได้มีการทบทวนซ้ำไปซ้ำมา การทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งคำตอบของปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไรในที่สุด”

“...การปรับปรุงการดำเนินธุรกิจต้องทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการผลักดันนวัตกรรมใหม่ และวิวัฒนาการการผลิตใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา” (เป็นหลัก 1 ใน 5 ของ Toyota Way เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ไคเซน หรือ Kaizen)

ไม่เพียงแค่กับการทำธุรกิจเท่านั้น หากในนโยบายด้านการศึกษา แนวคิดแบบ Bottom up Policy ยังถูกนำไปใช้ผูกโยงกับแนวคิดการศึกษายุคกรีกโบราณ ที่มีคำว่า “PAIDEIA” พอแปลงมาเป็นภาษาอังกฤษอ่านว่า “พีเดีย” หมายถึง การศึกษา คำนี้มีความหมายครอบคลุมถึง 1. AGOGE การชี้นำ 2. DIDAKE การสอน 3. TROPE การเลี้ยงดู บวกกับ แนวคิดที่ซ่อนอยู่ในคำว่า “EDUCATIO” ที่มีความหมายด้านการศึกษา ในสองทิศทาง ได้แก่ การสอน เป็นการกระตุ้นจากภายนอก ด้วยวิธีนำความรู้ไปสอนให้คนรู้ อีกด้านหนึ่ง คือ การเลี้ยงดู โดยดึงเอาศักยภาพ ความสามารถที่อยู่ในคน มาต่อยอดให้เพิ่มมากขึ้น

โดยคนญี่ปุ่นได้นำแนวคิดข้างต้นนี้มาปรับใช้เป็นแนวคิดพื้นฐานที่อธิบายความสำคัญของการศึกษา ที่มุ่งเน้นสร้างรากฐานการศึกษาอันแข็งแกร่งกันตั้งแต่เด็กเริ่มเรียนรู้ในวัย 1-3 ขวบ และเมื่อเติบโตมา ประเทศญี่ปุ่นก็ยังปลูกฝังให้พลเมืองของเขาไม่หยุดเรียนรู้ เป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ดั่งที่ได้เห็นในระบบการทำงานที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมา คือ การส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ ณ จุดปฏิบัติงานจริง เมื่อพบเจอปัญหาและอุปสรรคระหว่างการทำงานก็จะได้ศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาและเรียนรู้ Knowhow หน้างานได้ทันที ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดการนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคลในที่สุด

เพื่อให้เห็นภาพแนวทาง Bottom up Policy ที่เป็นจุดเด่นของการบริหารในบริษัทญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบทวิเคราะห์ที่ คุณซะคะเนะ มะชะฮิโระ อดีตผู้บริหาร บริษัท โคมัตสึ จำกัด (มหาชน) ได้เคยหยิบยกเพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานในแนวทางญี่ปุ่นและแนวทางของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบทสรุปนี้ได้มาจากประสบการณ์ทำงานจริงทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกาของเขาว่า

“การทำงานในตำแหน่งวิศวกรของบริษัทสัญชาติอเมริกัน จะมีทั้งฝ่ายพัฒนาเทคนิคการติดตั้งเครื่องจักรชนิดใหม่ ฝ่ายวางแผนเครื่องจักรอุปกรณ์ของโรงงาน ฝ่ายพัฒนาปรับปรุงเทคนิคการผลิต โดยพนักงานแต่ละคนจะมีสถานะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุงานของแต่ละคน พนักงานที่อยู่มานานย่อมอยู่ในสถานะที่สูงกว่าพนักงานที่ทำงานมาในบริษัทเป็นเวลาน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นในบริษัทญี่ปุ่น พนักงานทุกฝ่ายจะมีสถานะทัดเทียมกันและจะร่วมมือกันทำงาน โดยจะเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ทำงาน ณ จุดปฏิบัติงานจริง ซึ่งนี่นับเป็นจุดแข็งของญี่ปุ่นทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้ามาตั้งแต่ฐานราก คือ เชื่อมั่นในพนักงานผู้ปฏิบัติงาน จนนำมาสู่ความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นได้สำเร็จ” 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ซามูไร ซากุระ สนใจสั่งซื้อได้ที่ ฝ่ายการตลาดหนังสือ โทร. 02-260-3855-9 facebook : MBA_magazine

หรือ หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปหรือ download ฉบับ e-book ได้ที่ Application MBA Magazine

X

Right Click

No right click