ส่งออกไทย พ.ค. ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า EIC ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีโต 5.8% จากแนวโน้มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวในระยะถัดไป

July 03, 2022 1919

ส่งออกสินค้าไทยเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 แต่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคม 2022 อยู่ที่ 25,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.5%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) เร่งตัวขึ้นจากเดือนเมษายนที่ 9.9% เล็กน้อย และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวลงหากเทียบกับเดือนมีนาคมและกุมภาพันธ์ที่ 19.5% และ 16.2% ตามลำดับ หากหักทองคำการส่งออกในเดือนนี้จะขยายตัวได้ 12.5% หากเมื่อพิจารณาการส่งออกเดือนพฤษภาคมเทียบกับเดือนเมษายนแบบปรับฤดูกาลจะพบว่าการส่งออกของไทยทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.11%MOM_sa ทำให้ภาพรวมส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปีโตที่ 12.9% และหากหักทองขยายตัวที่ 10.3%

สินค้าเกษตรและเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวได้ดี แต่บางสินค้ายังมีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนชิป

ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้าพบว่าแม้ส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ แต่มีบางหมวดสำคัญที่หดตัวหรือชะลอตัวลง
โดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและขยายตัวได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ 21.5% โดยได้รับอานิสงส์ทั้งด้านปริมาณผลผลิตในไทยที่ดีตามปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่เพียงพอและการสนับสนุนจากภาครัฐ และด้านราคาจากการชะงักของอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกจากสงครามในยูเครนและมาตรการห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในหลายประเทศ และยังมีสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหรือกลุ่มอาหารที่ขยายตัวได้ถึง 32.7% โดยสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย (2) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.2% โดยมีสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากหดตัวติดต่อกันมาหลายเดือน อย่างไรก็ดี มีหลายสินค้าที่เป็นสินค้าฉุดมูลค่าส่งออกไทยในเดือนที่ผ่านมา คือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ โดยถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือนนี้ แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ยังหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ -17.9% ในขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ -3.1% สอดคล้องกับปัญหาขาดแคลนชิปที่ยังยืดเยื้อทั่วโลก 

ส่งออกไปจีนและยุโรปกลับมาขยายตัว แต่ยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ (29.2%) ตะวันออกกลาง (38%) และอินเดีย (64.3%) เป็นตลาดหนุนสำคัญ ในขณะที่การส่งออกไปฮ่องกง (-22.4%) และออสเตรเลีย (-4%) เป็นตลาดฉุดสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของจีนขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ 4.1% จากอานิสงส์ของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค
แต่อาจชะลอตัวหรือหดตัวอีกครั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาและความเสี่ยงในการปิดเมืองอีกครั้ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจทำให้การนำเข้าวัตถุดิบการผลิตของจีนชะลอตัวลง โดยในเดือนนี้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวได้ 3.8% หลังจากที่หดตัว -7.3% ในเดือนก่อนหน้าแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการขยายตัวในเดือนนี้ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการทยอยเปิดเมืองของจีน ทั้งนี้หากพิจารณาถึงระดับราคาสินค้าส่งออกของไทยที่ขยายตัวราว 5% ในเดือนนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณการส่งออกไปจีนอาจลดลง 

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ -65% และ -87.2% แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยุโรป (EU28) ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรงและเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังขยายตัวได้มากถึง 7.7% หลังจากที่ทรงตัวก่อนหน้า โดยมีสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนหลายประการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ไก่แปรรูป ยางพารา เป็นต้น 

มูลค่าการนำเข้าขยายตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 24.2% จากปัจจัยทางด้านราคาเป็นหลัก โดยในเดือนนี้สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 67.4% สินค้าทุนขยายตัว 4.8% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 25.3% สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 16.6% ในขณะที่สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -20.9% ในด้านดุลการค้าเดือนนี้ขาดดุล -1,874.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 ดุลการค้าขาดดุล -4,726.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

EIC ปรับลดประมาณการเติบโตของการส่งออกสินค้าไทยลงเป็น 5.8% จากเดิม 6.1%

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศจำเป็นต้องนำเอามาตรการการเงินที่ตึงตัวมาใช้เร็วและแรงมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกในยะยะถัดไป โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีความเสี่ยง จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงตลาดยุโรปที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม รวมถึงปัญหาการชะงักของอุปทานที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยจะยังคงได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า การขาดแคลนสินค้าเกษตรในตลาดโลก และระดับราคาสินค้าส่งออกที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export orders) ที่อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน ทำให้ EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกไทย (BOP basis) ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8% จากเดิมในช่วงเดือนมีนาคมที่ 6.1% 

X

Right Click

No right click