January 22, 2025

Google ประเทศไทย เดินหน้าตอกย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยด้วยโครงการต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

December 02, 2019 1840

งาน Google for Thailand ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

Google ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล (Leave No Thai Behind) พร้อมชูโครงการริเริ่มเพื่อช่วยให้คนไทยและภาคธุรกิจจำนวนมากขึ้นได้มีส่วนร่วมผลักดันการเติบโตและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

โดยโครงการริเริ่มของ Google ครอบคลุมพันธกิจหลัก 4 ด้านของบริษัทฯ ได้แก่ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี การส่งเสริมทักษะดิจิทัล การพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่ง Google ได้พัฒนาโครงการริเริ่มเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยทุกคนจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมและต่อยอดไปสู่โอกาสที่มีอยู่อย่างมหาศาลในยุคดิจิทัล 

ภายในงาน ไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย เผย 2 แอปพลิเคชันใหม่สำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยโดยเฉพาะ ภายใต้โครงการระดับโลกของ Google ที่มีชื่อว่า “Grow with Google” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ แอปพลิเคชันแรกมีชื่อว่า “Primer” ประกอบไปด้วยบทเรียนง่ายๆ สำหรับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางธุรกิจและการตลาดดิจิทัล และอีกแอปพลิเคชันคือ “Skillshop” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Google นอกจากนี้ยังได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Be Internet Awesome” ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ เกี่ยวกับการท่องโลกออนไลน์อย่างมั่นใจและปลอดภัย ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้เปิดตัวโครงการ Be Internet Awesome ในภาษาของตัวเอง

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานในปีนี้คือการประกาศเกี่ยวกับการขยายงานวิจัยในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ในการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 4.5 ล้านราย ในขณะที่ทั้งประเทศมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาที่ตรวจโรคนี้ได้เพียง 1,500 คน Dr. Fred Hersch ผู้จัดการโครงการของ Google Health กล่าวว่านับตั้งแต่ที่งานวิจัยเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา Google และโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ ได้ขยายงานวิจัยในคลินิกเพิ่มขึ้นจาก 1 แห่งเป็น 8 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และเชียงใหม่ 

สำหรับในด้านของการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น Google ได้ประกาศขยายการให้บริการ Google Station  ซึ่งเป็นบริการ WiFi ฟรีที่เปิดตัวในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้ให้บริการครอบคลุมสถานที่ต่างๆ กว่า 100 แห่งทั่วไทย ทั้งในตลาด ศูนย์การค้า สนามบิน และสถานีขนส่งมวลชนหลักของประเทศที่เชื่อมต่อผู้คนไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ Google ยังได้เปิดตัวโปรเจ็คต์ใหม่บน Google Arts & Culture ที่มีชื่อว่า “Hidden Fruits” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ 5 ของนิทรรศการวังหน้า เพิ่มเติมจาก 4 เรื่องราวที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดย Google ได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากรอย่างใกล้ชิด ภายใต้การสนับสนุนจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และใช้กล้อง Art Camera บันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ให้เป็นไฟล์ภาพที่มีความละเอียดสูงขนาด “กิกะพิกเซล” ซึ่งมีความละเอียดมากกว่าหนึ่งพันล้านพิกเซล ทำให้คนไทยสามารถชื่นชมรายละเอียดที่สวยงามและสลับซับซ้อนของภาพจิตรกรรมอันล้ำค่านี้ได้อย่างเต็มตาผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์

ปิดท้ายด้วยการช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจำนวนมากขึ้นได้มีตัวตนบนโลกออนไลน์ โดย Google ได้ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าและเป็นสมาชิกเว็บไซต์ Thaitrade.com ลงทะเบียนและยืนยันบัญชี Google My Business ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจปรากฏบน Google Search และ Google Maps โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ Google ยังได้ประกาศขยายความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีลงทะเบียนใช้งาน Google My Business ผ่านแอปพลิเคชัน SCB Easy ได้ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

สำหรับงาน Google for Thailand ในปีนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหาร Google นำโดย สเตฟานี่ เดวิส กรรมการผู้จัดการ Google เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย 

X

Right Click

No right click