November 24, 2024

CITE มธบ. Up-Skill เทคโนโลยี มุ่งตอบโจทย์ตลาดแรงงาน รองรับโลกดิสรัปชั่น

May 13, 2020 2318

โลกยุคดิสรัปชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตของผู้คนก้าวกระโดดสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น

ทุกองค์กรยุคใหม่จึงต้องใส่ใจความอยู่รอด ในการ Up-skill  Re-skill บุคลากร พนักงานของตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้น

ยิ่งในภาวะปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจทั้งโลกแทบหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ New normal ที่เกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 และมองหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์  คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (College of Innovative Technology and Engineering : CITE)  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่างๆจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ มีการชะลอตัว ดังนั้น ความต้องการของกำลังคนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ   วิศวกรรมคอมพิวเตอร์  วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนอในการพลิก สร้างอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ให้กลับมาเติบโตขึ้นได้

“เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคดิสรัปชั่น ดิจิทัล ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ เทคโนโลยี หลักสูตรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก หลักสูตรที่ทางวิทยาลัยCITE เปิดสอนระดับปริญญาตรี โท เอก มากว่า 20 ปี จึงมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยต้องมีทั้งทักษะวิชาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจธุรกิจ มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเป็นแกนกลาง ที่สำคัญต้องเป็นการ Up-Skill เพิ่มทักษะให้แก่บุคลากร ต้องพร้อมทำงานได้จริงๆ” ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว

ทุกหลักสูตรทุกระดับการศึกษาล้วนมีความแตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของหลักสูตรมหาบัณฑิต หรือปริญญาโท ขณะนี้เปิดการเรียนการสอนใน 4 สาขา คือ สาขาการจัดการทางด้านวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีสารสนเทศ  แต่ละหลักสูตรมีความแตกต่าง และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ผศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบายต่อว่า 4 สาขาในระดับปริญญาโทจะเป็นการ Re-Skill และUp-Skill ให้แก่ผู้ที่อยู่ในสายอาชีพดังกล่าวหรือผู้ที่สนใจเรียนรู้ในสายอาชีพเหล่านี้ โดยหลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวิศวกรรม จะมีจุดเด่น คือ เป็นกระบวนการเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ การผลิต การจัดการโรงงาน โลจิสติกส์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างงานด้านวิศวกรรมและด้านธุรกิจผ่านการเรียนรู้โดยปฏิบัติงานจริง  ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้

ส่วนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม อีกหนึ่งสาขายอดฮิตที่ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศอย่างมาก โดยหลักสูตรได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีการฝึกปฏิบัติและสามารถทำงานได้จริง ส่วนสาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ต้องยอมรับว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดที่สามารถนำข้อมูล Big data มาใช้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและอุตสาหกรรมนั้นได้อย่างมหาศาล 

ขณะที่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ  นับว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ มีผลอย่างมากในการใช้ชีวิตของผู้คน กระบวนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ เข้ามาช่วยในการทำงานทั้งเชิงอุตสาหกรรมและธุรกิจ บรรจุครบไว้ในหลักสูตรนี้ จึงตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรด้านนี้ที่ต้องการเพิ่มเติมความรู้และเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ

“ทุกหลักสูตรจะช่วยยกระดับความสามารถพนักงานตอบโจทย์ใหญ่ในธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารต้องการกำลังคนที่มีองค์ความรู้ มีทักษะพื้นฐานด้านดิจิตอล เทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรม มีตรรกะความรู้ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของผู้บริหารอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องลงทุนพัฒนาบุคลากรของตนเอง ซึ่งการผลิตแบบเดิมกับตอนนี้แตกต่างกันมาก เทคโนโลยีใหม่ ระบบอัตโนมัติ  การเรียนรู้เทคโนโลยี วิศวกรรมในแต่ละสาขาได้อย่างครอบคลุมศาสตร์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ระบบการสร้าง ส่งต่อ การใช้ข้อมูล และการบริหารจัดการระบบทั้งหมด เพราะการเรียนรู้ของวิทยาลัย CITE มธบ. จะเป็นการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และต้องทำงานได้จริง” ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว

คณบดีวิทยาลัย CITE กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาทั้งจากภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจะทำให้บุคลากรมีความพร้อมที่จะประยุกต์ใช้กับองค์กรได้จริง ทั้งเรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การจัดการด้านวิศวกรรม และการจัดการทางด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือจะเป็นด้านเทคโนโลยีเช่น การวิเคราะห์งานระบบวางแผนบริหารทรัพยากรองค์การ การพัฒนาโครงข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  ความมั่นคงของระบบสารสนเทศ ระบบ IoTs การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยบุคลากรด้านนี้ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรและธุรกิจบนโลกดิจิทัล โดยผู้สนใจศึกษาต่อไม่จำเป็นต้องจบวิศวกรรมศาสตร์หรือเทคโนโลยีก็สามารถเรียนได้ โดยทางวิทยาลัยมีการสอนปรับพื้นฐานเพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในการเรียนรู้ในทุกหลักสูตร  

Related items

X

Right Click

No right click