December 22, 2024

สวทช. จับมือ มหิดล พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากตัวอย่างแบบง่าย และชุดตรวจโรค COVID-19

July 24, 2020 2621

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย และ ชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว เพื่อประหยัดงบประมาณและลดการนำเข้าชุดสกัดอาร์เอ็นเอ และชุดตรวจจากต่างประเทศ พร้อมด้วยการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพและการแพทย์ ระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กับ สวทช. โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนักวิจัยร่วมให้ข้อมูล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่ให้ความสำคัญในการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ในการช่วยเหลือประเทศชาติ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทีมนักวิจัย สวทช. ได้คิดค้นและวิจัยนวัตกรรมที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น โดยนำองค์ความรู้ในเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ได้ทำงานแข่งกับเวลา เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของด่านหน้า ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเรื่องการตรวจยืนยัน ตรวจติดตาม และประเมินความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน DDC-Care เพื่อติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้นำไปใช้ในพื้นที่ ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี แอปพลิเคชัน Traffy Foundue ใช้รับแจ้งเมื่อประชาชนพบผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (Germ Saber Robot) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ (µTherm FaceSense) ชุดตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในรูปแบบต่าง ๆ  และ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นต้น ผลงานเหล่านี้เป็นงานวิจัยของนักวิจัยไทยที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งผลงานเหล่านี้บางส่วนได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนแล้ว และบางส่วนกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา

สำหรับผลงานวิจัยการพัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย และ ชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COVID-19 XO-AMP colorimetric detection kit) โดย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ หรือ National Omics Center (NOC) สวทช. และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เป็นการทำงานร่วมกับทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สวทช. ได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มาประยุกต์ใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งการพัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอนี้ ได้นำไปทดสอบกับตัวอย่างโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถือเป็นจุดแข็ง สนับสนุนความมั่นคงด้านสุขภาพ ช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรค และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าชุดสกัดจากต่างประเทศ

ส่วนชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COVID-19 XO-AMP colorimetric detection kit) เป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการตรวจเชิงรุก ชุดตรวจนี้ มีความจำเพาะ (Specificity) 100% ความไว (sensitivity) 92% และมีความแม่นยำ (accuracy) ที่ 97% สามารถแสดงผลได้ภายใน 75 นาที ได้ผลเร็วกว่า RT-PCR ถึง 2 เท่า สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ หากสีเปลี่ยนจากม่วงเป็นเหลือง แสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจมีราคาเพียง 10,000 บาท ถูกกว่า RT-PCR ถึง 100 เท่า ต้นทุนน้ำยาที่ใช้สำหรับแลมป์ต่ำกว่าน้ำยาที่ใช้กับ RT-PCR ถึง 3 เท่า เมื่อคำนวณต้นทุนราคาแล้ว ชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ที่ไบโอเทคพัฒนาขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าชุดตรวจแลมป์นำเข้า 1.5 เท่า อีกด้วย

ผลงานทั้งสองชิ้นนี้ช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าชุดสกัดอาร์เอ็นเอ และชุดตรวจเชื้อจากต่างประเทศ หากมีการระบาดเพิ่มเติม หรือต้องการตรวจเชิงรุก ผลงานนี้พร้อมนำมาใช้ได้ทันที

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย มียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ เมื่อเกิดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19  มหาวิทยาลัยมหิดลถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการนำองค์ความรู้ งานวิจัย เพื่อช่วยแก้ปัญหา

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับ  ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ทำให้ได้ชุดตรวจโรคที่ให้ผลดี ราคาถูกลง เป็นการสร้างความสามารถด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ตอบสนองความต้องการของระบบสาธารณสุขของประเทศ มหาวิทยาลัยมีนโยบายสนับสนุนทุกส่วนงาน สนับสนุนให้อาจารย์นักวิจัย นักวิชาการ ได้ผลิตผลงานนวัตกรรม หรืองานวิจัย ที่สามารถต่อยอดออกไปเป็นผลงานที่ใช้แก้ปัญหาของประเทศได้อย่างตรงเป้าหมาย และผลงานในวันนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนที่เข้ามามีบทบาทในงานวิจัยเรื่องนี้ คือในขณะที่ประเทศไทยมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ก่อโรค COVID-19  มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนให้คณะเวชศาสตร์เขตร้อนหารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อหาแนวทางในการรับมือกับ COVID-19  ซึ่งจุดแข็งของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน คือเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีทีมวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และป้องกันโรค  มีห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine Diagnostic Reference laboratory) หรือ TMDR  ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ สำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARA-CoV-2) ด้วยวิธี Real time RT-PCR ประจำปี 2563 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยในการตรวจวินิจฉัย ตรวจยืนยันตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ผู้สัมผัส และผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยวิธีการ Real time RT-PCR  ตั้งแต่มีการระบาดของโรค

ในขณะที่ สวทช. มีงานวิจัยหลายด้านที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ทั้งการตรวจวินิจฉัย และป้องกันโรคได้  คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ สวทช.  จึงได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น จนปัจจุบันมีงานวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ 2 โครงการ ได้แก่ ชุดสกัด RNA ด้วย Magnetic Bead และชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว และนอกจากนี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังมีงานวิจัยที่กำลังพัฒนาร่วมกับ สวทช. อีก เช่น การใช้เทคนิคทาง proteomic และเครื่อง MALDI-TOF กับศูนย์ไบโอเทค การพัฒนาชุด RDT ตรวจ Antigen และการพัฒนา Negative pressure helmet กับศูนย์นาโนเทค เป็นต้น และในโอกาสที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งครบ 60 ปี ในปี 2563  จึงถือเป็นโอกาสดีที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กับ สวทช. จะร่วมมือกันผลิตผลงานวิจัย เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคเขตร้อนอื่นๆ  ตลอดจนโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected Tropical Diseases: NTDs) ในอนาคต

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยในการตรวจโรค COVID-19 โดยวิธี RT-PCR เป็นจำนวนกว่า 420,000 ตัวอย่าง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,261 ล้านบาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในอนาคตหากมีการระบาดเพิ่มเติม หรือมีความต้องการตรวจเชิงรุก ผลิตภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในวันนี้มีความพร้อมในการใช้งาน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. นำโดย ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ที่พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย ซึ่งให้ผลเทียบเท่ากับชุดสกัดนำเข้าจากต่างประเทศ        ที่สำคัญวิธีสกัดอาร์เอ็นเอนี้สามารถนำไปใช้ได้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอได้ทุกชนิดไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรค COVID-19 ทั้งไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์ และมนุษย์ ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนสนใจ พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ไบโอเอนทิสท์ จำกัด และ บริษัท อาฟเตอร์ แล็บ จำกัด

สำหรับชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ซึ่งพัฒนาโดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด นำโดย คุณวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถนำมาใช้ในการคัดกรอง คัดแยกเฉพาะตัวอย่างที่น่าสงสัยไปตรวจโดยใช้ RT-PCR ถือเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐจากเดิมที่ต้องส่งตรวจทุกตัวอย่างด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งมีราคาแพง การพัฒนาชุดตรวจนี้ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างสารพันธุกรรมจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจ ในปัจจุบันไบโอเทคได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเมินเทคโนโลยี และ อย. กำลังพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับเทคนิคแลมป์ โดยชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียวนี้ มีบริษัทเอกชนได้แสดงความสนใจที่จะขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว

การที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตชุดสกัดอาร์เอ็นเอและชุดตรวจโรคได้เองนี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก สร้างความมั่นใจให้กับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ราคาไม่แพง ถือเป็นการยกระดับการวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของประเทศ เปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้นำเข้าเพียงอย่างเดียว ให้เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้เอง และในอนาคตอาจจะส่งออกไปต่างประเทศได้อีกด้วย

X

Right Click

No right click