ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อรองรับนโยบายภาครัฐดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมโรค สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรองรับกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งทะเบียน เรื่องให้ใช้แบบข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 โดยการดำเนินการขายจะกระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Online) และเน้นให้ความคุ้มครองกลุ่มชาวต่างชาติที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ถือหนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry) มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate/ Fit to Travel Health Certificate) และมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ซึ่งเริ่มต้นให้ความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยเดินทางถึงประเทศไทยและผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าของประเทศไทยแล้ว
สำหรับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. กรณีการเสียชีวิต ที่มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันภัยที่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์/ค่าทดแทน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ และค่าใช้จ่ายในการส่งศพหรืออัฐิกลับประเทศ เท่ากับวงเงินเอาประกันภัย จำนวน 3,200,000 บาท และ 2. การรักษาพยาบาลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จนเป็นเหตุให้ต้องได้รับการรักษาพยาบาลและรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาที่คุ้มครองสำหรับการรักษาในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือคลินิก ไม่ว่าจะในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก ซึ่งบริษัทจะจ่ายผลประโยชน์หรือค่าทดแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร ตามความจำเป็นและมาตรฐานทางการแพทย์ ตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่ไม่เกินวงเงินเอาประกันภัย จำนวน 3,200,000 บาท
โดยชาวต่างชาติที่มีความประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาคุ้มครองเริ่มต้นตั้งแต่ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ไปจนถึงสูงสุดไม่เกิน 1 ปี และแบ่งตามความเสี่ยงของประเทศต้นทาง ได้แก่ ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ มีอัตราเบี้ยประกันภัยระหว่าง 1,600 - 14,400 บาท ประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลาง มีอัตราเบี้ยประกันภัยระหว่าง 2,560 – 23,040 บาท และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง มีอัตราเบี้ยประกันภัยระหว่าง 4,800 – 43,200 บาท ทั้งนี้อัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้รวมอากรแสตมป์และภาษีแล้ว
ในส่วนของการรับประกันภัย เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างบริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิตในรูปแบบ Co-Insurance จำนวน 16 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
“การพัฒนารูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับนโยบายภาครัฐ ภายใต้มาตรการผ่อนปรนแต่ละระยะ โดยดำรงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย