ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้นำแนวคิดสมัยใหม่ เข้ามาพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีอัตลักษณ์ ทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ความเป็นมาท้องถิ่น และส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน นำร่อง 11 มหาวิทยาลัย พัฒนา 11 วิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็น หมู่บ้าน CIV ที่ดีพร้อม โดยคาดว่าจะสามารถสร้างการมีงานทำให้คนในชุมชนมากกว่าร้อยละ 10 และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญถึงความสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และการสร้างการมีงานทำในชุมชน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่เคยมีงานทำ กลายเป็นคนว่างงานกว่า 2.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือนเมษายน ที่มีจำนวนกว่า 5 แสนคน โดยพบว่าส่วนใหญ่แรงงานได้อพยพกลับภูมิลำเนา ประกอบกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชน คือ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village) หรือหมู่บ้าน CIV ที่ยังต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนในการดำเนินการประสานความร่วมมือ กับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม บูรณาการความร่วมมือในภาคใหญ่ ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา เพื่อให้เกิดการใช้ทักษะความรู้ความสามารถจากคนรุ่นใหม่ สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ที่จะทำให้นักเรียน นักศึกษา เข้าใจถึงบริบทของแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อวางแผนการดำเนินงานสร้างรายได้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ทั้ง 11 หมู่บ้าน นายกอบชัย กล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) คือ หมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และบริการ หรือกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โดยโครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา ได้นักศึกษาจาก 11 มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้การจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ ตามความต้องการของชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการ การท่องเที่ยว สินค้าและบริการ เทคโนโลยีการผลิต การตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งแบบ One day trip และแบบพักค้างคืน และการช่วยยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนได้ ซึ่งคาดกว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนกว่าครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท และสร้างการมีงานทำในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10
อย่างไรก็ดี โครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา มีกำหนดดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน 2563 โดยคาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 60 คน นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการยุวชนอาสา เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวง ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ณ ห้องแกรนด์ แชมเบรย์ บอลรูม ชั้น 7 โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-202-4414 ถึง 18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th