และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า” กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าบกและป่าชายเลน ระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่รวม 26,000 ไร่ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การลงนามในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ผู้บริหาร อบก. โดยมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นสักขีพยานการลงนาม ร่วมกันระหว่าง นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก. และนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2568 พื้นที่ 7,000 ไร่ และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่อ่าวไทย ตัว ก. จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างปี พ. ศ. 2562 – 2566 พื้นที่ 14,000 ไร่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่เขียวในสถานประกอบการของซีพีเอฟ อีก 5,000 ไร่
นายวราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว ในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการระหว่างประเทศที่มุ่งสู่การเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและภาคประชาชนให้ตระหนักรู้ต่อผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกและเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
“ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใกล้ตัวกว่าที่คิด การแก้ไขปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ” นายวราวุธกล่าว
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสัญญาณที่ธรรมชาติกำลังเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ เครือซีพี เป็นตัวอย่างของภาคเอกชนไทยที่เห็นความสำคัญและผลักดันนโยบายต่างๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมไทยและประชาชนเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูธรรมชาติเพื่อคืนความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พร้อมเป็นแรงผลักดันทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธยังกล่าวถึง โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และพื้นที่อ่าวไทย ตัว ก. จังหวัดสมุทรสาครทั้งสองผืนของซีพีเอฟว่า จะช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นที่พักพิงของสัตว์ทะเล ซึ่งการฟื้นฟูป่าทั้งสองแห่ง สามารถขยายผลและเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ป่าอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
นายศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพี ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ภาคเอกชนมีหน้าที่ที่จะต้องมีความตระหนักรู้ และควรมีการวางเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัดในการก้าวสู่ยุคที่มีความรับผิดชอบต่อระบบของสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม ระบบความยั่งยืนในภาพรวม เครือซีพีจึงตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายใน พ.ศ. 2573
“เครือซีพีในฐานะที่เรามีความตระหนักในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงตั้งเป้าให้ปี 2573 การดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานของเครือฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และลดขยะของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของความพยายามทั้งหมด” นายศุภชัยกล่าว
การผนึกกำลังและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้มองเห็นทางออกในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น โดยมีภาครัฐเป็นแกนนำเป็นตัวอย่างและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคเอกชน ซึ่งเครือซีพีพร้อมปฏิบัติตามแนวทางของภาครัฐในด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม