January 05, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

พลังงานสะอาด ที่ทุกคนเข้าถึงได้

October 16, 2017 11976

พลังงานเป็นเรื่องสำคัญของสังคมมนุษย์ เราใช้พลังงานกันตลอดเวลาไม่ว่าเราจะหลับหรือตื่น ทั้งเพื่อหุงอาหาร ให้ความอบอุ่นภายในอาคาร เปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อลดความร้อนในประเทศไทยหรือทำความร้อนในเมืองหนาว เราใช้ไฟฟ้าส่องสว่าง ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเราทั้งในบ้านและที่ทำงาน เพียงแค่การไฟฟ้าประกาศความจำเป็นต้องตัดไฟฟ้าในบริเวณใดเพื่อทำการซ่อมบำรุง ก็แทบจะทำให้บริเวณนั้นร้างผู้คน ด้วยไม่สามารถอยู่ในบ้านเรือนหรืออาคารที่ขาดพลังงานได้

 

หากไม่มีพลังงาน การผลิตการประกอบอาชีพที่เคยทำกันมารวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำ-วันคงจะยากลำบาก เพราะพลังงานเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์จะต้องใช้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดในโลก

 

ขณะเดียวกันคนบนโลกนี้ 20 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้จำนวนประชากรที่เข้าถึงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก คนกว่า 3,000 ล้านคนยังต้องใช้ฟืน ถ่านหิน หรือของเสียจากสัตว์เพื่อจุดไฟประกอบอาหารและให้ความร้อน ขณะเดียวกันกับที่การบริโภคพลังงานฟอสซิล ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบภูมิอากาศของโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากกลุ่มพลังงานจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้คนรุ่นต่อไปลดความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในอนาคต

 

เป้าหมายของเรื่องพลังงานของสหประชาชาติโดยหลักการจึงอยู่ที่ ภายในพ.ศ. 2573 จะทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าที่ เหมาะสมในทุกที่ หมายถึงการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานความร้อน การนำมาตรฐานการประหยัดค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในอาคารและอุตสาหกรรมสำหรับความหลากหลายของเทคโนโลยียังสามารถลดการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกได้ 14% ซึ่งหมายถึงการลดการใช้งานโรงไฟฟ้าขนาดกลาง ประมาณ 1,300 แห่ง การขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีแหล่งที่มาของพลังงานสะอาดในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นเป้าหมายสำคัญที่ทั้งการขยายโครงสร้างและการพัฒนาเทคโนโลยีสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตและช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้

การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนจึงเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนบนโลกใบนี้ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากความสามารถในการประกอบอาชีพที่มากขึ้นเมื่อมีพลังงานใช้อย่างเหมาะสม 

 

ทุกรัฐบาลต่างเห็นความสำคัญของการตอบสนองความต้องการพลังงานให้กับประชาชนของตนเอง เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันความยั่งยืนของแหล่งพลังงาน รวมถึงการลดผลกระทบจากการบริโภคพลังงานที่มีต่อโลกก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความใส่ใจ

 

แหล่งพลังงานทางเลือกเป็นทางออกที่ทุกประเทศให้ความสนใจ เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ส่งผลกระทบต่อโลก เลขาธิการสหประชาชาติ พัน กี-มุน กล่าวที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า “เราต่างทราบกันดีว่าพลังงานทางเลือกนั้นแทบไม่มีขีดจำกัดและมีความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้เรามีความมั่นคงและเกิดความสงบ มูลค่าการลงทุนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนเป็นทางเลือกที่ถูก เมื่อเราผลิตพลังงานจากพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้นต้นทุนก็จะยิ่งต่ำลง” 

 

พลังงานทางเลือกยังสอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเด็นการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาดที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลกเป็นทางออกในการขจัดความยากจน เพราะพลังงานนั้นไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องและทุกคนบนโลก เลขาธิการสหประชาชาติถึงกับกล่าวว่า หากสามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานได้ก่อน พ.ศ. 2573 จะมีผลอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ด้านอื่นๆ 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั่วโลกที่จะร่วมกันแสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ มาใช้ ผ่านกลไกต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงต้องช่วยเหลือประเทศที่ยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาลมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 AEDP ที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน โดยมีเป้าหมายดังตาราง

 

รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการใช้ พลังงานทางเลือกต่างๆ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เข้ามาดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาตามลำดับ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจโดยเฉพาะสถาบันการเงินก็มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการให้สินเชื่อต้นทุนต่ำแก่กิจการที่ลงทุนในธุรกิจนี้ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

 

จากเอกสารแผนงาน AEDP กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (Small Power Produce: SPP) ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Cogeneration) จากกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จาก การเกษตรโดยนำพลังงานความร้อนที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบสายส่งเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย ต่อมาได้ขยายผลสู่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ทั้งพลังงาน แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ขยะ พลังน้ำ พลังงานลม จากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Produce: VSPP) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อกระจายโอกาสไปยังพื้นที่ห่างไกลให้มีส่วนร่วมในการผลิต ไฟฟ้า ช่วยลดความสูญเสียในระบบไฟฟ้า และลดการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายไฟฟ้า โดยสนับสนุนผ่านมาตรการส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ทั้งนี้อัตราส่วนเพิ่มและระยะเวลาในการสนับสนุน จะแตกต่างกันตามประเภทพลังงานทดแทน จากมาตรการจูงใจดังกล่าวทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2550 มีสัดส่วนปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ผลิตได้รวมการผลิตไฟฟ้านอกระบบทั้งประเทศร้อยละ 4.3 และเพิ่มเป็นร้อยละ 9.87 ในปี 2557 (ไม่รวมพลังน้ำขนาดใหญ่) 

 

อีกด้านหนึ่งการวางระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อลดการใช้น้ำมันก็เป็นทางเลือกที่รัฐบาลให้ความสนใจดังเห็นได้จากแผนงานก่อสร้างรถไฟฟ้ารอบกรุงเทพมหานคร และแผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งทางน้ำที่กำลังอยู่ระห่างดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป

 

ในส่วนของภาคเอกชนก็มีความตื่นตัวในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างกว้างขวาง นอกจากบริษัทผู้ผลิตพลังงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายก็มีแนวทางในการสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานของตนเอง 

ตัวอย่างเช่น SCG ที่เป็นผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากแนวปฏิบัติการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของบริษัทที่ระบุเรื่องพลังงานไว้โดยมีการตั้งคณะทำงานด้านพลังงานเพื่อทำหน้าที่ศึกษาและพัฒนาแนวทางการใช้พลังงานในแต่ละธุรกิจ ในเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนสื่อสารและรณรงค์สร้างความตระหนักในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และมีโครงการด้านพลังงานที่ดำเนินการจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นที่บริษัทระยองโอเลฟินส์ จำกัด ลดการใช้พลังงานในการขับ Turbine ของ Propylene Refrigeration Compressor ด้วยการเพิ่มระบบ MP Ethylene ซึ่งช่วยลดระดับความดันในท่อขนส่งที่สูงเกินความจำเป็น ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 8 ธุรกิจซีเมนต์ พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยลมร้อนที่เหลือจากกระบวนการผลิต โดยนำลมร้อนที่ปล่อยทิ้งจากหออุ่นวัตถุดิบ (Pre-heater) และหม้อเย็น (Cooler) กลับมาใช้เป็นพลังงานทดแทนที่หม้อไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดปริมาณไฟฟ้าที่ต้องซื้อเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ได้ถึงร้อยละ 20

 

เห็นได้ว่านอกจากเป็นประโยชน์ต่อโลกแล้วการปรับปรุงกระบวนการผลิตต่างๆ ยังมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรด้วยการลดต้นทุนการผลิตลงไป ขณะเดียวกันผู้ผลิตหลายรายก็ใส่ใจกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการบริโภคพลังงานเช่นกระจกนิรภัยที่ช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอกอาคารเข้ามาในอาคารช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในระบบปรับอากาศ ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายมีการแข่งขันกันผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนประเภทต่างๆ การก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆอีกมาก

 

ทิศทางเหล่านี้สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตยุคใหม่ที่เน้นการบริโภคที่ไม่สร้างรอยเท้าคาร์บอนทิ้งไว้มากเกินไป การบริโภคสินค้าในท้องถิ่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยกระบวนการประหยัดพลังงานต่างๆ รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานน้อยเพื่อใช้ในบ้านเรือน 

 

เพราะพลังงานคือสิ่งจำเป็นสำหรับทุกชีวิต หากเราขาดพลังงานโลกใบนี้คงมืดหม่นและไม่มีความสะดวกสบาย ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ และเมื่อเราสามารถใช้พลังงานที่สะอาดทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายของสหประชาชาติ โลกใบนี้คงมีทั้งความสะดวกสบายและบรรยากาศที่รื่นรมย์ไปพร้อมกัน

เรื่อง กองบรรณาธิการ  

X

Right Click

No right click